Sunday, October 28, 2018

ทำดีแล้ว ต้องรายงาน

ใกล้สิ้นปีแล้ว บริษัทจดทะเบียนที่มีการขับเคลื่อนงาน CSR โดยเฉพาะความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จะมีภารกิจหนึ่งที่ต้องดำเนินการ คือ การจัดทำรายงาน CSR ในรูปแบบที่ถูกเลือกตามความเหมาะสมขององค์กร นับตั้งแต่ การเปิดเผยข้อมูลในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) หรือในรายงานประจำปี (แบบ 56-2) หรือในรายงานแยกเล่มจากรายงานประจำปี ที่นิยมเรียกกันว่า รายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report

ในทศวรรษที่ผ่านมา พัฒนาการเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการได้เดินอยู่ในกระแสของการผนวก CSR เข้ากับกระบวนการทางธุรกิจ ทำให้เรื่องของ CSR เป็นวาระที่ทุกส่วนงานในองค์กรต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง รูปแบบของการขับเคลื่อน CSR จึงปรับเปลี่ยนจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ที่จำกัดเฉพาะส่วนงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในลักษณะกิจกรรม (Event) ที่แยกต่างหากจากการดำเนินงานทางธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ ไปสู่การบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นตลอดกระบวนการ (Process) และทั่วทั้งองค์กร

เมื่อพัฒนาการของ CSR เดินอยู่ในกระแสนี้ บทบาทของการเก็บรวบรวมข้อมูลและการรายงานผลการดำเนินงานด้าน CSR จึงอยู่ในวิสัยที่กิจการทำได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากองค์กรสามารถบริหารจัดการ เฝ้าสังเกตติดตามผลการดำเนินงาน และกำกับควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ จากการที่กิจการเป็นผู้ดูแลและเป็นเจ้าของกระบวนการนั้นๆ

ขณะที่รูปแบบของการรายงานด้าน CSR ในสมัยก่อน ซึ่งมักเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม ที่กิจการมอบหมายมูลนิธิหรือองค์กรเอกชนหรือผู้รับจ้างไปดำเนินงานให้ในบางส่วนหรือทั้งหมด องค์กรไม่สามารถที่จะบริหารจัดการ เฝ้าสังเกตติดตามผลการดำเนินงาน และกำกับควบคุมการดำเนินงานได้เช่นเดียวกับที่ตนเป็นผู้ดูแลและเป็นเจ้าของกระบวนการนั้นๆ เอง ทำให้การเก็บรวบรวมข้อมูลและการรายงานจึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ รายงานที่เกี่ยวกับ CSR จึงยังไม่ค่อยมีบทบาทในเชิงของการให้คุณค่าแก่ผู้ใช้รายงานมากนัก

จนเมื่องาน CSR ได้ถูกให้ความสำคัญในแง่ที่จะต้องบูรณาการให้เกิดขึ้นในกระบวนการและทั่วทั้งองค์กร บทบาทและคุณค่าของการรายงานจึงเป็นกระแสที่เกิดขึ้นติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีความพยายามที่จะพัฒนากรอบการรายงานที่เป็นสากล การกำหนดเนื้อหาของรายงานที่ได้มาตรฐาน และการใช้ชุดตัวบ่งชี้การดำเนินงานสำหรับการรายงานที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการเปิดเผยแนวทางหรือกรอบการดำเนินงานด้าน CSR ที่จะชี้นำกิจการให้สามารถบรรลุซึ่งเป้าหมายขององค์กร ในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรมเห็นชัดและวัดได้

การรายงานด้าน CSR ในปัจจุบัน จึงมักถูกเรียกในชื่อว่า รายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) ซึ่งองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล หรือ Global Reporting Initiative (GRI) ได้เป็นผู้ริเริ่มพัฒนากรอบการรายงานในลักษณะดังกล่าว และได้รับการยอมรับจากองค์กรทั้งที่เป็นภาคธุรกิจ และมิใช่ธุรกิจนำไปใช้ในการจัดทำรายงานของตนเองรวมจำนวนแล้วเกือบ 9 พันแห่ง มีรายงานเผยแพร่แล้วกว่า 3 หมื่นฉบับ (Sustainability Disclosure Database, 2018)

GRI ก่อตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.2540 ได้พัฒนาแนวทางการรายงานแห่งความยั่งยืนมาแล้ว 4 รุ่น นับจากฉบับ G1 (พ.ศ.2543) ฉบับ G2 (พ.ศ.2545) ฉบับ G3 (พ.ศ.2549) ฉบับ G3.1 (พ.ศ.2554) และฉบับ G4 (พ.ศ.2556) จนกระทั่งยกระดับจากแนวทาง (Guidelines) มาเป็นมาตรฐาน (Standards) การรายงานแห่งความยั่งยืน ในปี พ.ศ.2559 โดยมีหลักการสำคัญ คือ การใช้กระบวนการรายงาน (Reporting Process) ในการบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการจากกระบวนการรายงาน มิใช่การให้คำแนะนำการจัดทำรายงาน หรือแนวทางในการเรียบเรียงเนื้อหารายงานเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งเล่มรายงาน (Report)

ในหลายประเทศ ได้ผลักดันบริษัทจดทะเบียนและกิจการขนาดใหญ่ ให้จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน ทั้งการออกเป็นข้อกำหนด และให้เป็นไปโดยสมัครใจ โดยจากผลสำรวจของ KPMG ในเรื่องการรายงานความรับผิดชอบของกิจการ ในปี พ.ศ.2560 ระบุว่า ร้อยละ 75 ของบริษัทที่มีขนาดใหญ่สุดในแง่ของรายได้ 250 แห่งของโลก มีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน โดยใช้แนวทางการรายงานแห่งความยั่งยืนของ GRI


ในประเทศไทย จากฐานข้อมูล Sustainability Disclosure Database ของ GRI พบว่า มี 126 องค์กรในประเทศไทย ได้จัดทำรายงานที่อ้างอิง GRI จากจำนวนองค์กรในฐานข้อมูลทั้งหมด 8,929 แห่งที่ได้จัดทำรายงานอ้างอิง GRI หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.41%


เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน ประเทศไทยมีจำนวนองค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูลมากสุด โดยอินโดนีเซียมี 113 แห่ง รองลงมาคือ สิงคโปร์ และมาเลเซีย จำนวน 77 แห่งเท่ากัน ตามมาด้วย เวียดนาม 40 แห่ง ฟิลิปปินส์ 39 แห่ง และกัมพูชา 3 แห่ง ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ต.ค.2561)

การรายงานในรูปแบบดังกล่าว มีแนวโน้มที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในระดับสากล ในระดับภูมิภาค และในประเทศไทย บริษัทจดทะเบียนที่ยังมิได้มีการจัดทำรายงานแนวนี้ อาจเริ่มดำเนินการศึกษาและยกระดับการรายงานจากที่รายงานในแบบตามข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล มาสู่การรายงานในแบบที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, October 15, 2018

ทำดี ได้ตังค์ ด้วย “ESG”

สำหรับบริษัทมหาชนที่สนใจเรื่องการทำดี (do good) และทำเงิน (make money) ไปด้วยกัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (environmental, social and governance) ได้ทวีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะในต่างประเทศ กระแสเรื่อง ESGถูกหยิบยกมาเป็นวาระสำคัญ ทั้งจากผู้ลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ บริษัทจัดการลงทุน บริษัทจัดอันดับ หน่วยงานกำกับดูแล องค์กรภาคประชาสังคม ฯลฯ

ทั้งนั้น เพื่อผลักดันให้บริษัทมหาชนเหล่านั้นนำเรื่อง ESG ไปผนวกอยู่ในกระบวนการตัดสินใจและดำเนินงานทางธุรกิจ

ด้วยเหตุนี้ บุคลากรในองค์กร ไล่เรียงตั้งแต่คณะกรรมการบริษัท ฝ่ายบริหาร และเจ้าหน้าที่ในแต่ละสายงาน จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจบทบาทของเรื่อง ESG ที่มีต่องานที่ตนรับผิดชอบและที่เข้าไปเกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อองค์กร ทั้งในแง่ของการตัดสินใจที่จะดำเนินการ หรือไม่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

แง่มุมของเรื่อง ESG ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ ประกอบด้วย มุมมองต่อการใช้ ESG ในการลงทุน (ESG investing) มุมมองต่อการประเมิน ESG ในการจัดอันดับ (ESG ratings) และมุมมองต่อการใช้ ESG เป็นประเด็นเคลื่อนไหว (ESG activism)

ในแง่ของการใช้ ESG ในการลงทุน หรือ ESG investing มีข้อมูลตัวเลขขนาดของสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) จากรายงานการลงทุนที่เน้น ESG ในปัจจุบันว่า มีอยู่ราว 20 ล้านล้านเหรียญ การเปิดกองทุนรวม ESG และกองทุนเปิด ESG ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (ETF) โดยเฉพาะในตลาดทุนฝั่งยุโรปและอเมริกา กลายเป็นเรื่องปกติ และเพิ่มจำนวนถี่ขึ้น

ตอบรับกับผลการศึกษาที่ว่า ผู้ลงทุนกลุ่ม millennials (มีอายุระหว่าง 18-34 ปี) ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (และสิ่งแวดล้อม) ทำให้บริษัทจดทะเบียนที่เป็นเป้าหมายการลงทุน จำเป็นต้องมีการดำเนินงานที่ผ่านเกณฑ์ หรือมีความโดดเด่นด้าน ESG ควบคู่กับการสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป

ในแง่ของการประเมิน ESG ต่อการจัดอันดับ หรือ ESG ratings ปัจจุบัน ความต้องการข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียน กลายเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนสถาบัน บริษัทจัดการลงทุน รวมทั้งผู้จัดทำและให้บริการดัชนีสำหรับการลงทุน จำเป็นต้องมีไว้ใช้ในการวิเคราะห์และประเมินเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน เพื่อออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และจัดทำดัชนีอ้างอิงด้าน ESG ตามลำดับ

ในปี 2560 Morningstar บริษัทวิจัยและจัดการลงทุน เข้าซื้อหุ้นจำนวน 40% ของ Sustainalytics บริษัทวิจัยข้อมูล ESG ชั้นนำ เพื่อต้องการเข้าถึงข้อมูล ESG สำหรับการขยายบริการในด้านดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ ISS ผู้ให้บริการลงทุน ได้ซื้อ IW Financial บริษัทวิจัย ให้คำปรึกษา และให้บริการดูแลพอร์ตการลงทุน ESG เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มผลตอบแทนให้แก่ลูกค้า

ขณะที่ S&P Dow Jones ได้เข้าครอบครองกิจการของ Trucost บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนมากว่า 15 ปี ส่วน MSCI ได้เข้าซื้อ RiskMetrics Group บริษัทจัดการความเสี่ยงและผู้ให้บริการงานด้านบรรษัทภิบาลชั้นนำ เพื่อยกระดับเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนให้แก่สถาบันการเงินทั่วโลก และอีกดีลหนึ่งเป็นกรณีที่ Thomson Reuters เข้าซื้อกิจการ Asset4 ผู้ให้บริการข้อมูลด้านบรรษัทภิบาลและข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาฐานข้อมูล ESG เพิ่มเติมให้แก่ลูกค้า

ในแง่ของการใช้ ESG เป็นประเด็นเคลื่อนไหว หรือ ESG activism มีได้หลายรูปแบบ อาทิ การใช้อำนาจของผู้ถือหุ้นในการแทรกแซงบทบาทของกิจการ ผ่านการสานสัมพันธ์กับกิจการโดยตรง (corporate engagement and shareholder action) โดยทำหนังสือถึงคณะกรรมการบริษัท และ/หรือสื่อสารกับผู้บริหารระดับสูง การเสนอหรือร่วมจัดทำข้อเสนอ ESG ในฐานะผู้ถือหุ้น (ESG shareholder proposals) โดยการเสนอเป็นวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น รวมถึงการออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้บริษัทรับข้อเสนอ ESG ไปดำเนินการ

จากข้อมูลของ ISS (Institutional Shareholder Services) บริษัทที่ปรึกษาผู้รับมอบอำนาจให้ออกเสียงแทนผู้ถือหุ้น (Proxy Advisory Firm) ระบุว่า มีการจัดทำข้อเสนอ ESG ของผู้ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 53.4 (ในระหว่างปี ค.ศ. 2017) และร้อยละ 54.4 (ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2018-ปัจจุบัน) เมื่อเทียบกับการจัดทำข้อเสนอทั้งหมดของผู้ถือหุ้น ที่มีต่อบริษัทในสหรัฐอเมริกา โดยมีค่ากลางของผลการออกเสียงลงคะแนน (median vote results) อยู่ที่ร้อยละ 23.4 ซึ่งบางประเด็นมีค่าสูงถึงร้อยละ 41.4 ในเรื่อง sustainability reporting และร้อยละ 36.4 ในเรื่อง workforce diversity เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย พัฒนาการเรื่อง ESG ดำเนินรอยตามความเคลื่อนไหวในต่างประเทศ สถาบันการเงินและบริษัทจัดการลงทุนของไทย มีการออกตราสารหนี้และกองทุน ESG เพื่อการลงทุนในวงกว้าง มีหน่วยงานที่จัดทำข้อมูล และการประเมิน ESG ในการจัดอันดับ รวมทั้งการจัดทำดัชนี ESG เพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการลงทุนและใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน

ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแล (ก.ล.ต.) มีการออกหลักธรรมาภิบาลการลงทุน(I code) เพื่อส่งเสริมเรื่อง ESG (หลักปฏิบัติ 3.3) และมาตรการดำเนินการเพิ่มเติม (หลักปฏิบัติ 4.4) เพื่อสนับสนุนเรื่อง crporate engagement and shareholder action อย่างเป็นขั้นเป็นตอน

แน่นอนว่าบริษัทที่ตอบรับในเรื่องดังกล่าวจะสามารถได้ประโยชน์จากความเคลื่อนไหวในเรื่อง ESG ที่มีทั้งต่อตัวองค์กรเอง และต่อผู้ถือหุ้นของกิจการ รวมทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรวม


จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, October 14, 2018

ดัชนีหุ้นน้ำดี ESG

ปัจจุบัน คำว่า ESG (Environmental, Social and Governance) ได้ถูกนำมาใช้ในแวดวงการประเมินสถานะของกิจการในประเทศไทย โดยเฉพาะกับบริษัทจดทะเบียน ที่เป็นเป้าหมายของการลงทุนในตลาดทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนที่รอบด้าน ในมิติที่มิใช่ข้อมูลตัวเลขทางการเงิน ทำให้สามารถล่วงรู้หรือคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท เพิ่มเติมจากข้อมูลทางการเงิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลประกอบการในอดีตหรือที่ผ่านมาแล้ว

เพื่อเป็นการตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน พร้อมกับการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ และเป็นผู้จัดทำข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล 100 อันดับ หรือที่เรียกว่ากลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ได้จัดทำ “Thaipat ESG Index” หรือ ดัชนีอีเอสจี สำหรับผู้ลงทุนได้ใช้ประโยชน์ทั้งในแบบที่เป็น Benchmark Index และ Investable Index


กรณีที่ใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Benchmark Index) ผู้ลงทุนสามารถใช้ดัชนีดังกล่าว เพื่อประเมินว่า การลงทุนในกองทุนหรือในพอร์ตหลักทรัพย์ของตน ที่เป็นการลงทุนเชิงรุก (Active Investment) มีผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ จากการบริหารของผู้จัดการกองทุน หรือจากการตัดสินใจซื้อขายของตัวท่านเองในฐานะที่เป็นเจ้าของเงินลงทุนหรือไม่ เมื่อเทียบกับการลงทุนเชิงรับ (Passive Investment) ซึ่งลงทุนตามดัชนี โดยที่หลักทรัพย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบของดัชนี ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนไหวบ่อยครั้ง และมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า

กรณีที่ใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุน (Investable Index) สถาบันการเงินจะนำดัชนีมาใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เช่น กองทุนส่วนบุคคล กองทุนรวม กองทุนเปิดที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (ETF) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทจัดการที่จะนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เพื่อสร้างดอกผลให้กับกองทุน ฯลฯ โดยให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์คุณภาพที่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG ของผู้ประเมิน

ชุดดัชนี Thaipat ESG Index ประกอบด้วย ดัชนีผลตอบแทนราคา (Price Return: PR) ดัชนีผลตอบแทนรวม (Total Return: TR) และดัชนีผลตอบแทนรวมสุทธิ (Net Total Return: NTR) โดยมี S&P Dow Jones เป็นผู้คำนวณและเผยแพร่ข้อมูลดัชนี ผ่านหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลก

Thaipat ESG Index เป็นดัชนี ESG แรกในประเทศไทย ที่ใช้การคำนวณดัชนีด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักหลักทรัพย์เท่ากัน (Equal Weighed Index) คือ ให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของดัชนีเท่ากันทุกหลักทรัพย์ เพื่อให้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงราคาของแต่ละหลักทรัพย์ในดัชนีได้อย่างชัดเจน โดยไม่ขึ้นกับขนาดของหลักทรัพย์ และด้วยการขจัดปัจจัยในเรื่องขนาดหรือความใหญ่ของหลักทรัพย์ จะทำให้ดัชนีสามารถสะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ (ที่มีความสัมพันธ์กับผลประกอบการ) ได้อย่างเท่าเทียมกันในทุกหลักทรัพย์ และทำให้โอกาสที่หลักทรัพย์คุณภาพขนาดเล็กที่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG สามารถส่งผลต่อค่าของดัชนีได้ ในสัดส่วนที่เท่ากับหลักทรัพย์ขนาดใหญ่

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ MSCI ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของดัชนี MSCI ชนิดถ่วงน้ำหนักเท่ากัน (Equal Weighed Index) ในช่วงธันวาคม ปี ค.ศ.2000 ถึงกลางปี ค.ศ.2015 ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีชนิดถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization Weighted Index) อย่างมีนัยสำคัญ

Thaipat ESG Index ใช้ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นข้อมูลการจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 นับตั้งแต่ปีแรกของการประเมิน เป็นวันฐาน (Base Date) ของการคำนวณดัชนี โดยกำหนดค่าฐาน (Base Value) ที่ 100 จุด โดยมีหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกดัชนี Thaipat ESG Index ปี 2561 จำนวน 58 หลักทรัพย์ และจะมีการทบทวนรายชื่อหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกในดัชนีทุกปี ตามรอบของการประเมินและจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 ประจำปี

ผลตอบแทนของดัชนี Thaipat ESG Index TR (THAIESGT) นับตั้งแต่วันฐาน จนถึงปัจจุบัน (28 กันยายน 2561) ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 10.07% ต่อปี มากกว่าดัชนี Dow Jones Sustainability Emerging Markets Index NTR (DJSEMUN) ที่มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 6.08% ต่อปี


ผู้ลงทุนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของชุดดัชนี Thaipat ESG Index ทั้งดัชนีผลตอบแทนราคา (PR) ดัชนีผลตอบแทนรวม (TR) และดัชนีผลตอบแทนรวมสุทธิ (NTR) ผ่านทางหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ได้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูล Factsheet, Performance, Constituents, Characteristics, Sector Breakdown สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ S&P Dow Jones' Custom Indices


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]