ในระดับโลก องค์การสหประชาชาติ ได้มีการประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ โดยมีกำหนดระยะเวลาการบรรลุเป้าหมายไว้ ในปี ค.ศ.2030 หรืออีกไม่ถึง 8 ปีนับจากนี้
ในภาคเอกชน ได้มีองค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานผู้กำกับดูแล และองค์กรผู้กำหนดมาตรฐาน ออกแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาสู่ความยั่งยืนเผยแพร่ให้แก่ภาคเอกชนสำหรับดำเนินการ โดยหนึ่งในนั้น คือ แนวทางและชุดตัวชี้วัด WFE ESG Metrics ที่จัดทำขึ้นโดยสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges) สำหรับแนะนำให้บริษัทจดทะเบียนใช้เป็นตัวชี้วัดพื้นฐาน (Baseline Indicators) ในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ให้แก่ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
ในประเทศไทย สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการสำรวจสถานภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนจำนวน 739 กิจการ รวมทั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IF) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (PF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ และรัฐวิสาหกิจ อีกจำนวน 87 แห่ง รวมทั้งสิ้น 826 กิจการ
ผ่าน 2.2 ก้าว เพื่อไปให้ถึง 10 ก้าว
ตามผลการประเมินสถานภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน หรือ ESG Disclosure จาก 826 กิจการ พบว่า มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับ 2.2 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราได้เดินมาแล้ว 2.2 ก้าว และหากต้องการบรรลุเป้าหมายตามกรอบเวลา SDGs ในปี ค.ศ.2030 เราจะต้องก้าวย่างไปข้างหน้าอีกปีละ 1 ก้าว อย่างต่อเนื่องสะสม
โดยที่ด้านธรรมาภิบาล มีความก้าวหน้ามากสุดที่ 3.88 ก้าว รองลงมาเป็นด้านสังคม 1.78 ก้าว และด้านสิ่งแวดล้อม 0.94 ก้าว ตามลำดับ
หากวิเคราะห์ข้อมูลย่างก้าวของกิจการที่สำรวจ จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กิจการที่มีความก้าวหน้ามากสุดในด้านธรรมาภิบาล ได้แก่ กลุ่มธุรกิจบริการ อยู่ที่ 4.32 ก้าว ขณะที่ กิจการซึ่งมีความก้าวหน้ามากสุดในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร โดยด้านสังคมอยู่ที่ 2.66 ก้าว และด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ 2.1 ก้าว ตามลำดับ
3 ปัจจัย ESG ที่ต้องเร่งเติมเต็ม
ในผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยปัจจัย ESG ที่อ้างอิงตามแนวทางและชุดตัวชี้วัดพื้นฐานของ WFE ที่กิจการควรดำเนินการได้ทั้งหมด จำนวน 30 ตัวชี้วัด
จากผลสำรวจพบว่า ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่มีการเปิดเผยต่ำสุด ได้แก่ ข้อมูลงบลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Mitigation) ขณะที่ ปัจจัยด้านสังคมซึ่งควรต้องมีการยกระดับการเปิดเผยข้อมูล ได้แก่ ข้อมูลด้านการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) ส่วนปัจจัยด้านธรรมาภิบาลซี่งไม่พบว่ามีการเปิดเผยโดยกิจการที่ทำการสำรวจ ได้แก่ ข้อมูลการจ่ายค่าตอบแทนจูงใจ (Incentivized Pay) บุคลากรในระดับบริหาร ที่มีการผูกโยงกับผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน
ปัจจัย ESG ที่องค์กรควรดำเนินการ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กิจการสามารถช่วยเติมเต็ม หรือปิดช่องว่าง (Gap) การดำเนินงานด้าน ESG เพื่อตอบสนองต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นับจากปี ค.ศ.2022 นี้ เป็นต้นไป ได้ด้วยการถามตนเองว่า
- | กิจการมีงบลงทุนประจำปีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โครงสร้างพื้นฐาน การปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศหรือไม่ |
- | กิจการมีข้อพึงปฏิบัติตามนโยบายการไม่เลือกปฏิบัติ และ/หรือนโยบายการป้องกันการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศหรือไม่ |
- | กิจการมีการกำหนดค่าตอบแทนจูงใจโดยนำผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาพิจารณาให้แก่ผู้บริหาร หรือไม่ |
ย่างก้าวสู่ความยั่งยืน เพื่อการบรรลุเป้าหมายที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน ตามแนวทาง ESG เป็นเสมือนภาษากลาง สำหรับใช้สื่อสารระหว่างองค์กรธุรกิจกับผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ให้รับทราบถึงผลการดำเนินงานทางธุรกิจและผลกระทบทางบวกที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิผลและเห็นพ้องต้องกัน
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
No comments:
Post a Comment