Sunday, April 28, 2019

การลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก

จากข้อมูลการสำรวจ 2018 Global Sustainable Investment Review ของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) ภาคีระดับโลก ที่ประกอบด้วย หน่วยงานสกุล SIF (Sustainable Investment Forum) และสมาคมของบรรดาผู้ลงทุนสถาบัน องค์กรธุรกิจ และนักวิชาชีพ ที่เน้นการลงทุนที่ยั่งยืน มีความรับผิดชอบ และมุ่งผลกระทบ ในประเทศต่างๆ ได้แก่ Eurosif (ยุโรป), JSIF (ญี่ปุ่น), RIAA (ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์), RIA Canada (แคนาดา), UKSIF (สหราชอาณาจักร), USSIF (สหรัฐอเมริกา) และ VBDO (เนเธอร์แลนด์) ระบุว่า ตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลก มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจาก 22.89 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2559 มาอยู่ที่ 30.68 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2561 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ในช่วงเวลา 2 ปี

โดยการลงทุนในหมวดนี้ คิดเป็นร้อยละ 33 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมด หรือเทียบอย่างง่าย คือ ในจำนวนเงินลงทุน 3 เหรียญ จะมีอยู่ราว 1 เหรียญ ที่เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของเรื่องการลงทุนที่ยั่งยืนว่าได้เข้าสู่โหมดการลงทุนกระแสหลัก (Mainstream) โดยกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ประเภทสถาบัน อย่างมีนัยสำคัญ

เฉพาะตัวเลขการเติบโตของกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) ผนวกในการวิเคราะห์ ในปี พ.ศ.2561 มีเม็ดเงินสูงถึง 17.54 ล้านล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2559

แลร์รี่ ฟิงก์ ซีอีโอ แบล็กร็อก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนใหญ่อันดับหนึ่งของโลก กล่าวไว้ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ผู้ลงทุนทุกราย จะประเมินมูลค่าบริษัท ด้วยการวัดผลกระทบของกิจการในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

การใช้ปัจจัย ESG ในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน ร่วมกับการพิจารณา Risk-Return Profile ในแบบทั่วไป นอกจากจะทำให้ผู้ลงทุนสามารถคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคตของบริษัทได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนเอง ในแง่ที่จะช่วยสร้างผลตอบแทน (Alpha) ที่เพิ่มขึ้น และช่วยลดความผันผวนของราคา (Beta) ของหลักทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนแล้ว ยังทำให้การลงทุนนั้น ช่วยเสริมสร้างผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก (Real World Impact) ในทางที่ดีขึ้นด้วย


ในหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ (Principle for Responsible Investment: PRI) ที่พัฒนาขึ้น โดยหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน ภายใต้สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP Finance Initiative) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ได้คาดการณ์ว่า กลยุทธ์การลงทุนในศตวรรษที่ 21 จะมีมิติเรื่อง Real World Impact เพิ่มเติมจากการพิจารณา Risk-Return Profile โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจะต้องเผชิญกับคำถามเหล่านี้มากขึ้น

มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจ (Fiduciary Duty) ที่ไม่จำกัดเฉพาะการรักษาผลประโยชน์ทางการเงินแก่ผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่
มีการกำหนดวัตถุประสงค์หลักที่จะสร้างผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกในทางที่ดีขึ้น ให้เป็นส่วนหนึ่งของผลการลงทุนที่ได้รับด้วยหรือไม่
มีการพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ว่าเป็นโอกาสและ/หรือความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญหรือไม่
มีการผนวกปัจจัยด้าน ESG ในการวิเคราะห์ตัดสินใจลงทุนหรือไม่
มีการสานสัมพันธ์ในเชิงรุกกับบริษัทที่เข้าลงทุนหรือไม่

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนในกลุ่มดังกล่าว จะพิจารณาให้น้ำหนักความสำคัญต่อผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงโลกไว้ในทางเลือกกลยุทธ์และในการตัดสินใจลงทุน โดยมีแรงขับดันมาจากผลประโยชน์ที่จะได้รับในระยะยาว และสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 ข้อ ที่ประกาศใช้โดยองค์การสหประชาชาติ

เป็นที่คาดหมายว่า ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ในประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้าน ESG จะเพิ่มการพิจารณาผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก (Real World Impact) เป็นมุมมองของการลงทุนในมิติที่สาม เพิ่มเติมจากการพิจารณาคุณลักษณะความสัมพันธ์ด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk-Return Profile) ในแบบทั่วไป นับจากนี้ไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, April 14, 2019

“คุณค่า” กับ “ความยั่งยืน”

กิจการที่ตระหนักในเรื่องความยั่งยืน ต่างมองหาแนวทางในการประเมินคุณค่าทางธุรกิจที่เกิดจากการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ทั้งในประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ที่เกี่ยวเนื่องกับผลทางการเงิน เพื่อให้ได้ภาพความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่ากับความยั่งยืนที่อธิบายได้

ขณะที่การดำเนินงานในประเด็นความยั่งยืน (Sustainability Issues) เป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตัวเลขผลประกอบการ แต่การดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืน (Sustainable Business Strategies) เป็นการผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้ากับธุรกิจที่ส่งผลโดยตรงต่อการประกอบการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

หลายกิจการมองประเด็นความยั่งยืน เป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่ต้องบริหารจัดการ ขณะที่กิจการจำนวนหนึ่งมองเรื่องความยั่งยืน เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ผลักดันให้เกิดการสร้างผลกำไรและการเติบโต จากความต้องการในผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์การประหยัดพลังงานและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการลดการทำลายสภาพแวดล้อมทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงสังคม

ผลลัพธ์จากการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินธุรกิจ ให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ และการขับเคลื่อนกลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืนอย่างมีประสิทธิผล นำมาซึ่งบรรทัดสุดท้ายของกิจการ

หน่วยงาน UN Global Compact และ UN-supported Principles for Responsible Investment (PRI) ได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือ Value Driver Model ที่บริษัทสามารถใช้ประเมินและสื่อสารถึงผลกระทบที่แสดงเป็นตัวเลขทางการเงิน จากการดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืน ด้วยการเลือกใช้ตัววัดที่มีนัยสำคัญต่อผลประกอบการทางการเงินในสามมิติ ได้แก่ มิติการเติบโตของรายได้ จากผลิตภัณฑ์ บริการ และ/หรือ กลยุทธ์ที่ใช้เรื่องความยั่งยืนเป็นฐานในการพัฒนา (Sustainability-Growth หรือ S/G) มิติการประหยัดต้นทุน จากการดำเนินงานปรับปรุงผลิตภาพ ที่ขับเคลื่อนด้วยความริเริ่มด้านความยั่งยืน (Sustainability-Productivity หรือ S/P) และมิติการลดความเสี่ยง ที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กรอย่างมีนัยสำคัญ (Sustainability-Risk Management หรือ S/R)


Value Driver Model

องค์กรธุรกิจ สามารถหยิบเครื่องมือ Value Driver Model มาใช้โดยเริ่มจากการสำรวจสิ่งที่องค์กรดำเนินการซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืน ตามมิติที่เครื่องมือ VDM แนะนำ เพื่อระบุถึงช่องว่าง (Gap) ที่องค์กรยังมิได้ดำเนินการ หรือที่สามารถดำเนินการได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในมิติการเติบโตของรายได้ที่เกิดจากการใช้ประเด็นความยั่งยืนให้เป็นประโยชน์ ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ มักต้องการทราบข้อมูลในสองรายการ คือ คุณภาพของรายได้ในปัจจุบันที่มาจากเรื่องความยั่งยืน หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ร้อยละของยอดขายรวมที่ระบุโดยบริษัทหรือหน่วยงานภายนอกที่น่าเชื่อถือ ว่ามาจากผลิตภัณฑ์และบริการที่นำเรื่องความยั่งยืนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และรายการที่สอง คือ อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนเทียบกับการเติบโตโดยรวมของกิจการ

ในมิติการประหยัดต้นทุนที่เกิดจากการขับเคลื่อนด้วยประเด็นความยั่งยืน ผู้ลงทุนต้องการทราบผลรวมของการประหยัดต้นทุน และ/หรือค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงได้ รวมถึงผลได้ทางตรงอื่นๆ ที่เกิดจากการดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืนของกิจการ เช่น การลดการใช้พลังงานในโรงงานหรือในสถานประกอบการแห่งใหม่ อัตราการเข้าออกของพนักงานที่ลดลง ผู้ลงทุนยังต้องการที่จะล่วงรู้ถึงภาพรวมโครงสร้างต้นทุนที่เกิดจากกลยุทธ์ดังกล่าว ทั้งในแง่ของตัวเงินและอัตราส่วนร้อยละ เช่น ต้นทุนต่อหน่วยผลิต ต้นทุนต่อชั่วโมงทำงาน

ในมิติการลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ผู้ลงทุนต้องการทราบรายการความเสี่ยงที่ถูกจัดว่าเป็นประเด็นสาระสำคัญต่อธุรกิจ ทั้งในแง่ของรายได้และชื่อเสียงของกิจการ เช่น ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีผลโดยตรงต่อการเพิ่ม/ลดปัจจัยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ทั้งนี้ ผู้ลงทุนยังต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงสัมพัทธ์ในมาตรวัดที่เป็นความเข้มของความเสี่ยง (Risk Intensity) ในมิติต่างๆ

แนวโน้มของโลกที่ให้ความสนใจต่อประเด็นความยั่งยืน ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แรงกดดันจากกฎระเบียบ ทัศนคติและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืนมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นจากนี้ไป การหยิบฉวยโอกาสของกิจการ สามารถทำได้โดยการขับเคลื่อนธุรกิจ ด้วยการใช้ประเด็นความยั่งยืนทั้งที่ดำเนินการอยู่และที่เห็นโอกาสในการดำเนินการ พร้อมทั้งสื่อสารสู่ภายนอกในภาษาที่บุคคลทั่วไปและผู้ลงทุนเข้าใจได้ง่าย และหากกิจการสามารถสื่อสารถึงข้อได้เปรียบจากการดำเนินกลยุทธ์ภายใต้แนวโน้มที่เกิดขึ้น ผู้ลงทุนย่อมให้คุณค่าส่วนเพิ่ม (Premium) แก่กิจการที่นำล้ำหน้ากิจการอื่น ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]