เมื่อพูดถึงการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ เราเข้าใจเป็นอื่นไปไม่ได้ว่า นั่นเป็นบทบาทของกิจการในภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจ พึงจะต้องรายงานให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบ ไม่ว่าจะเป็นไปโดยสมัครใจ หรือมีกฎระเบียบบังคับให้ดำเนินการก็ตาม
ในภาคสมัครใจ มาตรฐานการรายงานขัอมูลความยั่งยืนซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและใช้อ้างอิงอย่างแพร่หลายในวงกว้าง คือ มาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) โดยจากการสำรวจของเคพีเอ็มจี ในปี ค.ศ.2022 ระบุว่า ร้อยละ 68 หรือราวสองในสามของบริษัทในกลุ่ม N100 ซึ่งประกอบด้วยบริษัทที่มีรายได้สูงสุด 100 แห่ง จากประเทศที่ทำการสำรวจ 58 ประเทศทั่วโลก รวม 5,800 บริษัท ใช้มาตรฐาน GRI อ้างอิงในการจัดทำรายงานความยั่งยืนของกิจการ
ในประเทศไทย จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์กับกิจการในประเทศจำนวน 854 แห่ง ในปี พ.ศ.2565 พบว่า ร้อยละ 88.89 ของกิจการที่มีการเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบรายงานความยั่งยืน จำนวน 153 แห่ง ใช้การอ้างอิงมาตรฐาน GRI เช่นเดียวกัน
ในภาคบังคับ ปัจจุบัน ทุกบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกกำหนดให้บริษัทต้องมีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนตามแบบ 56-1 One Report ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” เพื่อให้สะท้อนการดำเนินการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่รวมอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ (ESG-in-process) ที่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการตลาดทุน (ก.ต.ท.)
สำหรับความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการภาครัฐ คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีภาครัฐระหว่างประเทศ (IPSASB) ได้ออกแนวทางการปฏิบัติที่แนะนำ (RPG) ว่าด้วยการรายงานข้อมูลชุดโครงการความยั่งยืน หรือ Reporting Sustainability Program Information แก้ไขเพิ่มเติมการรายงานความยั่งยืนทางการเงินของกิจการในระยะยาว (RPG 1) และการรายงานข้อมูลผลการให้บริการสาธารณะ (RPG 3) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
สาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติม คือ การรายงานผลกระทบของชุดโครงการความยั่งยืนที่มีต่อฐานะทางการเงินของกิจการในระยะยาวทั้งในมิติการให้บริการ รายได้ และหนี้สิน ตลอดจนการให้รายละเอียดและข้อมูลตัวชี้วัดของชุดโครงการความยั่งยืนที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกรีนบอนด์ จากภาษีคาร์บอน และเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น
ปัจจุบัน IPSASB กำลังผลักดันการออกเอกสารที่มีความเร่งด่วนใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ข้อกำหนดทั่วไปสำหรับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืน 2) การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ และ 3) การเปิดเผยข้อมูลที่มิใช่ตัวเงิน: ทรัพยากรธรรมชาติ
โดยในเดือนมิถุนายนนี้ IPSASB ได้มีการนำเสนอโครงการฉบับย่อในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ที่จะพัฒนาขึ้นโดยอาศัยมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) และมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนสากล (GRI) โดยมีกำหนดออกเป็นร่าง (Exposure Draft) ที่ผ่านการอนุมัติ ในเดือนมิถุนายน ปีหน้า และประกาศใช้เป็นมาตรฐาน ภายในครึ่งปีหลังของปี พ.ศ.2568
จะเห็นว่า กระแสการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง มิได้จำกัดอยู่เพียงกิจการในภาคเอกชนแล้วเท่านั้น แต่กำลังขยายวง ครอบคลุมไปถึงกิจการในภาครัฐ ซึ่งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หน่วยงานภาครัฐในประเทศ จำเป็นต้องเฝ้าติดตามและเตรียมรับมือกับความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอย่างไม่ชักช้า
ซึ่งก็น่าจะเหมาะเจาะกับจังหวะเวลาที่เรากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ ที่มีศักยภาพนำการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการและหน่วยงานภาครัฐ ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Saturday, June 17, 2023
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment