วันอังคารนี้ (27 มี.ค.) สถาบันไทยพัฒน์ จะทำการเปิดตัว ”Sustainability Store” หรือ ร้านค้าความยั่งยืน เพื่อเป็นการสนับสนุนองค์กรธุรกิจให้สามารถพัฒนาวิธีการดำเนินงานภายใต้เส้นทางที่นำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการและสังคมโดยรวม
กว่า 17 ปี ที่สถาบันไทยพัฒน์ ดำรงบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการวิจัย (Research) การฝึกอบรม (Training) และการให้คำปรึกษา (Consulting) แก่ภาคเอกชน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2544
ผลลัพธ์จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ในปี พ.ศ.2548 ภายใต้โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องการพัฒนา CSR ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจ เพื่อศึกษาคุณลักษณะและองค์ประกอบของ CSR ที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและพัฒนาบนพื้นฐานของภูมิปัญญาตะวันออก ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ก่อให้เกิดคำว่า “CSR-in-process” ขึ้นเป็นครั้งแรก
ปัจจุบัน คำว่า “CSR-in-process” ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อแสดงให้เห็นถึงการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการธุรกิจ โดยคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการประกอบการอย่างรับผิดชอบ รวมทั้งการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร ที่มีความสำคัญเหนือกว่าการพัฒนาโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสังคมที่อยู่นอกกระบวนการธุรกิจ และเกิดขึ้นภายหลังจากการดำเนินงานหลักของกิจการ หรือที่เรียกว่า “CSR-after-process”
ในปี พ.ศ.2561 นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้นำเครื่องมือและประสบการณ์ที่ได้มีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับองค์กรธุรกิจนานกว่า 17 ปี มาบรรจุไว้ในสามหมวดบริการหลัก ภายใต้ Sustainability Store ได้แก่ การจัดทำกรอบความยั่งยืน (S-Framework) การประเมินระดับความยั่งยืน (S-Score) และการวางกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานความยั่งยืน (S-Report)
S-Framework
การจัดทำกรอบความยั่งยืน
เป็นการศึกษาและทบทวนข้อมูลสถานภาพด้านความยั่งยืนในปัจจุบันของกิจการ เพื่อค้นหาประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กร แนวการบริหารจัดการ และตัวบ่งชี้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่สำคัญ สำหรับใช้ขับเคลื่อนองค์กรให้เข้าสู่วิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน และใช้เป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์องค์กรภายใต้บริบทความยั่งยืน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องใน 3 ขั้นตอน ได้แก่ การระบุประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวเนื่อง (Identification) ซึ่งส่งผลกระทบที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และส่งผลต่อการตัดสินใจและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย การจัดลำดับความสำคัญของรายการประเด็นความยั่งยืน (Prioritization) โดยคำนึงถึงบริบททางธุรกิจ ทรัพยากรที่องค์กรสามารถนำมาใช้ และความพร้อมขององค์กร และการตรวจสอบความครบถ้วนของประเด็นความยั่งยืนที่องค์กรคัดเลือกเพื่อดำเนินการ (Validation) เพื่อให้แน่ใจว่า ประเด็นที่ถูกคัดเลือกมาจากขั้นตอนการจัดลำดับความสำคัญก่อนหน้า ได้รับการพิจารณาอย่างครอบคลุม ไม่ตกหล่นหรือเกินเลย ด้วยปัจจัย เงื่อนไข และข้อจำกัดต่างๆ อย่างรอบด้าน
S-Score
การประเมินระดับความยั่งยืน
เป็นบริการที่ช่วยสอบทานสถานะความยั่งยืนของกิจการ โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มที่องค์กรเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งมีความคาดหวังและความสนใจในเรื่องที่กิจการดำเนินการแตกต่างกัน รวมทั้งการวิเคราะห์เพื่อระบุถึงสิ่งที่องค์กรควรดำเนินการ (Gap Analysis) ในแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดเป็นผลการดำเนินงานที่นำไปสู่การยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ โดยมีขั้นตอนที่ประกอบด้วย การกำหนดพื้นที่การดำเนินงานหรือมณฑลแห่งความยั่งยืนของกิจการ (Define your sphere) เพื่อประเมินขอบเขตของเรื่องที่เกี่ยวข้องในมุมมองของผู้มีส่วนได้เสีย การยอมรับในบรรทัดฐานหรือความคาดหวังในข้อปฏิบัติที่กิจการพึงมีต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง (Recognize norm / expectations) เพื่อสานความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับผู้เกี่ยวข้องที่อยู่รายรอบกิจการให้ดำเนินไปอย่างเป็นปกติสุข และการดำเนินบทบาทขององค์กร (Perform organizational roles) ที่สอดคล้องกับบรรทัดฐาน และ/หรือความคาดหวังเหล่านั้น เพื่อการบรรลุเป้าหมายปลายทางที่เป็นความยั่งยืนของกิจการ
S-Report
การวางกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานความยั่งยืน
เป็นบริการที่มิใช่การจัดทำเล่มรายงาน แต่เป็นการวางกระบวนการรายงานที่ประกอบด้วยงาน 5 ระยะ (Prepare -> Connect -> Define -> Monitor -> Report) ตามข้อแนะนำขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) โดยยึดหลักการของบริบทความยั่งยืน หลักความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย หลักการสารัตถภาพ และหลักความครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งเน้นการบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร ทั้งนี้ เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการจากกระบวนการรายงาน (Reporting Process) มากกว่าการกำหนดให้เป็นเพียงโครงการที่มุ่งหวังเพียงแค่เอกสารรายงาน (Report) ในขั้นสุดท้ายเท่านั้น
ทั้งสามหมวดบริการหลัก องค์กรธุรกิจสามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับสถานะของกิจการ เช่น กิจการที่มีการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่า องค์กรของตนทำได้ดีเพียงใด เมื่อเทียบกับบรรทัดฐานหรือองค์กรข้างเคียงอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรม สามารถใช้ประโยชน์จากการประเมินระดับความยั่งยืน หรือ S-Score เพื่อทวนสอบเรื่องที่ดำเนินการว่ามีความครอบคลุมเพียงพอต่อการยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง และสามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายปลายทางที่เป็นความยั่งยืนของกิจการหรือไม่ เพียงใด
ส่วนกิจการที่คิดว่ามีการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนได้เป็นที่น่าพอใจแล้ว อาจใช้ประโยชน์จากการวางกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานความยั่งยืน หรือ S-Report เพื่อนำผลการดำเนินงานเหล่านั้น มาเปิดเผยตามมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นการทวีคุณค่าของการดำเนินงาน ไปสู่การรายงาน เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ
ขณะที่ กิจการซึ่งมีความสนใจที่จะริเริ่มดำเนินการเรื่องความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ หรือเพิ่งเริ่มต้นดำเนินการและต้องการทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมกับองค์กรตนเองตั้งแต่เริ่มแรก สามารถใช้ประโยชน์จากการจัดทำกรอบความยั่งยืน หรือ S-Framework เพื่อระบุรายการประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการ ตามความพร้อมขององค์กรและบริบททางธุรกิจ เป็นต้น
องค์กรธุรกิจที่สนใจ สามารถแวะเยี่ยมเยียน Sustainability Store ทางเว็บไซต์ http://thaipat.org ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Sunday, March 25, 2018
Sunday, March 11, 2018
6 ทิศทาง CSR ปี 61
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประมวลและแถลงแนวโน้ม CSR ปี พ.ศ.2561 พร้อมนำเสนอแนวคิดในการดูแลมณฑลแห่งความยั่งยืน หรือ Sphere of Sustainability ของกิจการ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับภาคธุรกิจในการวางกลยุทธ์องค์กรที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการ ให้สอดรับกับทิศทางการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนในระดับสากล
ในรอบปี 2561 องค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน และตระหนักถึงการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ จะได้พบกับประเด็นใหม่ๆ ที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กร ใน 6 ทิศทางสำคัญ ดังนี้
1. New CG Code
จากการสร้างความเชื่อมั่น (Building Confidence) สู่การสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Creating Sustainable Value)
ปี 2561 จะเป็นปีที่แนวคิดหลักขององค์กรในเรื่องการกำกับดูแลกิจการ จะเปลี่ยนผ่านจากการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน ที่เน้นประโยชน์ของกลุ่มผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ไปสู่การสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน ที่เน้นประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย ซึ่งทำให้บริษัทจดทะเบียนต้องเพิ่มน้ำหนักความสำคัญในปัจจัยที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยน ทั้งความเข้าใจของคณะกรรมการในบริบทธุรกิจ ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย โอกาสและความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการ เป็นต้น
2. First ESG Code
ก้าวสู่ธรรมาภิบาลการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการลงทุน (Investment Chain)
หลักธรรมาภิบาลการลงทุน สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Investment Governance Code: I Code) จะเพิ่มแรงผลักดันจากผู้มีส่วนร่วมในตลาด (Market Force) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ลงทุนสถาบัน ต่อกิจการที่เข้าไปลงทุน ให้มีการพิจารณาดำเนินการในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ที่เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยผู้ลงทุนสถาบันสามารถผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไข หากกิจการนั้นมีประเด็นปัญหาในเรื่องดังกล่าวได้
3. GRI First Standards
จากแนวทาง (Guidelines) สู่มาตรฐาน (Standards) การรายงานแห่งความยั่งยืน
นับจากกลางปี 2561 มาตรฐานการรายงานขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) จะมีผลบังคับใช้กับองค์กรที่มีการจัดทำรายงานตามแนวทางของ GRI ทำให้องค์กรที่เคยมีการจัดทำรายงานตามแนวทาง GRI ในฉบับก่อนหน้า (ฉบับ G4) จะต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นการอ้างอิงตามมาตรฐาน GRI ตั้งแต่รอบการรายงานปี 2561 เป็นต้นไป
4. New SDG Business Blueprint
จากการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnership) สู่การพัฒนาการนำองค์กร (Leadership)
องค์กรธุรกิจที่นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ นอกจากจะมีการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnership) ในระดับห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อการขับเคลื่อน SDGs แล้ว ยังจะมีการพัฒนาการนำองค์กร (Leadership) ในระดับอุตสาหกรรม เพื่อการบรรลุ SDGs ด้วย
5. Shared Value Innovation
จากเสียงขานรับให้ประกอบการ (License to Operate) สู่เสียงขานรับให้เติบใหญ่ (License to Grow)
กิจการที่ต้องการได้รับ License to Grow จะมีการคิดค้นออกแบบนวัตกรรมคุณค่าร่วม (Shared Value Innovation) เพื่อส่งมอบประโยชน์ที่ทั้งธุรกิจและสังคมจะได้รับจากการขยายกิจการหรือการเติบโตของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่อย่างเป็นแบบแผนมากขึ้น ทั้งการผนวกความมุ่งประสงค์ทางสังคมเข้ากับจุดยืนทางการแข่งขัน ขีดความสามารถที่มีในการตอบสนองต่อสิ่งที่สังคมต้องการ โครงสร้างการพัฒนานวัตกรรม การแสวงหาหุ้นส่วนการสร้างคุณค่าร่วมที่เหมาะสม และการวัดคุณค่าร่วมที่ส่งมอบ เป็นต้น
6. Corporate Digizenship
จากภูมิทัศน์ (Landscape) สู่ดิจิทัศน์ (Digiscape) การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ
ผู้ประกอบการที่เกี่ยวโยงกับห่วงโซ่ธุรกิจดิจิทัลทั้งทางตรงและทางอ้อม จะต้องแสดงให้เห็นถึงการประกอบธุรกิจที่มีความรับผิดชอบในความเป็นดิจิทัลของกิจการ หรือ Corporate Digizenship อาทิ การมีนโยบายและมาตรการในการป้องกันและรับมือกับภัยหรือความเสียหายทางดิจิทัล การรับประกันและการเยียวยาความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งการจัดทำแผนฉุกเฉินหรือแผนสำรองเพื่อบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ในกรณีที่มีอุบัติการณ์หรือวิกฤตจากเหตุดิจิทัลเกิดขึ้น
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
ในรอบปี 2561 องค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน และตระหนักถึงการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ จะได้พบกับประเด็นใหม่ๆ ที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กร ใน 6 ทิศทางสำคัญ ดังนี้
1. New CG Code
จากการสร้างความเชื่อมั่น (Building Confidence) สู่การสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Creating Sustainable Value)
ปี 2561 จะเป็นปีที่แนวคิดหลักขององค์กรในเรื่องการกำกับดูแลกิจการ จะเปลี่ยนผ่านจากการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน ที่เน้นประโยชน์ของกลุ่มผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ไปสู่การสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน ที่เน้นประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย ซึ่งทำให้บริษัทจดทะเบียนต้องเพิ่มน้ำหนักความสำคัญในปัจจัยที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยน ทั้งความเข้าใจของคณะกรรมการในบริบทธุรกิจ ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย โอกาสและความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการ เป็นต้น
2. First ESG Code
ก้าวสู่ธรรมาภิบาลการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการลงทุน (Investment Chain)
หลักธรรมาภิบาลการลงทุน สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Investment Governance Code: I Code) จะเพิ่มแรงผลักดันจากผู้มีส่วนร่วมในตลาด (Market Force) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ลงทุนสถาบัน ต่อกิจการที่เข้าไปลงทุน ให้มีการพิจารณาดำเนินการในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ที่เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยผู้ลงทุนสถาบันสามารถผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไข หากกิจการนั้นมีประเด็นปัญหาในเรื่องดังกล่าวได้
3. GRI First Standards
จากแนวทาง (Guidelines) สู่มาตรฐาน (Standards) การรายงานแห่งความยั่งยืน
นับจากกลางปี 2561 มาตรฐานการรายงานขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) จะมีผลบังคับใช้กับองค์กรที่มีการจัดทำรายงานตามแนวทางของ GRI ทำให้องค์กรที่เคยมีการจัดทำรายงานตามแนวทาง GRI ในฉบับก่อนหน้า (ฉบับ G4) จะต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นการอ้างอิงตามมาตรฐาน GRI ตั้งแต่รอบการรายงานปี 2561 เป็นต้นไป
4. New SDG Business Blueprint
จากการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnership) สู่การพัฒนาการนำองค์กร (Leadership)
องค์กรธุรกิจที่นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ นอกจากจะมีการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnership) ในระดับห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อการขับเคลื่อน SDGs แล้ว ยังจะมีการพัฒนาการนำองค์กร (Leadership) ในระดับอุตสาหกรรม เพื่อการบรรลุ SDGs ด้วย
5. Shared Value Innovation
จากเสียงขานรับให้ประกอบการ (License to Operate) สู่เสียงขานรับให้เติบใหญ่ (License to Grow)
กิจการที่ต้องการได้รับ License to Grow จะมีการคิดค้นออกแบบนวัตกรรมคุณค่าร่วม (Shared Value Innovation) เพื่อส่งมอบประโยชน์ที่ทั้งธุรกิจและสังคมจะได้รับจากการขยายกิจการหรือการเติบโตของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่อย่างเป็นแบบแผนมากขึ้น ทั้งการผนวกความมุ่งประสงค์ทางสังคมเข้ากับจุดยืนทางการแข่งขัน ขีดความสามารถที่มีในการตอบสนองต่อสิ่งที่สังคมต้องการ โครงสร้างการพัฒนานวัตกรรม การแสวงหาหุ้นส่วนการสร้างคุณค่าร่วมที่เหมาะสม และการวัดคุณค่าร่วมที่ส่งมอบ เป็นต้น
6. Corporate Digizenship
จากภูมิทัศน์ (Landscape) สู่ดิจิทัศน์ (Digiscape) การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ
ผู้ประกอบการที่เกี่ยวโยงกับห่วงโซ่ธุรกิจดิจิทัลทั้งทางตรงและทางอ้อม จะต้องแสดงให้เห็นถึงการประกอบธุรกิจที่มีความรับผิดชอบในความเป็นดิจิทัลของกิจการ หรือ Corporate Digizenship อาทิ การมีนโยบายและมาตรการในการป้องกันและรับมือกับภัยหรือความเสียหายทางดิจิทัล การรับประกันและการเยียวยาความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งการจัดทำแผนฉุกเฉินหรือแผนสำรองเพื่อบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ในกรณีที่มีอุบัติการณ์หรือวิกฤตจากเหตุดิจิทัลเกิดขึ้น
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Subscribe to:
Posts (Atom)