Sunday, March 25, 2018

เปิดร้านค้าความยั่งยืน ตอบโจทย์ธุรกิจ

วันอังคารนี้ (27 มี.ค.) สถาบันไทยพัฒน์ จะทำการเปิดตัว ”Sustainability Store” หรือ ร้านค้าความยั่งยืน เพื่อเป็นการสนับสนุนองค์กรธุรกิจให้สามารถพัฒนาวิธีการดำเนินงานภายใต้เส้นทางที่นำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการและสังคมโดยรวม

กว่า 17 ปี ที่สถาบันไทยพัฒน์ ดำรงบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการวิจัย (Research) การฝึกอบรม (Training) และการให้คำปรึกษา (Consulting) แก่ภาคเอกชน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2544

ผลลัพธ์จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ในปี พ.ศ.2548 ภายใต้โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องการพัฒนา CSR ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจ เพื่อศึกษาคุณลักษณะและองค์ประกอบของ CSR ที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและพัฒนาบนพื้นฐานของภูมิปัญญาตะวันออก ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ก่อให้เกิดคำว่า “CSR-in-process” ขึ้นเป็นครั้งแรก

ปัจจุบัน คำว่า “CSR-in-process” ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อแสดงให้เห็นถึงการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการธุรกิจ โดยคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการประกอบการอย่างรับผิดชอบ รวมทั้งการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร ที่มีความสำคัญเหนือกว่าการพัฒนาโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสังคมที่อยู่นอกกระบวนการธุรกิจ และเกิดขึ้นภายหลังจากการดำเนินงานหลักของกิจการ หรือที่เรียกว่า “CSR-after-process”

ในปี พ.ศ.2561 นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้นำเครื่องมือและประสบการณ์ที่ได้มีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับองค์กรธุรกิจนานกว่า 17 ปี มาบรรจุไว้ในสามหมวดบริการหลัก ภายใต้ Sustainability Store ได้แก่ การจัดทำกรอบความยั่งยืน (S-Framework) การประเมินระดับความยั่งยืน (S-Score) และการวางกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานความยั่งยืน (S-Report)


S-Framework
การจัดทำกรอบความยั่งยืน
เป็นการศึกษาและทบทวนข้อมูลสถานภาพด้านความยั่งยืนในปัจจุบันของกิจการ เพื่อค้นหาประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กร แนวการบริหารจัดการ และตัวบ่งชี้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่สำคัญ สำหรับใช้ขับเคลื่อนองค์กรให้เข้าสู่วิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน และใช้เป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์องค์กรภายใต้บริบทความยั่งยืน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องใน 3 ขั้นตอน ได้แก่ การระบุประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวเนื่อง (Identification) ซึ่งส่งผลกระทบที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และส่งผลต่อการตัดสินใจและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย การจัดลำดับความสำคัญของรายการประเด็นความยั่งยืน (Prioritization) โดยคำนึงถึงบริบททางธุรกิจ ทรัพยากรที่องค์กรสามารถนำมาใช้ และความพร้อมขององค์กร และการตรวจสอบความครบถ้วนของประเด็นความยั่งยืนที่องค์กรคัดเลือกเพื่อดำเนินการ (Validation) เพื่อให้แน่ใจว่า ประเด็นที่ถูกคัดเลือกมาจากขั้นตอนการจัดลำดับความสำคัญก่อนหน้า ได้รับการพิจารณาอย่างครอบคลุม ไม่ตกหล่นหรือเกินเลย ด้วยปัจจัย เงื่อนไข และข้อจำกัดต่างๆ อย่างรอบด้าน

S-Score
การประเมินระดับความยั่งยืน
เป็นบริการที่ช่วยสอบทานสถานะความยั่งยืนของกิจการ โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มที่องค์กรเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งมีความคาดหวังและความสนใจในเรื่องที่กิจการดำเนินการแตกต่างกัน รวมทั้งการวิเคราะห์เพื่อระบุถึงสิ่งที่องค์กรควรดำเนินการ (Gap Analysis) ในแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดเป็นผลการดำเนินงานที่นำไปสู่การยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ โดยมีขั้นตอนที่ประกอบด้วย การกำหนดพื้นที่การดำเนินงานหรือมณฑลแห่งความยั่งยืนของกิจการ (Define your sphere) เพื่อประเมินขอบเขตของเรื่องที่เกี่ยวข้องในมุมมองของผู้มีส่วนได้เสีย การยอมรับในบรรทัดฐานหรือความคาดหวังในข้อปฏิบัติที่กิจการพึงมีต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง (Recognize norm / expectations) เพื่อสานความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับผู้เกี่ยวข้องที่อยู่รายรอบกิจการให้ดำเนินไปอย่างเป็นปกติสุข และการดำเนินบทบาทขององค์กร (Perform organizational roles) ที่สอดคล้องกับบรรทัดฐาน และ/หรือความคาดหวังเหล่านั้น เพื่อการบรรลุเป้าหมายปลายทางที่เป็นความยั่งยืนของกิจการ

S-Report
การวางกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานความยั่งยืน
เป็นบริการที่มิใช่การจัดทำเล่มรายงาน แต่เป็นการวางกระบวนการรายงานที่ประกอบด้วยงาน 5 ระยะ (Prepare -> Connect -> Define -> Monitor -> Report) ตามข้อแนะนำขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) โดยยึดหลักการของบริบทความยั่งยืน หลักความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย หลักการสารัตถภาพ และหลักความครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งเน้นการบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร ทั้งนี้ เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการจากกระบวนการรายงาน (Reporting Process) มากกว่าการกำหนดให้เป็นเพียงโครงการที่มุ่งหวังเพียงแค่เอกสารรายงาน (Report) ในขั้นสุดท้ายเท่านั้น

ทั้งสามหมวดบริการหลัก องค์กรธุรกิจสามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับสถานะของกิจการ เช่น กิจการที่มีการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่า องค์กรของตนทำได้ดีเพียงใด เมื่อเทียบกับบรรทัดฐานหรือองค์กรข้างเคียงอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรม สามารถใช้ประโยชน์จากการประเมินระดับความยั่งยืน หรือ S-Score เพื่อทวนสอบเรื่องที่ดำเนินการว่ามีความครอบคลุมเพียงพอต่อการยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง และสามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายปลายทางที่เป็นความยั่งยืนของกิจการหรือไม่ เพียงใด

ส่วนกิจการที่คิดว่ามีการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนได้เป็นที่น่าพอใจแล้ว อาจใช้ประโยชน์จากการวางกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานความยั่งยืน หรือ S-Report เพื่อนำผลการดำเนินงานเหล่านั้น มาเปิดเผยตามมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นการทวีคุณค่าของการดำเนินงาน ไปสู่การรายงาน เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ

ขณะที่ กิจการซึ่งมีความสนใจที่จะริเริ่มดำเนินการเรื่องความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ หรือเพิ่งเริ่มต้นดำเนินการและต้องการทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมกับองค์กรตนเองตั้งแต่เริ่มแรก สามารถใช้ประโยชน์จากการจัดทำกรอบความยั่งยืน หรือ S-Framework เพื่อระบุรายการประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการ ตามความพร้อมขององค์กรและบริบททางธุรกิจ เป็นต้น

องค์กรธุรกิจที่สนใจ สามารถแวะเยี่ยมเยียน Sustainability Store ทางเว็บไซต์ http://thaipat.org ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: