Saturday, June 17, 2023

นับหนึ่งการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนภาครัฐ

เมื่อพูดถึงการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ เราเข้าใจเป็นอื่นไปไม่ได้ว่า นั่นเป็นบทบาทของกิจการในภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจ พึงจะต้องรายงานให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบ ไม่ว่าจะเป็นไปโดยสมัครใจ หรือมีกฎระเบียบบังคับให้ดำเนินการก็ตาม

ในภาคสมัครใจ มาตรฐานการรายงานขัอมูลความยั่งยืนซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและใช้อ้างอิงอย่างแพร่หลายในวงกว้าง คือ มาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) โดยจากการสำรวจของเคพีเอ็มจี ในปี ค.ศ.2022 ระบุว่า ร้อยละ 68 หรือราวสองในสามของบริษัทในกลุ่ม N100 ซึ่งประกอบด้วยบริษัทที่มีรายได้สูงสุด 100 แห่ง จากประเทศที่ทำการสำรวจ 58 ประเทศทั่วโลก รวม 5,800 บริษัท ใช้มาตรฐาน GRI อ้างอิงในการจัดทำรายงานความยั่งยืนของกิจการ

ในประเทศไทย จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์กับกิจการในประเทศจำนวน 854 แห่ง ในปี พ.ศ.2565 พบว่า ร้อยละ 88.89 ของกิจการที่มีการเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบรายงานความยั่งยืน จำนวน 153 แห่ง ใช้การอ้างอิงมาตรฐาน GRI เช่นเดียวกัน

ในภาคบังคับ ปัจจุบัน ทุกบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกกำหนดให้บริษัทต้องมีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนตามแบบ 56-1 One Report ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” เพื่อให้สะท้อนการดำเนินการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่รวมอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ (ESG-in-process) ที่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการตลาดทุน (ก.ต.ท.)

สำหรับความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการภาครัฐ คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีภาครัฐระหว่างประเทศ (IPSASB) ได้ออกแนวทางการปฏิบัติที่แนะนำ (RPG) ว่าด้วยการรายงานข้อมูลชุดโครงการความยั่งยืน หรือ Reporting Sustainability Program Information แก้ไขเพิ่มเติมการรายงานความยั่งยืนทางการเงินของกิจการในระยะยาว (RPG 1) และการรายงานข้อมูลผลการให้บริการสาธารณะ (RPG 3) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

สาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติม คือ การรายงานผลกระทบของชุดโครงการความยั่งยืนที่มีต่อฐานะทางการเงินของกิจการในระยะยาวทั้งในมิติการให้บริการ รายได้ และหนี้สิน ตลอดจนการให้รายละเอียดและข้อมูลตัวชี้วัดของชุดโครงการความยั่งยืนที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกรีนบอนด์ จากภาษีคาร์บอน และเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น

ปัจจุบัน IPSASB กำลังผลักดันการออกเอกสารที่มีความเร่งด่วนใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ข้อกำหนดทั่วไปสำหรับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืน 2) การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ และ 3) การเปิดเผยข้อมูลที่มิใช่ตัวเงิน: ทรัพยากรธรรมชาติ

โดยในเดือนมิถุนายนนี้ IPSASB ได้มีการนำเสนอโครงการฉบับย่อในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ที่จะพัฒนาขึ้นโดยอาศัยมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) และมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนสากล (GRI) โดยมีกำหนดออกเป็นร่าง (Exposure Draft) ที่ผ่านการอนุมัติ ในเดือนมิถุนายน ปีหน้า และประกาศใช้เป็นมาตรฐาน ภายในครึ่งปีหลังของปี พ.ศ.2568

จะเห็นว่า กระแสการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง มิได้จำกัดอยู่เพียงกิจการในภาคเอกชนแล้วเท่านั้น แต่กำลังขยายวง ครอบคลุมไปถึงกิจการในภาครัฐ ซึ่งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หน่วยงานภาครัฐในประเทศ จำเป็นต้องเฝ้าติดตามและเตรียมรับมือกับความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอย่างไม่ชักช้า

ซึ่งก็น่าจะเหมาะเจาะกับจังหวะเวลาที่เรากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ ที่มีศักยภาพนำการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการและหน่วยงานภาครัฐ ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, June 03, 2023

'หุ้นเข้าใหม่' ในทำเนียบ ESG100 ปี 2566

จากการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่าการลงทุนยั่งยืนทั่วโลกมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิน้อยลง ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ประเด็นเงินเฟ้อ และแนวโน้มของสภาวะเศรษฐกิจถดถอย

แต่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิยังคงเพิ่มขึ้นมาที่ 2.74 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเติบโต 7.5% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าภาพรวมกองทุนทั่วโลกที่ 4%

กองทุนในยุโรปยังคงเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดของการลงทุนอย่างยั่งยืน คิดเป็น 84% ของมูลค่ากองทุนยั่งยืนทั่วโลก รองลงมาเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาในสัดส่วน 11% ตามมาด้วยกลุ่มประเทศในเอเชีย (ไม่นับรวมญี่ปุ่น) เป็นอันดับสามของโลก

โดยในภูมิภาคเอเชีย เม็ดเงินลงทุนในกองทุนยั่งยืน มีมูลค่ารวม 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 3.1% ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าการลงทุนในประเทศจีนถึง 68% ตามมาด้วยไต้หวันและเกาหลีใต้ที่ 17% และ 11.6% ตามลำดับ

สำหรับในประเทศไทย เนื่องจากกองทุนยั่งยืนส่วนใหญ่ เป็นการลงทุนต่างประเทศ ทำให้การฟื้นตัวของตลาดหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะทางฝั่งสหรัฐฯ ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนยั่งยืนในประเทศไทยขึ้นมาอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากสิ้นปีที่แล้ว โดยมีเงินไหลออกสุทธิ ราว 2 ร้อยล้านบาท

อย่างไรก็ดี หากมองย้อนกลับไปในช่วงสองปีที่ผ่านมา พบว่ากองทุนยั่งยืนมีเม็ดเงินไหลเข้า-ออกอย่างจำกัด โดยเฉพาะหลังจากปี ค.ศ.2021 เป็นต้นมา ซึ่งอาจมีส่วนมาจากสภาวะการลงทุนที่มีปัจจัยลบค่อนข้างมากในช่วงปี ค.ศ.2022

ในส่วนของสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย และเป็นผู้จัดทำข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 ได้จัดทำรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่น่าลงทุนในกลุ่ม ESG Emerging ปี ค.ศ.2023 ด้วยการคัดเลือกจาก 888 บริษัท/กองทุน/ทรัสต์เพื่อการลงทุน ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง จำนวนกว่า 16,445 จุดข้อมูล

โดยการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่น่าลงทุนกลุ่ม ESG Emerging ในปีนี้ นับเป็นปีที่สี่ของการประเมิน ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลการดำเนินงานที่สะท้อนปัจจัยด้าน ESG ตามที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะ และผ่านเกณฑ์คัดกรองเบื้องต้นที่ใช้ในการประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ของสถาบันไทยพัฒน์ ตามหลักการ CORE Framework เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวแก่ผู้ลงทุน

สำหรับหลักทรัพย์ที่ติดกลุ่ม ESG Emerging ปี ค.ศ.2023 ซึ่งได้เข้าอยู่ในทำเนียบ ESG100 เป็นครั้งแรก มีจำนวน 15 หลักทรัพย์ ประกอบด้วย AAI AWC BRR BVG DEXON ITC PLANB POLY PRI PRIME SICT SISB TLI WHA WHAIR

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ยังได้คัดเลือกและจัดทำรายชื่อหลักทรัพย์ที่มีผลประกอบการพลิกฟื้นกลุ่ม ESG Turnaround เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับการลงทุนที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ด้วยโอกาสการสร้างผลตอบแทนจากหลักทรัพย์ที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวและมีปัจจัย ESG สนับสนุน

สำหรับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG Turnaround ประกอบด้วย AOT BA BAFS CENTEL ERW MINT SEAFCO SHR SPA THRE รวมจำนวน 10 หลักทรัพย์

โดยการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีผลประกอบการพลิกฟื้นกลุ่ม ESG Turnaround ในปีนี้ นับเป็นปีแรกของการจัดทำรายชื่อบริษัทที่มี ESG ซึ่งได้ตามเกณฑ์ในรอบปีการประเมิน แต่ยังมีผลประกอบการติดลบหรือต่ำกว่าตลาด (Underperform) โดยมีสัญญาณการพลิกฟื้นและโอกาสในการไต่ระดับขึ้น (Upside) ของราคาหลักทรัพย์ จากการฟื้นตัวของตลาด และศักยภาพในธุรกิจแกนหลัก (Core Business) ของกิจการที่มี ESG เป็นปัจจัยสนับสนุน

ผู้ลงทุนที่สนใจศึกษาข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://thaipat.esgrating.com


* หมายเหตุ: การนำเสนอข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์จดทะเบียน ESG100, ESG Emerging, ESG Turnaround รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่สถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้ประเมิน เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้เป็นข้อมูลเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นคำแนะนำในการลงทุน หรือการเสนอซื้อเสนอขายใดๆ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]