Sunday, March 31, 2019

ผลกระทบกับความยั่งยืน

ทุกกิจการ ส่งผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่งต่อผู้คนและต่อโลก ทั้งที่เป็นผลบวกและผลลบ ทั้งที่เจตนาและไม่เจตนา อาทิ ค่าจ้างที่พนักงานได้รับเป็นผลที่สร้างขึ้นจากแทบทุกกิจการ น้ำทิ้งที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำท้องถิ่นเป็นผลที่อาจเกิดขึ้นจากกิจการเครื่องนุ่งห่ม ลูกค้ามีพัฒนาการด้านสุขภาพจากผลิตภัณฑ์ที่มาจากกิจการในอุตสาหกรรมฟิตเนส ฯลฯ

แรงจูงใจในการจัดการผลกระทบจะมีความแตกต่างกันออกไป กิจการบางกลุ่ม มุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อผู้คนและโลกให้ดีขึ้น ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง ดำเนินการเพราะกังวลว่าจะเกิดความเสี่ยงในด้านชื่อเสียงและในด้านกฎระเบียบหากไม่ปฏิบัติตาม และบางกลุ่มเห็นเป็นโอกาสในการสร้างคุณค่าในเชิงพาณิชย์ เช่น การลดค่าใช้จ่ายด้วยการประหยัดพลังงาน การเพิ่มอัตราการคงอยู่ของแรงงาน หรือความภักดีของลูกค้า ส่วนบางกลุ่มเชื่อว่าธุรกิจควรเคารพต่อสังคมและต้องการยึดมั่นกับมโนคตินั้น

ด้วยความหลากหลายนี้เอง เจตจำนง (Intention) ของกิจการ จึงมีพิสัยครอบคลุมที่ตั้งต้นจากข้อผูกมัดกว้างๆ อาทิ เพื่อบรรเทาความเสี่ยง เพื่อบรรลุผลทางการเงินที่ยั่งยืนในระยะยาว หรือเพื่อฝากรอยประทับด้านบวกบนโลก ไปจนถึงการให้วัตถุประสงค์ละเอียด เช่น เพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มคน พื้นที่ ผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจง หรือเพื่อรับมือกับความท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในเรื่องที่ให้ความสนใจเป็นการเฉพาะ

คำถามมีอยู่ว่า กิจการจะสามารถระบุได้อย่างไรว่า ผลที่สร้างขึ้นอันไหนที่มีความสำคัญ และข้อมูลอะไรที่กิจการสามารถรวบรวมเพื่อประเมินสมรรถนะของผลที่มีความสำคัญเหล่านั้น

องค์กรสามารถระบุผลที่สำคัญได้ และนำไปสู่การบริหารจัดการผลนั้นๆ ได้ ด้วยการประเมินผลกระทบใน 5 มิติ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของหลายฝ่ายภายใต้กลุ่ม IMP (Impact Management Project) ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันขององค์กรจัดทำมาตรฐานชั้นนำหลายแห่ง อาทิ UNDP, OECD, GRI ฯลฯ โดยมิติเหล่านี้ สามารถใช้เป็นกรอบในการทำความเข้าใจถึงผลที่เป็นผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

ผลกระทบ หรือ Impact ตามนิยามของ IMP ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า คือ ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ใน 5 มิติ ได้แก่ อะไร (What) ใคร (Who) เท่าใด (How Much) ระดับการเข้ามีส่วนร่วม (Contribution) และความเสี่ยง (Risk)


ในมิติ What มีผลลัพธ์อะไรที่สัมพันธ์กับผลที่สร้างขึ้นจากกิจการ และมีความสำคัญอย่างไรต่อผู้คนและโลก ในมิติ Who ใครบ้างที่เป็นผู้ได้รับผล และเป็นกลุ่มผู้ที่ต้องการผลลัพธ์นี้มากน้อยเพียงใด ในมิติ How Much ผลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวมีนัยสำคัญมากน้อยเพียงใด ในมิติ Contribution กิจการมีส่วนในผลที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และในมิติ Risk มีความเสี่ยงอะไรและอย่างไร (ต่อผู้คนและโลก) หากผลไม่เป็นไปดังหวัง

ข้อพิจารณาสำหรับกิจการต่อการจัดการผลกระทบ พึงระลึกว่า ผลที่มีนัยสำคัญ มิได้เกิดจากการจ้างงานหรือผลิตภัณฑ์และบริการที่กิจการส่งมอบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสายการจัดจำหน่าย แหล่งดำเนินการ หรือสายอุปทานของกิจการ ที่ในหลายกรณี มีผลกระทบสำคัญ ไม่น้อยกว่าที่กิจการดำเนินการเองโดยลำพัง

ทั้งนี้ กิจการไม่สามารถแลก (Trade-off) การก่อผลกระทบทางลบบางเรื่อง ด้วยการสร้างผลกระทบทางบวกอีกเรื่องหนึ่งทดแทน อาทิ การปล่อยมลภาวะจากสถานประกอบการที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน และจัดให้มีสถานพยาบาลหรือคลินิกรักษาผู้ที่เจ็บป่วยในชุมชน

หรือกิจการไม่สามารถเลือกสร้างผลกระทบทางบวก โดยเพิกเฉยต่อผลกระทบทางลบที่ติดตามมาจากการดำเนินการนั้น อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อการจ้างงานในท้องถิ่น โดยมีการแย่งชิงทรัพยากรน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภคหรือทำการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ เป็นต้น

ความสามารถในการระบุถึงผลกระทบที่มีความสำคัญ และการประเมินผลกระทบที่มีความสำคัญเหล่านั้น เป็นกลไกที่จะช่วยให้กิจการสามารถบริหารจัดการผลกระทบได้อย่างเป็นระบบและรอบด้าน ก่อให้เกิดการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะความยั่งยืนของกิจการนั่นเอง


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, March 17, 2019

การลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม

เมื่อสามปีที่แล้ว สถาบันไทยพัฒน์ได้นำแนวคิดการลงทุนที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Investment มาใช้ริเริ่มจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในตราสารทุน หรือหลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อสะสมดอกผลที่ได้รับจากการลงทุนระยะยาว มาใช้ในกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) โดยไม่กระทบกับเงินลงทุนตั้งต้น

ปัจจุบัน กองทุน ESG ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดดังกล่าว ได้ให้ดอกผลแก่องค์กรผู้ลงทุนที่สามารถนำไปใช้ในกิจกรรม CSR ของบริษัท ได้ตามเจตนารมณ์

ในปี พ.ศ.2562 นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ต่อยอดแนวคิดการลงทุนที่ยั่งยืนไปอีกขั้น ด้วยแนวคิดการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม หรือ Social Outcome Investment โดยเป็นการลงทุนระยะยาวผ่านกองทุน ESG เพื่อส่งมอบดอกผลให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) หรือองค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Organization: CSO) ที่องค์กรผู้ลงทุนคัดเลือกเป็นคู่ความร่วมมือหรือหุ้นส่วนดำเนินงาน สำหรับนำไปใช้พัฒนาหรือแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุผลลัพธ์ทางสังคม ตามที่เห็นพ้องร่วมกัน


แนวคิดการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม เป็นการลงทุนโดยที่เงินต้นไม่สูญไปเหมือนในกรณีเงินบริจาคแบบให้เปล่า และองค์กรผู้ลงทุนจะได้รับเงินลงทุนคืนตามเงื่อนเวลาที่ตกลงกัน (เช่น เมื่อครบกำหนด 3 ปี จากมูลค่าหน่วยลงทุนขณะนั้น) ขณะที่ดอกผลที่ได้จากกองทุน ESG จะนำไปใช้เป็นทรัพยากรในการทำงานโดยวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาบริการให้สนองความต้องการของสังคมกลุ่มเป้าหมาย ในการบรรลุผลลัพธ์ทางสังคมที่คาดหวัง ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรผู้ลงทุน

ทั้งนี้ ระดับการมีส่วนร่วมขององค์กรผู้ลงทุนในการดำเนินงานกับวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือองค์กรภาคประชาสังคมที่เป็นคู่ความร่วมมือ จะสัมพันธ์กับขีดความสามารถในการใช้สินทรัพย์และความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ขององค์กร ในการตอบสนองต่อประเด็นทางสังคมดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือองค์กรภาคประชาสังคม จะมีพื้นที่การดำเนินงานที่เอื้อให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคมที่คาดหวังเพิ่มเติมจากเดิม และเป็นโอกาสในการสร้างการยอมรับจากสังคมในวงกว้างอีกทางหนึ่ง

ผลได้จากการดำเนินงานในโครงการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม จะเป็นการยกระดับจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ไปสู่การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างกิจการกับสังคม หรือ Corporate Social Partnership (CSP) เพื่อส่งมอบผลลัพธ์ทางสังคมที่คาดหวังด้วยการทำงานร่วมกัน แตกต่างจากเดิมที่ต่างฝ่ายต่างทำงาน และมิได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกัน

ตัวอย่างความริเริ่มที่สามารถใช้กลไกการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม มาสนับสนุนการทำงาน ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ SE Development Fund สำหรับองค์กรผู้ลงทุนที่ต้องการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมในสังกัดขององค์กรตนเอง หรือวิสาหกิจเพื่อสังคมอื่นทั่วไป ด้วยการใช้ดอกผลจากการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม เป็นทุนสำหรับส่งเสริมการพัฒนาหรือสนับสนุนการดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เป็นกิจการเป้าหมาย เพื่อให้สามารถพัฒนาสินค้าและบริการที่สนองความต้องการได้ตามวัตถุประสงค์ทางสังคมของกิจการ ภายใต้ข้อตกลงระหว่างองค์กรผู้ให้ทุนกับวิสาหกิจเพื่อสังคมในระยะเวลาที่กำหนดร่วมกัน

อีกหนึ่งตัวอย่างความริเริ่ม ได้แก่ การรับประกันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Insuring SDGs สำหรับธุรกิจประกัน ในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการรับประกันการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโครงการที่ผ่านการประเมินโอกาส/ความเสี่ยงในการดำเนินงาน โดยใช้ดอกผลจากการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคมเป็นทุนในการสำรองค่าสินไหมทดแทน ในกรณีที่โครงการไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ แต่หากโครงการดำเนินงานไปได้ด้วยดีตามวัตถุประสงค์ กิจการสามารถมีรายได้จากเบี้ยรับที่เกิดจากกรมธรรม์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่อตอบสนองโอกาสที่มากับ SDGs

สถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมกับ บลจ.แอล เอช ฟันด์ จัดตั้งกองทุนเปิด แอล เอช หุ้นไทย ESG เพื่อใช้เป็นกลไกการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม โดยมีนโยบายที่จะลงทุนในตราสารแห่งทุนเพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนีผลตอบแทนรวม อีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index (TR) และสามารถนำดอกผลที่ได้รับจากการลงทุน มาใช้เป็นทรัพยากรในการทำงานของวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาบริการให้สนองความต้องการของสังคมกลุ่มเป้าหมาย ในการบรรลุผลลัพธ์ทางสังคมที่คาดหวังร่วมกัน

บริษัทหรือองค์กรธุรกิจที่สนใจ สามารถเข้าร่วมเป็นผู้บุกเบิกการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม ผ่านทางกองทุนเปิด แอล เอช หุ้นไทย ESG โดยจะทำการเสนอขายครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 18 - 27 มี.ค.2562 นี้

สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือองค์กรภาคประชาสังคม ที่สนใจเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนดำเนินงาน สามารถแนะนำหรือจับคู่ความร่วมมือกับองค์กรผู้เป็นเจ้าของทุนที่ตนรู้จัก เพื่อใช้กลไกการลงทุนดังกล่าว สะสมดอกผลไปใช้พัฒนาหรือแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุผลลัพธ์ทางสังคม ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, March 03, 2019

6 ทิศทาง CSR ปี 62

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ ได้ประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2562: The Power of Sustainability เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจในการใช้เป็นแนวทางการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้ธีม Value x Impact ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรและความคาดหวังของสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน

ในรอบปี 2562 องค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน และตระหนักถึงการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ จะได้พบกับประเด็นใหม่ๆ ที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กร ใน 6 ทิศทางสำคัญ ดังนี้

1.The Rise of Waste-Free Campaign
แปลงขยะ (Waste) ปลายทาง ให้กลับมาเป็นวัสดุ (Materials) ต้นทาง

ปี 2562 ธุรกิจในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคหลายแห่ง จะลุกขึ้นมาจัดการกับขยะบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะพลาสติก ทั้งในแง่ของการส่งเสริมการลดใช้บรรจุภัณฑ์แบบครั้งเดียวทิ้ง การหาวิธีทดแทนบรรจุภัณฑ์เดิม และการใช้ซ้ำบรรจุภัณฑ์ ในขณะที่ธุรกิจในหมวดพาณิชย์ที่เป็นผู้ให้บริการจำหน่ายสินค้าปลีก โดยเฉพาะที่มีหน้าร้านเป็นสถานที่จัดจำหน่าย จะออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นหรือจูงใจให้ผู้บริโภค ลดการรับหีบห่อหรือภาชนะที่เป็นพลาสติกอย่างต่อเนื่อง

2.Inclusive Supply Chain
เปลี่ยนบทบาทผู้ด้อยโอกาส จากการเป็น ‘ผู้รับมอบ’ ความช่วยเหลือ มาเป็น ‘ผู้ส่งมอบ’ ในสายอุปทาน

ภาคธุรกิจจะให้ความช่วยเหลือทางสังคมแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ถูกคัดเลือก ด้วยการพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการ การสร้างอาชีพรายได้ แทนการมอบเงินหรือสิ่งของ ในลักษณะที่เป็น CSR-after-process มาสู่การจัดหาด้วยการเปิดโอกาสให้เป็นผู้ส่งมอบในสายอุปทาน ซึ่งจัดเป็น CSR-in-process ที่ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

3.The Shift to the SDG Economy
เคลื่อนย้ายสู่ระบบเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในปี 2562 เป็นต้นไป ความเข้มข้นของการขับเคลื่อนเพื่อตอบสนองต่อ SDGs ในภาคธุรกิจ จะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการดำเนินงานที่เป็นไปอย่างรับผิดชอบ (Act Responsibly) ต่อผลกระทบในเชิงลบ แต่รวมถึงการแสวงหาโอกาส (Find Opportunities) ที่เป็นการสร้างคุณค่าหรือผลกระทบในเชิงบวก เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Economy)

4.Investment in the Third Dimension
เปิดโลกทัศน์การลงทุน จาก Risk-Return Profile ไปสู่การเพิ่มมิติที่เป็น Real World Impact

ผู้ลงทุนประเภทสถาบันที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้าน ESG จะเพิ่มการพิจารณาผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก (Real World Impact) เป็นมุมมองของการลงทุนในมิติที่สาม เพิ่มเติมจากการพิจารณาคุณลักษณะความสัมพันธ์ด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk-Return Profile) ในแบบทั่วไป

5.Impact is the New AccountAbility Principle
ใช้หลักการ AccountAbility เพื่อจัดการ Sustainability อย่างบูรณาการ

เป็นที่คาดหมายว่า กิจการที่ต้องการสร้างความน่าเชื่อถือในผลการดำเนินงานและการรายงานด้านความยั่งยืน ผ่านการให้ความเชื่อมั่นจากหน่วยงานภายนอก (External Assurance) จะนำชุดหลักการ AccountAbility ที่ได้เพิ่มเติมหลักผลกระทบ (Impact) ไว้เป็นหลักการที่สี่ มาใช้กำกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และสื่อสารถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในรอบปีการดำเนินงานนี้เป็นต้นไป

6.Sustainability S-Curve
ยกระดับจากกลยุทธ์ความยั่งยืน (Sustainability Strategy) ไปสู่กลยุทธ์ที่ยั่งยืน (Sustainable Strategy)

วิสาหกิจที่อาศัยกลยุทธ์ความยั่งยืน เป็นเครื่องมือดำเนินงานมาระยะหนึ่ง จะเริ่มผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์องค์กร มีการวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงด้านความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ และคณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้กำกับดูแลกลยุทธ์ (องค์กร) ที่ยั่งยืน (Sustainable Strategy) โดยไม่จำเป็นต้องมีคณะผู้รับผิดชอบด้านความยั่งยืนแยกต่างหากอีกต่อไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]