Thursday, September 25, 2014

ตัวอย่าง CSV ในธุรกิจไทย

วันนี้ (25 ก.ย.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมกันจัดสัมมนา “Shared Value Opportunities in Thailand” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งเสริมการขับเคลื่อนการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) ขององค์กรธุรกิจไทย ตามแนวทางของไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์

เครเมอร์ได้พูดผ่านวีดีทัศน์ที่บันทึกสำหรับงานสัมมนาในครั้งนี้ว่า ไมเคิล และตัวเขาเอง รู้สึกตื่นเต้นมากที่มีการจัดงานสัมมนานี้ขึ้นในประเทศไทย เมื่อตอนที่ไมเคิลและเขาได้ริเริ่มแนวคิด CSV นี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ไม่นึกว่าจะได้รับการขานรับจากบรรดาบริษัทและประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากมายขนาดนี้ พร้อมกับได้กล่าวแสดงความยินดีกับบริษัทชั้นนำของไทยที่ได้พัฒนาความริเริ่มและกำลังนำกลยุทธ์ด้านคุณค่าร่วมไปผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในความคิดหลักของบริษัท


ในช่วงแรกของงานสัมมนา เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ของบริษัทจดทะเบียนชั้นนำโดยผู้บริหารระดับสูงจาก บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท บมจ. บางจาก ปิโตรเลียม และ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย ได้นำเสนอตัวอย่างของ CSV ที่เกิดขึ้นแล้วในองค์กรทั้งสามแห่ง อาทิ การนำเทคโนโลยีควบคุมการก่อสร้างบ้านแบบ Real Estate Manufacturing (REM) ของพฤกษา เรียลเอสเตท การร่วมดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมันกับสหกรณ์การเกษตร ของบางจาก ปิโตรเลียม และบริการสินเชื่อรับประกันการประหยัดพลังงาน ของ ธ.กสิกรไทย

ไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ได้จำแนกการสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV ออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับของการคิดค้นผลิตภัณฑ์ (Product) ขึ้นใหม่ที่เป็นความต้องการของสังคม โดยเฉพาะกับตลาดหรือกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ระดับของการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องผลิตภาพโดยให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และระดับของการพัฒนากลุ่มความร่วมมือ (Cluster) ในท้องถิ่นที่เอื้อต่อธุรกิจ

โปรแกรมสินเชื่อรับประกันการประหยัดพลังงานของ ธ.กสิกรไทย เป็นตัวอย่างของ CSV ในระดับ Product ที่ธนาคารให้แก่ผู้ประกอบการในรูปของสินเชื่อลีสซิ่ง / เช่าซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ และ/หรือ เงินกู้ระยะยาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการจัดการด้านพลังงานให้มีประสิทธิภาพ ผ่านการใช้บริการจากบริษัทจัดการด้านพลังงาน (Energy Service Company - ESCO) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างครบวงจร และมีการรับประกันผลการประหยัดพลังงานที่ได้จากการลงทุนในโครงการดังกล่าว ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจได้ว่าผลการประหยัดพลังงานที่ได้จากการลงทุนในโครงการจะเป็นแหล่งที่มาหลักของการชำระคืนเงินกู้ของลูกค้า (Self-Financing Project) โดยไม่กระทบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานปกติของกิจการ ผลจากการลดต้นทุนการใช้พลังงาน นอกจากจะเป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อมและการใช้พลังงานของประเทศโดยรวมแล้ว ยังทำให้กิจการมีสถานะทางการเงินและความสามารถทางการแข่งขันดีขึ้นในระยะยาว

ส่วนการก่อสร้างบ้านแบบ REM ที่พฤกษา เรียลเอสเตทได้คิดค้นและพัฒนาขึ้น เป็นตัวอย่างของ CSV ในระดับ Value Chain ที่ประยุกต์มาจากกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรม ด้วยการวางแผนการทำงานร่วมกับผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ส่งมอบในห่วงโซ่คุณค่าให้รับผิดชอบเฉพาะในส่วนงานที่ตนเองมีความถนัดเพียงกิจกรรมเดียว จนสำเร็จทั้งเฟส หรือโครงการ ณ จุดก่อสร้าง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการก่อสร้างสูงสุด มีการควบคุมกระบวนการทำงานให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่เหมาะสม มีจังหวะการทำงานที่แน่นอน มีการทำงานอย่างต่อเนื่องในสายการก่อสร้างระหว่างผู้รับเหมาและผู้ส่งมอบแต่ละราย มีระบบการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพระหว่างการก่อสร้างในทุกขั้นตอน ทำให้ย่นระยะเวลาก่อสร้างเฉลี่ยจาก 45 วัน เหลือเพียง 21 วัน จนเป็นผลให้บริษัทสามารถส่งมอบบ้านที่มีคุณภาพในมาตรฐานเดียวกันและในเวลาอันรวดเร็วให้แก่ลูกค้า

สำหรับธุรกิจสถานีบริการน้ำมันที่บางจาก ปิโตรเลียมร่วมดำเนินงานกับสหกรณ์การเกษตร เป็นตัวอย่างของ CSV ในระดับ Cluster ที่เริ่มต้นจากแนวคิดน้ำมันแลกข้าว เพื่อแบ่งปันแลกเปลี่ยนปัจจัยในการยังชีพ โดยบริษัทนำข้าวที่ได้รับจากสหกรณ์ไปบริจาคให้เป็นอาหารกลางวันแก่นักเรียนในโรงเรียนรอบโรงกลั่น ส่วนสหกรณ์นำน้ำมันของบริษัทในราคาถูกไปจำหน่ายให้แก่สมาชิก พัฒนาเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจจนยกระดับสู่ธุรกิจสมัยใหม่ในรูปแบบของการจัดตั้งเป็นสถานีบริการน้ำมันสหกรณ์และสถานีบริการน้ำมันชุมชนโดยลำดับ ปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันชุมชน ซึ่งมีคนในชุมชนเป็นสมาชิกและเจ้าของจำนวน 618 สถานี เป็นวิถีการดำเนินธุรกิจที่มีวิธีคิดและวัฒนธรรมที่อุ้มชูกันและกัน ให้โอกาสคนไทยได้เป็นเครือข่ายร่วมธุรกิจ ที่นอกจากสร้างรายได้จากยอดขายน้ำมันแล้ว สมาชิกของชุมชนยังได้รับเงินปันผลปลายปี เพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวที่เป็นสมาชิกอีกกว่า 1.2 ล้านครัวเรือน เป็นประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน

ช่วงหลังของงานสัมมนา เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อโอกาสของการสร้างคุณค่าร่วมในประเทศไทย และการแนะนำเครื่องมือ SVOI (Shared Value Opportunity Identification) โดยสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะ Shared Value Initiative Affiliate ในประเทศไทย และบริษัท เอ็กซ์เพิร์ท แอสเปค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สำหรับใช้พัฒนาความริเริ่มด้าน CSV ที่เหมาะสมกับองค์กร สอดคล้องกับแง่มุมความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ พร้อมด้วยแนวทางการระบุผลลัพธ์ทางธุรกิจและทางสังคมที่คาดว่าจะได้รับอย่างเป็นรูปธรรม

หน่วยงานที่ประสงค์จะนำแนวคิด CSV มาพัฒนาเป็นกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ทางสังคม ด้วยการนำความเชี่ยวชาญของหน่วยงานมาใช้สร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจให้แก่องค์กรและสังคมไปพร้อมกัน สามารถเข้าร่วมขับเคลื่อนการสร้างคุณค่าร่วมกับสังคม ได้ที่ CSVforum.com...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 18, 2014

รายงานแบบ G4

ศูนย์พัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรพัฒนาการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบการรายงานของ Global Reporting Initiative (GRI) ฉบับ G4 สำหรับบริษัทจดทะเบียนให้ได้เรียนรู้กระบวนการจัดทำ Sustainability Report ซึ่งเป็นกรอบการรายงานด้านความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

กรอบการรายงาน GRI เน้นการสร้างให้เกิดกระบวนการรายงาน (Reporting Process) ขึ้นในองค์กร มิใช่มุ่งหวังเพียงเพื่อให้องค์กรได้มาซึ่งเล่มรายงาน (Report) เป็นเรื่องหลัก


ด้วยกระบวนการรายงานตามกรอบ GRI จะชี้ให้เห็นแนวทางในการระบุวิสัยทัศน์และกลยุทธ์การดำเนินงานขององค์กรในทิศทางที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น การปรับปรุงสายผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืนเพิ่มเติมจากเดิม และในระหว่างทาง จะช่วยให้องค์กรเห็นลู่ทางในการเชื่อมโยงการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์เข้ากับกระบวนการรายงาน

ผลได้สำคัญของกระบวนการรายงานตามกรอบ GRI อีกเรื่องหนึ่ง คือ จะช่วยให้ผู้รับผิดชอบติดตามความคืบหน้าและเผยให้เห็นส่วนของการดำเนินงานที่ควรปรับปรุง ทำให้องค์กรสามารถบริหารจัดการกับสิ่งที่ติดตามวัดผลได้อย่างเป็นปัจจุบัน (โดยไม่ต้องรอดำเนินการในรอบปีถัดไป) การเฝ้าติดตามและประเมินการดำเนินงานในกระบวนการรายงาน นอกจากจะช่วยให้องค์กรปรับปรุงสิ่งที่ทำได้ไม่ดีให้ดีเป็นปกติแล้ว ยังช่วยให้องค์กรเห็นโอกาสในการพัฒนาสิ่งที่ทำได้ดีเป็นปกติ ให้ดียิ่งขึ้นเหนือกว่าเกณฑ์ปกติอีกด้วย อาทิ การลดค่าใช้จ่ายจากการใช้วัตถุดิบทดแทน หรือการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับตลาดที่กำลังเติบโตในวิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน

กระบวนการรายงานตามกรอบ GRI เป็นเสมือนระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ช่วยให้องค์กรค้นพบความเสี่ยงและสิ่งที่ไม่คาดฝันซึ่งอาจเกิดขึ้นและส่งผลเสียหายต่อธุรกิจ เช่น ระดับความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ หรือกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงอันมีผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจในอนาคต ในทางตรงข้าม กระบวนการรายงาน ยังทำหน้าที่เสมือนนักพยากรณ์ที่ชี้ให้เห็นโอกาสที่องค์กรยังมิได้ตระหนักและนำมาใช้ประโยชน์เหนือคู่แข่ง เช่น เครือข่ายความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่าที่เอื้อต่อการขยายตลาดใหม่ เทคโนโลยีหรือสิ่งประดิษฐ์ที่พนักงานคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในการทำงานที่สามารถต่อยอดขยายผลได้

กระบวนการรายงานตามกรอบ GRI มิใช่เพียงรายงานที่นำเสนอสิ่งที่องค์กรได้ดำเนินการเกี่ยวกับความยั่งยืนทางเดียว แต่เป็นสื่อหรือช่องทางที่เปิดให้มีการสะท้อนการดำเนินงาน ผ่านการพูดคุย หารือ วัดผล และดำเนินการเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร องค์กรที่มีกระบวนการรายงาน (ที่มิใช่มีเพียงรายงาน) จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ความเชื่อมั่น” ให้เกิดขึ้นระหว่างองค์กรและพนักงานและกับผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร

การยอมรับจากภายนอกเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ แต่ให้คุณค่าในการสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจแก่พนักงานในการทำงานร่วมกับองค์กร สามารถที่จะรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ และในขณะเดียวกัน ก็เพิ่มโอกาสในการชักชวนบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการให้เข้ามาร่วมงานกับองค์กรได้ง่ายขึ้น

กระบวนการรายงานมีความแตกต่างจากกระบวนการประชาสัมพันธ์ ตรงที่การนำเสนอข้อมูลจะครอบคลุมทั้งในส่วนที่องค์กรทำได้ดีและในส่วนที่องค์กรยังต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข มิได้คัดกรองเอาแต่ส่วนที่ดีมารายงาน สิ่งนี้จะช่วยสร้างให้เกิดความสมดุลของการรายงาน นำไปสู่ความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นระหว่างองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

องค์กรที่พยายามจัดทำรายงานเพื่อวัตถุประสงค์ในการประชาสัมพันธ์หรือการโฆษณา คุณค่าของเล่มรายงานที่จัดทำขึ้น อาจจะจำกัดอยู่ในระดับที่เป็นเพียงแค็ตตาล็อกสินค้าหรือโบรชัวร์บริษัท ที่ผู้ใช้รายงานมิได้ให้ราคาเท่ากับรายงานที่เกิดจากกระบวนการรายงานอย่างแท้จริง

รายงานที่เกิดจากกระบวนการรายงาน ยังถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือให้คณะกรรมการบริษัทหรือผู้บริหารอค์กรในการชี้แจงและให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนในมิติที่เกี่ยวกับผลการดำเนินงานที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน (Non-financial performance data) เนื่องจากคำถามที่ผู้ลงทุนต้องการทราบจากองค์กร ในปัจจุบันนี้ ครอบคลุมถึงข้อมูลการดำเนินงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) การจัดทำรายงานตามกรอบการรายงานที่เป็นสากล จะช่วยให้องค์กรดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบ และมีข้อมูลที่เกิดจากการดำเนินการจริงสำหรับรายงานหรือชี้แจงให้ผู้ลงทุนได้รับทราบและเพื่อใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีคุณภาพ

หลักสูตรพัฒนาการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบ GRI (G4) ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการเก็บรวบรวมข้อมูล การเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้เสีย การกำหนดประเด็นที่มีสารัตถภาพ (Material aspects) การกำหนดขอบเขตของข้อมูลที่รายงาน (Boundary) การนำเสนอข้อมูลอย่างมีประสิทธิผล ไปจนถึงการประเมินรายงานและการวางแผนเพื่อการพัฒนาต่อเนื่องสำหรับการรายงานในรอบปีถัดไป โดยผู้ที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรนี้จะได้รับประกาศนียบัตร (Certificate) จาก GRI

บริษัทจดทะเบียนที่สนใจสมัครได้จนถึงวันที่ 19 กันยายน 2557 (รับจำนวนจำกัด) หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์พัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคม (อีเมล SRcenter@set.or.th)...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 11, 2014

ป้ายหน้า CSV

นับจากที่ Shared Value Initiative ก่อตัวขึ้นในปี 2555 จากความริเริ่มของ Foundation Strategy Group (FSG) องค์กรที่ปรึกษาไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งก่อตั้งโดย “ไมเคิล อี พอร์เตอร์” และ “มาร์ค เครเมอร์” เพื่อนำแนวคิด CSV (Creating Shared Value) ที่ทั้งสองได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น แปลงไปสู่ “ภาคปฏิบัติ” ที่หลายองค์กรนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมไปด้วยกัน จนเกิดเป็นชุมชนของนักปฏิบัติที่ร่วมอยู่ในเครือข่าย Shared Value Initiative ในปัจจุบัน มากกว่า 3,000 คน

ตัวอย่างบริษัทในต่างประเทศที่นำแนวคิด CSV ไปขับเคลื่อนในองค์กรจนถูกหยิบยกเป็นกรณีศึกษา เช่น โนวาร์ตีส (สวิตเซอร์แลนด์) เวสเทิร์น ยูเนี่ยน (อเมริกา) บริษัทในกลุ่มคิริน (ญี่ปุ่น) และกรณีศึกษาในระดับ SMEs เช่น บราวน์ส ซูเปอร์ สโตร์ส (อเมริกา)

สำหรับในประเทศไทย มีธุรกิจที่ได้นำเอาแนวคิด CSV มาประยุกต์ใช้กับองค์กรแล้ว อย่างเช่น บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และบริษัทในกลุ่ม ปตท. เป็นต้น

ในฝั่งของตลาดทุนไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาความยั่งยืน (Sustainability Development Roadmap) สำหรับบริษัทจดทะเบียน พ.ศ. 2557-2561 ได้มีกล่าวถึงเรื่อง CSV ไว้ โดยระบุถึงแนวทางการเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทใน 3 ระดับ คือ Compliance / Do No Harm -> Integrated Business & SD Strategies -> พัฒนาธุรกิจไปสู่ Creating Shared Value


CSR Club สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ยังได้มีการนำเรื่อง CSV บรรจุไว้ในแผนกลยุทธ์ พ.ศ. 2557-2560 ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาความยั่งยืนของสำนักงาน ก.ล.ต. และเทรนด์โลกตามแนวทางการสร้างคุณค่าร่วม โดยระบุถึงบทบาทของ CSR Club ในการสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนใน 3 ระดับ คือ CSR-in-process -> SD Integration -> Shared Value Creation

การเชื่อมโยงการขับเคลื่อน CSV ในประเทศไทย กับ Shared Value Initiative ในระดับสากล สำหรับรองรับภาคเอกชนไทยที่สนใจในการพัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานตามแนวทางของ CSV ที่สามารถส่งมอบคุณค่าให้แก่สังคมควบคู่กับการสร้างคุณค่าให้แก่องค์กร มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากความเคลื่อนไหวในเรื่อง CSV ในบ้านเรา ได้ก่อตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับพัฒนาการในระดับสากล

การจัดเตรียมทรัพยากรในรูปขององค์ความรู้ เครื่องมือ ตัวอย่าง และกรณีศึกษา สำหรับการสร้างคุณค่าร่วมทั้งในระดับที่เป็นกิจกรรมขององค์กรและในระดับองค์กรโดยรวม หรือเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ที่มีต่อการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรที่สนใจ เป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้เกิดเป็น Ecosystem สนับสนุนการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว

การเชื่อมโยงการขับเคลื่อน CSV ในประเทศเข้ากับ Shared Value Initiative เครือข่ายเคลื่อนไหวด้าน CSV ระดับโลก ยังจะเป็นโอกาสสำหรับองค์กรธุรกิจไทยที่มีการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับแนวทาง CSV ได้เผยแพร่ตัวอย่างการดำเนินงานและกรณีศึกษาที่ประสบผลสำเร็จ ผ่านชุมชนนักปฏิบัติในเครือข่าย Shared Value Initiative กระจายออกไปทั่วโลกด้วย

บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจที่สนใจใช้แนวคิด CSV มาพัฒนาเป็นกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ทางสังคม ด้วยการนำความเชี่ยวชาญของหน่วยงานมาใช้สร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจให้แก่องค์กรและสังคมไปพร้อมกัน อาจจะเริ่มขยับตัวได้ตั้งแต่นี้ไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 04, 2014

CSV กับ Social Enterprise

นับจากที่ ศ.ไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง ‘The Big Idea: Creating Shared Value’ ในฮาร์วาร์ด บิสซิเนส รีวิว เมื่อปี 2554 จนนำมาสู่การก่อตั้งเป็น Shared Value Initiative (SVI) ในปี 2555 เพื่อนำแนวคิด CSV ที่ทั้งสองได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น ไปใช้ในภาคธุรกิจและทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ จนส่งผลให้มีการนำแนวคิดนี้ไปพัฒนาเป็นกลยุทธธุรกิจกันอย่างกว้างขวางทั่วโลก

ทิศทางการขับเคลื่อนเรื่อง CSR จากนี้ไป คงหนีไม่พ้นเรื่อง CSV (Creating Shared Value) ซึ่งถือเป็นภาคต่อขยายของ CSR และอยู่ในบริบทของ CSR-in-process ที่องค์กรสามารถใช้ยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมจากการดูแลผลกระทบในเชิงลบ มาสู่การส่งมอบคุณค่าในเชิงบวก ในอดีต เราเรียก CSR ในลักษณะนี้ว่า Strategic CSR แต่ปัจจุบัน นิยมใช้คำว่า CSV แทน

ที่ผ่านมาธุรกิจส่วนใหญ่มองประเด็นทางสังคม (Social Issues) ที่องค์กรต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในแง่ของความเสี่ยงทางธุรกิจ จึงมักใช้ CSR เป็นเครื่องมือป้องกันหรือจัดการความเสี่ยง แต่ในปัจจุบัน หลายธุรกิจเริ่มมีมุมมองที่เปลี่ยนไปต่อประเด็นทางสังคมเหล่านั้น ว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจ CSV จึงกลายมาเป็นเครื่องมือในการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้น ในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสังคม และในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปพร้อมกัน

ก่อนหน้านี้ มีธุรกิจที่นำเรื่อง CSV มาสื่อสารกับสังคมในเชิงภาพลักษณ์ และการหวังผลทางประชาสัมพันธ์ มากกว่าที่จะเป็นการสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคมอย่างแท้จริง บางธุรกิจนำเอาโครงการบริจาคหรือกิจกรรมเพื่อสังคมที่ดำเนินการอยู่ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก มาปัดฝุ่นเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น CSV ทั้งที่กิจกรรมในเชิง Philanthropy ดังกล่าว ไม่ได้จัดว่าเป็น CSV ตามแนวทางของไมเคิล อี พอร์เตอร์

ความสับสนอีกกรณีหนึ่ง เกิดขึ้นจากการนำคำว่า CSV ไปใช้ในบริบทของการขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise และอธิบายในทำนองว่า Shared Value จะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อองค์กรธุรกิจมีการแปลงสภาพเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม

ในความเป็นจริง การสร้างคุณค่าร่วม มิได้ขึ้นอยู่กับสภาพของกิจการที่ต้องเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม รวมทั้งมิได้เสนอให้กิจการต้องทำสิ่งที่ต่างไปจากการทำธุรกิจปกติ แต่เสนอให้กิจการทำธุรกิจเช่นปกตินั้น ด้วยการนำความเชี่ยวชาญขององค์กรมาใช้สร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ ให้เกิดแก่กิจการและสังคมไปพร้อมกัน

หากเปรียบเทียบความแตกต่าง จะพบว่า Social Enterprise (SE) เป็นวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยมีพันธกิจในการดำเนินงานเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง ด้วยการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดหรือรูปแบบทางธุรกิจในการตอบสนองวัตถุประสงค์ทางสังคม ส่วน CSV เป็นการดำเนินงานของวิสาหกิจทั้งที่ดำเนินอยู่แล้วในรูปของธุรกิจปกติ (หรือที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในรูปอื่น) เพื่อมุ่งให้เกิดผลลัพธ์เป็นคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมควบคู่กัน

CSV จึงเป็นการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับกิจการและสังคม ภายใต้วิสาหกิจที่ดำเนินงานอยู่เดิม โดยไม่จำเป็นต้องจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่ หรือหากวิสาหกิจที่ดำเนินงานนั้นเป็น SE อยู่แล้ว ก็สามารถนำแนวคิด CSV ไปพัฒนาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดหรือรูปแบบทางธุรกิจ เพื่อส่งมอบผลลัพธ์เป็นคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมได้เช่นกัน

ลักษณะที่สำคัญอีกประการของ CSV คือ การให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ (Outcome) จากการดำเนินงาน มากกว่าความมุ่งประสงค์ (Purpose) ของกิจการ ไม่ว่าจะก่อตั้งด้วยวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจหรือในทางสังคมก็ตาม กิจการจะต้องสามารถส่งมอบคุณค่าให้กับทั้งตัวองค์กรและสังคมไปพร้อมกัน โดยนำความเชี่ยวชาญและสินทรัพย์ที่มีอยู่ มาใช้เป็นฐานในการสร้างคุณค่าร่วม

แนวคิด CSV ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานเพื่อสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับสังคมอย่างแท้จริง เพราะแนวคิด CSV จะช่วยชี้ให้องค์กรได้คำนึงถึงต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย และค่าเสียโอกาสในการส่งมอบผลประโยชน์ทางสังคมอย่างรอบด้าน

เมื่อใดก็ตามที่การดำเนินงานมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่าประโยชน์ที่ส่งมอบ คุณค่าสุทธิที่สังคมได้รับจะติดลบ สะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไรหรือองค์กรสาธารณประโยชน์นั้นๆ และยิ่งไปกว่านั้น ชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย ก็จะพลอยเสียโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นที่มีประสิทธิภาพกว่า

ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ค่าเสียโอกาสดังกล่าว กลายเป็นภาระต้นทุน (สะสม) ที่องค์กรไม่แสวงหากำไรหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ ทิ้งไว้ในรูปของผลกระทบภายนอก (Externalities) ให้กับชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่ปรากฏอยู่ในรายการผลการดำเนินงานใดๆ ทำให้ยังคงอ้างผลงานหรือเคลมเครดิตที่หน่วยงานได้เข้าให้ความช่วยเหลือดังกล่าวอย่างเต็มภาคภูมิ

ดูราวกับว่า เริ่มต้นเหมือนดัง ‘ดอกไม้’ แต่ลงท้ายกลับได้ ‘ก้อนอิฐ’ โดยไม่รู้ตัว...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]