Sunday, May 24, 2020

ธุรกิจกับการมีส่วนร่วมในสถานการณ์โควิด

ในช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทของภาคธุรกิจ ในฐานะหนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญของสังคม สามารถที่จะระดมทรัพยากรเพื่อใช้ในการช่วยเหลือ ทั้งการมอบเงินบริจาค อาหาร เวชภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับมือกับสถานการณ์ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันเป็นหลักพันล้านบาทได้ในชั่วระยะเวลาสั้นๆ

ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่ช่วงที่สถานการณ์โควิดกำลังคลี่คลาย จากนี้ไป บริษัทต่างๆ ทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ครั้งนี้ จะมีกิจกรรมทางธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูที่หลากหลาย แตกต่างกันไปในแต่ละกิจการ

ธุรกิจจำต้องจัดสรรการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องลงตัวกับสถานการณ์ที่ดำเนินไปในแต่ละระยะ มีการสร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างการดำเนินธุรกิจและการช่วยเหลือสังคม โดยมิให้สังคมเกิดความรู้สึกว่าธุรกิจกำลังแสวงหาประโยชน์จากสถานการณ์

ลักษณะการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนที่สะท้อนออกมาเป็นกิจกรรมทางธุรกิจ มีทั้งในรูปแบบที่ไม่คิดมูลค่า (Pro Bono) หรือคิดเท่าต้นทุน (At Cost) หรือแสวงหากำไร (For Profit) ในแต่ละระยะของสถานการณ์


กิจกรรมทางธุรกิจที่ไม่คิดมูลค่า หรือคิดเท่าต้นทุน หรือแสวงหากำไร ในแต่ละระยะของสถานการณ์โควิด

ในระยะก่อนเกิดโควิด ธุรกิจสามารถที่จะดำเนินกิจกรรมแสวงหากำไรเป็นปกติ ครั้นเมื่อสถานการณ์โควิดเกิดขึ้น ธุรกิจสามารถมีส่วนช่วยเหลือแก่สังคมและผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยไม่คิดมูลค่า สำหรับกิจกรรมในระยะฟื้นฟู ธุรกิจอาจมีส่วนช่วยเหลือด้วยการจำหน่ายสินค้าและบริการโดยคิดค่าใช้จ่ายเท่าต้นทุน ซึ่งการที่ธุรกิจอาสาเข้ามีส่วนร่วมช่วยเหลือในช่วงต้นๆ หลังการเกิดโควิดนั้น จะก่อให้เกิดโอกาสที่นำไปสู่กิจกรรมการสร้างรายได้ในภายหลัง

ทั้งนี้ ผลได้ของธุรกิจจากการมีส่วนร่วมในแต่ละระยะของสถานการณ์โควิด มีตั้งแต่การกระชับความสัมพันธ์ในท้องถิ่น การเสริมสร้างตราสินค้า ชื่อเสียงและคุณค่าขององค์กรให้แข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงโอกาสโดยตรงทางธุรกิจ และการพัฒนาทางธุรกิจ

ผลได้ของธุรกิจจากการมีส่วนร่วมในแต่ละระยะของสถานการณ์โควิด
การรับมือ
(Response)
การฟื้นฟู
(Recovery)
การปรับตัว
(Resilience)
กระชับความสัมพันธ์ในท้องถิ่น
เสริมสร้างตราสินค้า ชื่อเสียง และคุณค่าขององค์กรให้แข็งแกร่งขึ้น
การพัฒนาบุคลากรเจ้าหน้าที่
กระชับความสัมพันธ์ในท้องถิ่น
เสริมสร้างตราสินค้า ชื่อเสียง และคุณค่าขององค์กรให้แข็งแกร่งขึ้น
การพัฒนาบุคลากรเจ้าหน้าที่
โอกาสโดยตรงทางธุรกิจ
กระชับความสัมพันธ์ในท้องถิ่น
เสริมสร้างตราสินค้า ชื่อเสียง และคุณค่าขององค์กรให้แข็งแกร่งขึ้น
การพัฒนาบุคลากรเจ้าหน้าที่
โอกาสโดยตรงทางธุรกิจ
การพัฒนาทางธุรกิจ

แน่นอนว่า “ธุรกิจจะอยู่รอดไม่ได้ หากไม่มีรายได้” แต่ขณะเดียวกัน “ธุรกิจก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ในสังคมที่ล้มเหลว” การผสมผสานความสามารถในการสร้างผลได้ทางธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเหมาะสมลงตัว จึงเป็นการสร้างคุณค่าร่วมจากการเข้ามีส่วนร่วมขององค์กรธุรกิจในแต่ละระยะของการรับมือสถานการณ์โควิด


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, May 10, 2020

กลยุทธ์ภาคธุรกิจเพื่อต่อกรกับโควิด

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า สถานการณ์โควิด ได้ส่งผลต่อภาคธุรกิจในทุกสาขา และในทุกขนาดของกิจการ บางส่วนได้อานิสงส์ในเชิงบวก โดยมีโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่อีกหลายส่วนได้รับผลกระทบในเชิงลบ โดยที่มีความรุนแรงสุด คือ การปิดกิจการ

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า ถ้าควบคุมโควิด-19 ได้ ภายในปลายเดือนมิ.ย.นี้ จะมีคนตกงานอยู่ที่ราว 7 ล้านคน แต่ถ้ายืดเยื้อต่อไปถึงเดือนก.ย.และต.ค.ปี 2563 จะมีคนตกงานมากเป็น 10 ล้านคน และกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ จะต้องเกิดการสร้างงานก่อน ซึ่งยังต้องใช้เวลาหลายเดือน อาจถึงปี เฉพาะฟื้นฟู (ฐานเศรษฐกิจ, 8 พ.ค. 63)

นับตั้งแต่ที่โควิดเกิดขึ้น นอกจากกลยุทธ์ทางธุรกิจซึ่งใช้ในภาวะปกติ จะไม่สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ตามที่เคยเป็นแล้ว องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ฉุกเฉินขึ้น เพื่อใช้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ไม่ปกติในห้วงเวลาดังกล่าว

กลยุทธ์ภาคธุรกิจเพื่อต่อกรกับโควิด จำต้องถูกออกแบบให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ในแต่ละระยะ ซึ่งจะจำแนกออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ กลยุทธ์การรับมือสถานการณ์โดยทันทีหรือในช่วงสั้น (Response) กลยุทธ์การฟื้นฟูหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย (Recovery) และกลยุทธ์การปรับตัวสู่ภาวะปกติสืบเนื่องไปในระยะยาว (Resilience)

กลยุทธ์การรับมือสถานการณ์ (Response) จะเกิดขึ้นโดยทันทีหลังการเกิดการแพร่ระบาดและทอดระยะเวลาไปได้หลายสัปดาห์ จุดมุ่งเน้นอยู่ที่การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคในหน่วยงาน การเพิ่มความตระหนักถึงความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อ การตรวจคัดกรองพนักงานและผู้มาติดต่อ การสำรวจผู้ร่วมงานที่อยู่ในข่ายสัมผัสโรคเพื่อกักกันและสังเกตอาการ การพิจารณาปิดบริเวณหรือสถานประกอบการชั่วคราว เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค รวมทั้งการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของสถานประกอบการ ในการโทรแจ้งและติดต่อกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อดำเนินการควบคุมโรคตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีที่พบพนักงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องยืนยันติดเชื้อโรคโควิด 19 ในสถานประกอบการ ตลอดจนมาตรการในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home)

กลยุทธ์การฟื้นฟูหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย (Recovery) จะมุ่งเน้นที่การฟื้นสภาพการดำเนินงานทางธุรกิจให้กลับเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติหรือใกล้เคียงกับภาวะปกติ รวมทั้งการฟื้นตัวของยอดขาย การเข้าถึงตลาด การจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่องทางการจัดจำหน่าย โลจิสติกส์และการจัดส่งสินค้า โดยสิ่งท้าทายสำคัญของกลยุทธ์การฟื้นฟูหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย คือ การดำเนินต่อไปได้ของสายอุปทาน โดยเฉพาะผู้ส่งมอบหลักที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบป้อนสายการผลิตหลักของกิจการ การปรับปรุงข้อตกลงทางธุรกิจที่เกื้อหนุนผู้ส่งมอบและคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจที่ถูกกระทบ และการเชื่อมโยงไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองในระยะยาวและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในห่วงโซ่ธุรกิจ

กลยุทธ์การปรับตัวสู่ภาวะปกติสืบเนื่องไปในระยะยาว (Resilience) จะมุ่งไปยังการปรับตัวทางธุรกิจให้กลับคืนสภาพ ด้วยมาตรการที่คำนึงถึงประเด็นด้านความยั่งยืน โดยหลีกเลี่ยงการสร้างกลไกที่ต้องอาศัยการพึ่งพาจากภายนอกเป็นหลัก เนื่องเพราะประเด็นความยั่งยืนถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การปรับตัวคืนสู่สภาพปกติเกิดผลสัมฤทธิ์ การให้ความมั่นใจแก่บุคลากรในส่วนของอาชีพและรายได้ การดำเนินการประเมินอุปสงค์ใหม่หลังสถานการณ์แพร่ระบาดสิ้นสุด เนื่องจากสภาพตลาดและรูปแบบหรือพฤติกรรมของลูกค้า อาจมีการเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานของกิจการที่มีโอกาสปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ (New Normal) เป็นต้น


ทั้งนี้ การดำเนินกลยุทธ์ในช่วง Response และช่วง Recovery จะมีส่วนสำคัญต่อการรับมือกับสถานการณ์ เพื่อมิให้ธุรกิจที่ดำเนินอยู่เกิดความชะงักงัน โดยอาศัยแก่นธุรกิจและทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ เป็นหัวใจหลักของการทำงาน เป็นตัวกำหนดทิศทาง และการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ส่วนการดำเนินกลยุทธ์ในช่วง Resilience จะเป็นตัวกำหนดเส้นทางการพัฒนาใหม่ๆ ทางธุรกิจ ที่จะต้องดำเนินตามในเวลาต่อมา และนำกลับเข้าสู่วิถีทางที่ประกอบด้วยเสถียรภาพ การเติบโต และการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยทั่วไป กรอบเวลาของระยะการรับมือ (Response) จะเป็นหลักสัปดาห์ ส่วนระยะการฟื้นฟู (Recovery) จะอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งปี และเปลี่ยนผ่านไปสู่ช่วงของการปรับตัว (Resilience) โดยใช้เวลาสามปีขึ้นไป สืบเนื่องจนเข้าสู่ช่วงของการพัฒนาในระยะยาว


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]