Thursday, December 09, 2010

CSR Report ในสไตล์ ISO 26000

เมื่อถึงใกล้สิ้นปี องค์กรธุรกิจต่างก็วุ่นกับการจัดทำรายงานประจำปี แถมในบางแห่ง ก็ยังต้องรับนโยบายจากผู้บริหารในการให้มีการจัดทำรายงาน CSR ขององค์กรอีกด้วย ความแตกต่างสำคัญของการจัดทำรายงานการเงินกับรายงานแห่งความยั่งยืน ก็อยู่ตรงที่ ความมีอยู่ของข้อมูลการเงินที่ได้เก็บบันทึกไว้แล้วตลอดทั้งปี ขณะที่ความมีอยู่ของข้อมูลการดำเนินงาน CSR ที่แม้จะได้มีการทำจริง เห็นผลจริง แต่หากไม่ได้มีการวางระบบหรือระเบียบวิธีในการเก็บบันทึกข้อมูลไว้ล่วงหน้า ก็มีแนวโน้มสูงที่จะไม่สามารถหาข้อมูลมารายงานได้อย่างครบถ้วนตามความประสงค์ของกิจการได้

องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ได้ประกาศแนวปฏิบัติว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (Guidance on social responsibility) มาตรฐาน ISO 26000:2010 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 หลังจากการริเริ่มจุดประกายกระบวนการจัดทำร่างนี้นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2544 หรือเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี โดยในมาตรฐานฉบับดังกล่าว ได้ให้ข้อแนะนำที่เกี่ยวกับการรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

องค์กรควรมีการรายงานผลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมภายในห้วงเวลาที่เหมาะสมให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยจำนวนองค์กรที่ดำเนินการดังกล่าวตามรอบเวลาอย่างสม่ำเสมอมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ การรายงานต่อผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรทำได้หลายช่องทาง ทั้งการจัดประชุมร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย หนังสือแจ้งผลการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นรายคาบ การเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ และการจัดทำเป็นรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมตามช่วงเวลา

องค์กรควรมีข้อมูลที่แสดงถึงวัตถุประสงค์และผลการดำเนินงานจำแนกตามหัวข้อหลักและประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับความรับผิดชอบต่อสังคมในรายงานที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และควรมีรายละเอียดของวิธีการและกำหนดเวลาที่ผู้มีส่วนได้เสียได้เข้ามีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้ด้วย

ข้อมูลการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ควรให้ภาพที่สมบูรณ์และเป็นธรรม โดยเปิดเผยทั้งผลสำเร็จและข้อบกพร่องพร้อมแนวทางในการแก้ไข

องค์กรอาจเลือกที่จะรายงานการดำเนินงานของทั้งกิจการพร้อมกันในคราวเดียว หรือจะรายงานแยกตามแหล่งที่ตั้งประกอบการ สำหรับชุมชนที่มักคำนึงถึงเป็นกลุ่มย่อย การรายงานแบบจำเพาะตามท้องที่ จะได้รับประโยชน์กว่ารายงานแบบที่เป็นภาพรวมของกิจการ

การเผยแพร่รายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมยังสามารถสร้างเสริมลักษณะเชิงคุณค่าให้แก่กิจกรรมการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร โดยข้อที่องค์กรพึงพิจารณาในการจัดทำรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่

-ขอบเขตและขนาดของรายงาน ควรให้มีความเหมาะสมกับขนาดและลักษณะโดยธรรมชาติของกิจการ
-ระดับของรายละเอียด ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงขีดประสบการณ์ขององค์กรจากการรายงาน ในบางกรณี องค์กรริเริ่มความพยายามด้วยการรายงานที่จำกัดครอบคลุมเพียงไม่กี่ประเด็น และในปีต่อมา ก็ขยายวงครอบคลุมในประเด็นอื่นๆ ตามประสบการณ์และข้อมูลที่มีเพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอจนสามารถขยายฐานการรายงานให้กว้างขึ้นได้
-ในรายงานควรอธิบายถึงวิธีในการตัดสินเลือกประเด็นที่องค์กรดำเนินการ และแนวทางดำเนินการกับประเด็นเหล่านั้น
-รายงานควรนำเสนอข้อมูลที่เป็นเป้าประสงค์ขององค์กร ผลการดำเนินงาน ผลิตภัณฑ์และบริการในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน และ
-ตัวรายงานสามารถจัดทำในหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะของกิจการและความประสงค์ของผู้มีส่วนได้เสีย อาทิ รายงานเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเอกสารเว็บเชิงโต้ตอบ หรือเป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ ทั้งนี้ อาจจัดทำเป็นรายงานในรูปแบบที่เป็นฉบับแยกต่างหาก หรือจัดทำเป็นส่วนหนึ่งในรายงานประจำปีขององค์กรก็ได้

อนึ่ง ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถหาอ่านได้จากเอกสารมาตรฐาน ISO 26000 ในส่วนที่เป็นข้อแนะนำการจัดทำรายงานและเครื่องมือสำหรับการรายงาน (หัวข้อ 7.5, 7.8 และภาคผนวก A)...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

No comments: