Thursday, December 30, 2010

ทำทุกวันให้เป็นวัน CSR

นับตั้งแต่ที่โครงการ CSR DAY ได้ถูกริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2552 จนถึงปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่สนใจ เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 200 แห่ง รวมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 8,000 คน ในระยะเวลา 21 เดือน

โครงการ CSR DAY มีวัตถุประสงค์ที่จะรณรงค์ให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไปได้จัดกิจกรรม CSR DAY ขึ้น “ในสถานประกอบการ” เพื่อมุ่งให้เกิด “กระบวนการมีส่วนร่วมของพนักงาน” ในกิจกรรม CSR ขององค์กร และส่งเสริมให้ “ทุกๆ วันของการทำงาน เป็นวัน CSR”

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจหรือการดำเนินงานโดยคำนึงถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในการสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืนขององค์กร กิจกรรมในโครงการ CSR DAY ได้ทำให้องค์กรต่างๆ มีช่องทางและพื้นที่สำหรับให้พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น หลายกิจกรรมที่ถูกเสนอโดยพนักงานขององค์กรต่างๆ ได้รับการพิจารณาให้นำไปดำเนินการจนกลายเป็นกิจกรรม CSR ขององค์กรนั้นๆ และเป็นเครื่องบ่งชี้ความสำเร็จหนึ่งของโครงการ นอกเหนือจากจำนวนองค์กรและจำนวนพนักงานที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม

การที่พนักงานได้มีโอกาสนำความรู้ความสามารถของตนไปใช้เพื่อทำประโยชน์ต่อผู้อื่น ถือเป็น CSR ที่ควรปลูกฝังให้งอกงามจากรุ่นสู่รุ่น และจากองค์กรหนึ่งสู่อีกองค์กรหนึ่ง และทำให้พนักงานได้มีส่วนในการเรียนรู้ที่จะทำประโยชน์ต่อตนเอง ต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อชุมชน สังคมไปพร้อมๆ กัน

ภายใต้กระบวนการที่ดี กิจกรรม CSR ที่คิดร่วมกันในหมู่พนักงาน เสนอร่วมกันโดยกลุ่มพนักงาน และขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างพนักงานในองค์กร จะมีพลังมากกว่าการคิดโดยคนนอก หรือนำเสนอโดยบริษัทเอเจนซี่ หรือให้หน่วยงานภายนอกไปดำเนินการโดยลำพัง

จากกระแสตอบรับโครงการ CSR DAY ที่ผ่านมา ทำให้สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ รวมทั้งผู้ให้การสนับสนุนอย่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และ บมจ.บางจากปิโตรเลียม ซึ่งมีผลงานโดดเด่นในการดำเนินงานด้าน CSR และได้รับรางวัล CSR AWARD จากตลาดหลักทรัพย์ฯ มาแล้วทั้งสองแห่ง ตัดสินใจที่จะดำเนินโครงการ CSR DAY ในปี 2554 ต่อเป็นเฟสที่ 3

โดยในปี 54 สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม จะให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการจัดทำรายงาน CSR และยังมีแผนที่จะพัฒนากรณีศึกษา CSR ของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มธุรกิจ และจะอาศัยช่องทางการจัดกิจกรรมในโครงการ CSR DAY เผยแพร่กรณีศึกษาตัวอย่าง เพื่อให้บริษัทที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้มีแนวทางและไอเดียที่สามารถนำไปปรับใช้กับการดำเนินงาน CSR ขององค์กรตนเอง

สถานประกอบการที่แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการในปี 54 จะได้รายงานผลการจัดกิจกรรม (CSR Day Report) ที่มีการรวบรวมข้อเสนอ CSR ที่น่าสนใจจากกลุ่มพนักงาน ณ วันที่จัดกิจกรรม รวมทั้งจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการเข้าร่วมกิจกรรมสำหรับองค์กร (CSR Day Certificate) พร้อมเข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม (CSR Guidelines) ฉบับปรับปรุงใหม่ (พิมพ์ครั้งที่ 3) จัดทำโดย ก.ล.ต. เพื่อใช้เป็นคู่มือช่วยบอกพิกัดการดำเนินงาน CSR ของบริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไปด้วย

บริษัทจดทะเบียนและองค์กรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ CSR DAY เฟส 3 สามารถสำรองวันจัดกิจกรรมได้ที่สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ โทร 02 229 2394 หรือที่สถาบันไทยพัฒน์ โทร 02 930 5227 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.csrday.com)...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, December 23, 2010

ให้ข้อมูล CSR ให้ได้สาระ

หลายองค์กรธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม มักจะประสบกับคำถามหนึ่งที่ผุดขึ้นมาอยู่ในใจเสมอๆ ในช่วงขับเคลื่อนงาน CSR นั่นคือ กิจกรรมหรือประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ดำเนินการอยู่นี้ ใช่สิ่งที่องค์กรควรทำหรือไม่ หรือเหมาะสมดีแล้วหรือไม่ แล้วควรจะไปหาคำตอบที่ใช่จากใคร

แน่นอนว่า การแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในทุกๆ กิจกรรมนั้น ย่อมมีประโยชน์ต่อสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และย่อมจะส่งผลกระทบในทางใดทางหนึ่งแก่องค์กรด้วยเช่นกัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ องค์กรไม่อยากทำ CSR หรือ ทำ CSR อะไรก็ได้ ย่อมดีทั้งนั้น ทว่า องค์กรต้องการทำ CSR ที่ก่อให้เกิดผลจริงๆ และเป็น CSR ที่เหมาะสมกับองค์กรจริงๆ

แล้วคำตอบของปัญหานี้ ก็ไม่ได้อยู่ที่คนนอกองค์กร หรืออยู่กับผู้เชี่ยวชาญที่ไหน แต่อยู่ภายในองค์กรเอง คนในองค์กรจะเป็นผู้ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด เพราะมีข้อมูลอยู่กับตัวมากที่สุด สิ่งที่เป็นข้อจำกัด ถ้าจะมีอยู่ ก็คือ การขาดกระบวนวิธีในการวิเคราะห์เพื่อให้ได้มาซึ่งประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่เหมาะสมและกิจกรรมที่ควรดำเนินการ ซึ่งอาจต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวมาคอยชี้แนะเพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการ

เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยองค์กรในการวิเคราะห์ประเด็นและกิจกรรม CSR ที่เหมาะสม ซึ่ง GRI ได้พัฒนาขึ้น ได้แก่ การทดสอบสารัตถภาพ (Materiality Test) ของข้อมูลแนวการดำเนินงานในหมวดเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลต่อเรื่องความยั่งยืน ซึ่งได้มาจาก 3 แหล่ง คือ แง่มุม (aspect) ที่ถูกระบุโดยผู้มีส่วนได้เสียในองค์กร แง่มุมที่ถูกแนะนำโดยผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กร และแง่มุมที่ตกหล่นจาก 2 แหล่งแรก แต่มีความสำคัญ (เมื่อเทียบกับแนวปฏิบัติที่สากลยอมรับ) และถูกเสนอให้รวมไว้โดยคณะทำงาน CSR


การทดสอบสารัตถภาพ เป็นการคัดเลือกตัวบ่งชี้ที่มีนัยสำคัญ (significant) ต่อองค์กร โดยพิจารณาถึงผลกระทบจากการดำเนินการตามแง่มุมนั้นๆ (รวมทั้งผลกระทบจากการไม่ดำเนินการตามแง่มุมนั้นๆ) และเป็นการคัดเลือกตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวเนื่อง (relevant) กับองค์กร โดยพิจารณาจากความคาดหวังหรือการให้น้ำหนักความสำคัญของผู้มีส่วนได้เสียในแง่มุมดังกล่าว

เกณฑ์ในการคัดเลือกตัวบ่งชี้ในกระบวนการทดสอบสารัตถภาพตาม G3 Guidelines ประกอบด้วยคำถามสำคัญ 8 ข้อ ดังนี้

ตัวบ่งชี้นี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญโดยผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้เป็นสิ่งท้าทายหรือสามารถสร้างให้เกิดอุปสรรคทางธุรกิจในวันข้างหน้าได้หรือไม่ และสิ่งนี้ได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในวงธุรกิจแล้วหรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่มีนัยสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ต่อองค์กร / ผู้มีส่วนได้เสีย หรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้เอื้ออำนวยให้เกิดโอกาสบางอย่างให้แก่องค์กรหรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้ก่อให้เกิดแนวโน้มที่ทำให้องค์กรต้องประสบกับความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ / ผู้เชี่ยวชาญ ยอมรับว่าเป็นภัยเสี่ยงต่อความยั่งยืนหรือไม่
องค์กรมีความรู้หรือความสามารถที่ชำนาญพิเศษในการเสริมหนุนความยั่งยืนในเรื่องที่ตัวบ่งชี้นี้ได้กล่าวถึงหรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้มีส่วนที่ทำให้เกิดผลสำเร็จของการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติหรือไม่ หรือมีส่วนช่วยเสริมสร้างคุณค่าหรือค่านิยมขององค์กรหรือไม่

ผลจากการทดสอบสารัตถภาพ จะทำให้องค์กรได้มาซึ่งตัวบ่งชี้ที่ “มีนัยสำคัญ” และ “เกี่ยวเนื่อง” กับองค์กร ซึ่งจะถูกใช้ในการติดตามเก็บข้อมูลและนำมารายงาน ที่สำคัญ จะทำให้คณะทำงานหรือผู้รับผิดชอบงานด้าน CSR ขององค์กร สามารถอธิบายถึงหลักการและเหตุผลในการเลือกประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่เหมาะสมและกิจกรรมที่องค์กรควรดำเนินการได้ ต่างจากปัญหาก่อนหน้าที่องค์กรไม่แน่ใจและไม่สามารถจะอธิบายได้ ก็เพราะไม่รู้ว่า อะไรที่ควรบริหารจัดการ อะไรที่ควรวัดผล (You can’t describe because you don’t know what to manage and measure) สำหรับการรายงานในขั้นสุดท้าย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, December 16, 2010

เปิดข้อมูล CSR ฉบับ ก.ล.ต.

เห็นข่าวชิ้นหนึ่งของ ก.ล.ต. ที่มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้เสนอขายหุ้นรองรับนโยบายการกำกับดูแลการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ไปสู่แนวทางสากลที่มุ่งเน้นความเพียงพอและคุณภาพการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนผ่านช่องทางตลาดทุนได้คล่องตัวขึ้น โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป

หลักเกณฑ์ใหม่นี้ ก.ล.ต. จะยังคงกำหนดให้บริษัทผู้ออกหุ้นต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่จะไม่กำหนดคุณสมบัติในเรื่องการดำเนินธุรกิจและการปฏิบัติตามกฎหมายอื่น ได้แก่ การประกอบธุรกิจหลักเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม การไม่มีเหตุสงสัยว่าบริษัทจะไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว และการประกอบธุรกิจไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกินกว่าขอบเขตที่กฎหมายกำหนดอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะเน้นให้บริษัทผู้ออกหุ้นต้องเปิดเผยข้อมูลในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ดุลพินิจในการพิจารณาข้อมูลเพื่อตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง

เรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ของ ก.ล.ต. ข้างต้น แต่บริษัทผู้ออกหุ้นสามารถใช้เป็นแนวทางในการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกับการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลในการประกอบการพิจารณาลงทุนเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการลงทุนอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Investing: SRI) ภายใต้ความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้

แนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR Guidelines ที่ ก.ล.ต. ได้ประกาศเผยแพร่ไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีหัวข้อที่แนะนำให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

หลักการ ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นการปฏิบัติตามแนวทาง CSR ที่บริษัทฯได้ดำเนินการ โดยข้อมูลที่เปิดเผยนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ยังช่วยในการสอบทานให้บริษัทฯทราบว่า ได้ดำเนินการในเรื่อง CSR ตรงกับเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ อย่างไร

แนวปฏิบัติ (1) จัดทำรายงานเปิดเผยการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR report) โดยอาจระบุไว้ในรายงานประจำปี (annual report) หรือจัดทำเป็นฉบับแยกต่างหากจากรายงานประจำปี ที่เรียกว่า รายงานความยั่งยืน (sustainability report) ตามรูปแบบที่สากลยอมรับและควรครอบคลุมเนื้อหาในหัวข้อดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย

การดำเนินงานด้านธุรกิจ กล่าวถึง
วิสัยทัศน์
กลยุทธ์ของธุรกิจที่สะท้อนหลักการและแนวทางปฏิบัติตามหลักการ CSR
โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ผลการดำเนินงาน

การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย กล่าวถึง
นโยบายการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย
กระบวนการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูธรรมชาติ
กระบวนการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต
ลักษณะของผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่าต่อผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม

การดำเนินงานด้านสังคม กล่าวถึง
นโยบายการจัดการด้านแรงงานและพนักงาน
สวัสดิภาพในการทำงานของพนักงาน
การพัฒนาและฝึกอบรมพนักงาน
การส่งเสริมและพัฒนาชุมชนและสังคมโดยรอบพื้นที่ตั้งของธุรกิจ

(2) จัดทำข้อมูลในรายงานให้ชัดเจน กระชับ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย หลีกเลี่ยงข้อมูลที่ไม่จำเป็น โดยสรุปการดำเนินการทั้งด้านดีและด้านไม่ดีตามข้อเท็จจริง หากมีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลจากภายนอก ให้ระบุแหล่งที่มาของข้อมูล และกลั่นกรองความถูกต้องของข้อมูลก่อนนำมาเปิดเผยไว้ในรายงาน

(3) จัดให้มีช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวก เช่น จัดทำรายงานทั้งในรูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของธุรกิจ/บริษัท

การเปิดเผยข้อมูลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม แม้จะมิใช่ข้อกำหนดให้บริษัทผู้ออกหุ้นต้องปฏิบัติ แต่เป็นการสมัครใจเลือกที่จะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวด้วยตนเอง ทั้งนี้ ผลการวิจัยทางตลาดทุนในต่างประเทศหลายชิ้นระบุในแนวทางเดียวกันว่า ส่งผลเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ภาพลักษณ์ของบริษัท และผลตอบแทนการลงทุน (ดู www.socialinvest.org/resources/factsheets_resources/)...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, December 09, 2010

CSR Report ในสไตล์ ISO 26000

เมื่อถึงใกล้สิ้นปี องค์กรธุรกิจต่างก็วุ่นกับการจัดทำรายงานประจำปี แถมในบางแห่ง ก็ยังต้องรับนโยบายจากผู้บริหารในการให้มีการจัดทำรายงาน CSR ขององค์กรอีกด้วย ความแตกต่างสำคัญของการจัดทำรายงานการเงินกับรายงานแห่งความยั่งยืน ก็อยู่ตรงที่ ความมีอยู่ของข้อมูลการเงินที่ได้เก็บบันทึกไว้แล้วตลอดทั้งปี ขณะที่ความมีอยู่ของข้อมูลการดำเนินงาน CSR ที่แม้จะได้มีการทำจริง เห็นผลจริง แต่หากไม่ได้มีการวางระบบหรือระเบียบวิธีในการเก็บบันทึกข้อมูลไว้ล่วงหน้า ก็มีแนวโน้มสูงที่จะไม่สามารถหาข้อมูลมารายงานได้อย่างครบถ้วนตามความประสงค์ของกิจการได้

องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ได้ประกาศแนวปฏิบัติว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (Guidance on social responsibility) มาตรฐาน ISO 26000:2010 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 หลังจากการริเริ่มจุดประกายกระบวนการจัดทำร่างนี้นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2544 หรือเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี โดยในมาตรฐานฉบับดังกล่าว ได้ให้ข้อแนะนำที่เกี่ยวกับการรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

องค์กรควรมีการรายงานผลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมภายในห้วงเวลาที่เหมาะสมให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยจำนวนองค์กรที่ดำเนินการดังกล่าวตามรอบเวลาอย่างสม่ำเสมอมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ การรายงานต่อผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรทำได้หลายช่องทาง ทั้งการจัดประชุมร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย หนังสือแจ้งผลการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นรายคาบ การเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ และการจัดทำเป็นรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมตามช่วงเวลา

องค์กรควรมีข้อมูลที่แสดงถึงวัตถุประสงค์และผลการดำเนินงานจำแนกตามหัวข้อหลักและประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับความรับผิดชอบต่อสังคมในรายงานที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และควรมีรายละเอียดของวิธีการและกำหนดเวลาที่ผู้มีส่วนได้เสียได้เข้ามีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้ด้วย

ข้อมูลการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ควรให้ภาพที่สมบูรณ์และเป็นธรรม โดยเปิดเผยทั้งผลสำเร็จและข้อบกพร่องพร้อมแนวทางในการแก้ไข

องค์กรอาจเลือกที่จะรายงานการดำเนินงานของทั้งกิจการพร้อมกันในคราวเดียว หรือจะรายงานแยกตามแหล่งที่ตั้งประกอบการ สำหรับชุมชนที่มักคำนึงถึงเป็นกลุ่มย่อย การรายงานแบบจำเพาะตามท้องที่ จะได้รับประโยชน์กว่ารายงานแบบที่เป็นภาพรวมของกิจการ

การเผยแพร่รายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมยังสามารถสร้างเสริมลักษณะเชิงคุณค่าให้แก่กิจกรรมการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร โดยข้อที่องค์กรพึงพิจารณาในการจัดทำรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่

-ขอบเขตและขนาดของรายงาน ควรให้มีความเหมาะสมกับขนาดและลักษณะโดยธรรมชาติของกิจการ
-ระดับของรายละเอียด ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงขีดประสบการณ์ขององค์กรจากการรายงาน ในบางกรณี องค์กรริเริ่มความพยายามด้วยการรายงานที่จำกัดครอบคลุมเพียงไม่กี่ประเด็น และในปีต่อมา ก็ขยายวงครอบคลุมในประเด็นอื่นๆ ตามประสบการณ์และข้อมูลที่มีเพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอจนสามารถขยายฐานการรายงานให้กว้างขึ้นได้
-ในรายงานควรอธิบายถึงวิธีในการตัดสินเลือกประเด็นที่องค์กรดำเนินการ และแนวทางดำเนินการกับประเด็นเหล่านั้น
-รายงานควรนำเสนอข้อมูลที่เป็นเป้าประสงค์ขององค์กร ผลการดำเนินงาน ผลิตภัณฑ์และบริการในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน และ
-ตัวรายงานสามารถจัดทำในหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะของกิจการและความประสงค์ของผู้มีส่วนได้เสีย อาทิ รายงานเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเอกสารเว็บเชิงโต้ตอบ หรือเป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ ทั้งนี้ อาจจัดทำเป็นรายงานในรูปแบบที่เป็นฉบับแยกต่างหาก หรือจัดทำเป็นส่วนหนึ่งในรายงานประจำปีขององค์กรก็ได้

อนึ่ง ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถหาอ่านได้จากเอกสารมาตรฐาน ISO 26000 ในส่วนที่เป็นข้อแนะนำการจัดทำรายงานและเครื่องมือสำหรับการรายงาน (หัวข้อ 7.5, 7.8 และภาคผนวก A)...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, December 02, 2010

จาก Blue สู่ Green

กระแสโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้เป็นประเด็นทาง CSR มานานระยะหนึ่งแล้ว และก็จะยังเป็นประเด็นที่อยู่คู่กับสังคมโลกไปอีกนานจวบจนสิ้นอายุขัยของคนรุ่นปัจจุบัน

ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งล่าสุด ยังได้เป็นปัจจัยหนุนเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยเรื่องอุปสงค์สีเขียว ได้กลายเป็นปัจจัยที่สาม (Third Factor) ในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่มีความห่วงใยในความปลอดภัย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิต ภายใต้วิถีแห่งการบริโภคที่ยั่งยืน นอกเหนือจากเรื่องราคาและคุณภาพ (ข้อมูลจาก PSB Survey on Sustainability in the 2009 Recession)

อุปสงค์สีเขียวได้ผลักดันให้องค์กรธุรกิจต้องปรับปรุงและพัฒนากระบวนการดำเนินงาน สายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งบริการต่างๆ ที่อิงกับ Green Concept เพิ่มขึ้น โดยองค์กรหลายแห่งได้พยายามผนวกความเป็นสีเขียวเข้าในฝั่งอุปทานให้ได้ตลอดทั้งสายเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์สีเขียวสู่ตลาด ผู้ประกอบการหลายแห่งได้ให้ความสนใจกับการใช้ฉลากคาร์บอนกับผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร ควบคู่ไปกับประโยชน์ที่ได้จากการลดต้นทุนการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

กลยุทธ์ Blue Ocean Strategy ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ด้วยการคำนึงถึงการสร้างตลาดใหม่ หรือการสร้างและยึดอุปสงค์ใหม่เพียงลำพัง ไม่อาจนำไปสู่คำตอบของธุรกิจในบริบทของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ผลิตภัณฑ์สนองตลาดใหม่ที่มีทั้งความแตกต่างและต้นทุนต่ำ แต่ส่งผลกระทบเสียหายกับสิ่งแวดล้อม จะไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

การกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ใหม่ๆ เพื่อหวังจับจองผลได้ในทางธุรกิจด้วยกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม แต่ไปสร้างให้เกิดมลพิษหรือความเสื่อมโทรมต่อระบบนิเวศ หรือคุกคามต่อความอุดมสมบูรณ์ของทุนทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ จึงไม่อาจจัดเป็นกลยุทธ์ที่ใช้การได้ของธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

หากธุรกิจไม่สามารถรักษาฐานที่มั่นในผลิตภัณฑ์ที่เป็น Cash Cow หรือยึดครองพื้นที่ส่วนแบ่งตลาดในปัจจุบันของตน ด้วยการเติมองค์ประกอบทางด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม อย่าว่าแต่ตลาดใหม่ที่ไร้การแข่งขันซึ่งยากแก่การจับจองในสภาวการณ์เช่นนี้ ตลาดหลักที่สร้างรายได้ให้แก่กิจการอยู่ตรงหน้าก็จะมีอันต้องหลุดลอยไปด้วย

ความพยายามที่จะยกระดับการเติบโตด้วยการสร้างนวัตกรรมทางคุณค่า (Innovating Value) ในแบบ Blue Ocean เพื่อหลีกหนีสมรภูมิการแข่งขันในแบบ Red Ocean จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไป เมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่ต่างเห็นโอกาสและกระโจนเข้าสู่ตลาดใหม่เดียวกัน ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ไม่ด้อยไปกว่ารายเดิม จนกลายเป็น Red Ocean ในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจจำต้องยกระดับการดำเนินงานเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้และผลกำไรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงตลาดที่มีความต้องการเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความห่วงใยในความปลอดภัย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิต ภายใต้วิถีแห่งการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นกระแสหลักของโลกอยู่ในขณะนี้

กลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว หรือ Green Ocean strategy จึงเป็นแนวคิดที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ธุรกิจได้ใช้เป็นกลยุทธ์ในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร ตลอดจนการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันทางธุรกิจ ภายใต้กรอบการพัฒนาความยั่งยืนทางคุณค่า (Sustaining Value) ให้คงอยู่กับธุรกิจในระยะยาว ด้วยการเติมองค์ประกอบทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม

การนำกลยุทธ์ Green Ocean มาใช้ในธุรกิจ จะเป็นการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางคุณค่าที่พัฒนาขึ้นจากกลยุทธ์ Blue Ocean ให้มีระยะห่างเหนือผู้เล่นหน้าใหม่ และเป็นกลยุทธ์ที่ใช้รักษาฐานที่มั่นของผลิตภัณฑ์ในส่วนแบ่งตลาดแบบ Red Ocean ให้แข็งแกร่งเหนือคู่แข่งยิ่งขึ้น...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]