Thursday, June 26, 2014

เลียบเวที CG นานาชาติ

ผมได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมประชุมประจำปีของ International Corporate Governance Network (ICGN) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ภายใต้ธีมที่มีชื่อว่า “Expectations of investors and companies in the face of 21st century challenges”

สถานที่จัดงานประชุมปีนี้ คือ อาคารที่เคยใช้ทำการเป็นตลาดหลักทรัพย์อัมสเตอร์ดัม ซึ่งสร้างในคริสต์ศักราชที่ 16 หรือเมื่อ 400 กว่าปีมาแล้ว และได้ชื่อว่าเป็นตลาดหุ้นแห่งแรกของโลก ปัจจุบันตลาดหุ้นอัมสเตอร์ดัม ได้รวมกับตลาดหุ้นของเบลเยียม ฝรั่งเศส อังกฤษ และโปรตุเกส ก่อตั้งเป็นตลาด Euronext และได้ควบรวมกับตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็น NYSE Euronext ในปี ค.ศ. 2007

ICGN ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1995 ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิกที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ลงทุนประเภทสถาบันและนักวิชาชีพด้านบรรษัทภิบาลจากกว่า 50 ประเทศ ดูแลเม็ดเงินลงทุนรวมกันกว่า 18 ล้านล้านเหรียญกระจายอยู่ทั่วโลก

กิจกรรมหลักของ ICGN ประกอบด้วย กิจกรรมการผลักดันนโยบายด้านบรรษัทภิบาลผ่านทางการจัดทำหลักการ แนวปฏิบัติ และกรอบการดำเนินงานที่เกี่ยวกับบรรษัทภิบาลในด้านต่างๆ อาทิ ค่าตอบแทนกรรมการ/ผู้บริหาร ความเสี่ยงองค์กร การต่อต้านการทุจริต การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินและที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน ฯลฯ กิจกรรมการเชื่อมร้อยผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพที่เกี่ยวกับบรรษัทภิบาล และกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านบรรษัทภิบาลผ่านทางการประชุม สัมมนา ฝึกอบรม ฯลฯ

ในสมัยการประชุมนี้ ได้มีการประกาศหลักการฉบับใหม่ที่ชื่อว่า ICGN Global Governance Principles ซึ่งปรับปรุงจากหลักการฉบับปี ค.ศ. 2009 โดยปรับชื่อจากเดิม คือ “Global Corporate Governance Principles” เป็น “Global Governance Principles” เพื่อให้สะท้อนบทบาทการกำกับดูแล ที่ไม่จำกัดเพียงความรับผิดชอบของบริษัท แต่มุ่งครอบคลุมถึงความรับผิดชอบในส่วนของผู้ลงทุน (โดยเฉพาะผู้ลงทุนประเภทสถาบัน) ไว้ในหลักการฉบับเดียวกัน

หลักการฉบับใหม่นี้ ให้ความสำคัญกับเจตจำนงของบริษัทต่อการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยในส่วนของบริษัทได้แนะนำให้คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่ติดตามงานกำกับดูแล ที่รวมถึงการดำเนินกิจการที่มีส่วนเกี่ยวพันกับปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประสิทธิผล คำนึงถึงการดูแลความเสี่ยงองค์กรที่ครอบคลุมถึง ความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากความเสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงทางกลยุทธ์ และความเสี่ยงจากการดำเนินงาน

ในส่วนของผู้ลงทุน ได้เพิ่มเติมหลักการที่แนะนำให้ผู้ลงทุนประเภทสถาบันติดตามการดำเนินกิจการที่มีส่วนเกี่ยวพันกับปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพิ่มการสานสัมพันธ์ในเชิงรุก เพื่อขยายความเข้าใจและเห็นพ้องร่วมกันในจุดยืนที่มีต่อกลยุทธ์องค์กร ตัวเลขผลประกอบการ ความเสี่ยงต่อผลประกอบการในระยะยาว การกำกับดูแลกิจการ การดำเนินงาน และแนวดำเนินการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (ดูหลักการฉบับใหม่ได้จากเว็บไซต์ www.icgn.org)


หนึ่งในช่วงการประชุมที่น่าสนใจ คือ คณะผู้อภิปรายระดับเจ้าสำนักขององค์กร ที่เป็นผู้จัดทำหลักการเปิดเผยข้อมูล หรือกรอบการรายงานชั้นนำอย่าง Global Reporting Initiative (GRI), International Integrated Reporting Council (IIRC), International Accounting Standards Board (IASB) และศาสตราจารย์ผู้เขียนตำราเรื่อง One Report จาก Harvard Business School มานำเสนอพัฒนาการของรายงานและการเปิดเผยข้อมูลล่าสุด และยังเป็นโอกาสที่มีการเปิดตัว Corporate Reporting Dialogue (CRD) ในการประชุมนี้ เพื่อแสวงหาความเชื่อมโยงระหว่างมาตรฐาน และกรอบการรายงานที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดความสอดคล้องต้องกัน ลดภาระยุ่งยากที่อาจเกิดแก่องค์กรที่จัดทำรายงานต่อการใช้และอ้างอิงมาตรฐานและกรอบการรายงานหลายฉบับ

หลังการประชุม ผมถือโอกาสอยู่เรียนหนังสือต่ออีก 2 วันในหลักสูตร “Integrating environmental, social and governance factors in investment decisions” ที่พัฒนาขึ้นสำหรับผู้ลงทุนที่เป็นสมาชิกของ ICGN เพื่อช่วยให้ผู้เข้าอบรมเรียนรู้วิธีในการระบุ วิเคราะห์ และผนวกข้อมูล ESG ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน โดยวิทยากรจาก CalPERS, apg Asset Management, ROBECO เป็นต้น เป็นมุมมองของผู้ลงทุนที่มีทั้งความเหมือนและความต่างจากมุมมองขององค์กร ในการคำนึงถึงปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม แล้วจะหาโอกาสนำมาเล่าให้ฟังกันนะครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, June 12, 2014

ไต่บันไดต้านทุจริต

ความท้าทายในการต่อต้านการทุจริตที่ภาคธุรกิจประสบและจำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญในการตัดสินใจ คือ การที่บริษัทตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกต่อการถูกเรียกสินบนเพื่อแลกกับสัญญางาน หรือถูกเรียกค่าอำนวยความสะดวกเพื่อแลกกับความรวดเร็วในขั้นตอนการติดต่อและอนุมัติของทางราชการ ซึ่งหากไม่ตอบสนอง ก็จะต้องสูญเสียงานหรือได้รับความล่าช้าทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจในมูลค่าที่สูงกว่า

จุดเริ่มต้นของการต่อต้านการทุจริตในองค์กรธุรกิจที่จะส่งประสิทธิผลในบั้นปลาย คือ การมีเจตจำนงอันแน่วแน่ในการดำเนินธุรกิจที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต เริ่มจากตนเองและในองค์กรของตนเอง

เริ่มจากผู้นำองค์กร
การปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างโดยผู้นำองค์กร (Tone at the top) ต่อการนำนโยบายการต่อต้านการทุจริตมาดำเนินการอย่างจริงจัง จะเป็นแรงส่งให้บุคลากรในองค์กรดำเนินรอยตาม สร้างความเชื่อมั่นให้แก่พนักงานที่จะร่วมแรงร่วมใจในการต่อต้านการทุจริตไปด้วยกัน แม้ในกรณีที่บริษัทจะต้องสูญเสียโอกาสหรือสูญเสียงานเพราะเหตุที่ไม่จ่ายสินบนหรือไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตก็ตาม

ภาวะผู้นำในการดำเนินการที่เป็นแบบอย่าง ไม่ได้หมายถึงเพียงการสื่อสารอย่างแข็งขันจากเบื้องบน แต่รวมถึงการปฏิบัติหรือนำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ผู้บริหารสามารถดำเนินการได้ทั้งในรูปแบบที่เป็นบันทึกภายในเพื่อแจ้งให้แก่พนักงาน สารจากประธานกรรมการ คำประกาศของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สุนทรพจน์ของหัวหน้าหน่วยงานในที่ประชุม ถ้อยแถลงในรายงานแห่งความยั่งยืนหรือในรายงานอื่นๆ ของบริษัท การดำเนินตามนโยบายของฝ่ายบริหาร กิจกรรมของผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัท เป็นต้น

สร้างบันไดเชื่อมสู่พนักงาน
การให้คำมั่นในการดำเนินธุรกิจที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในทุกรูปแบบ เป็นบันไดขั้นสำคัญขององค์กรที่จะนำมาสู่การแปลงให้เป็นข้อปฏิบัติเพื่อดำเนินการ คำมั่นและนโยบายที่บริษัทประกาศ หากปราศจากการนำไปปฏิบัติ บริษัทยังคงมีความเสี่ยงจากการทุจริตที่ทำให้บริษัทอาจละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การกำกับดูแลของฝ่ายบริหารเพื่อให้เกิดการนำนโยบายไปปฎิบัติทั่วทั้งองค์กรโดยมิให้มีข้อยกเว้นหรือข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ถือเป็นบันไดสำคัญขั้นที่สองที่จะนำไปสู่การบริหารบุคลากรให้มีแรงจูงใจ ความเข้าใจ ทักษะและการปฏิบัติที่สอดคล้องกับคำมั่นและนโยบายต่อต้านการทุจริตของบริษัท

บริหารเงื่อนไขความสำเร็จ
การสื่อสารและฝึกอบรมแก่พนักงานเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านทุจริต เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะพิสูจน์ว่า บริษัทสามารถวางรากฐานการดำเนินธุรกิจที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตได้ดีเพียงใด การสื่อสารที่มีประสิทธิผลจะช่วยถ่ายทอดนโยบายต่อต้านการทุจริตในระดับองค์กรลงสู่การปฏิบัติที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในระดับบุคคล

พนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเพียงพอจะสามารถนำแนวปฏิบัติไปดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย และรับทราบถึงกฎระเบียบกฎเกณฑ์ของการดำเนินการทางวินัย หากมีการละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตาม จนเกิดเป็นค่านิยมขององค์กร

นอกจากนี้ การสื่อสารและฝึกอบรมภายในองค์กร เมื่อเป็นที่รับรู้สู่ภายนอก จะกลายเป็นตัวสารที่มีความหนักแน่นในตัวเอง ในอันที่จะบ่งบอกถึงข้อยึดมั่นขององค์กรต่อการต่อต้านการทุจริตไปโดยปริยาย

การติดตามผลและการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้บริษัทสามารถคงแผนงานการต่อต้านการทุจริตให้มีความเป็นปัจจุบันและสนองตอบต่อความประสงค์ของบริษัทอยู่เสมอ รวมทั้งยังเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงคำมั่นและการมีส่วนร่วมของผู้บริหารระดับสูงต่อการดำเนินนโยบายการต่อต้านการทุจริต ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายดังกล่าวด้วย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, June 05, 2014

คิดเพื่อโลก ทำเพื่อโลก

นับจากการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (United Nations Conference on the Human Environment - UNCHE) ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในปี 2515 ที่เป็นผลให้เรื่องสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในประชาคมระหว่างประเทศ และนำไปสู่การจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ ในการที่จะตอบสนองต่อปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวิถีการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เพื่อเป็นการระลึกถึงความริเริ่มของประชาคมโลกในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day)


ในแต่ละปีโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้จัดการรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกให้เป็นทิศทางเดียวกันทั่วโลก และสำหรับในปี 2557 นี้ ประเด็นหลัก (Theme) ในการรณรงค์ คือ “Raise Your Voice, Not the Sea Level” หรือที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ใช้คำว่า “ยกระดับความคิด แก้วิกฤติน้ำท่วมโลก” ซึ่งมีประเด็นเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเหตุให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จนกระทบต่อระบบนิเวศและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมาก

ระดับน้ำทะเลโลกได้เพิ่มขึ้นราว 10-25 เซนติเมตรในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา และเป็นไปด้วยอัตราที่สูงขึ้นในรอบศตวรรษ จากตัวเลขคาดการณ์ของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เมื่อปี 2550 ระบุว่าผลจากภาวะโลกร้อนจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 59 เซนติเมตร ภายในปี 2643 แต่จากงานวิจัยใหม่พบว่า ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 2 เมตร ซึ่งจะทำให้ประเทศที่เป็นหมู่เกาะ เช่น มัลดีฟส์ คิริบาส มาร์แชลล์ และตูวาลู ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไป

สิ่งที่มนุษยชาติร่วมกันทำได้ คือ การลดสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งมีผลทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น อันได้แก่ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น การหามาตรการลดการปลดปล่อยมลพิษจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน การทำการเกษตรที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ ฯลฯ

ภาครัฐและภาคเอกชนในแต่ละประเทศ สามารถทำงานร่วมกันในการควบคุมมลพิษ และผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและในภาคครัวเรือน

สำหรับธุรกิจที่มีการใช้ปริมาณพลังงานไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในการทำความร้อน หรือทำความเย็น การส่องสว่าง และในการป้อนเครื่องจักรกลให้ทำงาน สามารถดำเนินการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์และกิจกรรมต่างๆ ในรูปของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อการบริหารจัดการและหันมาใช้เครื่องจักรกลหรืออุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานหรือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เป็นต้น

ในระดับบุคคล สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านทางการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อาทิ การปิดอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานต่างๆ เมื่อเลิกหรือไม่ได้ใช้งานทั้งที่บ้านและที่สำนักงาน การเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะหรือยานพาหนะที่ประหยัดพลังงาน การลดการใช้วัสดุสิ้นเปลืองเพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องถูกนำไปกำจัดด้วยการใช้พลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต่างๆ

นอกจากนี้ ทุกคนยังสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เป็นไปในทิศทางที่ช่วยกันดูแลธรรมชาติและระบบนิเวศ บ่มเพาะเป็นอุปนิสัยสีเขียว 7 ประการ ได้แก่ Rethink - คิดก่อนใช้ หรือยกระดับความคิด ใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Reduce - ลดการใช้ทรัพยากรให้เหลือเท่าที่จำเป็น ลดการบริโภคที่ก่อให้เกิดขยะและของเสียจำนวนมาก Reuse - ใช้ซ้ำ หรือหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง Recycle - ปรับสภาพเพื่อนำมาใช้ใหม่ ปรับแต่งของที่หมดสภาพหรือที่ใช้แล้วแล้วให้เกิดประโยชน์ใหม่ Recondition - หมั่นตรวจสอบและบำรุงรักษาของใช้เพื่อยืดอายุการใช้งาน Refuse - ปฏิเสธการใช้เพื่อช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้โอกาสการฟื้นสภาพของระบบนิเวศตามธรรมชาติ Return - ตอบแทนคืนแก่โลก ขวนขวายฟื้นฟูเยียวยา ดูแลรักษาธรรมชาติให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม

วันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ ก็ขอให้ทุกท่านได้นำคำขวัญที่ว่า “คิดเพื่อโลก ทำเพื่อโลก ทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา” ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องคิดสงสัยว่า เราทำคนเดียวแล้วโลกจะเปลี่ยนแปลงได้หรือ เพราะโลกและมนุษย์อยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ action = reaction เมื่อเราดูแลโลก โลกก็จะดูแลเรา และเมื่อเราดูแลโลกทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา โลกก็จะดูแลเราทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา เช่นกันครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]