Saturday, October 19, 2024

รายงานความยั่งยืน ช่วยเพิ่มผลลัพธ์ทางสังคม

องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) และกลุ่มพันธมิตรเกณฑ์เทียบระดับโลก (World Benchmarking Alliance: WBA) ได้เผยแพร่เอกสารรายงานวิจัยร่วม ที่มีชื่อว่า How to strengthen corporate accountability: The case for unlocking sustainable corporate performance through mandatory corporate reporting

รายงานวิจัยฉบับนี้ เป็นการสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างการใช้มาตรฐาน GRI และผลการดำเนินงานด้านสังคมของกิจการ ผ่านตัวชี้วัดหลักด้านสังคม (Core Social Indicators: CSI) ในระบบเทียบสมรรถนะของ WBA ที่ใช้จัดอันดับบริษัทที่โดดเด่นจำนวน 2,000 แห่ง ซึ่งมีส่วนสนับสนุนความยั่งยืนทางสังคม โดยมุ่งเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน งานที่มีคุณค่า และการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม

โดยตัวชี้วัดหลักด้านสังคมของ WBA ที่ใช้ประเมินในการวิจัย ประกอบด้วย ตัวชี้วัดสิทธิมนุษยชนจำนวน 8 ตัว ตัวชี้วัดงานที่มีคุณค่าจำนวน 6 ตัว และตัวชี้วัดการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมจำนวน 4 ตัว รวมทั้งสิ้น 18 ตัวชี้วัด

ผลวิจัยชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงที่เข้มแข็งระหว่างการใช้มาตรฐานการรายงานที่สากลยอมรับ กับการปรับปรุงผลลัพธ์ด้านความยั่งยืนทางสังคม ทั้งนี้ มีหลักฐานชี้ชัดว่าบริษัทที่เผยแพร่รายงานแห่งความยั่งยืนที่มีดัชนีสารบัญ GRI จะมีค่าตัวชี้วัดหลักด้านสังคม หรือ CSI สูงกว่าบริษัทอื่น อยู่ไม่น้อยกว่า 47% จากการเทียบสมรรถนะทางสังคมของ WBA

ขณะที่กิจการซึ่งมีการรายงานที่เป็นไปตาม (in accordance) มาตรฐาน GRI มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นอย่างสม่ำเสมอ เหนือกว่ากิจการที่มีเพียงการอ้างอิง (with reference) ตัวมาตรฐาน โดยบริษัทที่มีผลคะแนน CSI สูงสุด มีค่าสหสัมพันธ์กับกลุ่มที่ใช้มาตรฐาน GRI สำหรับการรายงาน

จากข้อมูล CSI ที่รวบรวมทั้งหมด 1,665 กิจการ จากบริษัทที่โดดเด่นจำนวน 2,000 แห่ง พบว่า บริษัทที่มีการจัดทำมีดัชนีสารบัญ GRI ในรายงาน มีจำนวน 977 กิจการ (59%) และที่ไม่มีการจัดทำมีดัชนีสารบัญ GRI ในรายงาน มีจำนวน 688 กิจการ (41%)

ในกลุ่มที่มีการเผยแพร่ดัชนีสารบัญ GRI พบว่า มีบริษัทที่ระบุถึงการใช้มาตรฐาน GRI ด้วยรูปแบบ In accordance จำนวน 436 กิจการ (26%) รองลงมาเป็นรูปแบบ With reference จำนวน 254 กิจการ (15%) ตามด้วยรูปแบบอื่น จำนวน 274 กิจการ (17%) และแบบที่ไม่มีการระบุ จำนวน 13 กิจการ (1%) ตามลำดับ

ในกลุ่มที่ไม่มีการเผยแพร่ดัชนีสารบัญ GRI พบว่า มีบริษัทที่ไม่มีการระบุถึงรูปแบบการใช้มาตรฐาน GRI จำนวน 606 กิจการ (36%) และมีบริษัทที่มีการระบุถึงการใช้มาตรฐาน GRI ด้วยรูปแบบอื่น จำนวน 82 กิจการ (5%) ตามลำดับ

โดยค่าเฉลี่ย CSI ในกลุ่มบริษัทที่มีการเผยแพร่ดัชนีสารบัญ GRI พบว่า กลุ่มที่มีการระบุถึงการใช้มาตรฐาน GRI ด้วยรูปแบบ In accordance มีคะแนนสูงสุดอยู่ที่ 6.6 คะแนน รองลงมาเป็นกลุ่มที่มีการระบุถึงการใช้มาตรฐาน GRI ด้วยรูปแบบ With reference อยู่ที่ 6.1 คะแนน ตามด้วยกลุ่มที่มีการระบุถึงการใช้มาตรฐาน GRI ด้วยรูปแบบอื่น 5.3 คะแนน และกลุ่มที่ไม่มีการระบุถึงรูปแบบการใช้มาตรฐาน GRI 4.8 คะแนน ตามลำดับ

ขณะที่ ค่าเฉลี่ย CSI ในกลุ่มบริษัทที่ไม่มีการเผยแพร่ดัชนีสารบัญ GRI พบว่า กลุ่มที่มีการระบุถึงการใช้มาตรฐาน GRI ด้วยรูปแบบอื่น มีคะแนนอยู่ที่ 3.9 คะแนน ตามด้วยกลุ่มที่ไม่มีการระบุถึงรูปแบบการใช้มาตรฐาน GRI 2.8 คะแนน ตามลำดับ

ที่น่าสนใจ คือ เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย CSI และสัดส่วนบริษัทที่มีการเผยแพร่ดัชนีสารบัญ GRI จำแนกตามประเทศ พบว่า กลุ่มบริษัทในประเทศไทย มีค่าเฉลี่ย CSI อยู่ราว 7.7 คะแนน และมีสัดส่วนบริษัทที่มีการเผยแพร่ดัชนีสารบัญ GRI อยู่ประมาณ 87% สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และมีค่าเฉลี่ย CSI สูงกว่าประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน

สาเหตุหลักเป็นผลมาจากการส่งเสริมการเปิดเผยรายงานแห่งความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในประเทศ ที่แนะนำให้มีความสอดคล้องและอ้างอิงได้กับมาตรฐานสากล GRI นั่นเอง

สำหรับรายละเอียดของชุดตัวชี้วัดหลักด้านสังคมของ WBA ที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ คำมั่นที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน คำมั่นที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนของคนงาน การระบุผลกระทบและความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน การประเมินผลกระทบและความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน การผนวกและดำเนินการตามผลการประเมินผลกระทบและความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน การสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับหรือที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ กลไกการร้องทุกข์สำหรับคนงาน กลไกการร้องทุกข์สำหรับปัจเจกและชุมชนภายนอก สุขภาพและความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน ค่าครองชีพขั้นพื้นฐาน ชั่วโมงทำงาน สภาพการจ้าง การเปิดเผยข้อมูลความหลากหลายแรงงาน ความเสมอภาคทางเพศและการเสริมสร้างศักยภาพสตรี การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ภาระรับผิดชอบในการเสียภาษี การต้านสินบนและการต้านทุจริต การผลักดันนโยบายสาธารณะและการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างรับผิดชอบ

ผู้สนใจเอกสารรายงานวิจัยฉบับดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ World Benchmarking Alliance


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, October 05, 2024

AI กับการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่ร้อนแรงที่สุด และน่าจับตายิ่งในเวลานี้ เนื่องจากตัวเทคโนโลยีเองได้พิสูจน์ให้เห็นถึงขีดความสามารถที่พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากกำลังของฮาร์ดแวร์ที่สามารถรองรับการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และสมรรถนะของซอฟต์แวร์ตัวแบบภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model: LLM) ที่ถือเป็นพื้นฐานของปัญญาประดิษฐ์เพิ่มพูน (Generative AI) ซึ่งสามารถโต้ตอบและสร้างรูปแบบการสนทนาได้เสมือนมนุษย์ และตัวปัญญาประดิษฐ์เอง กำลังเรียนรู้เพิ่มเติมทั้งความฉลาดและความแม่นยำขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ป้อนเข้าได้อย่างไม่จำกัด


ขณะเดียวกัน การทุ่มเททรัพยากรจำนวนมาก เพื่อใช้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างขนานใหญ่ในเวลานี้ ก็ทำให้เกิดข้อกังขาถึงความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น ขนาดการลงทุนที่ไม่สัมพันธ์กับรายได้ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะฟองสบู่ หรือการลงทุนที่กระจุกตัวในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่รายที่ไม่ก่อให้เกิดการกระจายรายได้และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ฯลฯ รวมทั้งผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาและการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ เช่น การละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือทรัพย์สินทางปัญญา การล่อลวงให้เกิดความเสียหายทางทรัพย์สินและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความตึงตัวทางพลังงานไฟฟ้าและทรัพยากรน้ำที่เพิ่มขึ้น (จากการใช้ประมวลผลข้อมูล) ฯลฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างรับผิดชอบ (Responsible AI) และเป็นเทคโนโลยีที่มีความยั่งยืน

บทความนี้ จะเป็นการประมวล 10 แนวทางการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ช่วยธุรกิจและอุตสาหกรรม ยกระดับสู่ความยั่งยืน ได้แก่

1. การรายงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
แม้ว่าจะยังอยู่ในขั้นแรกเริ่ม Generative AI มีศักยภาพที่จะช่วยนำทางธุรกิจสู่ดินแดนแห่งวิวัฒนาการของความยั่งยืน แพลตฟอร์มฐานปัญญาประดิษฐ์เพิ่มพูนในระดับองค์กร ไม่เพียงแต่จะใช้ติดตาม วัดผล และสรุปข้อสนเทศทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ แต่ยังช่วยให้มีกลยุทธ์การรายงานความยั่งยืนได้อย่างทั่วถึงทุกภูมิภาค โดยที่เครื่องมือดังกล่าวช่วยสร้างความมั่นใจ เมื่อต้องมีการติดตามความก้าวหน้าในประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

2. การแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ปัญญาประดิษฐ์ สามารถใช้ในการจัดการของเสียและกระบวนการแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ ไปจนถึงการแยกจำพวกอัตโนมัติ การป้องกันการปนเปื้อน และการทำนายความต้องการซ่อมบำรุง แนวทางดังกล่าว ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ และเพิ่มความยั่งยืนโดยการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

3. การจัดการสายอุปทาน
การปฏิบัติและการหาความเหมาะสมต่อปริมาณสินค้าคงคลังที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ สามารถใช้ลดสินค้าคงคลังส่วนเกิน การขนส่งที่เหมาะสม และเพิ่มความลงตัวและการทำงานร่วมกันระหว่างโรงงานและผู้ส่งมอบ แนวทางดังกล่าว เอื้อให้ผู้ผลิตระดับโลกปรับแนวการดำเนินการล้อตามลำดับความสำคัญที่มีนัยต่อการผลิตที่มีประสิทธิภาพและการส่งมอบที่ตรงเวลา ทั้งนี้ ยังช่วยลดของเสีย และปรับปรุงความยั่งยืนตลอดสายอุปทานและในการผลิต

4. การตรวจสอบการดำเนินการทางธุรกิจ
ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยียานที่ควบคุมจากระยะไกลให้เคลื่อนที่ได้โดยอัตโนมัติ (Dynamic remotely operated navigation equipment: Drone) แฝงกำลังของปัญญาประดิษฐ์ ที่ติดตั้งอุปกรณ์รับรู้ทางสิ่งแวดล้อม ธุรกิจสามารถดำเนินการตรวจสอบสภาพแหล่งดำเนินงานทางอากาศตามเวลาจริง พร้อมระบุแหล่งกำเนิดมลพิษ และประเมินผลกระทบเชิงนิเวศ แนวทางเชิงรุกดังกล่าว ช่วยเสริมกำลังให้บริษัทสามารถรับมือกับประเด็นสิ่งแวดล้อมได้อย่างฉับพลัน ทำให้แน่ใจว่าได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบด้านความยั่งยืน และลดรอยเท้าคาร์บอนให้เหลือน้อยที่สุด

5. การปรับปรุงการค้นพบวัสดุ และการออกแบบแบตเตอรี่
ในสาขาการค้นพบวัสดุและเคมีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์สามารถให้การหยั่งรู้ที่แม่นยำ ซึ่งช่วยให้นักวิจัยทำนายคุณสมบัติทางเคมี ที่อำนวยต่อการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรได้ดีขึ้น รวมถึงยังช่วยทำนายความทนทานและสมรรถนะของแบตเตอรี่ ซึ่งช่วยปรับความเหมาะสมของกระบวนการผลิตพลังงานและหน่วยเก็บพลังงานให้ยั่งยืน อันนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากร และการสร้างของเสียที่ลดน้อยลง

6. การติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบแบบทันที
จากที่บรรทัดฐานด้าน ESG ได้มีวิวัฒนาการไปทั่วโลก ปัญญาประดิษฐ์สามารถช่วยกิจการในการติดตามการเปลี่ยนแปลงและข้อเสนอทางกฎระเบียบได้แบบทันท่วงที เพื่อให้แน่ใจว่าการปฏิบัติได้เป็นไปตามกฎระเบียบในทั่วทุกภูมิภาค แนวทางเชิงรุกดังกล่าว ช่วยลดเบี้ยปรับ และปกป้องชื่อเสียงของบริษัท ด้วยหลักประกันว่าได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบ ไม่เพียงแต่ธุรกิจได้ชื่อว่ามีมาตรฐานปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ยังได้สถานะผู้นำที่แสดงให้เห็นถึงคำมั่นในการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมและอย่างยั่งยืน

7. การวิเคราะห์ข้อมูลความยั่งยืน
เมื่อพิจารณาถึงพลังของปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เปรียบเสมือนมีผู้เชี่ยวชาญความยั่งยืน คอยช่วยทบทวนการดำเนินการในทุกแง่มุม ตลอด 24 ชั่วโมง ทุก ๆ วัน รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะได้อย่างปัจจุบันทันที เพื่อให้แน่ใจว่ากิจการมีความเป็นสีเขียว (เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) เท่าที่เป็นไปได้ ทั้งนี้ การตรวจสอบดูแลอย่างต่อเนื่อง หมายถึง ธุรกิจสามารถปรับตัวและมีวิวัฒนาการอย่างยั่งยืนในแบบทันที ซึ่งช่วยให้ก้าวพ้นภยันตรายทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น

8. การทำนายวงจรชีวิตอุปกรณ์
การทำนายวงจรชีวิตที่แม่นยำสำหรับอุปกรณ์ ช่วยปรับปรุงความยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทส่วนใหญ่ มีอุปกรณ์ที่ไม่สามารถมีช่วงเวลาหยุดทำงาน หรือไม่สามารถที่จะทำการสำรองอุปกรณ์ทดแทนไว้ เป็นผลให้ระบบที่ยังทำงานได้ จำต้องถูกขายหรือทิ้ง เมื่อครบกำหนดตามตัวเลขอายุที่ระบุไว้ ด้วยเหตุนี้ การปรับปรุงการทำนายวงจรชีวิต และการใช้ประโยชน์จากระบบให้ได้ยาวนานขึ้น จะสามารถช่วยลดผลกระทบของธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวได้อย่างมีนัยสำคัญ

9. การจัดการกำลังไฟฟ้าที่ใช้ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
บ่อยครั้งที่การปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มิได้ถูกพิจารณาให้เป็นประเด็นในการผลักดันความยั่งยืนขององค์กร ด้วยการทำงานผ่านปัญญาประดิษฐ์ องค์กรสามารถพยากรณ์ การใช้ขีดความสามารถของอสังหาริมทรัพย์ รายการซอฟต์แวร์ และที่สำคัญคือ ขีดความสามารถของศูนย์ข้อมูล ด้วยระดับความแม่นยำสูง แนวทางดังกล่าว เปิดทางให้องค์กรเคลื่อนจากการจัดการกำลังไฟฟ้าเชิงรับ มาสู่การจัดการกำลังไฟฟ้าเชิงรุก ที่ตอบสนองต่อการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนได้ดียิ่งขึ้น

10. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน
ปัญญาประดิษฐ์ สามารถเพิ่มแรงงัดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยั่งยืน ผ่านทางการวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อระบุงานออกแบบที่ยั่งยืน และบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าว อีกทั้งปัญญาประดิษฐ์ สามารถมองหาเส้นทางการใช้วัสดุที่หมุนเวียนได้ดีกว่าในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งช่วยในการพัฒนาปรับปรุงความยั่งยืน

อย่างไรก็ดี ศ.ดารอน อะเซโมกลู จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ให้ความเห็นไว้ว่า ความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันยังห่างไกลจากที่คาดหวัง โดยเชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์จะมาทำงานแทนมนุษย์ได้เพียง 5% ของงานทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ไม่เพียงพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลในอนาคตอันใกล้ และด้วยการลงทุนอย่างมหาศาลเมื่อเทียบกับสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์จะมาทำงานแทนได้เพียง 5% อาจส่งผลให้เงินจำนวนมากถูกใช้ไปโดยเปล่าประโยชน์

ในความเป็นจริง ปัญญาประดิษฐ์ ตามชื่อก็คือ สิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์คิดค้นและพัฒนาขึ้น เพื่อใช้ ‘ทุ่นแรง-ทุ่นเวลา’ ในการทำงานและการดำเนินชีวิต แต่จะไม่สามารถใช้งานเพื่อ ‘ทดแทนมนุษย์’ ได้เฉกเช่นปัญญาจริงของมนุษย์


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]