Saturday, January 01, 2022

เปิดผลสำรวจ ESG ธุรกิจไทย ปี 64

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในรอบปีที่ผ่านมา ภาคเอกชน โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ได้นำคำ ESG (Environmental, Social and Governance) มาใช้สื่อสารกับสาธารณะ ต่อสิ่งที่กิจการมีการดำเนินงานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มากขึ้น จนกลายเป็นคำสามัญที่ใช้แสดงถึงการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของภาคธุรกิจไปโดยปริยาย

สิ่งที่องค์กรธุรกิจมีร่วมกัน โดยสะท้อนออกมาจากถ้อยแถลงของผู้บริหารระดับสูงและจากคณะกรรมการบริษัท คือ เจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการดำเนินการต่อเรื่อง ESG แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งมีความแตกต่างกัน คือ ขีดความสามารถในการแปลงเจตนา (Intention) ให้ไปสู่การกระทำ (Action) ตามที่ได้แถลงไว้

การวัดขีดความสามารถในเรื่องดังกล่าว จะประกอบด้วยส่วนที่เป็นผลการดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG Performance กับส่วนที่เป็นการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานนั้นๆ หรือ ESG Disclosure ตามที่เป็นจริง

สิ่งที่มักพบเห็น มีทั้งกรณีปกติ คือ กิจการได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์และเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการดังกล่าว กับกรณีที่กิจการมิได้ดำเนินการจึงไม่มีการเปิดเผยข้อมูล และกรณีที่ไม่ปกติ เช่น กิจการมีการดำเนินการในเรื่อง ESG แต่มิได้เปิดเผยข้อมูลตามที่ได้ดำเนินการ กับกรณีที่กิจการมิได้ดำเนินการตามที่แถลง แต่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าได้ดำเนินการ หรือมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง

ผลสำรวจปี 64 มาจากทุก บจ. ในตลาดฯ
ในปี 2564 สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลความยั่งยืนของกิจการและหลักทรัพย์จดทะเบียน จำนวน 826 ราย ประกอบด้วย บจ. ในตลาด SET 563 ราย ในตลาด mai 176 ราย และอื่นๆ* อีก 87 ราย พบว่า การเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีสัดส่วนมากสุดอยู่ที่ด้านสังคม 61.2% ด้านเศรษฐกิจ 22.35% และด้านสิ่งแวดล้อม 16.45% ตามลำดับ

หากวิเคราะห์ข้อมูลกิจการที่สำรวจ จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กิจการที่ได้คะแนนการดำเนินงาน ESG รวมสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ กิจการในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร รองลงมาเป็นกิจการในกลุ่มทรัพยากร และกลุ่มธุรกิจการเงิน ตามลำดับ

สำหรับประเด็นความยั่งยืนที่มีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจ 88.13% การจ้างงาน 84.83% อาชีวอนามัยและความปลอดภัย 62.8% ส่วนการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ภาคธุรกิจมีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 8 เศรษฐกิจและการจ้างงาน และเป้าหมายที่ 16 สังคมและความยุติธรรม ตามลำดับ

ไฮไลต์ผลสำรวจ ESG ที่น่าสนใจ
ผลการสำรวจโดยใช้ประเด็นความยั่งยืนที่อ้างอิงจากมาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) พบว่ามีเพียง 3.03% ที่มีการรายงานเรื่องข้อปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement Practices) และมีมากถึง 84.17% ที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลในประเด็นมลอากาศ (Emissions) นอกจากนี้ ยังพบว่ามีไม่ถึง 7.39% ที่มีการเปิดเผยเรื่องการประเมินสิทธิมนุษยชน (Human Rights Assessment)

ขณะที่การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยปัจจัย ESG ที่อ้างอิงตามแนวทางและชุดตัวชี้วัดของ WFE (World Federation of Exchanges) จากผลสำรวจพบว่า มากถึง 90.6% ไม่มีการรายงานเรื่องงบลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Mitigation) และมีเพียง 38.79% ที่มีการรายงานเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) และไม่พบว่ามีบริษัทใดที่มีการรายงานเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนจูงใจ (Incentivized Pay) โดยนำผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาพิจารณาให้แก่ผู้บริหาร

และเมื่อสำรวจข้อมูลการดำเนินงานที่มีการตอบสนองต่อ SDGs ตามแนวทาง GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดย ISAR (International Standards of Accounting and Reporting) พบว่า ยอดการลงทุนสีเขียวของกิจการที่มีการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งตอบสนองต่อ SDG เป้าที่ 7 (ด้านพลังงาน) มีมูลค่าราว 158,528 ล้านบาท ขณะที่ยอดการลงทุนชุมชน ซึ่งตอบสนองต่อ SDG เป้าที่ 17 (ด้านหุ้นส่วนความร่วมมือ) มีมูลค่าราว 8,960 ล้านบาท และไม่มีองค์กรใดเลยที่มีการเปิดเผยข้อมูลชั่วโมงการฝึกอบรมด้านการต้านทุจริต ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจใช้ตอบสนองต่อ SDG เป้าที่ 16 (ด้านสังคมและความยุติธรรม)

ข้อมูลผลสำรวจข้างต้น สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดเวทีรายงาน “ผลการสำรวจข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย ปี 2564” และการเสวนา “ESG Metrics: ตัวชี้วัดธุรกิจวิถียั่งยืน” เมื่อเร็วๆ นี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถรับชมวีดิทัศน์ย้อนหลัง และดาวน์โหลดเอกสารที่นำเสนอในเวทีทั้งสองช่วง ที่เว็บไซต์ของสถาบันไทยพัฒน์ (https://thaipat.org) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


--------------------------------------
* ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IF) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (PF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ และรัฐวิสาหกิจ



จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: