Saturday, August 29, 2020

CSR ไม่ได้เริ่มที่บรรทัดสุดท้าย ของงบกำไรขาดทุน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องการในปัจจุบัน นอกเหนือจากการเจริญเติบโต ก็คือ ความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหมายถึง การที่องค์กรสามารถแสวงหากำไร หรือประกอบธุรกิจอยู่ได้ในสังคมอย่างต่อเนื่อง และ CSR (Corporate Social Responsibility) ได้กลายมาเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างให้เกิดความยั่งยืนนั้น


ปรัชญาของธุรกิจในการแสวงหากำไรสูงสุดที่กิจการยึดมั่นในการดำเนินงาน ไม่ได้เป็นเรื่องที่สวนทางกับหลักการความรับผิดชอบต่อสังคม เพียงแต่ธุรกิจที่มี CSR นั้น นอกจากจะพยายามแสวงหาหนทางในการทำกำไรสูงสุด (Maximize Profit) แล้ว ยังพยายามแสวงหาหนทางในการลดข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด (Minimize Conflict) ด้วย นี่คือเหตุผลที่ CSR เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจนั่นเอง

โดยที่ขอบเขตการดำเนินงาน CSR จะครอบคลุมในทุกๆ กลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ในอันที่จะสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้น

แม้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงาน คู่ค้า หรือชุมชน อาจจะไม่ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มรายได้หรือกำไรของกิจการในทันที เหมือนกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ที่จะส่งผลโดยตรงต่อรายได้และเม็ดเงินที่ได้รับของกิจการเพิ่มขึ้น (ในทางบวก) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจเลือกที่จะละเลยการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อพนักงาน คู่ค้า หรือชุมชน เพียงแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างทั่วถึง นี่จึงทำให้ธุรกิจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดข้อพิพาทหรือขัดแย้งกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มดังกล่าว จนเป็นเหตุให้รายได้หรือกำไรของกิจการได้รับผลกระทบ (ในทางลบ) โดยตรง

สาเหตุสำคัญที่ CSR มักไม่ได้รับการตอบสนองจากเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นของกิจการ เกิดจากการมองว่า CSR เป็นกิจกรรมที่ทำให้ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นลดลง เนื่องจากกิจการต้องเจียดกำไรหรือคืนผลตอบแทนส่วนหนึ่งกลับคืนสู่สังคม เพราะเข้าใจเรื่อง CSR ว่าเป็นการบริจาค (Philanthropy) และเป็นกิจกรรมที่ทำก็ต่อเมื่อมีกำไร คือ เกิดขึ้นหลังจากบรรทัดสุดท้าย (คือกำไรสุทธิ) ของการดำเนินงานเท่านั้น

อันที่จริงแล้วการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมสามารถเริ่มได้ตั้งแต่บรรทัดแรก (คือรายได้) ของการดำเนินงาน และนับตั้งแต่การพิจารณาเรื่องวัตถุดิบในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคำนึงถึงแหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่น การจัดซื้อจัดหาที่มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ การปฏิบัติด้านแรงงานที่เป็นธรรม การให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ครบถ้วนถูกต้อง การขายและการตลาดที่ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค การให้บริการและการ

รับประกันที่เพียงพอ เป็นต้น การทำ CSR มุ่งที่การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่ธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า พนักงาน ผู้ส่งมอบ คู่ค้า ฯลฯ นอกเหนือจากเรื่องชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากองค์กรดำเนินธุรกิจโดยที่ไม่มีข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทกับผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้ กิจการก็ย่อมจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีปฏิปักษ์ สามารถแสวงหากำไรหรือประกอบธุรกิจอยู่ได้ในสังคมอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจนั่นเอง

ความเสียหายที่มีความชัดเจนและรุนแรง หากกิจการดำเนินไปโดยไม่คำนึงถึงเรื่อง CSR เช่น กรณีที่ธุรกิจไปมีข้อพิพาทกับผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นภาครัฐในแง่ของใบอนุญาต สัมปทาน หรือการได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง ตลอดจนเรื่องการเสียภาษีต่างๆ จนเป็นปัญหานำไปสู่การฟ้องร้อง ให้ระงับการดำเนินงาน ยุติกิจการ หรือ ถูกยึดทรัพย์ ฯลฯ

การทำ CSR จึงมิได้เป็นเหตุที่ทำให้ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นลดลง ตรงกันข้ามกลับจะทำให้ธุรกิจมีภูมิคุ้มกัน และเอื้อต่อการสร้างผลตอบแทนที่ต่อเนื่องและไร้มลทินให้แก่ผู้ถือหุ้น ไม่มีเหตุที่จะกล่าวโทษหรือมาตำหนิใดๆ ได้

ผู้ถือหุ้นที่ต้องการรักษาความมั่งคั่งในระยะยาว คงไม่ได้พิจารณาเลือกลงทุนในกิจการที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องถามหา CSR ในกิจการนั้นๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหากับผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่รายรอบกิจการ จนทำให้ธุรกิจสุ่มเสี่ยงต่อความอยู่รอดและการเจริญเติบโตในแบบยั่งยืน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, August 15, 2020

CSR : สิ่งที่เห็น กับ สิ่งที่เป็น

เรื่อง CSR เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่กิจการจะต้องแน่ใจว่าได้ทำให้เกิดขึ้น หรือดำเนินอยู่ในกระบวนงาน หรือในการดำเนินธุรกิจขององค์กรจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้สังคมเห็นว่า องค์กรมีภาพของความรับผิดชอบต่อสังคม โดยผ่านรูปแบบของการทำกิจกรรมเพื่อสังคมเท่านั้น

ตัวอย่างของโรงงานที่ติดตั้งเครื่องบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ชุมชน แสดงถึงการสร้าง CSR ในส่วนที่เห็นได้ (เชิง Perception) แต่หากโรงงานไม่ได้เปิดเครื่องบำบัด เนื่องจากต้องการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย หรือด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม แล้วปล่อยน้ำเสียสู่ชุมชนโดยไม่ได้ผ่านการบำบัด แสดงให้เห็นว่าโรงงานไม่มี CSR ในส่วนที่เป็นจริงๆ (เชิง Performance) และยังอาจละเมิดกฎหมายด้วย


   Photo Credit: Compfight

ความพยายามสร้าง CSR ในเชิง Perception อย่างเดียว ไม่อาจนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เพราะองค์กรขาดความสำนึกรับผิดชอบที่จะปฏิบัติงานหรือประกอบการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมจริง ๆ แต่ทำเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ หรือลวงให้สังคมเข้าใจว่าตนเองมีความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว

การทำ CSR ในเชิง Performance ถือเป็นปัจจัยหลัก หรือ 'เหตุ' ที่เกื้อหนุนให้องค์กรได้มาซึ่งความยั่งยืน จากการประกอบการที่คำนึงถึงความรับผิดชอบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการดำเนินการจริง หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า กิจการไม่สามารถดำรงไว้ซึ่งความยั่งยืน โดยปราศจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่แท้จริง

ฉะนั้น การที่องค์กรหนึ่ง ๆ จะกล่าวอ้างว่าได้ใช้กรอบ SD ในการดำเนินงาน ก็หมายความว่า องค์กรนั้นต้องมีการดำเนินเรื่อง CSR ในเชิง Performance ที่อยู่ในกระบวนงานทั่วทั้งองค์กร ครอบคลุมสาขาและแหล่งดำเนินงานทุกแห่งที่อยู่ในอำนาจกำกับดูแลของบริษัท

การสร้าง CSR ในเชิง Perception เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยให้บริษัทสามารถกล่าวอ้างถึงบทบาทการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SD ได้เลย หากปราศจากการทำ CSR ในเชิง Performance อย่างจริงจัง และไม่ใช่ว่าองค์กรจะเลียนแบบการทำ CSR ขององค์กรอื่นที่ทำได้สำเร็จ แล้วจะสำเร็จเช่นเดียวกัน กิจการจะต้องรู้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับสังคม และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ เป็นอย่างไร ผลกระทบหลักที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจคืออะไร และองค์กรจะดำเนินการอย่างไรกับผลกระทบเหล่านั้น การนำวิธีการทำ CSR ที่ประสบความสำเร็จของบริษัทอื่นมาใช้ มิได้เป็นเครื่องรับรองว่าจะเกิดผลสำเร็จเช่นเดียวกับบริษัทนั้น ๆ เสมอไป

เพราะด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต่างกัน มีความคาดหวังในเรื่องที่ต่างกัน และประเด็นผลกระทบที่ไม่เหมือนกัน ล้วนเป็นตัวแปรที่ทำให้ CSR ของแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

หลายองค์กรพยายามค้นหากิจกรรม CSR ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และต้องการรวมทรัพยากรเพื่อทำเรื่องนั้นเรื่องเดียวให้ได้ผล จะได้ไม่สะเปะสะปะ หรือใช้ทรัพยากรอย่างกระจัดกระจาย ขณะที่บางองค์กรคิดไกลถึงขนาดที่จะสร้างตราสินค้า หรือแบรนด์ ให้กับการทำ CSR เพื่อสร้าง Perception

ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า กิจการไม่ได้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพียงกลุ่มเดียว และแต่ละกลุ่มก็มีความคาดหวัง หรือผลกระทบที่ได้รับจากการประกอบธุรกิจที่แตกต่างกัน การดำเนินกิจกรรม CSR เพียงกิจกรรมเดียวจึงไม่อาจตอบสนองต่อผลกระทบ ความคาดหวัง หรือเฉพาะกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มเดียวได้

ในทางปฏิบัติ องค์กรจำต้องทำ CSR มากกว่าเรื่องเดียว โดยเน้นการตอบสนองต่อเรื่องที่มีนัยสำคัญ ซึ่งได้ผ่านการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อผลกระทบ (ทั้งทางบวกและทางลบ) ที่เกี่ยวข้อง

ข้อสังเกตสำหรับองค์กรที่เน้นการทำกิจกรรม CSR เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มักจะเป็นกรณีที่องค์กรหวังผลด้านการสื่อสารกับสังคมโดยรวมในเชิงของการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้าง Perception

ความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่สินค้าที่ต้องตีตราหรือติดแบรนด์ในตัวเอง แต่เป็นคุณลักษณะ (Attribute) ที่ต้องสร้างให้มีขึ้นและผูกอยู่กับภาพลักษณ์ (Image) ในระดับองค์กร และสามารถถ่ายทอดลงมาอยู่ในระดับผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ขององค์กรจนมีอัตลักษณ์ (Identity) เป็นที่จดจำและยอมรับ

การสร้างแบรนด์ให้กับกิจกรรม CSR เป็นรายกิจกรรมหรือรายโครงการ มิใช่คำตอบที่จะนำไปสู่การวัดเป็นความสำเร็จของการดำเนินงาน หากแต่ต้องพัฒนา CSR ให้ไปเสริมหนุนภาพลักษณ์ขององค์กรและแบรนด์ทางธุรกิจ หรือตราสินค้าที่มีอยู่ให้เป็นที่ยอมรับ

เมื่อ Perception ไม่ใช่เรื่องเดียวกับ Performance การทำ CSR เพื่อให้ได้มาซึ่งความยั่งยืน จึงต้องแยกแยะและชั่งน้ำหนักระหว่าง 'สิ่งที่เห็น' กับ 'สิ่งที่เป็น' อย่างรอบคอบ เพราะเมื่อ 'ชื่อเสียง' ที่องค์กรเพียรพยายามสร้าง กลายเป็น 'ชื่อเสีย' เสียแล้ว ก็ยากที่จะกอบกู้คืนให้ดีดังเดิม


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, August 01, 2020

บริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน

ความสำคัญของประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ที่มีต่อองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดทุน และมีการระดมเม็ดเงินลงทุนจากผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ได้ถูกเพิ่มน้ำหนักจากสถานการณ์โควิด และคาดว่าจะทวีความเข้มข้นขึ้นจากนี้ไป

จากการสำรวจของบลูมเบิร์ก ในช่วงไตรมาสแรกของปี ที่มีสถานการณ์โควิดเกิดขึ้น พบว่า ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลงราว 30% ขณะที่มูลค่ากองทุนที่คำนึงถึงปัจจัย ESG ลดลงไปเพียง 12.2% โดยเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกัน

ส่วนการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์ ในช่วงไตรมาสแรกของปี ระบุว่ามีเงินทุนไหลเข้าในกองทุนที่เน้นปัจจัยความยั่งยืนราว 45.7 พันล้านเหรียญทั่วโลก ขณะที่การลงทุนในกองทุนทั่วไป มีเงินทุนไหลออกราว 384.7 พันล้านเหรียญ

สำหรับความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (29 ก.ค.) ลดลง 15.12% เมื่อเทียบกับดัชนีอีเอสจี ไทยพัฒน์ (Thaipat ESG Index) ที่ปรับลดลง 13.61%

ด้วยความน่าสนใจในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ให้ความสำคัญกับปัจจัย ESG มีเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลตอบแทนที่ได้จากหลักทรัพย์ดังกล่าว มิได้ด้อยกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป ขณะที่ความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในช่วงตลาดขาลง ก็ต่ำกว่าความผันผวนของตลาดโดยรวม

ทำให้สถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย และเป็นผู้จัดทำข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ได้ริเริ่มจัดทำและประกาศรายชื่อหลักทรัพย์กลุ่ม ESG Emerging เป็นครั้งแรก เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากปัจจัย ESG ในฐานะบริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน (ESG Emerging List) ด้วยการคัดเลือกจาก 803 บริษัท/กองทุน/ทรัสต์เพื่อการลงทุน ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง จำนวนกว่า 14,870 จุดข้อมูล

การประเมินเพื่อคัดเลือกบริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน หรือ ESG Emerging List ได้พิจารณาจากข้อมูลบริษัทที่มีแนวโน้มว่าการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ของบริษัทที่ริเริ่มขึ้น หรืออยู่ในระหว่างดำเนินงาน มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในระยะยาวให้แก่ผู้ลงทุนจากปัจจัย ESG โดยมีองค์ประกอบที่ใช้ในการคัดเลือกหลักทรัพย์เข้ากลุ่ม ESG Emerging ได้แก่

มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ในรอบปีการประเมิน
มีการปรับปรุงพัฒนาธุรกิจแกนหลัก (Core Business) หรือกระบวนงานทางธุรกิจ ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพิ่มเติมจากเดิม ในรอบปีการประเมิน
มีความริเริ่มด้าน ESG หรือที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน ซึ่งสร้างผลกระทบทางตรงต่อการเติบโตของรายได้ หรือการประหยัดต้นทุนของกิจการ และมีความสืบเนื่องต่อไปจากรอบปีการประเมินปัจจุบัน

ทั้งนี้ กิจการยังคงต้องผ่านคุณสมบัติตามเกณฑ์คัดกรองเบื้องต้นที่ใช้ในการประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ของสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งประกอบด้วย

ผลการดำเนินงานของบริษัทต้องมีผลประกอบการที่เป็นกำไรติดต่อกันสองรอบปีบัญชีล่าสุด
การปลอดจากการกระทำความผิดโดยที่บริษัทหรือคณะกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ต้องไม่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษหรือเปรียบเทียบปรับในรอบปีประเมิน
การกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ของบริษัทเป็นไปตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด

โดยผลการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เข้าอยู่ในกลุ่มบริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน หรือ ESG Emerging List ประกอบด้วย 2S BAM BIZ BOL CRC FPT GFPT HARN INSET KIAT PDG PHOL STGT TFFIF TFG TNH TNP TPAC UTP VIH รวมทั้งสิ้นจำนวน 20 หลักทรัพย์


รายชื่อหลักทรัพย์ ESG Emerging ดังกล่าว จะถูกนำไปใช้ทบทวนรายการหลักทรัพย์ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index ซึ่งจะมีผลในต้นเดือนสิงหาคมนี้ด้วย

สำหรับรายชื่อ 100 หลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG หรือกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ประจำปี 2563 สถาบันไทยพัฒน์จะดำเนินการแจ้งไปยังบริษัทที่ได้รับคัดเลือก โดยมิได้เปิดเผยเป็นการทั่วไป

ผู้ลงทุนที่สนใจข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนในกลุ่ม ESG Emerging และกลุ่ม ESG100 สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.esgrating.com


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]