นับจากการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (United Nations Conference on the Human Environment - UNCHE) ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในปี 2515 ที่เป็นผลให้เรื่องสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในประชาคมระหว่างประเทศ และนำไปสู่การจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ ในการที่จะตอบสนองต่อปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวิถีการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เพื่อเป็นการระลึกถึงความริเริ่มของประชาคมโลกในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day)
ในแต่ละปีโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้จัดการรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกให้เป็นทิศทางเดียวกันทั่วโลก และสำหรับในปี 2557 นี้ ประเด็นหลัก (Theme) ในการรณรงค์ คือ “Raise Your Voice, Not the Sea Level” หรือที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ใช้คำว่า “ยกระดับความคิด แก้วิกฤติน้ำท่วมโลก” ซึ่งมีประเด็นเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเหตุให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จนกระทบต่อระบบนิเวศและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมาก
ระดับน้ำทะเลโลกได้เพิ่มขึ้นราว 10-25 เซนติเมตรในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา และเป็นไปด้วยอัตราที่สูงขึ้นในรอบศตวรรษ จากตัวเลขคาดการณ์ของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เมื่อปี 2550 ระบุว่าผลจากภาวะโลกร้อนจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 59 เซนติเมตร ภายในปี 2643 แต่จากงานวิจัยใหม่พบว่า ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 2 เมตร ซึ่งจะทำให้ประเทศที่เป็นหมู่เกาะ เช่น มัลดีฟส์ คิริบาส มาร์แชลล์ และตูวาลู ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไป
สิ่งที่มนุษยชาติร่วมกันทำได้ คือ การลดสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งมีผลทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น อันได้แก่ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น การหามาตรการลดการปลดปล่อยมลพิษจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน การทำการเกษตรที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ ฯลฯ
ภาครัฐและภาคเอกชนในแต่ละประเทศ สามารถทำงานร่วมกันในการควบคุมมลพิษ และผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและในภาคครัวเรือน
สำหรับธุรกิจที่มีการใช้ปริมาณพลังงานไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในการทำความร้อน หรือทำความเย็น การส่องสว่าง และในการป้อนเครื่องจักรกลให้ทำงาน สามารถดำเนินการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์และกิจกรรมต่างๆ ในรูปของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อการบริหารจัดการและหันมาใช้เครื่องจักรกลหรืออุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานหรือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เป็นต้น
ในระดับบุคคล สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านทางการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อาทิ การปิดอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานต่างๆ เมื่อเลิกหรือไม่ได้ใช้งานทั้งที่บ้านและที่สำนักงาน การเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะหรือยานพาหนะที่ประหยัดพลังงาน การลดการใช้วัสดุสิ้นเปลืองเพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องถูกนำไปกำจัดด้วยการใช้พลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต่างๆ
นอกจากนี้ ทุกคนยังสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เป็นไปในทิศทางที่ช่วยกันดูแลธรรมชาติและระบบนิเวศ บ่มเพาะเป็นอุปนิสัยสีเขียว 7 ประการ ได้แก่ Rethink - คิดก่อนใช้ หรือยกระดับความคิด ใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Reduce - ลดการใช้ทรัพยากรให้เหลือเท่าที่จำเป็น ลดการบริโภคที่ก่อให้เกิดขยะและของเสียจำนวนมาก Reuse - ใช้ซ้ำ หรือหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง Recycle - ปรับสภาพเพื่อนำมาใช้ใหม่ ปรับแต่งของที่หมดสภาพหรือที่ใช้แล้วแล้วให้เกิดประโยชน์ใหม่ Recondition - หมั่นตรวจสอบและบำรุงรักษาของใช้เพื่อยืดอายุการใช้งาน Refuse - ปฏิเสธการใช้เพื่อช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้โอกาสการฟื้นสภาพของระบบนิเวศตามธรรมชาติ Return - ตอบแทนคืนแก่โลก ขวนขวายฟื้นฟูเยียวยา ดูแลรักษาธรรมชาติให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม
วันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ ก็ขอให้ทุกท่านได้นำคำขวัญที่ว่า “คิดเพื่อโลก ทำเพื่อโลก ทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา” ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องคิดสงสัยว่า เราทำคนเดียวแล้วโลกจะเปลี่ยนแปลงได้หรือ เพราะโลกและมนุษย์อยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ action = reaction เมื่อเราดูแลโลก โลกก็จะดูแลเรา และเมื่อเราดูแลโลกทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา โลกก็จะดูแลเราทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา เช่นกันครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, June 05, 2014
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment