Tuesday, June 26, 2007

ที่หมายประเทศไทยในบริบทของเศรษฐกิจพอเพียง

หากมองประเทศไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้า ระหว่างภาคการเมืองและภาคเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงที่คาดหวังว่าจะเป็นพัฒนาการในท่ามกลางสองภาคส่วนหลักนี้ คงหนีไม่พ้นภาคการเมืองที่จะต้องจับตามากที่สุด รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้ก็ดี รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ดี ล้วนมีผลอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปสู่จุดหมายตามที่ประชาชนทั้งประเทศต้องการ

จุดหมายในด้านการเมืองการปกครองที่มีความสำคัญ ได้แก่ ความยุติธรรม ความเสมอภาค เสรีภาพ และความสงบสุขของประชาชน ส่วนวิถีทางในการปกครองเพื่อให้ไปสู่จุดหมายนั้น แน่นอนว่าจะต้องเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีการใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ที่มีความเป็นอิสระและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, June 19, 2007

ประเทศไทยกำลังขาดทั้งเครื่องยนต์และพวงมาลัย

หากเปรียบประเทศไทยเป็นเสมือนยานยนต์ที่กำลังวิ่งอยู่บนถนนโลกในขณะนี้ เรากำลังใช้งานคนขับรถชั่วคราวประคับประคองยานยนต์คันนี้โดยไม่ให้พลิกคว่ำ และในอีก 6 เดือนข้างหน้า ผู้โดยสารในคันรถนี้ จำต้องเลือกคนขับรถคนใหม่เพื่อจะนำพายานยนต์ประเทศไทยให้แล่นฉิวไปข้างหน้าอย่างถูกทิศทางและอย่างเต็มกำลัง

แม้หลายคนกำลังเป็นห่วงว่า รถเวียดนามกำลังจะตีตื้นขึ้นมาแซงรถไทย มิพักต้องพูดถึงรถสัญชาติเกาหลีหรือกระทั่งรถสัญชาติจีนที่ติดเทอร์โบทิ้งห่างไปหลายขุม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า รถยนต์ประเทศไทย จะไปไม่ถึงเส้นชัย เพราะพี่ไทยเรามักจะมีไม้เด็ดอยู่เสมอ ยิ่งตอนนี้ยังมีจตุคามแขวนอยู่หน้ารถอีกต่างหาก... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, June 12, 2007

สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง กับการพัฒนาประเทศ

ได้ทราบข่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เตรียมพิจารณาตั้ง “สถาบันพัฒนาประเทศตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้เป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการสร้างฐานความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในมิติต่างๆ เช่น การส่งเสริมการศึกษาและวิจัยองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการสนับสนุนให้เกิดการขยายผลการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้อย่างกว้างขวางในทุกภาคส่วน

ประกอบกับเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ริเริ่มจัดทำแผนที่เดินทาง (Road Map) เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือนำทางในการพัฒนาประเทศตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยมีวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ และแผนงานที่ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นขั้นตอน พร้อมกับใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันของคนในชาติ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในลักษณะที่บรรสานสอดคล้องและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน

ในการประชุมระดมสมองครั้งที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมที่เป็นตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ องค์กรอิสระ และภาคประชาสังคม ประมาณ 110 คน ได้เสนอให้มีการจัดตั้งองค์การมหาชนเพื่อเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่องและประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนการกำหนดหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการปฏิบัติ เปลี่ยนเป้าหมายการศึกษาเป็นการศึกษาเพื่อวิถีชีวิต โดยข้อสรุปของการประชุมในแต่ละกลุ่มย่อยมีหลายเรื่องที่น่าสนใจ และสามารถนำมาประมวลได้เป็น 5 ด้านหลัก ดังนี้... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, June 05, 2007

Balanced Scorecard: เครื่องแสดงอิทัปปัจยตาทางธุรกิจ

คำว่า อิทัปปัจยตา มาจาก อิทะ แปลว่า นี้ และปัจจยตา แปลว่า ความเป็นปัจจัย รวมกันจึงแปลได้ความว่า ความที่มีนี้เป็นปัจจัย หรืออีกนัยหนึ่งคือ ความที่มีสิ่งซึ่งเป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีสิ่งซึ่งเป็นปัจจัย สิ่งนี้ก็ไม่เกิดขึ้น ขอบข่ายของอิทัปปัจยตานั้น กินความกว้างครอบคลุมทั้งสิ่งที่เป็น “เหตุ” สิ่งที่เป็น “ผล” และลักษณะอาการที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างเหตุและผล เป็นการแสดงถึงกระแสแห่งปัจจัยที่ส่งผลซึ่งกันและกันไม่สิ้นสุด

อิทัปปัจยตา สามารถใช้อธิบายเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมทางธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ และก่อให้เกิดผลลัพธ์ส่งต่อกันไปเป็นทอดๆ ในแต่ละมิติขององค์กร เช่น การที่ธุรกิจมีเป้าหมายในการแสวงหากำไร โดยที่กำไรจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อองค์กรมีรายได้ที่สูงกว่ารายจ่าย (มิติด้านการเงิน) และการที่องค์กรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ต่อเมื่อองค์กรสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดหรือทำให้ลูกค้าพอใจโดยการนำเสนอสินค้าและบริการที่ลูกค้าต้องการ (มิติด้านลูกค้า) และการที่องค์กรจะสามารถนำเสนอสินค้าและบริการตามที่ลูกค้าต้องการได้ องค์กรจะต้องมีกระบวนการในการดำเนินงานที่เหมาะสมในการนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการ (มิติด้านกระบวนการดำเนินงานภายใน) จากพนักงานที่มีทักษะและความสามารถ มีขวัญและกำลังใจในการทำงานที่ดี และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยสนับสนุนให้องค์กรมีกระบวนการสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้าได้ (มิติด้านการเรียนรู้และการเติบโต)... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]