ทุกกิจการ ส่งผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่งต่อผู้คนและต่อโลก ทั้งที่เป็นผลบวกและผลลบ ทั้งที่เจตนาและไม่เจตนา อาทิ ค่าจ้างที่พนักงานได้รับเป็นผลที่สร้างขึ้นจากแทบทุกกิจการ น้ำทิ้งที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำท้องถิ่นเป็นผลที่อาจเกิดขึ้นจากกิจการเครื่องนุ่งห่ม ลูกค้ามีพัฒนาการด้านสุขภาพจากผลิตภัณฑ์ที่มาจากกิจการในอุตสาหกรรมฟิตเนส ฯลฯ
แรงจูงใจในการจัดการผลกระทบจะมีความแตกต่างกันออกไป กิจการบางกลุ่ม มุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อผู้คนและโลกให้ดีขึ้น ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง ดำเนินการเพราะกังวลว่าจะเกิดความเสี่ยงในด้านชื่อเสียงและในด้านกฎระเบียบหากไม่ปฏิบัติตาม และบางกลุ่มเห็นเป็นโอกาสในการสร้างคุณค่าในเชิงพาณิชย์ เช่น การลดค่าใช้จ่ายด้วยการประหยัดพลังงาน การเพิ่มอัตราการคงอยู่ของแรงงาน หรือความภักดีของลูกค้า ส่วนบางกลุ่มเชื่อว่าธุรกิจควรเคารพต่อสังคมและต้องการยึดมั่นกับมโนคตินั้น
ด้วยความหลากหลายนี้เอง เจตจำนง (Intention) ของกิจการ จึงมีพิสัยครอบคลุมที่ตั้งต้นจากข้อผูกมัดกว้างๆ อาทิ เพื่อบรรเทาความเสี่ยง เพื่อบรรลุผลทางการเงินที่ยั่งยืนในระยะยาว หรือเพื่อฝากรอยประทับด้านบวกบนโลก ไปจนถึงการให้วัตถุประสงค์ละเอียด เช่น เพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มคน พื้นที่ ผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจง หรือเพื่อรับมือกับความท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในเรื่องที่ให้ความสนใจเป็นการเฉพาะ
คำถามมีอยู่ว่า กิจการจะสามารถระบุได้อย่างไรว่า ผลที่สร้างขึ้นอันไหนที่มีความสำคัญ และข้อมูลอะไรที่กิจการสามารถรวบรวมเพื่อประเมินสมรรถนะของผลที่มีความสำคัญเหล่านั้น
องค์กรสามารถระบุผลที่สำคัญได้ และนำไปสู่การบริหารจัดการผลนั้นๆ ได้ ด้วยการประเมินผลกระทบใน 5 มิติ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของหลายฝ่ายภายใต้กลุ่ม IMP (Impact Management Project) ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันขององค์กรจัดทำมาตรฐานชั้นนำหลายแห่ง อาทิ UNDP, OECD, GRI ฯลฯ โดยมิติเหล่านี้ สามารถใช้เป็นกรอบในการทำความเข้าใจถึงผลที่เป็นผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
ผลกระทบ หรือ Impact ตามนิยามของ IMP ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า คือ ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ใน 5 มิติ ได้แก่ อะไร (What) ใคร (Who) เท่าใด (How Much) ระดับการเข้ามีส่วนร่วม (Contribution) และความเสี่ยง (Risk)
ในมิติ What มีผลลัพธ์อะไรที่สัมพันธ์กับผลที่สร้างขึ้นจากกิจการ และมีความสำคัญอย่างไรต่อผู้คนและโลก ในมิติ Who ใครบ้างที่เป็นผู้ได้รับผล และเป็นกลุ่มผู้ที่ต้องการผลลัพธ์นี้มากน้อยเพียงใด ในมิติ How Much ผลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวมีนัยสำคัญมากน้อยเพียงใด ในมิติ Contribution กิจการมีส่วนในผลที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และในมิติ Risk มีความเสี่ยงอะไรและอย่างไร (ต่อผู้คนและโลก) หากผลไม่เป็นไปดังหวัง
ข้อพิจารณาสำหรับกิจการต่อการจัดการผลกระทบ พึงระลึกว่า ผลที่มีนัยสำคัญ มิได้เกิดจากการจ้างงานหรือผลิตภัณฑ์และบริการที่กิจการส่งมอบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสายการจัดจำหน่าย แหล่งดำเนินการ หรือสายอุปทานของกิจการ ที่ในหลายกรณี มีผลกระทบสำคัญ ไม่น้อยกว่าที่กิจการดำเนินการเองโดยลำพัง
ทั้งนี้ กิจการไม่สามารถแลก (Trade-off) การก่อผลกระทบทางลบบางเรื่อง ด้วยการสร้างผลกระทบทางบวกอีกเรื่องหนึ่งทดแทน อาทิ การปล่อยมลภาวะจากสถานประกอบการที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน และจัดให้มีสถานพยาบาลหรือคลินิกรักษาผู้ที่เจ็บป่วยในชุมชน
หรือกิจการไม่สามารถเลือกสร้างผลกระทบทางบวก โดยเพิกเฉยต่อผลกระทบทางลบที่ติดตามมาจากการดำเนินการนั้น อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อการจ้างงานในท้องถิ่น โดยมีการแย่งชิงทรัพยากรน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภคหรือทำการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ เป็นต้น
ความสามารถในการระบุถึงผลกระทบที่มีความสำคัญ และการประเมินผลกระทบที่มีความสำคัญเหล่านั้น เป็นกลไกที่จะช่วยให้กิจการสามารถบริหารจัดการผลกระทบได้อย่างเป็นระบบและรอบด้าน ก่อให้เกิดการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะความยั่งยืนของกิจการนั่นเอง
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Sunday, March 31, 2019
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment