Saturday, January 28, 2023

ความยั่งยืนของกิจการในรอบปี 2565

ผ่านพ้นปี 2565 ถือเป็นธรรมเนียมที่จะมีการประมวลเรื่องราวด้านความยั่งยืนที่ผ่านมาในรอบปี เพื่อเป็นการทบทวนสถานะของการดำเนินงาน อันจะนำไปสู่การวางทิศทางและตั้งเป้าหมายสำหรับการพัฒนาในปีนี้ต่อไป

ในรอบปีที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ได้ใช้เวทีประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community: SDC) จัด Webinar เรื่องกระบวนการรายงานความยั่งยืนตามข้อแนะนำของ GRI (Global Reporting Initiative) จำนวน 5 ครั้ง ให้แก่องค์กรที่เป็นสมาชิก SDC จำนวน 136 ราย เพื่อช่วยองค์กรยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล

และจากการทำงานของ SDC บนข้อมูลความยั่งยืนที่กิจการเปิดเผยจำนวน 854 แห่ง สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประมวลและจัดทำรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2565 หรือ “The State of Corporate Sustainability in 2022” จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้องค์กรสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ศึกษา เปรียบเทียบสถานะ และกำหนดทิศทางการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนตามบรรทัดฐานในอุตสาหกรรม

ในรายงาน แบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลความยั่งยืนออกเป็น 3 หมวดหลัก โดยหมวดแรกเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานการรายงานสากล GRI หมวดที่สองเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานตามประเด็นด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ที่แนะนำโดยสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges: WFE) และหมวดที่สามเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานที่มีการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตามแนวทาง GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (International Standards of Accounting and Reporting: ISAR)

ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง GRI พบว่า องค์กรที่เป็นประชากรในการศึกษา มีการเปิดเผยข้อมูลไว้ในรายงานประจำปี (Combined in Annual Report) มีสัดส่วนมากสุด อยู่ที่ 80.91% รองลงมาเป็นประเภทเปิดเผยไว้ในรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) แบบแยกเล่มรายงานต่างหาก สัดส่วน 17.92% ซึ่งในประเภทนี้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนโดยอ้างอิง GRI มีสัดส่วนอยู่ที่ 88.89% โดย 10 ประเด็นความยั่งยืนที่มีการเปิดเผยมากสุด ในด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจ และการต่อต้านทุจริต ในด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มลอากาศ น้ำและน้ำทิ้ง และของเสีย และในด้านสังคม ได้แก่ ประเด็นการจ้างงาน อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การฝึกอบรมและการให้ความรู้ การไม่เลือกปฏิบัติ และแรงงานเด็ก

ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง WFE พบว่า กิจการส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีการเปิดเผยข้อมูลครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดย 10 ประเด็น ESG ที่มีการเปิดเผยมากสุด ในด้านสิ่งแวดล้อม (E) ได้แก่ ยอดการใช้พลังงาน และการใช้น้ำ ในด้านสังคม (S) ได้แก่ การไม่เลือกปฏิบัติ อัตราการบาดเจ็บ แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก และนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน และในด้านธรรมาภิบาล (G) ได้แก่ ความหลากหลายในโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท ความเป็นอิสระในคณะกรรมการบริษัท จรรยาบรรณคู่ค้า และจริยธรรมและการต่อต้านทุจริต

ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง GCI พบว่า กิจการส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีการตอบสนองต่อ SDGs ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และด้านสถาบัน โดยมีการตอบสนองต่อ SDGs เป้าหมายที่ 3 (สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี) เป้าหมายที่ 4 (การศึกษาที่ได้คุณภาพ) เป้าหมายที่ 5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) เป้าหมายที่ 6 (น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล) เป้าหมายที่ 7 (พลังงานสะอาดและราคาไม่แพง) เป้าหมายที่ 8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) เป้าหมายที่ 9 (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน) เป้าหมายที่ 10 (ลดความเหลื่อมล้ำ) เป้าหมายที่ 12 (การผลิตและการบริโภคที่รับผิดชอบ) เป้าหมายที่ 16 (ความสงบสุข ความยุติธรรม และการมีสถาบันที่เข้มแข็ง) และเป้าหมายที่ 17 (การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน)

โดย 10 ตัวชี้วัดหลัก GCI ซึ่งตอบสนองต่อ SDGs ที่มีการเปิดเผยสูงสุด ในด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ยอดรายได้ และภาษีและเงินอื่นที่จ่ายแก่รัฐ ในด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ประสิทธิภาพการใช้น้ำ ในด้านสังคม ได้แก่ ชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมต่อปีต่อคน และสัดส่วนค่าจ้างและสวัสดิการพนักงานต่อรายได้จำแนกตามชนิดการจ้างและมิติหญิงชาย และในด้านสถาบัน ได้แก่ จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการและอัตราการเข้าร่วมประชุม จำนวนและร้อยละของกรรมการหญิง ช่วงอายุของกรรมการ จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบและอัตราการเข้าร่วมประชุม และค่าตอบแทนรวมต่อกรรมการ

นอกจากนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าว ยังได้นำเสนอประเด็นด้านความยั่งยืนของกิจการที่ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เจตนารมณ์ในการตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ตลอดจนความท้าทายในการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร

องค์กรที่สนใจศึกษาข้อมูลในรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2565 เพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับดังกล่าว ที่เว็บไซต์ของสถาบันไทยพัฒน์ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Wednesday, January 25, 2023

Thinking Network: Sustainpreneur

27 ธันวาคม 2566 | 3 กลยุทธ์ SME ปี 2024
20 ธันวาคม 2566 | ขายเท่าเดิม แต่เพิ่มกำไร ทำอย่างไร (ตอนจบ: ลดต้นทุนการเงิน)
13 ธันวาคม 2566 | ขายเท่าเดิม แต่เพิ่มกำไร ทำอย่างไร (ตอน 3: ลดต้นทุนการดำเนินงาน)
6 ธันวาคม 2566 | ขายเท่าเดิม แต่เพิ่มกำไร ทำอย่างไร (ตอน 2: ลดต้นทุนการตลาด)

29 พฤศจิกายน 2566 | ขายเท่าเดิม แต่เพิ่มกำไร ทำอย่างไร (ตอน 1: ลดต้นทุนการผลิต)
22 พฤศจิกายน 2566 | ESG สำหรับ SME ต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
15 พฤศจิกายน 2566 | 5 วิถี Repositioning SMEs (ตอนจบ)
8 พฤศจิกายน 2566 | 5 วิถี Repositioning SMEs (ตอน 1)
1 พฤศจิกายน 2566 | 8 คำถาม: พา SMEs เติบโต แบบยั่งยืน

25 ตุลาคม 2566 | SME ตีโจทย์ SDGs อย่างไร ให้ได้ทั้งผลกำไรและผลกระทบ
18 ตุลาคม 2566 | 12 เช็กลิสต์ขับเคลื่อน ESG ฉบับ SME
11 ตุลาคม 2566 | แนวทางการขับเคลื่อน ESG ในผู้ประกอบการ SME
4 ตุลาคม 2566 | Soft Power กับโอกาสของ SME

27 กันยายน 2566 | 7 บทบาทธุรกิจที่ตอบโจทย์สังคม
20 กันยายน 2566 | ตัวแปรการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจ SME
13 กันยายน 2566 | LOCALISM การกลับมาของกระแสท้องถิ่นนิยม
6 กันยายน 2566 | เจาะคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเศรษฐา

30 สิงหาคม 2566 | SME กับการสร้างแบรนด์ออนไลน์
23 สิงหาคม 2566 | SME กับการปรับตัวสู่ธุรกิจออนไลน์
16 สิงหาคม 2566 | สร้างแต้มต่อให้ SME ด้วย ESG Profile
9 สิงหาคม 2566 | รับมือ..ภัยน้ำท่วม แต่เนิ่น ๆ
2 สิงหาคม 2566 | ความเสี่ยงที่มากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

26 กรกฎาคม 2566 | โอกาสที่มากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
19 กรกฎาคม 2566 | การสร้างตัวแบบธุรกิจเพื่อสังคม
12 กรกฎาคม 2566 | นโยบายการเมืองกับการช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก
5 กรกฎาคม 2566 | 7 Green Habits: สร้างอุปนิสัยสีเขียวเพื่อโลก

28 มิถุนายน 2566 | กลยุทธ์น่านน้ำหลากสี: Colourful Ocean Strategy
21 มิถุนายน 2566 | สำรวจ 3 ปัจจัยธุรกิจ: จุดขาย-จุดคุ้ม-จุดซื้อ
14 มิถุนายน 2566 | ไอเดียการพัฒนาและวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ ยุค 4.0
7 มิถุนายน 2566 | ความเชื่อมโยงระหว่าง ESG กับ Bottom Line ของกิจการ

31 พฤษภาคม 2566 | จาก B2B สู่ B4B
24 พฤษภาคม 2566 | คนรุ่นใหม่เลือกทำงานกับบริษัทที่ใฝ่ ESG
17 พฤษภาคม 2566 | Tony’s Chocolonely: ช็อกโกแลตไร้น้ำตาทาส (slave-free chocolate)
10 พฤษภาคม 2566 | Saral Designs: ผ้าอนามัย แก้จน
3 พฤษภาคม 2566 | Recycling Lives: ธุรกิจพลิกชีวิตคนไร้บ้านและผู้ต้องขัง

26 เมษายน 2566 | D.Light: ธุรกิจแผงโซลาร์พกพาต้นทุนต่ำ
19 เมษายน 2566 | Coliba Recycling Ghana: the Uber of recycling
12 เมษายน 2566 | Biocon Biochemicals Limited: ธุรกิจชีวเภสัชภัณฑ์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
5 เมษายน 2566 | Azahar Coffee: ธุรกิจกาแฟเพื่อเกษตรกรรายย่อย

29 มีนาคม 2566 | Ansaar Management Company (AMC): ธุรกิจสร้างบ้านให้กับผู้มีรายได้น้อย
22 มีนาคม 2566 | การวัดความยั่งยืนทางธุรกิจ ที่มิใช่เพียงกำไร
15 มีนาคม 2566 | ฝุ่น PM กับการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
8 มีนาคม 2566 | Governance: ธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ (SMEs)
1 มีนาคม 2566 | 7 กลวิธีการฟอกเขียว

22 กุมภาพันธ์ 2566 | SME ที่ยั่งยืน เกิดจากลูก 3 คน
15 กุมภาพันธ์ 2566 | ขายของออนไลน์: ปังง่าย หรือ ไปเร็ว ?
8 กุมภาพันธ์ 2566 | เศรษฐกิจโลกชะลอตัว: ธุรกิจ SME fall อย่างไร ไม่ให้ Fail
1 กุมภาพันธ์ 2566 | Craft it forward: ทำอย่างไรให้งานฝีมือสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

25 มกราคม 2566 | ใช้ Soft Power เคลื่อนธุรกิจ

รับฟังคลิปย้อนหลังอื่น ๆ ได้ที่ ช่องยูทูป Thinkingradio

Saturday, January 14, 2023

3 ธีม ขับเคลื่อน ESG ประเทศไทย ปี 2566 (จบ)

การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ยืนยันว่า ภัยพิบัติและภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ ทวีปยุโรปเผชิญกับอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่าสองเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก วิกฤตไฟป่าที่ออสเตรเลียที่สร้างความเสียหายมหาศาล น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปากีสถาน จีน เกาหลีใต้ สภาพอากาศสุดขั้วครั้งประวัติศาสตร์ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ภัยแล้งที่ทวีปแอฟริกา ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นผลจากภาวะโลกร้อนซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น โดยรายงานผลการศึกษาของ The Intergovernmental Panel on Climate Change (2021) เปิดเผยว่า อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นแล้ว 1.09 องศาเซลเซียส จากความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงสุดในรอบ 2 ล้านปี


สำหรับประเทศไทย ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีการเกิดอุทกภัยจำนวนมากกว่า 40,000 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 12.59 ล้านล้านบาท โดยเมื่อปี 2554 ประเทศไทยประสบกับอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยเกือบทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจได้รับความเสียหายอย่างมาก นับเป็นอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย จากนั้นในปี 2564 ประเทศไทยได้ประสบกับภาวะอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้ง แม้จะไม่รุนแรงเท่าช่วงปี 2554 แต่ก็ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท

GREEN ที่มากกว่าคำมั่นสัญญา
ในการสำรวจสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ประจำปี 2565 โดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า คะแนนด้านสิ่งแวดล้อมของกิจการที่ทำการสำรวจ 854 แห่ง อยู่ที่ 1.26 คะแนน จาก 10 คะแนน โดยประเด็นที่มีการเปิดเผยข้อมูลน้อยสุด ได้แก่ สัดส่วนการใช้พลังงาน (Energy Mix) ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน (Energy Intensity) และความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Intensity) ตามลำดับ

เป็นที่น่าสังเกตว่า สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนของประเทศ ในช่วงหลังปี 2562 ยังมีสัดส่วนที่ต่ำ และลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พบว่า สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 16.5 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 15.5 ในปี 2563 และเหลืออยู่ร้อยละ 14.6 ในปี 2564 ตามลำดับ ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (แผน AEDP) ไทยมีเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในปี 2580

และจากผลการสำรวจของบริษัท Meta ร่วมกับ Yale University ในรายงาน International Public Opinion on Climate Change 2022 ระบุว่า คนไทยส่วนใหญ่เห็นว่าการแก้ไขปัญหาเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐและภาคธุรกิจ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 และมีเพียงร้อยละ 28 ที่คิดว่าเป็นความรับผิดชอบของทุกคน โดยความคิดเห็นของคนไทยเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อการลดสาเหตุการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า มีคนไทยเพียงร้อยละ 35 ที่เห็นว่าควรลดการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งผลการสำรวจ สะท้อนถึงความตระหนักและความใส่ใจของคนไทยต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

การที่ประเทศไทย ในฐานะรัฐภาคีสมาชิกสหประชาชาติ ที่เข้าร่วมในความตกลงปารีส ได้ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ.2030 (แบ่งเป็นการดำเนินการได้เองในประเทศ ร้อยละ 30 และการดำเนินงานที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ร้อยละ 10) และวางเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 รวมทั้งการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065 ให้ได้จริงนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงจัง มากกว่าการให้คำมั่นสัญญาที่เป็นเพียงแค่เจตนารมณ์

จากการรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรัฐภาคีต่างๆ ต่อโอกาสในการบรรลุเป้าหมายที่ประชาคมโลกต้องร่วมกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยการติดตามของ Climate Action Tracker ในส่วนของประเทศไทยนั้น พบว่า ด้วยเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 (Conditional Targets) ภายในปี ค.ศ.2030 ไทยจะยังไม่สามารถดำเนินการเพื่อจำกัดมิให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้

เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ของไทย ต้องลดให้ได้ร้อยละ 65 ของกรอบการดำเนินงานตามปกติ (BAU) เดิม ภายในปี ค.ศ.2030 จึงจะสอดคล้องกับขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ หากทุกประเทศในโลกอ้างอิงการดำเนินงานตามเป้าหมายการดำเนินการได้เองในประเทศ (Unconditional Targets) ของไทย (ที่ตั้งไว้ร้อยละ 30) การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก จะเกิน 4 องศาเซลเซียส

เป้าหมายการดำเนินการได้เองในประเทศที่สอดคล้องกับขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียส ไทยต้องลดให้ได้ร้อยละ 57 ของกรอบการดำเนินงานตามปกติเดิม

ในส่วนของภาคธุรกิจในประเทศไทย จากผลสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ต่อการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2565 พบว่า มีเพียงหนึ่งในสี่ของกิจการที่ทำการสำรวจ 854 ราย ที่มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว โดยยอดรวมของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2) ในองค์กรที่เปิดเผยข้อมูล (มีสัดส่วนร้อยละ 20.73) มีปริมาณ 384.41 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า

ขณะที่ ปริมาณคาร์บอนเครดิตสะสม ภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 27 กันยายน 2565) มีจำนวน 13.514 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า

หากพิจารณาปริมาณคาร์บอนเครดิตสะสมจากการดำเนินงานตามปกติข้างต้น พบว่า มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.52 ของยอดรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากผลสำรวจองค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งหากรวมยอดการปล่อยของกิจการอีกสามในสี่ที่ยังมิได้เปิดเผยข้อมูล ตัวเลขสัดส่วนการลดต่อการปล่อย จะต่ำกว่านี้อีกมาก

แนวโน้มที่ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสให้ได้นั้น องค์กรธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการและเป็นผู้ก่อก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ จำต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในกระบวนการธุรกิจเพื่อให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]