จากผลสำรวจของ GRI และ Support the Goals ที่เผยแพร่ในเอกสาร State of Progress: Business Contributions to the SDGs ระบุว่า สี่ในห้าของกิจการที่สำรวจมีการให้คำมั่นในรายงานแห่งความยั่งยืนต่อการตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แต่มีกิจการไม่ถึงครึ่งที่มีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานสำหรับใช้วัดผล
โดย 83% ของกิจการที่ทำการสำรวจ จำนวนกว่า 200 แห่งทั่วโลก มีการสนับสนุน SDGs และเห็นคุณค่าในการเชื่อมโยงรายงานให้ตอบสนองต่อเป้าหมายดังกล่าว ขณะที่ 69% มีการแสดงชุดเป้าหมาย SDGs ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ และ 61% ระบุถึงข้อปฏิบัติในการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว อย่างไรก็ดี มีกิจการในสัดส่วน 40% ที่เปิดเผยตัววัดที่ใช้บรรลุเป้าหมาย และมีจำนวน 20% ที่แสดงหลักฐานสนับสนุนผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้น
ในรายละเอียดของผลการวิจัยฉบับดังกล่าว ได้ประเมินธุรกิจที่ทำการสำรวจโดยแบ่งผลคะแนนออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีแผน (Plans) ในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุน SDGs (1 ดาว) กลุ่มที่มีการให้คำมั่น (Commitments) โดยแสดงให้เห็นเป้าหมายขององค์กรสำหรับใช้วัดผลที่เชื่อมโยงกับ SDGs ที่เกี่ยวข้อง (2 ดาว) กลุ่มที่มีการระบุถึงรายละเอียดการดำเนินงาน (Actions) ในการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว (3 ดาว) กลุ่มที่มีการเปิดเผยข้อมูลหลักฐานที่เป็นตัวเลขหรือในเชิงปริมาณซึ่งแสดงความก้าวหน้า (Progress) ของการดำเนินงาน (4 ดาว) และกลุ่มที่มีการผลักดันให้คู่ค้าหรือผู้ส่งมอบ (Suppliers) สนับสนุน SDGs (5 ดาว)
โดยจากการสำรวจ กลุ่มบริษัทที่มีแผนหรือได้ 1 ดาว มีสัดส่วนอยู่ที่ 7.3% กลุ่มบริษัทที่มีคำมั่นหรือได้ 2 ดาว มีอยู่ 13.6% กลุ่มบริษัทที่มีรายละเอียดการดำเนินงานหรือได้ 3 ดาว มีอยู่ 14.1% กลุ่มบริษัทที่มีข้อมูลแสดงความก้าวหน้าหรือได้ 4 ดาว มีอยู่ 34.9% และกลุ่มบริษัทที่มีการผลักดันคู่ค้าให้ร่วมดำเนินการหรือได้ 5 ดาว มีอยู่ 0.5% ส่วนบริษัทที่มีการรายงานด้านความยั่งยืนแต่มิได้เอ่ยถึง SDGs มีสัดส่วนอยู่ที่ 29.6%
ในแง่ของการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบที่มีต่อ SDGs พบว่า มีบริษัทจำนวน 20.4% ที่มีการรายงานผลกระทบทางบวกด้วยข้อมูลหลักฐานผลการดำเนินงานที่แสดงการตอบสนองต่อ SDGs ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ มีบริษัทเพียง 6.3% ที่มีการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทางลบจากการดำเนินงานซึ่งอาจส่งผลต่อการบรรลุ SDGs
ในส่วนของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 อันดับแรก ที่กิจการมีการเชื่อมโยงการดำเนินงานมากสุดจากการสำรวจ ได้แก่ เป้าที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่รับผิดชอบ และเป้าที่ 13 การดำเนินการทางสภาพภูมิอากาศ
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลจากการสำรวจข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านรายงานแห่งความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI ในรอบปี ค.ศ.2020 ขององค์กรผู้จัดทำรายงาน 206 แห่ง โดยประกอบด้วย กิจการ 86 แห่งในภูมิภาคยุโรป 19 ประเทศ ภูมิภาคเอเชีย 40 แห่งใน 17 ประเทศ ภูมิภาคอเมริกาเหนือ 39 แห่งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ภูมิภาคแอฟริกา 13 แห่งใน 5 ประเทศ ภูมิภาคอเมริกาใต้ 11 แห่งใน 5 ประเทศ ภูมิภาคโอเชียเนีย 7 แห่งในออสเตรเลีย เป็นต้น
สำหรับภาพรวมการตอบสนอง SDGs ของกิจการไทยที่ทำการสำรวจ 854 ราย ในปี พ.ศ.2565 โดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า มีความคืบหน้าในการดำเนินงานอยู่ที่ 28.2% อ้างอิงจากการเปิดเผยข้อมูลตามรายการและตัวชี้วัดหลัก GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR)
ทั้งนี้ ISAR ได้มีการเผยแพร่เอกสาร Guidance on Core Indicators for Sustainability and SDG Impact Reporting ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี ค.ศ. 2022 ซึ่งเป็นแนวทางการใช้ชุดตัวชี้วัดหลัก GCI ในการจัดทำรายงานการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในรูปแบบ SDG Impact ที่บริษัทจดทะเบียนสามารถใช้เชื่อมโยงข้อมูลที่เปิดเผยในรายงาน 56-1 One Report ให้ตอบสนองต่อเป้าหมาย SDGs และใช้ตอบสนองต่อ SDG ในเป้าหมายที่ 12.6 ได้ด้วย
ในการนี้ สถาบันไทยพัฒน์ จะจัดให้มี Thaipat Runners-up 2023 Online Forum ในหัวข้อ SDG Impact Disclosure แนวทางสำหรับรายงานการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนที่ตอบสนองต่อเป้าหมาย SDGs ในระดับตัวชี้วัด (Indicator-level SDGs) เพื่อประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ในรูปแบบ Webinar (ไม่มีค่าใช้จ่าย) โดยสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์สถาบันไทยพัฒน์ https://thaipat.org
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Saturday, October 21, 2023
Saturday, October 07, 2023
'การฟอกเขียว' ในกลุ่มธนาคารกำลังขยายวง
ในงานวิจัยชิ้นล่าสุดของ RepRisk บริษัทด้านวิทยาการข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) ที่ใหญ่สุดของโลก ซึ่งเปิดเผยในรายงาน 2023 Report on Greenwashing เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2566 แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงจากการฟอกเขียว โดยจากการสำรวจความเสี่ยงด้าน ESG ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศของกิจการทั่วโลก (ระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ.2565 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2566) พบว่าทุก ๆ หนึ่งในสี่ของอุบัติการณ์ (Incident) ที่เกิดขึ้น มีความเชื่อมโยงกับการฟอกเขียว โดยเพิ่มขึ้นจากที่เกิดขึ้นทุก ๆ หนึ่งในห้ากรณี จากข้อมูลในรายงานของปีก่อนหน้า
การฟอกเขียว (Greenwashing) คือ การทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาสินค้าหรือองค์กรให้มีภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสังคมโดยการรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
จากการสำรวจข้อมูลของปี พ.ศ.2565 กลุ่มธนาคารและบริการทางการเงิน มีกรณีของการฟอกเขียวที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศอยู่ที่ 109 กรณี (คิดเป็น 16% ของกรณีที่เกิดขึ้นทั้งหมด) โดยเพิ่มขึ้นถึงกว่า 70% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และสูงเป็นอันดับสอง รองจากกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซ ซึ่งมีจำนวนอยู่ที่ 160 กรณี (คิดเป็น 23% ของกรณีที่เกิดขึ้นทั้งหมด)
ทั้งนี้ เป็นการฟอกเขียวด้านสภาพภูมิอากาศที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภค จำนวน 71 กรณี (10%) กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 62 กรณี (9%) กลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและก่อสร้าง จำนวน 60 กรณี (9%) กลุ่มธุรกิจค้าปลีก ของใช้ในครัวเรือนและของใช้ส่วนตัว จำนวน 55 กรณี (8%) กลุ่มธุรกิจสายการบินและการเดินทางท่องเที่ยว จำนวน 47 กรณี (7%) และกลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ จำนวน 27 กรณี (4%) นอกนั้นอยู่ในกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ อีกจำนวน 104 กรณี (15%)
ตัวอย่างการฟอกเขียวที่เกิดขึ้นในหลายบริษัท ส่งผลร้ายต่อชื่อเสียงและกระทบกับสถานะทางการเงินของกิจการ อาทิ DWS Group ถูกกล่าวหาว่าทำการตลาดในผลิตภัณฑ์กองทุนที่ทำให้ผู้ลงทุนหลงผิดว่ามีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเกินจริง หรือ H&M ถูกวิจารณ์ว่าใช้ระบบแต้มคะแนนสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ผู้บริโภคหลงผิดเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์
โดยในกลุ่มธนาคารและบริการทางการเงิน มากกว่า 50% ของการฟอกเขียวด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นกรณีที่เอ่ยถึงเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือมีความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทน้ำมันและก๊าซ ซึ่งระเบียบวิธีที่ RepRisk ใช้ประเมิน จะพิจารณาทั้งผลร้ายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินการโดยตรง และจากการให้สินเชื่อหรือลงทุนในบริษัทหรือกิจกรรมประเภทดังกล่าว เช่น การให้สินเชื่อในโครงการ/กิจกรรมด้านน้ำมันและก๊าซ
กรณีการฟอกเขียวที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงการขยายขอบเขตและความซับซ้อนของกิจกรรม จากการทำให้ผู้บริโภคหลงผิด ไปสู่การให้คำมั่นสัญญา การรับรอง และข้อผูกมัดที่ไม่ใสสะอาด และมักง่ายต่อการประกาศเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยปราศจากการลงมือปฏิบัติในปัจจุบันเพื่อให้เกิดผลจริง (หลายกรณี มีการยกเป้าหมายและขยับเงื่อนเวลาออกไป เมื่อจวนตัว)
วิธีสำรวจการฟอกเขียวของ RepRisk ใช้การหาจุดตัดของประเด็น ESG สองชุด คือ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และการสื่อสารที่ทำให้หลงผิด ซึ่งชี้ให้เห็นถึงกรณีการฟอกเขียวอย่างตรงไปตรงมา ตั้งแต่การติดฉลากหลอกลวงแบบชัดแจ้ง ไปจนถึงกรณีที่ซับซ้อนอย่างการบิดเบือนจากผู้กุมอำนาจ
ในปีที่แล้ว มีบริษัท 1,850 แห่ง ที่เกี่ยวโยงกับกรณีการสื่อสารที่ทำให้หลงผิด ในจำนวนนี้ 63% หรือ 1,160 บริษัท ทำเป็นครั้งแรก และไม่ได้เกิดเฉพาะกับกิจการมหาชน แต่ยังพบในบริษัทเอกชนด้วย โดยมีบริษัทมหาชน ในสัดส่วน 12% ที่พบอย่างน้อยหนึ่งกรณีซึ่งเกี่ยวโยงกับการสื่อสารที่ทำให้หลงผิด เมื่อเทียบกรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัทเอกชน ในสัดส่วน 3% ที่มีอย่างน้อยหนึ่งกรณีซึ่งเกี่ยวโยงกับการสื่อสารที่ทำให้หลงผิด
ความคาดหวังที่จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันจากภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืน ได้เปิดประตูบานใหญ่สู่การฟอกเขียว และประตูยิ่งจะเปิดค้างยาวนานขึ้น ท่ามกลางภูมิทัศน์ความยั่งยืนของกิจการที่ผันเปลี่ยนเร็ว โดยไร้การติดตามตรวจสอบและภาระความรับผิดต่อการกระทำดังกล่าว
การระบุและป้องกันมิให้เกิดการสื่อสารเรื่องความยั่งยืนที่กิจการลวงให้หลงผิด จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งที่น่าเชื่อถือภายนอก ที่มิใช่ข้อมูลความยั่งยืนที่กิจการเปิดเผยโดยลำพัง
ผู้สนใจที่ต้องการอ่านรายละเอียดผลการสำรวจการฟอกเขียวฉบับเต็มของ RepRisk สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์ On the rise: navigating the wave of greenwashing and social washing
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
การฟอกเขียว (Greenwashing) คือ การทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาสินค้าหรือองค์กรให้มีภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสังคมโดยการรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
จากการสำรวจข้อมูลของปี พ.ศ.2565 กลุ่มธนาคารและบริการทางการเงิน มีกรณีของการฟอกเขียวที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศอยู่ที่ 109 กรณี (คิดเป็น 16% ของกรณีที่เกิดขึ้นทั้งหมด) โดยเพิ่มขึ้นถึงกว่า 70% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และสูงเป็นอันดับสอง รองจากกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซ ซึ่งมีจำนวนอยู่ที่ 160 กรณี (คิดเป็น 23% ของกรณีที่เกิดขึ้นทั้งหมด)
ทั้งนี้ เป็นการฟอกเขียวด้านสภาพภูมิอากาศที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภค จำนวน 71 กรณี (10%) กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 62 กรณี (9%) กลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและก่อสร้าง จำนวน 60 กรณี (9%) กลุ่มธุรกิจค้าปลีก ของใช้ในครัวเรือนและของใช้ส่วนตัว จำนวน 55 กรณี (8%) กลุ่มธุรกิจสายการบินและการเดินทางท่องเที่ยว จำนวน 47 กรณี (7%) และกลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ จำนวน 27 กรณี (4%) นอกนั้นอยู่ในกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ อีกจำนวน 104 กรณี (15%)
ตัวอย่างการฟอกเขียวที่เกิดขึ้นในหลายบริษัท ส่งผลร้ายต่อชื่อเสียงและกระทบกับสถานะทางการเงินของกิจการ อาทิ DWS Group ถูกกล่าวหาว่าทำการตลาดในผลิตภัณฑ์กองทุนที่ทำให้ผู้ลงทุนหลงผิดว่ามีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเกินจริง หรือ H&M ถูกวิจารณ์ว่าใช้ระบบแต้มคะแนนสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ผู้บริโภคหลงผิดเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์
โดยในกลุ่มธนาคารและบริการทางการเงิน มากกว่า 50% ของการฟอกเขียวด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นกรณีที่เอ่ยถึงเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือมีความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทน้ำมันและก๊าซ ซึ่งระเบียบวิธีที่ RepRisk ใช้ประเมิน จะพิจารณาทั้งผลร้ายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินการโดยตรง และจากการให้สินเชื่อหรือลงทุนในบริษัทหรือกิจกรรมประเภทดังกล่าว เช่น การให้สินเชื่อในโครงการ/กิจกรรมด้านน้ำมันและก๊าซ
กรณีการฟอกเขียวที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงการขยายขอบเขตและความซับซ้อนของกิจกรรม จากการทำให้ผู้บริโภคหลงผิด ไปสู่การให้คำมั่นสัญญา การรับรอง และข้อผูกมัดที่ไม่ใสสะอาด และมักง่ายต่อการประกาศเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยปราศจากการลงมือปฏิบัติในปัจจุบันเพื่อให้เกิดผลจริง (หลายกรณี มีการยกเป้าหมายและขยับเงื่อนเวลาออกไป เมื่อจวนตัว)
วิธีสำรวจการฟอกเขียวของ RepRisk ใช้การหาจุดตัดของประเด็น ESG สองชุด คือ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และการสื่อสารที่ทำให้หลงผิด ซึ่งชี้ให้เห็นถึงกรณีการฟอกเขียวอย่างตรงไปตรงมา ตั้งแต่การติดฉลากหลอกลวงแบบชัดแจ้ง ไปจนถึงกรณีที่ซับซ้อนอย่างการบิดเบือนจากผู้กุมอำนาจ
ในปีที่แล้ว มีบริษัท 1,850 แห่ง ที่เกี่ยวโยงกับกรณีการสื่อสารที่ทำให้หลงผิด ในจำนวนนี้ 63% หรือ 1,160 บริษัท ทำเป็นครั้งแรก และไม่ได้เกิดเฉพาะกับกิจการมหาชน แต่ยังพบในบริษัทเอกชนด้วย โดยมีบริษัทมหาชน ในสัดส่วน 12% ที่พบอย่างน้อยหนึ่งกรณีซึ่งเกี่ยวโยงกับการสื่อสารที่ทำให้หลงผิด เมื่อเทียบกรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัทเอกชน ในสัดส่วน 3% ที่มีอย่างน้อยหนึ่งกรณีซึ่งเกี่ยวโยงกับการสื่อสารที่ทำให้หลงผิด
ความคาดหวังที่จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันจากภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืน ได้เปิดประตูบานใหญ่สู่การฟอกเขียว และประตูยิ่งจะเปิดค้างยาวนานขึ้น ท่ามกลางภูมิทัศน์ความยั่งยืนของกิจการที่ผันเปลี่ยนเร็ว โดยไร้การติดตามตรวจสอบและภาระความรับผิดต่อการกระทำดังกล่าว
การระบุและป้องกันมิให้เกิดการสื่อสารเรื่องความยั่งยืนที่กิจการลวงให้หลงผิด จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งที่น่าเชื่อถือภายนอก ที่มิใช่ข้อมูลความยั่งยืนที่กิจการเปิดเผยโดยลำพัง
ผู้สนใจที่ต้องการอ่านรายละเอียดผลการสำรวจการฟอกเขียวฉบับเต็มของ RepRisk สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์ On the rise: navigating the wave of greenwashing and social washing
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Subscribe to:
Posts (Atom)