Sunday, December 23, 2018

เหลียวหลัง แลหน้า ความยั่งยืนของกิจการ

เหลืออีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปี 2561 และก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่จะได้มาทบทวนสิ่งที่ดำเนินการไปในรอบปีที่กำลังจะผ่านพ้นไป และเตรียมตัวทำสิ่งที่คิดว่า ยังทำได้ไม่ดีและสามารถปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นในรอบปีการดำเนินงานถัดไป

สถาบันไทยพัฒน์ ได้ประมวลประเด็นความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 84 กิจการ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 9 กิจการ บริษัททั่วไปที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และองค์กรอื่นๆ อีก 7 กิจการ รวมจำนวน 100 กิจการ

โดยการวิเคราะห์จากข้อมูลผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่ปรากฎในรายงานแห่งความยั่งยืน รายงานประจำปี และข้อมูลด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ขององค์กร ที่เปิดเผยแก่สาธารณะ

ผลการประมวลข้อมูล แบ่งออกเป็นส่วนที่เป็นประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด และประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม โดยจำแนกตามการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม


ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม

ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การต้านทุจริต และพลังงาน ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องความปลอดภัยทางอาหาร โภชนาการ และสุขภาพ เรื่องผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของห่วงโซ่อุปทานส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ และเรื่องการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์และการสื่อสารการตลาด

ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ การฝึกอบรมและการให้ความรู้ การต้านทุจริต และพลังงาน ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ เรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ และเรื่องผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของห่วงโซ่อุปทานส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์

ในกลุ่มธุรกิจการเงิน ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ การฝึกอบรมและการให้ความรู้ การต้านทุจริต ผลเชิงเศรษฐกิจ และผลกระทบทางอ้อมเชิงเศรษฐกิจ ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องการผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เรื่องการให้ขัอมูลอย่างโปร่งใสและคำแนะนำที่เป็นธรรมแก่ลูกค้า และเรื่องจริยธรรมทางธุรกิจ

ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจ พลังงาน การจ้างงาน การฝึกอบรมและการให้ความรู้ ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องการจัดการมลอากาศ น้ำทิ้ง และของเสียอันตราย เรื่องปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเรื่องการสรรหาวัสดุ

ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การฝึกอบรมและการให้ความรู้ พลังงาน น้ำทิ้งและของเสีย ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องผลกระทบชุมชนจากการพัฒนาโครงการ เรื่องปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเรื่องผลกระทบทางนิเวศ

ในกลุ่มทรัพยากร ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ พลังงาน อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การฝึกอบรมและการให้ความรู้ ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรื่องการจัดการผลกระทบทางนิเวศ และชุมชน และเรื่องการจัดการมลอากาศ น้ำทิ้ง และของเสียอันตราย

ในกลุ่มบริการ ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ การฝึกอบรมและการให้ความรู้ การต้านทุจริต และการจ้างงาน ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องการจัดการด้านความปลอดภัยและอุบัติภัย เรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงาน น้ำ และการจัดการของเสีย และเรื่องการบริหารคุณภาพในห่วงโซ่อุปทาน

ในกลุ่มเทคโนโลยี ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การฝึกอบรมและการให้ความรู้ พลังงาน น้ำทิ้งและของเสีย ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล เรื่องพฤติกรรมการแข่งขันและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และเรื่องการสรรหาวัสดุ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน และซากผลิตภัณฑ์


ประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม

หวังว่า ข้อมูลผลการประมวลชุดนี้ คงจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการที่มีการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน ให้ได้เห็นภาพสะท้อนของความเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าว และสิ่งที่สามารถปรับปรุงพัฒนา และยกระดับการทำงานให้ดียิ่งขึ้นในปี 2562 ที่กำลังจะมาถึงกันครับ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, December 17, 2018

รัฐบาล กับ SDGs

เมื่อเร็ว ๆ นี้ หน่วยงานริเริ่มธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย (Thailand Social Business Initiative : TSBI) ประกอบด้วย Yunus Center AIT สถาบันไทยพัฒน์ และบริษัท อิมเมจ พลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ร่วมกันจัดการอภิปราย (Panel Session) ในหัวข้อ “Strategic CSR through SDGs : The Opportunities & Competitiveness to 2020

“Strategic CSR” หรือ “ความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงกลยุทธ์” ตามหลักการนั้น มิได้เกิดจากการลอกแบบ best practices ที่องค์กรอื่นดำเนินการ และพยายามทำให้เทียบเท่าหรือดีกว่า แต่เป็นการค้นหาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ หรือทุนที่สั่งสมในองค์กรของตน นำมาสร้างให้เกิดความแตกต่างในการดำเนินการ ในทางที่เสริมสร้างขีดการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

การทำ “Strategic CSR” จะดำเนินการผ่านความริเริ่ม หรือโครงการที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่มาก แต่คุณค่าร่วม (shared value) ระหว่างธุรกิจกับสังคมที่เกิดขึ้น จะมีนัยสำคัญ และเห็นผลเด่นชัด

ตัวอย่างที่ได้นำมาอภิปรายกัน คือ เรื่องการต่อต้านทุจริต ที่องค์กรสามารถยกระดับจากการปฏิบัติตามข้อกำหนด (compliance) ซึ่งเป็นการทำงาน (ตามเช็กลิสต์) ในเชิงรับ และจำกัดเฉพาะองค์กรของตน มาเป็น Strategic CSR ที่อาศัยบทบาทขององค์กร ผลักดันให้เกิดการต่อต้านทุจริตในห่วงโซ่ธุรกิจ ไปยังคู่ค้าและลูกค้า โดยเฉพาะการมุ่งไปยังส่วนงานที่มีผลกระทบสูง อาทิ ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายขาย จะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่เกิดจากการประหยัดงบประมาณ และค่าใช้จ่ายที่รั่วไหลไปกับการทุจริตได้อย่างเป็นรูปธรรม

“Strategic CSR” สามารถเชื่อมโยงเข้ากับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ด้วยการนำห่วงโซ่ธุรกิจ ที่แสดงให้เห็นสายคุณค่า (value chain) มาใช้เป็นเครื่องมือในการระบุจุดที่องค์กรสามารถลดผลกระทบเชิงลบ (minimizing negative impact) และเพิ่มผลกระทบเชิงบวก (increasing positive impact) ที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)


อาทิ ธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม ที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงาน และวัตถุดิบจากภาคเกษตร สามารถตอบสนองต่อ SDGs เป้าที่ 3 เรื่องสุขภาวะ ที่เป็นการจัดสถานประกอบการและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย SDGs เป้าที่ 6 เรื่องน้ำ และการสุขาภิบาล ที่เป็นการลดน้ำเสียจากการประกอบการ และ SDGs เป้าที่ 15 เรื่องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เป็นการลดความเสื่อมโทรมของดิน (เป็นเรื่องของการลดผลกระทบเชิงลบ)

ขณะที่ธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม ยังสามารถตอบสนองต่อ SDGs เป้าที่ 8 เรื่องเศรษฐกิจ และการจ้างงาน ที่เป็นการดูแลเรื่องค่าครองชีพของพนักงานในทุกระดับ และ SDGs เป้าที่ 12 เรื่องแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ที่เป็นการเพิ่มช่องทางแก่ผู้บริโภคในการนำเครื่องนุ่งห่มใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เป็นต้น (เป็นเรื่องของการเพิ่มผลกระทบเชิงบวก)

ดังจะเห็นว่าบทบาทของธุรกิจ หรือภาคเอกชน สามารถใช้ Strategic CSR ในการตอบสนองต่อ SDGs ได้ โดยการวิเคราะห์สายคุณค่าที่องค์กรดำเนินงานอยู่ว่ามีส่วนใดที่ส่งผลกระทบ (ทั้งทางบวกและทางลบ) ต่อ SDGs และดำเนินการตอบสนองต่อ SDGs ที่เกี่ยวข้องนั้น ๆ

หากใช้ตรรกะข้างต้นในการพิจารณาบทบาทของภาครัฐ ที่เป็นหน่วยงานราชการ กระทรวง ทบวง กรม ต่างมีภารกิจของหน่วยงาน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการบรรลุ SDGs อยู่แล้วไม่มากก็น้อย (โดยอาจไม่จำเป็นต้องริเริ่มโครงการใหม่เพิ่มเติมจากที่ดำเนินการอยู่) แต่จำเป็นต้องมีการประเมินและปรับกระบวนการให้เกิดความสอดคล้องกับ SDGs ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน

ข้อแนะนำสำหรับหน่วยงานราชการในการขับเคลื่อน SDGs ได้แก่

การเลิกสร้างโครงการใหม่ (new projects) ด้วยงบประมาณก้อนใหม่ เป็นการเริ่มปรับกระบวนงานปัจจุบัน (existing processes) ให้สอดรับกับการตอบสนอง SDGs
การลดความริเริ่มที่เป็นการทำงานแบบบนลงล่าง (top-down) เป็นการเพิ่มความริเริ่มที่เป็นการทำงานแบบล่างขึ้นบน (bottom-up)
การขจัดบรรยากาศการทำงานในแบบที่มีพิธีรีตองมากเกินไป (bureaucratic) เป็นการเพิ่มบรรยากาศการทำงานในแบบสานความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกฝ่าย (collaborative)
การเน้นส่งเสริมการพัฒนาแบบกลุ่มความร่วมมือ (cluster) แทนการพัฒนาในแบบทีละส่วน ทีละอย่าง (piecemeal)

ส่วนรัฐบาล ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินในระดับสูงสุด จำต้องตระหนักถึงบทบาทที่เอื้อให้เกิดความสำเร็จต่อการบรรลุ SDGs ทั้งในแง่ของการกำหนดนโยบาย กลไก และกระบวนการขับเคลื่อน จากการทำงานในรูปแบบเดิม (old model) ที่รัฐบาลเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนโยบายจากบนลงล่าง เป็นผู้ตัดสินใจ เป็นผู้ให้ทุนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จะต้องปรับเปลี่ยนมาสู่รูปแบบใหม่ (new model) โดยตระหนักว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นกระบวนการทำงานร่วมกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งรัฐบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในทุกระดับ ภาคธุรกิจทั้งบริษัทสัญชาติไทยและต่างสัญชาติ สมาคมการค้า ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา สถาบันวิจัย รวมทั้งชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนภาคพลเมือง


ที่สำคัญ การมีนโยบายที่ดีโดยลำพัง ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อน แต่ปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จเกิดจากความแน่วแน่ในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ (translating policy into action) ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะเข้าใจ และจริงจังกับเรื่อง SDGs มากน้อยเพียงใด

เพราะหากรัฐบาลไม่ดำเนินงานกับประเด็นต่าง ๆ ในเวลานี้ ในปี ค.ศ. 2020 รัฐบาลจะกลายเป็นประเด็นเสียเอง (If government is not on the issues now, in 2020, government will be an issue)


จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, December 09, 2018

51 รายงานความยั่งยืนที่น่าศึกษา

เมื่อวันศุกร์ (7 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน ปี 2561 ซึ่งจัดขึ้นร่วมกันโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย โดย CSR Club และสถาบันไทยพัฒน์


รายงานความยั่งยืน หรือ Sustainability Report เป็นรายงานรายปีที่องค์กรจัดทำขึ้นสำหรับให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบ เพื่อให้บรรลุซึ่งความยั่งยืนทั้งขององค์กรและสังคมโดยรวม

จากข้อมูลของ Corporate Register มีองค์กรกว่า 16,000 แห่งทั่วโลกในปัจจุบัน ได้จัดทำรายงานประเภทดังกล่าวเผยแพร่ อยู่ราว 98,000 ฉบับ และจากการสำรวจของ KPMG ในปี พ.ศ.2560 ระบุว่า การรายงานความยั่งยืน ถือเป็นวัตรปฏิบัติปกติ (standard practice) ของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคต่างๆ

โครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนที่จัดขึ้น มุ่งเน้นให้เกิดการยกระดับการจัดทำรายงานความยั่งยืนและส่งเสริมให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) อันจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ลงทุนในตลาดทุนที่ต้องการข้อมูลด้าน ESG เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน และต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการที่เปิดเผยข้อมูล เพื่อใช้ติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อความคาดหวังของสังคมโดยรวม

สำหรับโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนปีนี้ มีองค์กรที่ส่งรายงานเข้ารับการพิจารณารางวัลจำนวน 100 ราย แบ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 84 ราย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 9 ราย บริษัททั่วไปที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และองค์กรอื่นๆ อีก 7 ราย


องค์กรที่ได้รับรางวัลรายงานความยั่งยืนมีจำนวนทั้งสิ้น 51 ราย เป็นรางวัล Award Of Sustainable Excellence จำนวน 1 ราย รางวัลระดับยอดเยี่ยม (Excellence) จำนวน 7 ราย ระดับดีเยี่ยม (Best) จำนวน 12 ราย ระดับดีเด่น (Outstanding) จำนวน 11 ราย และรางวัลเกียรติคุณ (Recognition) จำนวน 20 ราย รวมทั้งรางวัลพิเศษเพิ่มเติมอีก 4 รางวัล คือ รางวัล First Time Sustainability Report รางวัล Most Improved รางวัล Best SDGs Reporting และรางวัล Best Report Design ( ดูผลการประกาศรางวัล ได้ที่ http://bit.ly/SRaward2018 )

รายงานความยั่งยืนที่องค์กรส่งเข้ารับการพิจารณารางวัลในปีนี้ ได้มีพัฒนาการในการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนและมีความครบถ้วนมากขึ้น โดยกว่าหนึ่งในสี่ขององค์กรที่ส่งรายงานเข้ารับการพิจารณารางวัล ได้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนโดยอ้างอิง GRI Standards ซึ่งเป็นมาตรฐานการรายงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล จัดทำขึ้นโดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI)

ในระดับโลก ได้มีการจัดทำรายงานอ้างอิง GRI ที่เผยแพร่แล้วรวมกว่า 30,000 ฉบับ จากองค์กรเกือบ 9,000 แห่ง ในกว่า 90 ประเทศ โดยประเทศไทยมีจำนวนองค์กรที่มีการจัดทำรายงานอ้างอิง GRI เป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน (GRI Sustainability Disclosure Database, 2018)

ภาพรวมของการจัดทำรายงานความยั่งยืนขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า มีการยกระดับการเปิดเผยข้อมูล ทั้งในด้านความสมบูรณ์ของรายงาน ความเชื่อถือได้ของรายงาน การสื่อสารและการนำเสนอของรายงานได้ชัดเจนและมีความครบถ้วนเพิ่มขึ้น และยังพบอีกว่า มีจำนวนองค์กรที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในระดับองค์กร กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในระดับสากล ทั้งในระดับเป้าหมาย กลยุทธ์ และตัวชี้วัด (KPIs) เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความเข้าใจและการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาการจัดทำรายงานความยั่งยืน ให้สอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานสากล รวมถึงการผนวกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เข้ากับองค์กรได้เป็นอย่างดี

ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับองค์กรที่ได้รับรางวัลรายงานความยั่งยืนในปีนี้ ทั้ง 51 ราย และคาดหวังว่าจะสามารถรักษาระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ รวมทั้งการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องต่อไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, November 26, 2018

ธุรกิจเพื่อสังคมสู่เป้าหมายโลก

เมื่อวันที่ 8-9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีงาน Global Social Business Summit 2018 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 ที่เมืองว็อลฟส์บวร์ค ประเทศเยอรมนี โดยปีนี้ใช้ธีมว่า “สร้างอารยธรรมใหม่” หรือ “Building A New Civili-zation” โดยมี “ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี ค.ศ. 2006 ผู้ที่เป็นต้นตำรับแนวคิด “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ “Social Business” มากล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน


“ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” ระบุว่า การจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ตามที่องค์การสหประชาชาติประกาศเป็นเป้าหมายโลกนั้น สามารถนำแนวทางธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภทมาตอบโจทย์ 3 ศูนย์ โดยศูนย์แรก คือ สิ้นความยากจน (zero poverty) ศูนย์ที่ 2 คือ ไร้การว่างงาน (zero unemployment) และศูนย์ที่ 3 คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (zero net carbon emissions)

ธุรกิจเพื่อสังคม ตามนิยามของ “ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” ประเภทแรก เป็นธุรกิจที่ไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (nonloss, nondividend) โดยมุ่งที่จะแก้ปัญหาสังคมเป็นสำคัญ และจะนำกำไรทั้งหมดที่ได้กลับมาพัฒนาและขยายธุรกิจต่อโดยไม่มีการปันผลกำไร ซึ่งเขาเรียกว่า ธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 1 หรือ social business type I

ธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 2 หรือ social business type II เป็นธุรกิจที่แสวงหากำไร และสามารถปันผลได้ แต่อยู่บนเงื่อนไขว่าเจ้าของธุรกิจหรือผู้ถือหุ้นของกิจการจะต้องเป็นผู้ยากไร้ หรือผู้ด้อยโอกาส เพราะการปันผลกำไรถือเป็นการขจัดความยากจน เป็นการแก้ไขปัญหาสังคมสมตามจุดมุ่งหมายของธุรกิจเพื่อสังคมในตัวเอง

หากอิงตามนิยามนี้ กิจการที่เป็นมูลนิธิหรือองค์กรสาธารณกุศล เชื่อแน่ว่าเป็นการประกอบการที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคม แต่หากหมดเงินบริจาคหรือขาดผู้อุปถัมภ์เมื่อใด แล้วมูลนิธิอยู่ไม่ได้ แสดงว่าไม่ใช่ social business

ส่วนกิจการที่เป็นบริษัท หรือธุรกิจปกติ เชื่อแน่ว่าเป็นการประกอบการด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่เป็นไปเพื่อความมุ่งหมายที่จะแสวงหากำไรและนำมาแบ่งปันกันระหว่างผู้ถือหุ้น จึงไม่ใช่ social business

ขณะที่วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ social enterprise ที่ตั้งขึ้นเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาสังคมเป็นหลักแบบมูลนิธิ แต่มีหนทางที่เลี้ยงตัวเองได้แบบบริษัท โดยยังคงสามารถแบ่งปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้ด้วย เข้าข่ายเป็นลูกผสมระหว่างมูลนิธิกับบริษัท ในกรณีนี้จึงไม่ใช่ social business (วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่มีนโยบายปันผลกำไร ถึงจะจัดเป็น social business)

ด้วยความที่ “ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” ต้องการสร้างโมเดลทางธุรกิจที่โฟกัสในจุดที่เน้นการแก้ไขปัญหาสังคมจริง ๆโดยไม่ให้ผู้ประกอบการวอกแวก หรือไม่เปิดช่องให้มีการชั่งใจเลือกระหว่าง “ประโยชน์ส่วนรวม” กับ “ปันผลส่วนตัว” เพราะมีฐานคิดว่าถ้าปล่อยให้เกิดขึ้น ความโน้มเอียงจะไปในทางที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก่อน แล้วประโยชน์ส่วนรวมค่อยมาทีหลัง

รูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคม ยังถูกนำไปเทียบกับรูปแบบของสหกรณ์ที่มีสมาชิกเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น ซึ่งมีการปันผลกำไรที่ได้ให้แก่สมาชิกตามส่วน ในกรณีนี้ “ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” ขยายความว่า สหกรณ์จัดอยู่ในข่ายที่เรียกว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมได้ ก็ต่อเมื่อสมาชิกที่เป็นเจ้าของสหกรณ์เป็นคนยากจนเท่านั้น เนื่องจากการปันผลกำไรจะต้องเป็นไปเพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ให้หลุดพ้นจากความยากจน ตามนิยามของ type II social business

แต่เมื่อใดก็ตามที่สหกรณ์ถูกจัดตั้งขึ้นโดยคณะบุคคลทั่วไป หรือองค์กรที่รวมตัวกันเพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องหรือรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มสมาชิก แม้เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นจะจัดอยู่ในข่ายธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 1 แต่สหกรณ์มีการดำเนินงานเพื่อแสวงหากำไรและปันผลกำไรกันระหว่างสมาชิกที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น ซึ่งมิใช่เป็นผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสที่แท้จริง สหกรณ์ประเภทดังกล่าวนี้ไม่จัดว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม

สำหรับธุรกิจปกติทั่วไปที่มีการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ประเภท CSR-after-process อยู่แล้ว แนวทางธุรกิจเพื่อสังคมจะเป็นทางเลือกใหม่ของการใช้งบฯ CSR ในแบบยั่งยืน ด้วยเงินตั้งต้นก้อนเดิมก้อนเดียว แทนการใช้งบฯบริจาคเพื่อการกุศล หรือ philanthropy ในรูปแบบเดิมที่ให้แล้วหมดไป และต้องตั้งงบฯใหม่เพื่อทำงานทุกปี เมื่อแนวทางธุรกิจเพื่อสังคมสามารถใช้เพื่อเป็นทางเลือกในการทำ CSR ขององค์กรธุรกิจ ก็น่าสนใจไม่น้อยที่ภาคเอกชนจะนำแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม มาใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนสำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่ไปพร้อมกันในตัว


จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, November 25, 2018

CSR เรื่องไหนที่ควรทำ

เรื่อง CSR ที่ควรนำมาดำเนินการ ที่จะพูดถึงต่อไปนี้ ขออนุญาตทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า มุ่งเน้นหรือเพื่อให้เป็นไปในทางที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งองค์กรผู้ดำเนินการ และกลุ่มผู้รับผลที่เป็นเป้าหมายของการดำเนินการ มิใช่ทำไปเพื่อการประชาสัมพันธ์ หรือ PR องค์กร เป็นที่หมาย

ข้อแนะนำตามแนวทางที่เป็นสากล ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่นำไปสู่ความยั่งยืน จะมีประเด็นดำเนินการที่ครอบคลุมใน 3 มิติด้วยกัน คือ มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ในมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน ระบุว่า มีอยู่ 7 หัวข้อหลักที่ควรดำเนินการ ได้แก่ เรื่องการกำกับดูแลองค์กร เรื่องสิทธิมนุษยชน (มี 8 ประเด็น) เรื่องการปฏิบัติด้านแรงงาน (มี 5 ประเด็น) เรื่องสิ่งแวดล้อม (มี 4 ประเด็น) เรื่องการปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม (มี 5 ประเด็น) เรื่องประเด็นด้านผู้บริโภค (มี 7 ประเด็น) และเรื่องการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน (มี 7 ประเด็น) รวม 36 ประเด็น

ในมาตรฐานการรายงานแห่งความยั่งยืน ขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล GRI (ฉบับ 2021) มีการจำแนกประเด็นที่ควรดำเนินการออกเป็นมิติเศรษฐกิจ (มี 7 ประเด็น) สังคม (มี 17 ประเด็น) และสิ่งแวดล้อม (มี 7 ประเด็น) รวม 31 ประเด็น

ในเอกสารแนวทางและตัวชี้วัดพื้นฐาน สำหรับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน ที่จัดทำโดยสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (WFE) ได้จำแนกประเด็นที่ควรดำเนินการออกเป็นด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ด้านสังคม (Social) และด้านธรรมาภิบาล (Governance) หรือเรียกว่า ประเด็นด้าน ESG ด้านละ 10 ประเด็นเท่ากัน รวม 30 ประเด็น

จะเห็นว่า ในมาตรฐานและแนวทางทั้ง 3 แหล่ง ซึ่งเป็นที่นิยมใช้อ้างอิงข้างต้น แนะนำให้องค์กรมีการดำเนินการรวมๆ แล้วก็ประมาณ 30 ประเด็น (ประเด็นส่วนใหญ่ของทั้ง 3 แหล่ง อ้างถึงเรื่องเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน แต่อาจใช้ชื่อประเด็นที่แตกต่างกันออกไปบ้าง)

คำถามต่อมา คือ แล้วองค์กรของเรา ควรที่จะต้องดำเนินการทั้งหมด 30 กว่าประเด็นนี้ หรือไม่

คำตอบ คือ ไม่ต้องทั้งหมด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าประเด็นนั้น องค์กรมีความเกี่ยวข้องหรือมีการสร้างผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียมากน้อย เพียงใด

ในมาตรฐาน ISO 26000 แนะนำให้องค์กรใช้เกณฑ์ของความเกี่ยวเนื่อง (Relevance) ความมีนัยสำคัญ (Significance) และลำดับความสำคัญ (Priorities) สำหรับการระบุประเด็นที่องค์กรควรดำเนินการในแต่ละหัวข้อหลัก

ในมาตรฐานการรายงาน GRI แนะนำให้องค์กรใช้การทดสอบสารัตถภาพ (Materiality) เพื่อระบุประเด็นสาระสำคัญที่องค์กรควรดำเนินการในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาจากมุมมองนัยสำคัญของผลกระทบที่เกิดจากองค์กร เปรียบเทียบกับมุมมองอิทธิพลต่อการประเมินและตัดสินใจของผู้มีส่วนได้เสีย

ส่วนในแนวทางของ WFE เนื่องจากเป็นข้อแนะนำสำหรับบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน ที่มีข้อกำหนดและขีดความสามารถในการเปิดเผยข้อมูล สูงกว่าบริษัททั่วไป ตัววัดที่แนะนำให้เปิดเผย เป็นตัวชี้วัดพื้นฐาน (Baseline Indicators) ที่บริษัทควรดำเนินการได้ทั้งหมด และให้เป็นไปตามหลักการ “Respond or Explain” คือ ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลในรายการใด ต้องระบุเหตุผลที่ละเว้นการรายงานในรายการนั้นๆ ให้ทราบด้วย

สำหรับรายการข้อมูลทั้ง 30 ตัวชี้วัด ที่แนะนำให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผย ตามเอกสารแนวทางและตัวชี้วัดพื้นฐานของ WFE ได้แก่

ด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ยอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยอดการใช้พลังงาน ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน สัดส่วนการใช้พลังงาน การใช้น้ำ การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม การกำกับดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและประเด็นความยั่งยืนอื่นๆ การลดความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ

ด้านสังคม ประกอบด้วย อัตราส่วนค่าตอบแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อัตราส่วนค่าตอบแทนในมิติหญิงชาย ร้อยละของการออกจากงาน ความหลากหลายในมิติหญิงชาย อัตราการจ้างงานชั่วคราว การไม่เลือกปฏิบัติ อัตราการบาดเจ็บ สุขภาพในบริบทโลก แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

ด้านธรรมาภิบาล ประกอบด้วย ความหลากหลายในโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัท ความเป็นอิสระในคณะกรรมการบริษัท การจ่ายค่าตอบแทนแบบจูงใจ การร่วมเจรจาต่อรอง จรรยาบรรณต่อคู่ค้า จริยธรรมและการต้านทุจริต การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนและการรายงานข้อมูลตามข้อกำหนด ข้อปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูล การให้ความเชื่อมั่นต่อการเปิดเผยข้อมูลจากหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก (ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.world-exchanges.org/our-work/articles/wfe-esg-revised-metrics-june-2018)

หากบริษัท รู้ล่วงหน้าว่า ควรจะต้องเปิดเผยข้อมูลใดในรอบปีการดำเนินงาน ก็หมายความว่า กิจการควรจะต้องดำเนินการในเรื่องใด เพื่อให้มีข้อมูลหรือผลการดำเนินงาน สำหรับการรายงานนั่นเอง


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, November 11, 2018

ทำ CSR เมื่อไรดี

หากพิจารณาในระดับบุคคล โดยใช้เรื่องเงื่อนเวลาดำเนินการเป็นเกณฑ์ พบว่า CSR สามารถแบ่งออกเป็นสองจำพวกใหญ่ คือ CSR ในเวลางาน กับ CSR นอกเวลางาน

องค์กรควรจะปลูกฝังให้พนักงานทำ CSR ในเวลางาน คือ การทำหน้าที่ในตำแหน่งงานที่ได้รับมอบหมายอย่างรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากการตัดสินใจ หรือการกระทำของตน รวมทั้งที่มอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทน อาทิ พนักงานขายให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องเที่ยงตรง พนักงานบัญชีดูแลจัดทำบัญชีอย่างถูกต้องโปร่งใส พนักงานจัดซื้อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใสเป็นธรรม เป็นต้น

ส่วน CSR นอกเวลางาน มักจะเป็นงานอาสาช่วยเหลือสังคม ที่มิได้เกี่ยวข้องกับหน้าที่โดยตรง ซึ่งหลายองค์กร ใช้เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหมู่พนักงานด้วยกันเอง หรือใช้สานสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง อาทิ กิจกรรมปลูกป่า สร้างฝาย ทำความสะอาดสาธารณสถาน รวมถึงงานบุญ กฐิน ผ้าป่า เป็นต้น

หากพิจารณาในระดับองค์กร โดยใช้เรื่องเงื่อนเวลาดำเนินการเป็นเกณฑ์ พบว่า CSR สามารถแบ่งออกเป็นสองรูปแบบใหญ่ คือ Responsive CSR กับ Strategic CSR

Responsive CSR เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่ตอบสนองต่อประเด็นปัญหาหรือข้อร้องเรียน เพื่อให้สังคมเห็นว่าองค์กรของตนเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบ หรือได้ปฏิบัติตัวในฐานะขององค์กรพลเมืองที่ดี (Good Corporate Citizen) ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นการทำ CSR ในเชิงรับ

หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เป็น CSR ในลักษณะ “ทำก็ต่อเมื่อเกิดเรื่อง” คือ เมื่อเกิดปัญหาหรือข้อร้องเรียนขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ แล้วจึงค่อยเข้าไปดำเนินการเยียวยา ฟื้นฟูหรือแก้ไขปัญหาหรือข้อร้องเรียน เพื่อยุติหรือบรรเทาผลกระทบที่อาจติดตามมา ซึ่งเสี่ยงต่อการได้รับคำติมากกว่าคำชม หรือทำแล้วมีโอกาสเสียมากกว่าได้

วิธีการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้รูปแบบแรกนี้ องค์กรธุรกิจมักจะศึกษาข้อกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐานหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาปฏิบัติเพื่อปรับให้เข้ากับมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และยังคงมุ่งรักษาคุณค่าขององค์กรไม่ให้ได้รับความเสียหาย

ผลได้จากการทำ Responsive CSR องค์กรมักจะอ้างถึงคำว่า ทำให้ได้มาซึ่ง “License to Operate

ส่วน Strategic CSR เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงรุก ในลักษณะ “ทำโดยไม่รอให้เกิดเรื่อง” ด้วยการริเริ่มโดยองค์กรเอง และมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับความต้องการหรือความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียหรือของสังคมโดยรวม

วิธีการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้รูปแบบหลังนี้ กิจการไม่เพียงแต่สามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับ แต่ยังมีการกำหนดจุดยืนที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากแนวปฏิบัติขององค์กรอื่นๆ มีการสร้างความแตกต่างในวิธีการ และมีอิสรภาพในการคัดเลือกประเด็นทางสังคมที่องค์กรเป็นผู้ประเมินเอง มากกว่าที่จะต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องจากภายนอกสถานเดียว

ผลได้จากการทำ Strategic CSR ผู้ที่เป็นต้นบัญญัติของเรื่องนี้ ซึ่งก็คือ ศ.ไมเคิล อี. พอเตอร์ ใช้คำว่า ทำให้ได้มาซึ่ง “License to Grow

ปัจจุบัน รูปแบบของ Strategic CSR ได้พัฒนายกระดับมาเป็นการสร้างคุณค่าร่วม (Shared Value) ระหว่างธุรกิจและสังคม ที่เอื้อต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันขององค์กรในระยะยาว

CSR ในเวลางาน และ CSR นอกเวลางานของบุคคล รวมทั้ง Responsive CSR และ Strategic CSR ขององค์กร ต่างมีความสำคัญตามบริบทที่บุคคลหรือองค์กรนั้นๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่สามารถทำเรื่องหนึ่ง เพื่อทดแทนอีกเรื่องหนึ่งได้ ด้วยความที่ CSR แต่ละจำพวก แต่ละรูปแบบ มีคุณสมบัติในการให้ผลได้ (Benefit) ที่ต่างกันนั่นเอง


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, October 28, 2018

ทำดีแล้ว ต้องรายงาน

ใกล้สิ้นปีแล้ว บริษัทจดทะเบียนที่มีการขับเคลื่อนงาน CSR โดยเฉพาะความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จะมีภารกิจหนึ่งที่ต้องดำเนินการ คือ การจัดทำรายงาน CSR ในรูปแบบที่ถูกเลือกตามความเหมาะสมขององค์กร นับตั้งแต่ การเปิดเผยข้อมูลในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) หรือในรายงานประจำปี (แบบ 56-2) หรือในรายงานแยกเล่มจากรายงานประจำปี ที่นิยมเรียกกันว่า รายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report

ในทศวรรษที่ผ่านมา พัฒนาการเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการได้เดินอยู่ในกระแสของการผนวก CSR เข้ากับกระบวนการทางธุรกิจ ทำให้เรื่องของ CSR เป็นวาระที่ทุกส่วนงานในองค์กรต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง รูปแบบของการขับเคลื่อน CSR จึงปรับเปลี่ยนจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ที่จำกัดเฉพาะส่วนงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในลักษณะกิจกรรม (Event) ที่แยกต่างหากจากการดำเนินงานทางธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ ไปสู่การบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นตลอดกระบวนการ (Process) และทั่วทั้งองค์กร

เมื่อพัฒนาการของ CSR เดินอยู่ในกระแสนี้ บทบาทของการเก็บรวบรวมข้อมูลและการรายงานผลการดำเนินงานด้าน CSR จึงอยู่ในวิสัยที่กิจการทำได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากองค์กรสามารถบริหารจัดการ เฝ้าสังเกตติดตามผลการดำเนินงาน และกำกับควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ จากการที่กิจการเป็นผู้ดูแลและเป็นเจ้าของกระบวนการนั้นๆ

ขณะที่รูปแบบของการรายงานด้าน CSR ในสมัยก่อน ซึ่งมักเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม ที่กิจการมอบหมายมูลนิธิหรือองค์กรเอกชนหรือผู้รับจ้างไปดำเนินงานให้ในบางส่วนหรือทั้งหมด องค์กรไม่สามารถที่จะบริหารจัดการ เฝ้าสังเกตติดตามผลการดำเนินงาน และกำกับควบคุมการดำเนินงานได้เช่นเดียวกับที่ตนเป็นผู้ดูแลและเป็นเจ้าของกระบวนการนั้นๆ เอง ทำให้การเก็บรวบรวมข้อมูลและการรายงานจึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ รายงานที่เกี่ยวกับ CSR จึงยังไม่ค่อยมีบทบาทในเชิงของการให้คุณค่าแก่ผู้ใช้รายงานมากนัก

จนเมื่องาน CSR ได้ถูกให้ความสำคัญในแง่ที่จะต้องบูรณาการให้เกิดขึ้นในกระบวนการและทั่วทั้งองค์กร บทบาทและคุณค่าของการรายงานจึงเป็นกระแสที่เกิดขึ้นติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีความพยายามที่จะพัฒนากรอบการรายงานที่เป็นสากล การกำหนดเนื้อหาของรายงานที่ได้มาตรฐาน และการใช้ชุดตัวบ่งชี้การดำเนินงานสำหรับการรายงานที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการเปิดเผยแนวทางหรือกรอบการดำเนินงานด้าน CSR ที่จะชี้นำกิจการให้สามารถบรรลุซึ่งเป้าหมายขององค์กร ในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรมเห็นชัดและวัดได้

การรายงานด้าน CSR ในปัจจุบัน จึงมักถูกเรียกในชื่อว่า รายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) ซึ่งองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล หรือ Global Reporting Initiative (GRI) ได้เป็นผู้ริเริ่มพัฒนากรอบการรายงานในลักษณะดังกล่าว และได้รับการยอมรับจากองค์กรทั้งที่เป็นภาคธุรกิจ และมิใช่ธุรกิจนำไปใช้ในการจัดทำรายงานของตนเองรวมจำนวนแล้วเกือบ 9 พันแห่ง มีรายงานเผยแพร่แล้วกว่า 3 หมื่นฉบับ (Sustainability Disclosure Database, 2018)

GRI ก่อตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.2540 ได้พัฒนาแนวทางการรายงานแห่งความยั่งยืนมาแล้ว 4 รุ่น นับจากฉบับ G1 (พ.ศ.2543) ฉบับ G2 (พ.ศ.2545) ฉบับ G3 (พ.ศ.2549) ฉบับ G3.1 (พ.ศ.2554) และฉบับ G4 (พ.ศ.2556) จนกระทั่งยกระดับจากแนวทาง (Guidelines) มาเป็นมาตรฐาน (Standards) การรายงานแห่งความยั่งยืน ในปี พ.ศ.2559 โดยมีหลักการสำคัญ คือ การใช้กระบวนการรายงาน (Reporting Process) ในการบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการจากกระบวนการรายงาน มิใช่การให้คำแนะนำการจัดทำรายงาน หรือแนวทางในการเรียบเรียงเนื้อหารายงานเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งเล่มรายงาน (Report)

ในหลายประเทศ ได้ผลักดันบริษัทจดทะเบียนและกิจการขนาดใหญ่ ให้จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน ทั้งการออกเป็นข้อกำหนด และให้เป็นไปโดยสมัครใจ โดยจากผลสำรวจของ KPMG ในเรื่องการรายงานความรับผิดชอบของกิจการ ในปี พ.ศ.2560 ระบุว่า ร้อยละ 75 ของบริษัทที่มีขนาดใหญ่สุดในแง่ของรายได้ 250 แห่งของโลก มีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน โดยใช้แนวทางการรายงานแห่งความยั่งยืนของ GRI


ในประเทศไทย จากฐานข้อมูล Sustainability Disclosure Database ของ GRI พบว่า มี 126 องค์กรในประเทศไทย ได้จัดทำรายงานที่อ้างอิง GRI จากจำนวนองค์กรในฐานข้อมูลทั้งหมด 8,929 แห่งที่ได้จัดทำรายงานอ้างอิง GRI หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.41%


เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน ประเทศไทยมีจำนวนองค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูลมากสุด โดยอินโดนีเซียมี 113 แห่ง รองลงมาคือ สิงคโปร์ และมาเลเซีย จำนวน 77 แห่งเท่ากัน ตามมาด้วย เวียดนาม 40 แห่ง ฟิลิปปินส์ 39 แห่ง และกัมพูชา 3 แห่ง ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ต.ค.2561)

การรายงานในรูปแบบดังกล่าว มีแนวโน้มที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในระดับสากล ในระดับภูมิภาค และในประเทศไทย บริษัทจดทะเบียนที่ยังมิได้มีการจัดทำรายงานแนวนี้ อาจเริ่มดำเนินการศึกษาและยกระดับการรายงานจากที่รายงานในแบบตามข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล มาสู่การรายงานในแบบที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, October 15, 2018

ทำดี ได้ตังค์ ด้วย “ESG”

สำหรับบริษัทมหาชนที่สนใจเรื่องการทำดี (do good) และทำเงิน (make money) ไปด้วยกัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (environmental, social and governance) ได้ทวีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะในต่างประเทศ กระแสเรื่อง ESGถูกหยิบยกมาเป็นวาระสำคัญ ทั้งจากผู้ลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ บริษัทจัดการลงทุน บริษัทจัดอันดับ หน่วยงานกำกับดูแล องค์กรภาคประชาสังคม ฯลฯ

ทั้งนั้น เพื่อผลักดันให้บริษัทมหาชนเหล่านั้นนำเรื่อง ESG ไปผนวกอยู่ในกระบวนการตัดสินใจและดำเนินงานทางธุรกิจ

ด้วยเหตุนี้ บุคลากรในองค์กร ไล่เรียงตั้งแต่คณะกรรมการบริษัท ฝ่ายบริหาร และเจ้าหน้าที่ในแต่ละสายงาน จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจบทบาทของเรื่อง ESG ที่มีต่องานที่ตนรับผิดชอบและที่เข้าไปเกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อองค์กร ทั้งในแง่ของการตัดสินใจที่จะดำเนินการ หรือไม่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

แง่มุมของเรื่อง ESG ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ ประกอบด้วย มุมมองต่อการใช้ ESG ในการลงทุน (ESG investing) มุมมองต่อการประเมิน ESG ในการจัดอันดับ (ESG ratings) และมุมมองต่อการใช้ ESG เป็นประเด็นเคลื่อนไหว (ESG activism)

ในแง่ของการใช้ ESG ในการลงทุน หรือ ESG investing มีข้อมูลตัวเลขขนาดของสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) จากรายงานการลงทุนที่เน้น ESG ในปัจจุบันว่า มีอยู่ราว 20 ล้านล้านเหรียญ การเปิดกองทุนรวม ESG และกองทุนเปิด ESG ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (ETF) โดยเฉพาะในตลาดทุนฝั่งยุโรปและอเมริกา กลายเป็นเรื่องปกติ และเพิ่มจำนวนถี่ขึ้น

ตอบรับกับผลการศึกษาที่ว่า ผู้ลงทุนกลุ่ม millennials (มีอายุระหว่าง 18-34 ปี) ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (และสิ่งแวดล้อม) ทำให้บริษัทจดทะเบียนที่เป็นเป้าหมายการลงทุน จำเป็นต้องมีการดำเนินงานที่ผ่านเกณฑ์ หรือมีความโดดเด่นด้าน ESG ควบคู่กับการสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป

ในแง่ของการประเมิน ESG ต่อการจัดอันดับ หรือ ESG ratings ปัจจุบัน ความต้องการข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียน กลายเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนสถาบัน บริษัทจัดการลงทุน รวมทั้งผู้จัดทำและให้บริการดัชนีสำหรับการลงทุน จำเป็นต้องมีไว้ใช้ในการวิเคราะห์และประเมินเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน เพื่อออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และจัดทำดัชนีอ้างอิงด้าน ESG ตามลำดับ

ในปี 2560 Morningstar บริษัทวิจัยและจัดการลงทุน เข้าซื้อหุ้นจำนวน 40% ของ Sustainalytics บริษัทวิจัยข้อมูล ESG ชั้นนำ เพื่อต้องการเข้าถึงข้อมูล ESG สำหรับการขยายบริการในด้านดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ ISS ผู้ให้บริการลงทุน ได้ซื้อ IW Financial บริษัทวิจัย ให้คำปรึกษา และให้บริการดูแลพอร์ตการลงทุน ESG เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มผลตอบแทนให้แก่ลูกค้า

ขณะที่ S&P Dow Jones ได้เข้าครอบครองกิจการของ Trucost บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนมากว่า 15 ปี ส่วน MSCI ได้เข้าซื้อ RiskMetrics Group บริษัทจัดการความเสี่ยงและผู้ให้บริการงานด้านบรรษัทภิบาลชั้นนำ เพื่อยกระดับเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนให้แก่สถาบันการเงินทั่วโลก และอีกดีลหนึ่งเป็นกรณีที่ Thomson Reuters เข้าซื้อกิจการ Asset4 ผู้ให้บริการข้อมูลด้านบรรษัทภิบาลและข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาฐานข้อมูล ESG เพิ่มเติมให้แก่ลูกค้า

ในแง่ของการใช้ ESG เป็นประเด็นเคลื่อนไหว หรือ ESG activism มีได้หลายรูปแบบ อาทิ การใช้อำนาจของผู้ถือหุ้นในการแทรกแซงบทบาทของกิจการ ผ่านการสานสัมพันธ์กับกิจการโดยตรง (corporate engagement and shareholder action) โดยทำหนังสือถึงคณะกรรมการบริษัท และ/หรือสื่อสารกับผู้บริหารระดับสูง การเสนอหรือร่วมจัดทำข้อเสนอ ESG ในฐานะผู้ถือหุ้น (ESG shareholder proposals) โดยการเสนอเป็นวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น รวมถึงการออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้บริษัทรับข้อเสนอ ESG ไปดำเนินการ

จากข้อมูลของ ISS (Institutional Shareholder Services) บริษัทที่ปรึกษาผู้รับมอบอำนาจให้ออกเสียงแทนผู้ถือหุ้น (Proxy Advisory Firm) ระบุว่า มีการจัดทำข้อเสนอ ESG ของผู้ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 53.4 (ในระหว่างปี ค.ศ. 2017) และร้อยละ 54.4 (ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2018-ปัจจุบัน) เมื่อเทียบกับการจัดทำข้อเสนอทั้งหมดของผู้ถือหุ้น ที่มีต่อบริษัทในสหรัฐอเมริกา โดยมีค่ากลางของผลการออกเสียงลงคะแนน (median vote results) อยู่ที่ร้อยละ 23.4 ซึ่งบางประเด็นมีค่าสูงถึงร้อยละ 41.4 ในเรื่อง sustainability reporting และร้อยละ 36.4 ในเรื่อง workforce diversity เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย พัฒนาการเรื่อง ESG ดำเนินรอยตามความเคลื่อนไหวในต่างประเทศ สถาบันการเงินและบริษัทจัดการลงทุนของไทย มีการออกตราสารหนี้และกองทุน ESG เพื่อการลงทุนในวงกว้าง มีหน่วยงานที่จัดทำข้อมูล และการประเมิน ESG ในการจัดอันดับ รวมทั้งการจัดทำดัชนี ESG เพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการลงทุนและใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน

ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแล (ก.ล.ต.) มีการออกหลักธรรมาภิบาลการลงทุน(I code) เพื่อส่งเสริมเรื่อง ESG (หลักปฏิบัติ 3.3) และมาตรการดำเนินการเพิ่มเติม (หลักปฏิบัติ 4.4) เพื่อสนับสนุนเรื่อง crporate engagement and shareholder action อย่างเป็นขั้นเป็นตอน

แน่นอนว่าบริษัทที่ตอบรับในเรื่องดังกล่าวจะสามารถได้ประโยชน์จากความเคลื่อนไหวในเรื่อง ESG ที่มีทั้งต่อตัวองค์กรเอง และต่อผู้ถือหุ้นของกิจการ รวมทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรวม


จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, October 14, 2018

ดัชนีหุ้นน้ำดี ESG

ปัจจุบัน คำว่า ESG (Environmental, Social and Governance) ได้ถูกนำมาใช้ในแวดวงการประเมินสถานะของกิจการในประเทศไทย โดยเฉพาะกับบริษัทจดทะเบียน ที่เป็นเป้าหมายของการลงทุนในตลาดทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนที่รอบด้าน ในมิติที่มิใช่ข้อมูลตัวเลขทางการเงิน ทำให้สามารถล่วงรู้หรือคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท เพิ่มเติมจากข้อมูลทางการเงิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลประกอบการในอดีตหรือที่ผ่านมาแล้ว

เพื่อเป็นการตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน พร้อมกับการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ และเป็นผู้จัดทำข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล 100 อันดับ หรือที่เรียกว่ากลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ได้จัดทำ “Thaipat ESG Index” หรือ ดัชนีอีเอสจี สำหรับผู้ลงทุนได้ใช้ประโยชน์ทั้งในแบบที่เป็น Benchmark Index และ Investable Index


กรณีที่ใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Benchmark Index) ผู้ลงทุนสามารถใช้ดัชนีดังกล่าว เพื่อประเมินว่า การลงทุนในกองทุนหรือในพอร์ตหลักทรัพย์ของตน ที่เป็นการลงทุนเชิงรุก (Active Investment) มีผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ จากการบริหารของผู้จัดการกองทุน หรือจากการตัดสินใจซื้อขายของตัวท่านเองในฐานะที่เป็นเจ้าของเงินลงทุนหรือไม่ เมื่อเทียบกับการลงทุนเชิงรับ (Passive Investment) ซึ่งลงทุนตามดัชนี โดยที่หลักทรัพย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบของดัชนี ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนไหวบ่อยครั้ง และมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า

กรณีที่ใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุน (Investable Index) สถาบันการเงินจะนำดัชนีมาใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เช่น กองทุนส่วนบุคคล กองทุนรวม กองทุนเปิดที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (ETF) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทจัดการที่จะนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เพื่อสร้างดอกผลให้กับกองทุน ฯลฯ โดยให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์คุณภาพที่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG ของผู้ประเมิน

ชุดดัชนี Thaipat ESG Index ประกอบด้วย ดัชนีผลตอบแทนราคา (Price Return: PR) ดัชนีผลตอบแทนรวม (Total Return: TR) และดัชนีผลตอบแทนรวมสุทธิ (Net Total Return: NTR) โดยมี S&P Dow Jones เป็นผู้คำนวณและเผยแพร่ข้อมูลดัชนี ผ่านหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลก

Thaipat ESG Index เป็นดัชนี ESG แรกในประเทศไทย ที่ใช้การคำนวณดัชนีด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักหลักทรัพย์เท่ากัน (Equal Weighed Index) คือ ให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของดัชนีเท่ากันทุกหลักทรัพย์ เพื่อให้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงราคาของแต่ละหลักทรัพย์ในดัชนีได้อย่างชัดเจน โดยไม่ขึ้นกับขนาดของหลักทรัพย์ และด้วยการขจัดปัจจัยในเรื่องขนาดหรือความใหญ่ของหลักทรัพย์ จะทำให้ดัชนีสามารถสะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ (ที่มีความสัมพันธ์กับผลประกอบการ) ได้อย่างเท่าเทียมกันในทุกหลักทรัพย์ และทำให้โอกาสที่หลักทรัพย์คุณภาพขนาดเล็กที่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG สามารถส่งผลต่อค่าของดัชนีได้ ในสัดส่วนที่เท่ากับหลักทรัพย์ขนาดใหญ่

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ MSCI ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของดัชนี MSCI ชนิดถ่วงน้ำหนักเท่ากัน (Equal Weighed Index) ในช่วงธันวาคม ปี ค.ศ.2000 ถึงกลางปี ค.ศ.2015 ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีชนิดถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization Weighted Index) อย่างมีนัยสำคัญ

Thaipat ESG Index ใช้ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นข้อมูลการจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 นับตั้งแต่ปีแรกของการประเมิน เป็นวันฐาน (Base Date) ของการคำนวณดัชนี โดยกำหนดค่าฐาน (Base Value) ที่ 100 จุด โดยมีหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกดัชนี Thaipat ESG Index ปี 2561 จำนวน 58 หลักทรัพย์ และจะมีการทบทวนรายชื่อหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกในดัชนีทุกปี ตามรอบของการประเมินและจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 ประจำปี

ผลตอบแทนของดัชนี Thaipat ESG Index TR (THAIESGT) นับตั้งแต่วันฐาน จนถึงปัจจุบัน (28 กันยายน 2561) ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 10.07% ต่อปี มากกว่าดัชนี Dow Jones Sustainability Emerging Markets Index NTR (DJSEMUN) ที่มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 6.08% ต่อปี


ผู้ลงทุนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของชุดดัชนี Thaipat ESG Index ทั้งดัชนีผลตอบแทนราคา (PR) ดัชนีผลตอบแทนรวม (TR) และดัชนีผลตอบแทนรวมสุทธิ (NTR) ผ่านทางหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ได้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูล Factsheet, Performance, Constituents, Characteristics, Sector Breakdown สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ S&P Dow Jones' Custom Indices


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, September 30, 2018

ทำ CSR ไปทำไม

โดยทั่วไป เมื่อธุรกิจหนึ่งๆ ถูกจัดตั้งขึ้น ก็มีความปรารถนาว่าจะมีการดำเนินงาน (ที่แสวงหากำไร) สืบเนื่องต่อไปไม่สิ้นสุด คุณลักษณะดังว่านี้ ตรงกับเรื่องความยั่งยืนที่วันนี้ มีการพูดถึงกันมาก ซึ่งก็ต้องเรียนว่า ธุรกิจสนใจเรื่องความยั่งยืนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว (ตั้งแต่วันที่คิดตั้งบริษัทด้วยซ้ำ) เพียงแต่เรื่องความยั่งยืนในบริบทของยุคนี้ จะต้องถามเพิ่มว่า “ใครยั่งยืน” เข้าไปด้วย

ความแตกต่างของเรื่องความยั่งยืนระหว่างธุรกิจในยุคก่อนหน้ากับในยุคปัจจุบัน คือ ขอบเขตของความยั่งยืน สำหรับกิจการแบบเดิมๆ จะมุ่งเน้นที่ ความยั่งยืนขององค์กร คือ ทำอย่างไรให้องค์กรดำเนินงานทำกำไรไปได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด หรือมีอุปสรรคขัดขวาง นอกเหนือจากนั้น ถือเป็นเรื่องรอง

ขณะที่ ขอบเขตของความยั่งยืน สำหรับกิจการที่เห็นและปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง จะตระหนักในเรื่องความยั่งยืนที่หมายรวมถึง ความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม คือ ในระหว่างการดำเนินงานที่แสวงหากำไรของกิจการนั้น จะต้องตอบโจทย์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่พร้อมกันไปด้วย

คำกล่าวที่สะท้อนรูปธรรมของเรื่องนี้ ในทางสังคม เป็นของ Bjorn Stigson ประธานสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development: WBCSD) ที่ว่า “ธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในสังคมที่ล้มเหลว” (Business cannot succeed in a society that fails) ได้ถูกนำมาเน้นย้ำโดย นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (ค.ศ.1997-2006) คือ ไม่ว่าธุรกิจจะเก่งหรือจะเลิศอย่างไร ก็ไม่สามารถอยู่รอดหรือยั่งยืนได้ลำพัง หากสังคมที่ธุรกิจประกอบการอยู่นั้น ตั้งอยู่ไม่ได้

ส่วนคำกล่าวที่สะท้อนรูปธรรมของเรื่องนี้ ในทางสิ่งแวดล้อม เป็นของนายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (ค.ศ.2007-2016) ที่ว่า “ไม่มีแผนสำรอง เพราะเราไม่มีโลกสำรอง” (There is no Plan B, because we do not have a Planet B) คือ ถ้าธุรกิจมัวแต่สร้างความมั่งคั่งรุ่งเรือง โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมและถูกทำลาย ไม่เพียงแต่ธุรกิจจะไม่มีความยั่งยืน เมื่อถึงเวลานั้น มนุษยชาติจะไม่มีที่ยืนที่อาศัยบนโลกใบนี้ด้วย

เหตุผลของการทำ CSR ในวันนี้ จึงไม่ใช่เพียงเพื่อการทำให้กิจการมีความยั่งยืน เฉพาะองค์กร แต่เป็นการทำให้ทั้งกิจการและสังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่า แนวการดำเนินงานในแบบหลังนี้ จะมีความแตกต่างกับแบบแรกอย่างไม่ต้องสงสัย

ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้า ที่มุ่งความยั่งยืนเฉพาะตน อาจเลือกใช้ถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิง เพราะเหตุผลเรื่องเสถียรภาพและราคา แต่สำหรับโรงไฟฟ้า ที่พิจารณาความยั่งยืนองค์รวม จะเลือกใช้พลังงานทดแทน หรือที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ สามารถใช้หลักการตอบแทนคุณค่าคืนระบบนิเวศ หรือ Payment for Ecosystem Services (PES) อาทิ การปลูกป่าทดแทน การรักษาและการจัดการป่าที่ปลูกขึ้นทดแทน การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การอนุรักษ์ดิน การอนุรักษ์แหล่งน้ำ แหล่งประมง ฯลฯ ในการสร้างความยั่งยืนให้แก่สิ่งแวดล้อมโดยรวม

กล่าวโดยสรุป คือ ธุรกิจที่มองเรื่องความยั่งยืนของกิจการเป็นที่ตั้ง จะใช้ CSR เป็นเครื่องมือสร้างการยอมรับจากสังคมให้กับตัวกิจการเป็นหลัก ขณะที่ ธุรกิจซึ่งมุ่งไปที่ความยั่งยืนของสังคมโดยรวม จะใช้ CSR เป็นเครื่องมือสร้างคุณค่าร่วมระหว่างกิจการกับสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, September 16, 2018

ทำ CSR อย่างไร ไม่ให้โดนเท

ตรรกะของการดำเนินงานเรื่อง CSR ไม่ได้มีอะไรที่ผิดแผกแตกต่างไปจากการดำเนินงานทางธุรกิจ ที่เมื่อองค์กรต้องการบรรลุเป้าหมายในทางธุรกิจ คือ (สินค้าและบริการ) ขายออก ก็ต้องวิเคราะห์ก่อนว่า กลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายคือใคร มีพฤติกรรมอย่างไร อะไรคือแรงจูงใจในการอุปโภคบริโภค และตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการของเรา

การบรรลุเป้าหมายในทางสังคม มีตรรกะเดียวกัน คือ การดำเนินงานให้เป็นที่ยอมรับของสังคมกลุ่มเป้าหมาย หรือ (องค์กร) ขายออก ซึ่งก็ต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า ใครคือสังคมกลุ่มที่เป็นเป้าหมายดำเนินการขององค์กรบ้าง สังคมกลุ่มนั้นเกี่ยวข้องกับองค์กรอย่างไร และมีความคาดหวังหรือความสนใจต่อองค์กรในเรื่องใด

คำว่า ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) จึงเป็นต้นเรื่องของการหารูปแบบหรือวิธีดำเนินงาน CSR ที่ตรงกับความสนใจหรือสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มนั้นๆ เรียกง่ายๆ ว่า ทำแล้วตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียนั่นเอง

มาถึงตรงนี้ องค์กรจะเริ่มเห็นภาพว่า ถ้าอย่างนั้น เราจะต้องรู้ก่อนว่า ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องมีใครบ้าง ซึ่งโดยปกติ ทุกกิจการ จะมีกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นกลุ่มร่วมเหมือนๆ กัน ได้แก่ เจ้าของหรือผู้ถือหุ้น (และผู้ลงทุน ในกรณีที่เป็นมหาชน) พนักงาน (รวมถึง ฝ่ายบริหาร) ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน (และสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมทั้งในสถานประกอบการ ใกล้สถานประกอบการ และระบบนิเวศโดยรวม)

ฉะนั้น รูปแบบหรือวิธีดำเนินงาน CSR จึงมีความแตกต่างกันตามแต่ละผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีความสนใจและความคาดหวังที่แตกต่างกัน

ตัวอย่างเช่น ผู้ลงทุนอาจสนใจแต่ปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของบริษัท ไม่ต้องการเห็นการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปของการบริจาคที่มิได้ส่งผลต่อการเติบโตของบริษัท หรือ ลูกค้าอาจสนใจเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของตัวผู้บริโภคเอง ไม่สนใจว่าบริษัทจะไปดูแลสิ่งแวดล้อมที่ไหนอย่างไร หรือลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีเพียงใด หรือ พนักงานจะสนใจเรื่องที่บริษัทดูแลสวัสดิภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน สวัสดิการที่เหมาะสมเป็นธรรม การให้โอกาสความก้าวหน้าในการทำงาน มากกว่ากิจกรรมอาสาที่อยู่นอกเหนืองานในหน้าที่ ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านั้น ชื่อของการดำเนินงาน CSR ในแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ในปัจจุบัน ก็จะใช้คำเรียกที่แตกต่างกันออกไปด้วย โดยในที่นี้ สามารถจำแนกออกได้เป็น 7 รูปแบบ ได้แก่

รูปแบบการดำเนินงานต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นผู้ถือหุ้นของกิจการ คือ การกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance: CG) ที่ดี มีการกำหนดทิศทางและสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานของกิจการให้มีความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เจริญรุดหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายของกิจการ พร้อมกันกับความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง

รูปแบบการดำเนินงานต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน คือ การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานขององค์กรที่เป็นไปอย่างรับผิดชอบในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ให้แก่ผู้ลงทุน นอกเหนือจากปัจจัยด้านผลตอบแทนและความเสี่ยงของกิจการ

รูปแบบการดำเนินงานสำหรับผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียรอบกิจการ คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility: CSR) ในชื่อเรียกเดิม ที่ให้ความสำคัญกับการคำนึงถึงผลกระทบจากการประกอบการ ไม่จำกัดเพียงการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และหลักปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานสากล นอกเหนือจากการช่วยเหลือสังคมหรือร่วมพัฒนาชุมชน ในรูปแบบของการบริจาค การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การอาสาสมัคร หรือกิจกรรมตอบแทนสังคม เป็นต้น

และผู้มีส่วนได้เสียทั่วไปที่เป็นสังคมในวงกว้าง รูปแบบการดำเนินงานในกรณีนี้ จะเกิดขึ้นจากการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ในฐานะนิติพลเมือง ภายใต้การดำเนินงานที่ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development: SD) ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหมายที่จะบรรลุถึงสถานะแห่งความยั่งยืนของสังคมโดยรวม มิใช่เพื่อความยั่งยืนหรือความสามารถในการอยู่รอดขององค์กรเพียงลำพัง (หมายรวมถึง วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน และแหล่งทรัพยากรที่ยั่งยืน) ซึ่งปัจจุบัน ภาคธุรกิจ เริ่มใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 ข้อ ที่องค์การสหประชาชาติประกาศใช้ มาเป็นกรอบในการขับเคลื่อน

ส่วนรูปแบบการดำเนินงานสำหรับผู้เกี่ยวข้องภายในองค์กร โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร จะเกิดขึ้นจากการวางกลยุทธ์การดำเนินงาน ที่สามารถส่งมอบประโยชน์ให้ทั้งกับผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กรและภายนอกองค์กร เป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกหรือการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) ระหว่างธุรกิจและสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ กิจการยังสามารถพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่ หรือจัดตั้งธุรกิจใหม่ โดยมีโดยมีพันธกิจในการดำเนินงานที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง ในลักษณะวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) หรือในรูปแบบที่เรียกว่า ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business: SB) ซึ่งเป็นผลจากการที่องค์กรมีความมุ่งประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อมโดยตรง มิใช่การหวังผลกำไรในทางธุรกิจเป็นหลัก แต่เป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้

การดำเนินงานในรูปแบบข้างต้นนี้ ก่อให้เกิดเป็นมณฑลแห่งความยั่งยืน (The Sphere of Sustainability) ของกิจการ ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ในเรื่อง CG, ESG, CSR, SD, CSV, SE, SB ซึ่งในแต่ละรูปแบบมีเหตุผลของการดำรงอยู่ ตามบริบทที่เรื่องนั้นเข้าไปเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียนั่นเอง




จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, September 02, 2018

CSR ควรสังกัดอยู่กับฝ่ายใด

ถ้าพูดแบบอุดมคติ ตามหลักวิชาการ ก็ต้องบอกว่า CSR เป็นเรื่องของทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ระดับไหนในโครงสร้างองค์กร ไล่เรียงลงมาตั้งแต่คณะกรรมการบริษัท ฝ่ายบริหาร และฝ่ายปฏิบัติการทุกส่วนงาน เพราะความรับผิดชอบจะต้องเกิดขึ้นในทุกการตัดสินใจ ในทุกการกระทำ ที่มีผลกระทบสู่ภายนอก ทั้งต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อผู้บังคับบัญชา ต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และต่อคนอื่นๆ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ คือ กลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กันหรือมีวิถีร่วมกันตามระดับชั้นที่เกี่ยวข้อง ก่อตัวเป็นสังคมในองค์กร เป็นสังคมนอกองค์กร ทั้งในระดับใกล้ (มีผลกระทบทางตรง) และในระดับไกล (มีผลกระทบทางอ้อม)

พอเริ่มด้วยทฤษฎีจ๋า ก็ยากที่จะแปลงไปสู่ภาคปฏิบัติ เพราะไม่รู้จะตั้งต้นอย่างไร เลยต้องเริ่มในแบบที่เป็นธรรมชาติ เลือกในแบบที่เหมาะกับจริตองค์กรของตน หมายความว่า การจะไปดูงาน หรือนำ Best Practice ขององค์กรอื่นที่ขับเคลื่อนเรื่อง CSR แล้วสำเร็จ มาดำเนินการนั้น อาจจะใช้ไม่ได้เสมอไป

ยกแรก ที่องค์กรดำเนินการ คือ เลือกหรือตั้งผู้รับผิดชอบ (เป็นบุคคล) ที่ดูแล้วมีหน่วยก้านใช้ได้ในเรื่องสังคมขึ้นมารับหน้าที่ ซึ่งหากบุคคลนี้ อยู่ในฝ่ายประชาสัมพันธ์ ทำให้ดูเหมือนว่า CSR ขององค์กรนี้ ขึ้นอยู่กับฝ่ายประชาสัมพันธ์ แต่หากองค์กร ตั้งคนจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลขึ้นมาทำหน้าที่ CSR ขององค์กร เลยเสมือนว่าขึ้นอยู่กับฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือกรณีที่องค์กร ตั้งบุคลากรจากสำนักงานกรรมการผู้จัดการมาดูแล งาน CSR ขององค์กรดังกล่าว จึงมีภาพว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง

การตั้งใครจากฝ่ายไหนขึ้นมารับผิดชอบงาน CSR ในยกแรก ไม่มีถูกผิด หรือมีผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลว ด้วยเหตุผลของต้นสังกัด แต่ปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อนงาน CSR ในยกนี้ ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับมอบหมาย ว่ามีความรู้ความเข้าใจเรื่อง CSR ถ่องแท้เพียงใด และสามารถจะสร้างทีมเพื่ออำนวยการขับเคลื่อนได้ดีขนาดไหน

หลายท่าน มองเป็นงานฝาก (ชั่วคราว) เลยไม่ได้ใส่ใจทำมากนัก สำหรับท่านที่มีพื้นเพจากงานด้านประชาสัมพันธ์ งาน CSR ในกรณีนี้ เลยเอียงไปในทางกิจกรรมสร้างภาพลักษณ์ ส่วนท่านที่ดูแลงาน CG (Corporate Governance) อยู่ก่อน เรื่อง CSR ที่รับมาดูเพิ่ม เลยกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานด้านธรรมาภิบาล เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อสังคม เป็นต้น

ยกสอง เป็นการตั้งส่วนงานขึ้นมารับผิดชอบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการโอนผู้รับผิดชอบและทีมงานที่รับหน้าที่ในยกแรก เลื่อนระดับมาเป็นส่วนงาน CSR ที่เป็นกิจจะลักษณะ มีงบประมาณและทรัพยากรรองรับ และส่วนงาน CSR จะปรากฏอยู่ในผังองค์กรอย่างเป็นทางการ

ปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อนงาน CSR ในยกสองนี้ คือ ส่วนงานจำต้องตระหนักในบทบาทของตนว่าเป็น หน่วยอำนวยการ (Facilitator) เพื่อให้การดำเนินงาน CSR เกิดขึ้นในทุกฝ่ายทั่วทั้งองค์กร มิใช่การดำรงบทบาทเป็นผู้ดำเนินการเสียเอง มิฉะนั้นแล้ว งาน CSR ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ จะเป็นโครงการที่ไปทำนอกองค์กร (กับโรงเรียน กับโรงพยาบาล กับชุมชน ฯลฯ) โดยมิได้เชื่อมโยงกับการดำเนินงาน (ทางธุรกิจ) ขององค์กรที่มีผลกระทบสู่ภายนอก

จุดที่หลายองค์กรก้าวข้ามไม่ได้ในยกสองนี้ คือ ขีดความสามารถของส่วนงาน CSR ในการประสานงานกับฝ่ายต่างๆ เพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า CSR เป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่ หรือในการปฏิบัติงานประจำวัน ไม่ใช่เป็นงานเพิ่ม หรือภาระนอกเหนือจากงานปกติ

ครั้นเมื่อความเข้าใจหรือการมีส่วนร่วมไม่เกิดขึ้น แต่ผลงานของส่วนงานก็ต้องมีให้เห็น จึงจำเป็นต้องปั้นงาน CSR ที่ไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากฝ่ายอื่นๆ และเป็นเหตุให้ผลงานที่ปรากฏในรายงาน CSR เกือบทั้งเล่ม เป็น CSR-after-process หรือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่เกิดขึ้นภายหลังกระบวนการดำเนินงาน และเป็นกิจกรรมที่อยู่นอกเหนือการดำเนินธุรกิจที่เป็นกระบวนการหลักของกิจการ

ยกสาม เป็นการตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงาน หรือ Committee แบบข้ามสายงาน ขึ้นมารับผิดชอบ เพราะต้องการบรรเทาข้อจำกัดหรือปัญหาเรื่องการประสานงานในยกสอง และให้ทุกส่วนงานที่มีความเกี่ยวโยงกับเรื่อง CSR ได้มีส่วนร่วมรับรู้และนำไปขับเคลื่อนตามสายงานของตน

งาน CSR ในยกสามนี้ จึงค่อยเริ่มพัฒนาไปสู่ CSR-in-process หรือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่เกิดขึ้นในกระบวนการดำเนินงาน ครอบคลุมตั้งแต่ผู้มีส่วนได้เสียในองค์กรไปจนถึงผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของกิจการ โดยสามารถตอบโจทย์การดำเนินงานขององค์กรที่มีผลกระทบสู่ภายนอกได้อย่างแท้จริง

ปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อนงาน CSR ในยกสามนี้ คือ หัวหน้าสายงานจะต้องเอาด้วย (buy-in) กับเรื่อง CSR ที่อยู่ตรงหน้า ไม่ใช่เพราะนายสั่ง หรือเพราะเป็นรายการคุณขอมา แต่เป็นเพราะเห็นประโยชน์ว่า สามารถนำแนวทาง CSR มาใช้ในการจัดการความเสี่ยง มาใช้ในการเพิ่มผลิตภาพ และที่ดีกว่านั้น คือ มาใช้ในการลดรายจ่าย และเพิ่มรายรับของสายงานและขององค์กรได้อย่างไร

นี่คือ พัฒนาการ CSR ที่ดำเนินไปตามลำดับที่ควรจะเป็นในองค์กร ซึ่งในทางปฏิบัติ จะลัดขั้นตอนหรือข้ามขั้นไม่ได้

ใช่ว่า พออ่านถึงตรงนี้ องค์กรที่อยากสำเร็จเร็ว จะไปตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงาน ขับเคลื่อนได้เลย เพราะหากไม่มีส่วนงาน CSR รองรับ ก็จะไม่มีหน่วยอำนวยการที่คอยดูแล ติดตาม รวบรวมข้อมูล และจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน CSR ที่บูรณาการจากสายงานต่างๆ

หรือถ้าหากขาดการคัดเลือกบุคคลผู้รับผิดชอบที่ต้องเรียนรู้และมีความเข้าใจ สามารถสร้างและนำทีมงาน CSR ได้ดีในยกแรก ส่วนงาน CSR ที่ตั้งขึ้นมาในยกสอง ก็จะไม่ Function หรือดำเนินการผิดทิศผิดทาง (ทำแต่ CSR-after-process) ไม่สามารถเป็นฐานรองรับภารกิจจากคณะกรรมการ/คณะทำงาน CSR ในยกสามได้

ยิ่งถ้าฝ่ายบริหาร ไม่เข้าใจว่าปัญหามาจากสาเหตุใด หรือไม่ตระหนักถึงพัฒนาการตามที่ควรจะเป็น จะพาลสร้างปัญหาใหม่ขึ้นในองค์กร คือ พอเห็นว่าส่วนงาน CSR ทำแต่กิจกรรมเพื่อสังคมภายนอกที่เป็น CSR-after-process และไม่ได้ตอบโจทย์หลักขององค์กร ก็เลยตั้งส่วนงานใหม่ขึ้นมาดูแลงาน CSR-in-process โดยตั้งชื่อใหม่ (ตามกระแสนิยม) ว่าเป็น ส่วนงาน SD ส่วนงาน Sustainability ฯลฯ

ทีนี้ พอมีส่วนงานซ้อนกันเกิดขึ้น ก็แก้โดยนิยาม (เอาเอง) ว่า CSR เป็นเรื่องกิจกรรมเพื่อสังคมเท่านั้น ไม่รวมเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยถ้าเป็นงานเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเป็นของส่วนงาน SD หรือถ้าเป็นงานเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจ จะเป็นของส่วนงาน Sustainability (อ้าว ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่นา)

แบบนี้ มันก็เลยยุ่งอีรุงตุงนังไปหมด ต้องมียกสี่ ยกห้า และยกอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาใหม่ ที่เกิดจากฝ่ายบริหารแท้ๆ เทียว


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, August 27, 2018

เริ่มทำ “CSV” ต้องรู้อะไร

ทุกวันนี้มีการพูดกันอย่างกว้างขวางถึงการยกระดับ CSR มาเป็นเครื่องมือช่วยสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน ตามโมเดลของ “ไมเคิล อี.พอร์เตอร์” ที่ฉายภาพให้เห็นว่าองค์กรสามารถพัฒนา responsive CSR ในเชิงของการดูแลผลกระทบจากการประกอบธุรกิจ มาสู่ strategic CSR ที่นำไปสู่การสร้างคุณค่าร่วม หรือ creating shared value (CSV) ระหว่างธุรกิจกับสังคมไปพร้อมกัน

คำว่า responsive ถ้าจะอธิบายอย่างง่ายในบริบทของ CSR คือความที่องค์กร respond ในเรื่องที่เป็นผลกระทบอันมีสาเหตุจากการประกอบกิจการ หากมองในเชิงอุดมคติ ถ้าองค์กรไม่ได้ไปทำให้ใครเดือดร้อน ก็อาจจะไม่ต้องทำ CSR ก็ได้

แต่ในความเป็นจริง กระบวนการในทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การส่งมอบ การจำหน่าย การบริการ ฯลฯ ย่อมต้องเกิดผลภายนอก (externalities) ไม่มากก็น้อย ฉะนั้น การที่ชาวบ้านเดินมาหาโรงงาน บอกว่าเขาได้รับผลกระทบจากน้ำทิ้ง กลิ่นเหม็น อากาศเสีย หากโรงงานไม่ดำเนินการอะไรเลย นั่นแสดงว่าไม่มี CSR

การที่องค์กรรับที่จะดำเนินการตามที่ชาวบ้านร้องขอ อันนี้เรียกว่า responsive คือ react ในสิ่งที่ตนเองได้สร้างผลกระทบไว้ ซึ่ง “พอร์เตอร์” กล่าวไว้ว่าการที่องค์กรตอบสนองต่อข้อท้วงติงหรือข้อเรียกร้องเช่นนี้ องค์กรจะได้รับการยอมรับในฐานะ good citizen ในสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้


Corporate Involvement in Society: A Strategic Approach

ทีนี้ ในมุมมอง “พอร์เตอร์” ยังขยายความต่อว่าแม้องค์กรจะได้ทำเรื่อง responsive CSR ครบถ้วนดีแล้ว แต่อาจไม่เพียงพอต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันที่ทุกธุรกิจให้ความสำคัญ เพราะการดำเนินงาน CSR ในเชิงรับ องค์กรไม่สามารถกำหนดประเด็นการดำเนินงานทางสังคมได้เอง ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญของการสร้างความแตกต่าง (differentiation) และเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จหนึ่งของการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน

แนวคิดของ CSR เชิงกลยุทธ์ หรือ strategic CSR ซึ่งคือการทำ CSR ในเชิงรุก จึงถูก “พอร์เตอร์” หยิบยกขึ้นมานำเสนอ โดยที่องค์กรเป็นผู้หยิบยกประเด็นทางสังคมขึ้นมาวิเคราะห์ และเลือกดำเนินการให้สอดรับกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ และเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ รวมทั้งเกื้อหนุนกับพันธกิจ ตลอดจนขับเน้นค่านิยมขององค์กรอย่างผสมผสานกลมกลืน

อย่างไรก็ตาม การที่องค์กรหลายแห่งลุกขึ้นมาประกาศว่าจะเข้าไปทำงานเชิงรุกกับสังคม แต่หากผลกระทบทางลบจากกิจการที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ยังไม่ได้ทำ responsive CSR การแสวงหาความแตกต่างหรือมุ่งเน้นพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วย strategic CSR ก็จะไม่เป็นผล เนื่องเพราะองค์กรยังละเลยสิ่งที่เป็น minimum requirement ที่ควรต้องดำเนินการอยู่

ดังนั้น การทำ CSR เชิงกลยุทธ์ จึงมิได้มาทดแทน responsive CSR แต่เป็นสิ่งที่องค์กรต้องมีพัฒนาการ ตั้งแต่การทำ CSR ในเชิงรับ (ที่เน้นแก้ไขผลกระทบทางลบ) จนมาสู่ CSR ในเชิงรุก (ที่เน้นเสริมสร้างผลกระทบทางบวก) อย่างเป็นลำดับขั้น

การสร้างคุณค่าร่วม จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงต่อเมื่อสังคมให้การยอมรับกิจการ ในฐานะที่เป็น good citizen สามารถดำเนินการดูแลผลกระทบได้ดี ไม่สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่รายรอบกิจการ จึงเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำ CSV อย่างถูกทาง


จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, August 19, 2018

CSR ทำเพราะชอบ หรือทำเพราะใช่

จากที่คลุกคลีอยู่กับวงการ CSR (Corporate Social Responsibility) มานาน นับตั้งแต่เริ่มจับงานด้านนี้อย่างจริงจัง เมื่อปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา หลายต่อหลายครั้ง ต้องสวมบทบาทเป็นนักสืบจำเป็น เข้าไปค้นหาต้นตอและที่มาของโครงการหรือกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในกิจการต่างๆ แบบเปิดเผยซึ่งหน้า มิได้เข้าไปทำงานแบบลับๆ ล่อๆ แต่อย่างใด

ที่ต้องไปสืบสาวราวเรื่องหาจุดกำเนิดของกิจกรรม CSR เหล่านั้น ก็เพื่อต้องการทราบเหตุผลหรือต้นเรื่องว่า องค์กรริเริ่มกิจกรรมดังกล่าวมาได้อย่างไร และมีแรงจูงใจอะไรที่เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินกิจกรรมเหล่านั้น สำหรับเป็นข้อมูลนำเข้าในการพิจารณาว่า จะสามารถต่อยอด-ขยายผล ความริเริ่ม/โครงการ/กิจกรรม นั้นๆ ต่อได้หรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ ก็เพื่อตอบโจทย์ที่องค์กรอยากได้ คือ จะทำให้กิจกรรมดังกล่าวเหล่านั้น ก่อดอกออกผลให้เป็นอะไรที่ยั่งยืนได้อย่างไร

อย่างที่ทราบละครับว่า การริเริ่มทำนั้น ไม่ยาก หรือถ้าจะมีความยากในการเข็นโครงการให้เกิด ก็ต้องยืนยันว่า มันยังไม่ยากเท่ากับการดำเนินโครงการที่คลอดแล้วนั้นให้ได้ต่อเนื่อง เพราะอย่าลืมว่า องค์กรมีงบประมาณหรือทรัพยากรที่จำกัด หรือจำต้องจัดสรรให้รองรับงานในหลายด้าน ทำให้การหาเหตุผลมาสนับสนุนว่าโครงการใด จะได้ไปต่อ (ในแต่ละปี) จึงเป็นเรื่องสำคัญในลำดับต้นๆ (ผู้รับผิดชอบโครงการ CSR ร้อยทั้งร้อย จะต้องถูกเจ้านายถามว่า ทำแล้วได้อะไร)

ที่น่าสนใจ คือ การสืบสาวราวเรื่องเพื่อหาที่มาของโครงการ พบว่า หลายโครงการ ไม่รู้ว่ามีที่มาอย่างไร ได้แต่ทำๆ สืบต่อกันมา และไม่มีผู้ใดที่เกี่ยวข้องสนใจใคร่ถาม ซึ่งข้อเท็จจริงที่ค้นพบ มักชี้ไปในทำนองว่า อันนี้เป็นของนาย หรือเบื้องบนสั่งมา (พบมากในกิจการที่เจ้าของเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และรัฐวิสาหกิจ)

ที่มาของกิจกรรม CSR ในอีกกรณีหนึ่งที่พบบ่อย มีมูลเหตุมาจากการ “ทำเพราะชอบ” หรือ “I prefer” ซึ่งแล้วแต่ว่า (เจ้าของเรื่อง/ผู้มีอำนาจ) จะชอบเรื่องอะไร ชอบทะเล-เลยทำเรื่องปะการัง ชอบภูเขา-เลยทำเรื่องป่า ชอบศิลปะ-เลยทำเรื่องพิพิธภัณฑ์ ชอบเด็ก-เลยทำกับโรงเรียน ชอบบุญ-เลยทำกับวัด ฯลฯ

สังเกตว่า กิจกรรม CSR เหล่านี้ แทบจะไม่มีส่วนใดเลย ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนงานทางธุรกิจที่ตนเองดำเนินอยู่ หรือไม่ได้เกี่ยวโยงกับผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจแต่ประการใด

การเพรียกหาความยั่งยืนจากกิจกรรม CSR เหล่านี้ จึงมีความเป็นไปได้ยาก เพราะฐานรากที่มาของกิจกรรม ไม่ได้มีส่วนเชื่อมโยงกับองค์กร (C ในคำว่า CSR คือ Corporate) เป็นเพียงกิจกรรมที่มาจากความชอบส่วนบุคคล แต่ทำในนามองค์กร โดยองค์กร และใช้งบองค์กร

วันหนึ่งข้างหน้า กิจกรรม CSR จำพวกนี้ จำต้องมีระยะเวลาสิ้นสุด เพราะไม่สามารถผูกโยงอายุขัยของกิจกรรมเข้ากับอายุขัยขององค์กร

กิจกรรม CSR ที่จะมีความยั่งยืนได้นั้น จะต้องดำเนินไปบนอายุขัยเดียวกันกับองค์กร คือ ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า กิจการนั้นจะมีการดำเนินงานที่สืบเนื่องต่อไปไม่สิ้นสุด (Going Concern) และจะต้องปรับเปลี่ยนการทำงานจากกิจกรรมรายครั้งและรายโครงการ (Project) มาเป็นกระบวนการ (Process) ในธุรกิจ ที่ไม่มีวันสิ้นสุดเช่นในโครงการ

ที่มาของกิจกรรม CSR-in-process ซึ่งสามารถดำเนินไปสู่เป้าหมายปลายทางที่เป็นความยั่งยืน จะมีมูลเหตุมาจากการ “ทำเพราะใช่” หรือ “It matters” คือ เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อองค์กร ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในทิศทางเดียวกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย

ทั้งนี้ แต่ละองค์กร ไม่จำเป็นต้องมีเรื่องที่ใช่เหมือนกันหรือเป็นเรื่องเดียวกัน แต่จะขึ้นอยู่กับบริบทของธุรกิจที่มีความแตกต่างกัน บริษัทเครื่องดื่ม-ทำเรื่องการอนุรักษ์น้ำ บริษัทไอที-ทำเรื่องการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทก่อสร้าง-ทำเรื่องการดูแลชุมชน บริษัทขนส่ง-ทำเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ

การเลือกเรื่องที่ทำหรือประเด็นที่จะดำเนินการในกรณีนี้ มีที่มาจากการสืบสาวหาว่า ธุรกิจใช้ (วัตถุดิบ) อะไร, ผู้ส่งมอบ (คู่ค้า) ใช้ได้หรือไม่, ผลิต (สินค้า) อะไร, วาง (ช่องทาง) จำหน่ายด้วยวิธีใด, บริโภคแล้ว (ซากผลิตภัณฑ์) ไปไหน, มีผลกระทบ (สิ่งแวดล้อม) อะไรบ้าง เป็นต้น

หากองค์กรสามารถตั้งเรื่องได้อย่างที่ว่า ปัญหาเรื่อง CSR ที่ทำว่าจะไม่ยั่งยืน หรือเกรงว่าจะไม่ได้ทำต่อเนื่องนั้น จะหมดไปโดยปริยาย ส่วนนักสืบจำเป็นอย่างผม ก็จะตกงานไปพร้อมกันด้วย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, August 05, 2018

สร้างแต้มต่อธุรกิจด้วย CSR

กว่า 17 ปี ที่ผมและทีมงานนำเรื่อง CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ มาช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนธุรกิจ ให้กับหลายองค์กร ทั้งที่เป็นกิจการของไทย และกิจการข้ามชาติ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย

ทั้งที่ทราบดีว่า CSR เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้ธุรกิจได้รับการยอมรับของสังคม อันนำไปสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืน (เพราะไม่ได้สร้างปัญหาให้กับคนรอบข้าง หรือภาษาทางการ เรียกว่า ผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่รายรอบกิจการ จนออกมาโจมตีหรือโวยวาย)

แต่ก็ยังมีหลายองค์กร ที่มองเรื่อง CSR เป็นแค่เครื่องมือประชาสัมพันธ์ หรือใช้สร้างภาพลักษณ์ โดยอาศัยกิจกรรมเพื่อสังคม เป็นเนื้อหาหลักในการเล่าเรื่อง ที่ส่วนใหญ่ แทบมิได้มีความเกี่ยวโยงกับธุรกิจหลักที่ดำเนินอยู่ (เช่น บริษัทไอที อยากดูแลสิ่งแวดล้อม โดยไปร่วมปลูกป่า สร้างฝาย แทนที่จะดูแลเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือจัดการเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงาน)

จากประสบการณ์ที่เห็นองค์กรธุรกิจนำ CSR มาขับเคลื่อนเป็นผลสำเร็จ ยืนยันว่า ต้องผนวกเรื่อง CSR เข้ากับแกนหลักของธุรกิจ (Core Business) หรืออย่างน้อยต้องเกี่ยวโยงกับกระบวนการทางธุรกิจ (Business Process) ที่ดำเนินอยู่ จึงจะก่อให้เกิดผลกระทบที่มีนัยสำคัญ และเป็นเส้นทางที่จะพัฒนาสู่ความยั่งยืนได้จริง ๆ

ผมและทีมงาน ได้ประมวลกรณีศึกษา ทำงานวิจัยร่วมกับองค์กรธุรกิจหลายแห่ง ในหลายปีที่ผ่านมานี้ จนตกผลึกออกมาเป็นคำที่เรียกว่า CSR-in-process ซึ่งต้องการชี้ให้เห็นถึง การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการทางธุรกิจ ที่ต้องมีความเกี่ยวโยงกับกิจกรรมทางธุรกิจ มิใช่การออกแบบและดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมที่แปลกแยกไปจากกิจกรรมทางธุรกิจ (ประเภท ธุรกิจเรื่องหนึ่ง - CSR เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ทางนี้ เท่านั้น ถึงจะก่อให้เกิดผลกระทบที่สร้างการยอมรับจากสังคม (ว่าได้ผล) และนำมาซึ่งความยั่งยืนในที่สุด มิใช่แค่การรับรู้จากสังคม (ว่าได้ทำ) ด้วยการ PR กิจกรรมเพื่อสังคม ในแบบที่เรียกว่า CSR-after-process หรือ เป็นกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมที่เกิดขึ้นภายหลัง และมิได้มีความเกี่ยวโยงกับกระบวนการทางธุรกิจ

การขับเคลื่อนธุรกิจ โดยมีองค์ประกอบของ CSR ในปัจจุบันนี้ กำลังพัฒนาเข้าสู่แกนหลักของธุรกิจ หรือ Core Business มากขึ้นเรื่อยๆ หมายความว่า หลายองค์กรเริ่มที่จะตระหนักในคุณค่าของเรื่อง CSR จากการใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง (Risks) หรือผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้น (หรือที่อาจจะเกิดขึ้น) ในกระบวนการธุรกิจ มาสู่การเป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาส (Opportunities) หรือผลกระทบทางบวกในทางธุรกิจ ด้วยการผนวกเรื่อง CSR เข้าไว้ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างการยอมรับในตลาดและในสังคมวงกว้าง ควบคู่ไปพร้อมกัน

การนำ CSR มาใช้เป็นองค์ประกอบในการสร้างผลิตภัณฑ์ (หมายรวมถึง ทั้งสินค้าและบริการ) คือ การนำเอาประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในความสนใจ มาพิจารณาควบคู่กับสิ่งที่องค์กรมีความเชี่ยวชาญ (ซึ่งก็คือ Core Business ที่กิจการดำเนินอยู่) ว่าจะสามารถแก้ปัญหา หรือตอบโจทย์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านทางตัวผลิตภัณฑ์ที่องค์กรเป็นเจ้าของอยู่ได้มากน้อยเพียงใด

อาดิดาส ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาจากเยอรมนี ได้นำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเรื่องการลดใช้พลาสติก มาพัฒนาสายการผลิตรองเท้ารีไซเคิลจากขวดพลาสติกในท้องทะเล จนทำให้ adidas x Parley รองเท้ารุ่นพิเศษ ที่ผลิตจากขยะในท้องทะเล จำหน่ายได้มากกว่า 1 ล้านคู่ รวมถึงสายการผลิตเสื้อฟุตบอลที่มาจากเศษขยะพลาสติก ให้กับสโมสรต่างๆ ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของอาดิดาส ได้แก่ บาเยิร์น มิวนิค, เรอัล มาดริด และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นต้น ตลอดจนการประกาศยกเครื่องการผลิตอุปกรณ์กีฬา ที่จะหันมาใช้พลาสติกรีไซเคิลให้ได้ทั้งหมด ภายในปี ค.ศ.2024 โดยกระบวนการลดการใช้พลาสติกบริสุทธิ์ของอาดิดาส จะเริ่มต้นนำร่องตั้งแต่ ปี ค.ศ.2018 นี้

สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ ได้นำประเด็นเดียวกัน มาใช้ในการรณรงค์งดใช้หลอดพลาสติก สำหรับเมนูเครื่องดื่มในร้าน โดยได้ประกาศแผนครั้งใหญ่ให้ทุกสาขากว่า 28,000 สาขา งดใช้หลอดพลาสติก ภายในปี ค.ศ.2020 เพื่อให้แบรนด์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และคาดการณ์ว่า จะสามารถกำจัดหลอดพลาสติกไปได้ถึง 1,000 ล้านชิ้น/ปี

ปรากฏการณ์นี้ เป็นภาคต่อของ CSR-in-process ที่ผมขอเรียกว่าเป็น CSR-in-product หรือการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในตัวผลิตภัณฑ์ ที่มาจากการปรับแกนหลักของธุรกิจ (Core Business) ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีความเป็นมิตรต่อสังคมเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

เรื่องนี้ คงต้องขยายความกันต่ออีกหลายยก เพราะภาคธุรกิจเอง กำลังนำ CSR เข้ามาสู่บริบทใหม่ของการแข่งขัน เป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม จากการบริจาค จากการสร้างภาพลักษณ์ และจากการใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง มาเป็นการสร้างแต้มต่อทางธุรกิจด้วย CSR


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, July 22, 2018

คุยอะไรกันในฟอรั่ม SDG ที่นิวยอร์ก

เมื่อวันอังคาร (17 ก.ค.) ที่ผ่านมา สภาหอการค้านานาชาติ (ICC) สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่ง สหประชาชาติ (UN DESA) และ องค์การว่าด้วยข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ได้ร่วมกันจัดงาน SDG Business Forum ประจำปี ค.ศ.2018 ขึ้น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา


การประชุมนี้ ถูกจัดขึ้นเป็นปีที่สาม นับจากที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้ประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ. 2015 โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPF) และมีกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่ายจากหลายภาคส่วน เข้าร่วมเกือบ 600 คน

สามปีหลังจาก SDGs พบว่า ภาคธุรกิจกว่าร้อยละ 60 ทั่วโลก ยังมิได้เข้าร่วมขบวนของการขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ เราจะไม่สามารถบรรลุ SDGs ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้

ในที่ประชุม ได้มีการหารือถึงหนทางที่เน้นการลงมือปฏิบัติ (Action-oriented) ในระดับท้องถิ่น ที่ไม่จำกัดเฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ต้องสานความร่วมมือให้ถึงระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และมีการเน้นคุณค่าของการสร้างหุ้นส่วนดำเนินงาน เพื่อเป็นตัวเร่งความก้าวหน้าของการดำเนินงานให้ได้ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี ค.ศ.2030

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอเครื่องมือ แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ อย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นแนวทางให้ประชาคมธุรกิจทั่วโลก ได้นำไปปรับใช้ โดยไม่จำกัดขนาด สาขา และภูมิภาคอันเป็นถิ่นที่ตั้งของธุรกิจ

ในการประชุม HLPF สมัยนี้ มี 47 ประเทศ ที่ได้นำเสนอผลการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ในระดับชาติ โดยสมัครใจ (Voluntary National Review – VNR) เพื่อรายงานความคืบหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศตน

เกือบร้อยละ 40 ของประเทศที่นำเสนอรายงาน VNR ระบุว่า ภาคเอกชนในประเทศของตน ได้มีส่วนในการสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศ ขณะที่เกือบทุกประเทศที่นำเสนอรายงาน ได้มีภาคเอกชนเข้าร่วมในกระบวนการทบทวนผลการดำเนินงาน และได้มีการหารือกับผู้แทนของภาคธุรกิจในการจัดเตรียมรายงานระดับชาติฉบับดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลของประเทศที่นำเสนอรายงาน ได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม รวมถึงภาคธุรกิจ และถือเป็นเรื่องปกติสำหรับการประเมินความก้าวหน้าตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยในรายงานของประเทศเอกวาดอร์ กรีซ เลบานอน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอุรุกวัย ได้บรรจุเนื้อหาที่เป็นการดำเนินงานของภาคเอกชนไว้เป็นการเฉพาะ มีตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน และแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน ที่มีส่วนสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขณะที่ รายงานของบางประเทศ ได้ตระหนักถึงบทบาทของ SMEs ที่ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยราวร้อยละ 40 ของประเทศที่รายงาน ได้มีการระบุถึงมาตรการในการเพิ่มบทบาทของ SMEs ต่อการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ในรายงานของประเทศโคลอมเบีย ได้เริ่มมีการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ ที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในผลกระทบโดยรวม และการสนับสนุนช่วยเหลือของภาคเอกชนในประเทศ ที่มีต่อการขับเคลื่อน SDGs โดยภาครัฐได้ดำรงบทบาทอำนวยการในการเก็บรวบรวมข้อมูลทางธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ SDGs เผยแพร่ตามมาตรฐานขององค์กรแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) และบรรจุไว้ในรายงานระดับชาติ

นอกจากนี้ มี 13 ประเทศที่รายงาน ได้ระบุถึงความก้าวหน้าในเป้าหมายย่อยที่ 12.6 ซึ่งเกี่ยวกับความยั่งยืนและการรายงาน ที่มีความมุ่งประสงค์ในการผลักดันให้กิจการ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับข้อปฏิบัติที่ยั่งยืนไปดำเนินการ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าไว้ในรอบการรายงานประจำปีของบริษัท

ในบทสรุปของการประชุม HLPF ได้เรียกร้องให้มีการสะท้อนถึงวิธีการในการผนวกบทบาทของธุรกิจในทุกขนาดและทุกที่ในโลก เพื่อเร่งให้เกิดการแปรเปลี่ยนไปสู่สังคมที่ยั่งยืนและพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีก 12 ปีข้างหน้าให้ได้ตามกำหนด


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, July 16, 2018

ดัชนี SDGs ประเทศไทย ปี 2018

สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง มูลนิธิเบอร์เทลสแมนน์ (Bertelsmann Stiftung) ร่วมกับเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network : SDSN) ได้เผยแพร่รายงานที่มีชื่อว่า SDG Index and Dashboards Report 2018 เพื่อประมวลการดำเนินงานในรอบปีของประเทศต่าง ๆ ที่มีต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 ข้อ

รายงานฉบับนี้เป็นฉบับที่ 3 นับจากรายงานฉบับแรกที่เผยแพร่ในปี ค.ศ. 2016 โดยในปีนี้ รายงานฉบับปัจจุบันได้เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงาน SDGs ที่ครอบคลุมชาติสมาชิกขององค์การสหประชาชาติทั้งหมด 193 ประเทศ เป็นครั้งแรก

ข้อค้นพบหนึ่งในรายงานชี้ให้เห็นว่า ยังไม่มีประเทศใดที่มีการดำเนินการอยู่ในสถานะที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทั้ง 17 ข้อ โดยการขจัดความยากจนในหลายประเทศยังเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายหลายด้าน ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ในอัตราที่สูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 13 ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ ข้อที่ 14 เรื่องทรัพยากรทางทะเล และข้อที่ 15 เรื่องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ จำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายในปี ค.ศ. 2030

รายงานฉบับที่ 3 นี้ได้มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมจากฉบับก่อนหน้าในหลายเรื่อง อาทิ การเพิ่มข้อมูลเชิงแนวโน้ม (trend) ที่แสดงให้เห็นถึงทิศทางการดำเนินงานของแต่ละประเทศ ในแต่ละเป้าหมาย ใน 5 ระดับ ได้แก่ ระดับก้าวหน้า (⇒), ระดับพัฒนา (⇑), ระดับพอใช้ (⇗), ระดับต่ำเกณฑ์ (⇒) และระดับถดถอย (⇓)

นอกจากนี้ยังได้มีการเพิ่มตัวบ่งชี้การดำเนินงานใหม่ที่ครอบคลุมเป้าหมาย (targets) ที่เกี่ยวข้องในแต่ละเป้าประสงค์ของ SDGs ให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุที่มีการเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ผลสำรวจการดำเนินงาน SDGs ในรอบปี 2018 ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับผลสำรวจในรอบปี 2017 ได้ การเปลี่ยนแปลงในอันดับ หรือคะแนนของแต่ละประเทศ จึงมิได้สะท้อนถึงความก้าวหน้าหรือความถดถอยของการดำเนินงานจากปีก่อนหน้า

ในรายงานฉบับปี 2018 ประเทศไทยมีการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในอันดับที่ 59 ของโลก จากการสำรวจทั้งหมด 156 ประเทศ ด้วยระดับคะแนนที่ 69.2 เมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 64.1

โดยแนวโน้มการดำเนินงาน SDGs ของประเทศไทยที่อยู่ในระดับก้าวหน้า ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 เรื่องการขจัดความยากจน ส่วนที่อยู่ในระดับพัฒนา ได้แก่ เป้าหมายที่ 6 เรื่องน้ำและการสุขาภิบาล และเป้าหมายที่ 8 เรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน

ขณะที่การดำเนินงาน SDGs ที่อยู่ในระดับพอใช้ มีจำนวน 7 เป้าหมาย ได้แก่ เรื่องการขจัดความหิวโหย เรื่องสุขภาวะ เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เรื่องพลังงาน เรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม เรื่องเมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ และเรื่องทรัพยากรทางทะเล

ส่วนการดำเนินงาน SDGs ที่อยู่ในระดับต่ำเกณฑ์ มีจำนวน 4 เป้าหมาย ได้แก่ เรื่องการศึกษา เรื่องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องสังคมและความยุติธรรม และเรื่องหุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล

สำหรับ SDGs ที่ประเทศไทยมีการดำเนินงานอยู่ในระดับถดถอย ได้แก่ เป้าหมายที่ 13 คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ ที่ในรายงานใช้ตัวเลขอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงาน (ที่มาจากปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน รวมทั้งก๊าซธรรมชาติที่ถูกเผาทิ้ง) ต่อหัว หรือ Energy-related CO2 emissions per capita (tCO2/capita) เป็นตัวชี้วัดการดำเนินงาน

ผู้ที่สนใจรายงานฉบับดังกล่าวสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.sdgindex.org


จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

Sunday, July 08, 2018

เราจะรับมือ “อุบัติภัย” ได้อย่างไร

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีอุบัติภัยหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ ทั้งทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง เรือล่มที่ภูเก็ต ที่มีผู้เสียชีวิต และมีผู้สูญหายหลายราย รวมทั้งกรณีเครื่องบิน ทบ. ตก ที่แม่ฮ่องสอน และมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต

อุบัติภัย เป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมมิให้เกิดได้ และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การรับมือกับสถานการณ์ ทั้งการเผชิญเหตุ (Response) การช่วยเหลือ (Rescue) การบรรเทาทุกข์ (Relief) และการฟื้นฟู (Recovery) อย่างทันท่วงที และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

หน่วยงานที่เข้าร่วมให้ความช่วยเหลือ จำเป็นต้องวางแนวทางที่จะดำเนินการ พิจารณาถึงปัจจัยและตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องต้องตามเหตุการณ์ รวมทั้งสามารถคาดการณ์ถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า

ในสถานการณ์หลังอุบัติภัย ไม่ว่าผู้ที่เข้าให้ความช่วยเหลือจะมีเจตนาที่ดีเพียงใดก็ตาม สภาพการณ์จะมีความซับซ้อนและทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ดีดังที่ตั้งใจ เช่น การตัดสินใจที่ต้องทำทันทีโดยขาดข้อมูลที่ครบถ้วน การได้รับข้อมูลรายงานที่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ หรือมีสภาพความกดดันจากเหตุการณ์ที่ต้องดำเนินการอย่างปัจจุบันทันด่วน

ผู้รับผิดชอบสถานการณ์ จำต้องสำรวจและซักซ้อมกับหน่วยร่วมดำเนินงานเพื่อให้แน่ใจว่า ภาคีได้มีการตระเตรียมความพร้อมและมีความสามารถในการรับมือกับอุบัติภัยได้อย่างมีประสิทธิผล ด้วยข้อคำถามหลักๆ ดังนี้

เราได้เตรียมพร้อมหรือยัง ผู้นำและผู้ที่เกี่ยวข้องจำต้องดำเนินการคะเนถึงความต้องการและแรงกดดัน รวมทั้งการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผลและฉับไว

เรามีข้อมูลพอที่จะรับมือหรือไม่ การตัดสินใจจำต้องอาศัยข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่คลุกคลีอยู่ในภาคสนาม เพื่อที่จะสามารถประเมินสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินให้มีความแม่นยำ

เราจะเข้าช่วยเหลือให้ดีที่สุดได้อย่างไร การเข้าดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถทำโดยตรงในพื้นที่หรือใช้วิธีให้การสนับสนุนช่วยเหลือในระยะไกล โดยอาจมีการผสมผสานรูปแบบการช่วยเหลือให้มีประสิทธิผลสูงสุด ระหว่างเงินช่วยเหลือ สิ่งของที่คำนวณเป็นมูลค่าเทียบเคียง โลจิสติกส์ หรือความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ

เรามีหุ้นส่วนที่มีประสิทธิผลหรือไม่ หน่วยร่วมดำเนินงาน หรือหน่วยสนับสนุน ควรมีความรู้ความจัดเจนพื้นที่และมีสมรรถภาพในการทำงานภาคสนาม สมกับเป็นหุ้นส่วนที่มีประสิทธิผลในการบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟู

เราได้จัดลำดับความสำคัญอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ หน่วยร่วมดำเนินงานต้องแน่ใจว่า การให้ความช่วยเหลือและสิ่งที่ดำเนินการ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อการดำเนินงานตามลำดับความสำคัญอื่นๆ และคงไว้ซึ่งความยืดหยุ่นต่อการดำเนินงานในพื้นที่ประสบเหตุ

เรามีวิธีในการจัดการให้ความช่วยเหลืออย่างไร ผู้นำสถานการณ์ จำต้องรู้จักผู้ประสานงาน ผู้เฝ้าสังเกตการณ์ ช่องทางการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร หรือหน่วยงานในพื้นที่ การดูแลความช่วยเหลือให้เป็นไปตามแผน และการคาดการณ์ล่วงหน้า หากสิ่งที่นำไปช่วยเหลือไม่สามารถนำไปใช้ได้

เรามีแนวทางในการดูแลเผยแพร่ข้อมูลที่สาธารณชนสนใจอย่างไร ผู้รับผิดชอบสถานการณ์จำต้องดำเนินการบริหารการให้ข้อมูลและการสื่อสาร รวมทั้งแง่มุมด้านสื่อตั้งแต่เริ่มต้น ตลอดจนการกำกับทิศทางของข่าวสารที่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ในห้วงเวลาซึ่งเป็นที่สนใจติดตามของสาธารณชน

เราสามารถรับประกันให้มีความพร้อมรับการตรวจสอบหรือไม่ ผู้เป็นหุ้นส่วนร่วมดำเนินงาน ควรจัดทำบัญชีและรายงานรายการให้ความช่วยเหลืออุดหนุนที่ได้รับ รวมทั้งวิธีการและงวดเวลาที่เบิกจ่าย รองรับในกรณีที่หากเกิดข้อสงสัยหรือการซักถามจากสังคม ก็สามารถพร้อมให้ตรวจสอบได้ทั้งระหว่างและหลังสถานการณ์

ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานที่เป็นแกนในการให้ความช่วยเหลือหลัก จำต้องพิจารณาถึงขีดความสามารถในการบริหารจัดการ ด้วยการวางกลไกและระบบรองรับให้มีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงที มิฉะนั้นแล้ว ก็อาจก่อให้เกิดความสูญเสียที่คาดไม่ถึง หรือปัญหาในอีกมิติหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link

Sunday, June 24, 2018

ยุบทิ้ง Business School

จำความได้ว่า สมัยที่ผมเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว บัณฑิตที่จบสายอุดมศึกษา (ป.ตรี) ส่วนมาก มักนิยมเข้าเรียนต่อในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หรือคณะบริหารธุรกิจ ที่เป็นเจ้าของหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หรือ MBA (Master of Business Administration) ซึ่งในปัจจุบัน มักเรียกว่า สถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจ หรือ Business School ตามสมัยนิยม เพราะเชื่อว่า จะเป็นใบเบิกทางหรือช่วยเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในงาน สู่ตำแหน่งผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูงในองค์กร

เร็วๆ นี้ ได้ไปสะดุดตากับหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เพิ่งวางจำหน่ายสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนที่แล้ว ชื่อว่า “Shut Down the Business School: What's Wrong with Management Education" ซึ่งเขียนโดย ศ.มาร์ติน พาร์กเกอร์ ผู้คร่ำหวอดการสอนด้านบริหารธุรกิจมากว่า 20 ปี ในสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยวอริก มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ มหาวิทยาลัยคีล โดยปัจจุบันสอนอยู่ที่ภาควิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยบริสตอล ในสหราชอาณาจักร

หนังสือเล่มนี้ ได้วิพากษ์หลักสูตรของบรรดาสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก ที่มีอยู่กว่า 16,000 แห่ง จากการสำรวจของสมาคมเพื่อการพัฒนาวิทยาลัยบริหารธุรกิจ (the Association to Advance Collegiate Schools of Business: AACSB) ว่ามีเนื้อหาไม่ต่างกัน อ้างอิงมาจากตำราทุนนิยมเล่มเดียวกัน

ในวิชาการเงิน ทำอย่างไรจึงจะหาประโยชน์จากทุน (เงิน) ที่ตนเองครอบครอง การสร้างความมั่งคั่ง ทั้งจากทุนของตนเอง และที่เป็นของผู้อื่น รวมทั้งการใช้สูตรทางคณิตศาสตร์และกลไกทางกฎหมาย ที่ช่วยทวีคูณสินทรัพย์ ตลอดจนวิธีการเพิ่มขีดความสามารถในการหาผลตอบแทนสูงสุดในระยะเวลาที่สั้นสุด เป็นต้น

ในวิชาการจัดการทรัพยากรบุคคล มีการใช้ทฤษฎี “อัตนิยมเชิงความเป็นเหตุเป็นผล” (rational egoism) เพื่ออธิบายถึงการกระทำอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล และนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการบริหารบุคลากร เสมือนเป็นทรัพยากรจำพวกหนึ่ง (ขาดมิติความเป็นมนุษย์) รวมถึงการใช้การจัดการทรัพยากรบุคคลในทางกลยุทธ์ เพื่อสนับสนุนการเปิด-ปิดโรงงานหรือสำนักงานสาขาตามที่ฝ่ายบริหารต้องการ ตลอดจนการมีมุมมองในเรื่องของการรวมกลุ่มหรือสหภาพว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการจัดการทรัพยากรบุคคล เป็นต้น

เช่นเดียวกับเนื้อหาที่ใช้สอนในวิชาการบัญชี การตลาด ธุรกิจระหว่างประเทศ นวัตกรรม โลจิสติกส์ ฯลฯ ล้วนมุ่งเน้นที่บรรทัดสุดท้าย (bottom line) ของการประกอบการ นั่นคือ ประโยชน์หรือผลกำไรสูงสุดขององค์กร จากการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (ทำน้อย-ได้มาก)

แม้จะเพิ่มหัวข้อการสอนในเรื่องความรับผิดชอบ (ต่อสังคม) ความหลากหลาย หรือความยั่งยืน แต่ก็เป็นไปเพื่อการแต่งหน้าทาปาก หรือเพียงเสริมภาพให้หลักสูตรดูดีเลอค่า

ปัญหาของสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจ หรือ Business School ยังเกิดจากการจัดการหลักสูตรของวิทยาลัยเอง ทั้งในเรื่องคุณภาพของการจัดการศึกษา และเรื่องธรรมาภิบาล มีการมุ่งเน้นการหารายได้จากหลักสูตร เนื่องจากเป็นสินค้าที่ทำเงินให้แก่คณะและมหาวิทยาลัย (โดยเฉพาะหลักสูตรภาคพิเศษหรือนอกเวลา) อาจารย์ตามใจผู้เรียนในฐานะลูกค้าของหลักสูตร นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์หรือสารนิพนธ์ให้มีส่ง เพื่อให้ได้วุฒิตามหลักสูตร (จ่ายครบ-จบแน่)

ท้ายที่สุด มหาบัณฑิตส่วนใหญ่ที่จบจากหลักสูตรเหล่านี้ ก็มิได้มีคุณสมบัติที่จะสามารถพัฒนาให้เป็นผู้บริหารระดับสูงที่ดีในองค์กรได้

ด้วยความที่ปัญหาเหล่านี้ ได้หมักหมมและฝังลึกในสถาบัน และความพยายามในการแก้ปัญหาที่ผ่านมา ไม่ได้แตะที่รากเหง้าของปัญหา ยังคงยึดโยงอยู่กับการสอนเรื่องการจัดการองค์กรในรูปแบบเดียว (one form of organising คือ market managerialism) เพียงแต่กลบเกลื่อนหรือใช้คำสวยหรู เช่น จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม ห่อหุ้มเป็นบรรจุภัณฑ์ โดยสินค้าที่อยู่ภายใน ไม่ได้เปลี่ยนแปลง

หนังสือเล่มนี้ จึงเสนอให้ยุบ Business School ทิ้ง หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ให้ยุติการสอนในแบบที่เป็นอยู่ และปรับรื้อแนวความคิดของการจัดการด้านธุรกิจและตลาดเสียใหม่ อาทิ ไม่มีผู้นำองค์กรประเภทพระเอกขี่ม้าขาวที่สามารถแก้ไขได้ในทุกปัญหา หรือวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้เรื่องการภาษี ไม่ได้เป็นไปเพื่อการเลี่ยงภาษี หรือการสร้างให้เกิดความอยากหรือตัณหา ไม่ใช่ความมุ่งประสงค์ของวิชาการตลาด ฯลฯ โดยมีศาสตร์แห่งการจัดการองค์กรในหลายรูปแบบ (different forms of organising)

ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจ (แนวใหม่) ดำรงบทบาทในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดการธุรกิจที่ถูกต้องเหมาะสม และสามารถผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตให้เป็นที่ต้องการของสังคมได้อย่างแท้จริง


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link

Monday, June 11, 2018

สังคมที่เราต้องการ

หัวหน้ารัฐบาลได้ลั่นวาจาว่า กุมภาพันธ์ ปี”62 จะมีการเลือกตั้ง ฉะนั้น จากนี้ไปอีก 9 เดือน บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายจะต้องมีนโยบายที่ดี ๆ มานำเสนอแก่ประชาชน เพื่อเป็นทางเลือกอย่างสร้างสรรค์ แทนที่จะไปขุดคุ้ยเรื่องในอดีตของอีกฝ่าย มาดิสเครดิตอย่างไม่สร้างสรรค์

ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง อยากเห็นแต่ละพรรคใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดในการนำเสนอเส้นทางของพรรคว่าจะนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างไร มากกว่าการใช้ทรัพยากรที่ได้มาไปกับการลบหรือกีดกันเส้นทางของพรรคอื่น

อย่าไปมัวชี้หน้าถกเถียงกันว่าใครเป็นตัวการทำให้ประเทศถอยหลังมาขนาดนี้ ถ้าเราเริ่มต้นก้าวเดินไปข้างหน้าวันนี้ แม้จะทีละก้าว ก็เชื่อแน่ว่าเรายังสามารถพัฒนาไปได้อีกไกล ทัดเทียมกับอารยประเทศในภูมิภาค และในโลก

จุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือ การชี้นิ้วมาหาตนเอง และบอกว่าเราเป็นบุคคลหนึ่งที่ต้องลงมือทำ ไม่ใช่ปัดไปเป็นภาระหน้าที่ของคนอื่น เป็นงานของรัฐ เป็นงานของเอ็นจีโอ หรือผลักเป็นงานของเจ้านาย เป็นงานของลูกน้อง โดยที่ตัวเองไม่ทำอะไร (แต่เก่ง comment คนอื่น)

ในสังคมยุคปัจจุบัน การเมืองการปกครองที่อาศัยการออกกฎหมายควบคุม หรือการกำหนดเป็นข้อปฏิบัติ โดยขาดองค์ประกอบของการกำกับติดตามตรวจสอบ และขาดผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวอย่างเพียงพอ ปรากฏให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถดูแลสังคมให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยได้ (เช่น กรณีอาหารเสริมมีสารอันตราย ที่กระทบกับสุขภาพของผู้บริโภคจำนวนมาก หรือกรณีทุจริตเงินทอนวัด ที่ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อพระภิกษุในวงกว้าง)

ครั้นจะเพิ่มปริมาณเจ้าหน้าที่ หรือบุคลากรเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ก็จะส่งผลต่องบประมาณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยยังไม่ได้พิจารณาถึงความขาดประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ หากอิงตามบรรทัดฐานปัจจุบัน (อันที่จริง ไม่มีทางที่จะใส่เจ้าหน้าที่ให้พอกับงาน หากพ่อค้าขาดจิตสำนึกรับผิดชอบ หรือเจ้าหน้าที่จ้องจะทุจริตกันหมด)

นโยบายการขับเคลื่อนการบริหารกิจการบ้านเมือง จึงควรได้รับการออกแบบให้เกิดเป็นความเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) ด้วย เพื่อที่จะสร้างให้เกิดความสำนึกรับผิดชอบของทั้งผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่รัฐ รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นการบริหารทรัพยากรที่ใช้ในการตรวจตราจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม ในลักษณะเครือข่าย โดยรัฐไม่ต้องรับเป็นภาระอยู่ในบัญชีงบประมาณแผ่นดิน


สังคมที่ต้องการเห็น และที่ควรจะเป็น คือ การได้เห็นภาคประชาชนทำหน้าที่ (perform) ของตนเองอย่างมีประสิทธิผล ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่าน หรือแปรรูป (transform) ไปสู่การยกระดับการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบ เป็นที่ยอมรับของสังคม และภาครัฐมีการปฏิรูป (reform) หน่วยงานอย่างจริงจัง เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง และความคาดหวังของสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

หากภาคส่วนต่าง ๆ สามารถขับเคลื่อนไปในเส้นทางที่ว่าได้ จะก่อให้เกิดผลกระทบในลักษณะที่เป็น “collective impact” ซึ่งเกิดจากการรวมปัจจัยหรือทรัพยากรจากหุ้นส่วนความร่วมมือจากหลายฝ่าย ให้มีขนาดใหญ่พอที่จะดำเนินการพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาสังคมในสเกลที่เป็นระดับประเทศได้อย่างสัมฤทธิผล


จากบทความ 'Social Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ