Thursday, July 31, 2014

รางวัลรายงานความยั่งยืน ปีที่ 2

วานนี้ (30 กรกฎาคม) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย โดย CSR Club และสถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดแถลงข่าวโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report Award) เป็นปีที่สอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และบริษัททั่วไปดำเนินการเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบของรายงานความยั่งยืน โดยคำนึงถึงการผนวกเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร

ดร.มาการิม วิบิโซโน ผู้อำนวยการมูลนิธิอาเซียน ซึ่งได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลรายงานความยั่งยืนเมื่อปีที่แล้ว ได้กล่าวไว้ว่า โครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนที่ประเทศไทยได้ริเริ่มขึ้นนี้ มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในการใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการผนวกเรื่อง CSR เข้าไว้ในวาระการดำเนินงานขององค์กร ด้วยการใช้รายงานความยั่งยืนขับเคลื่อนการดำเนินงาน ทั้งนี้ อยากให้ประเทศไทยขยายการดำเนินโครงการให้ครอบคลุมการเข้าร่วมของภาคธุรกิจในประเทศสมาชิกอื่นๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในระดับอาเซียนด้วย

ทำให้โครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนในปี พ.ศ.2557 นี้ จะมีการเชิญชวนประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยเริ่มจากสมาชิกของ ASEAN CSR Network ซึ่งประกอบด้วย ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ให้เข้าร่วมส่งรายงานความยั่งยืนเพื่อการพิจารณารางวัลด้วย

สำหรับภาคธุรกิจในประเทศไทย ทั้งบริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งได้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน และสนใจจะเข้าร่วมโครงการ สามารถนำส่งเอกสารรายงานความยั่งยืน (CSR Report/SD report) ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชน ประกอบด้วย ข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดทำไว้แยกเล่มหรือรวมอยู่กับรายงานประจำปี จำนวน 7 ฉบับ มายังสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 5 กันยายน 2557

คณะกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัล ประกอบด้วย คุณโสภาวดี เลิศมนัสชัย อดีตเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนทหารไทย รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ คณะนิเทศศาสตร์ฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และผศ.ดร.สมพร กมลศิริพิชัยพร ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับเกณฑ์การตัดสินรางวัล จะพิจารณาจากข้อมูลที่เผยแพร่ในรายงานความยั่งยืนใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความสมบูรณ์ (Completeness) ด้านความเชื่อถือได้ (Credibility) ด้านการสื่อสารและนำเสนอ (Communication) โดยจะไม่มีการใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใด ๆ เพิ่มเติม

บริษัทที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมีสิทธิ์ที่จะได้รับรางวัลรายงานความยั่งยืน ระดับดีเด่น (ไม่จำกัดจำนวนรางวัล) ส่วนรางวัลรายงานความยั่งยืน ระดับดีเยี่ยม และระดับยอดเยี่ยม จะมีระดับละ 1 รางวัล โดยรางวัลดังกล่าวจะมีการประกาศผลในงาน CSR Thailand 2014 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 11 และ 12 พฤศจิกายน 2557 และจะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557

ทั้งนี้ โครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนในปีแรก มีองค์กรที่สนใจส่งรายงานเข้าร่วมจำนวน 48 แห่ง เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด SET จำนวน 43 แห่ง บริษัทจดทะเบียนในตลาด mai จำนวน 2 แห่ง และบริษัททั่วไปที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 3 แห่ง แบ่งเป็นรายงานความยั่งยืน/CSR ร้อยละ 77.1 และรายงานประจำปี ร้อยละ 22.9 ของจำนวนรายงานทั้งหมดที่ส่งเข้าร่วมโครงการ

โดยบริษัทที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานและได้รับรางวัลในปีแรก มีทั้งสิ้น 18 แห่ง บริษัทที่ได้รับรางวัลรายงานความยั่งยืน ระดับยอดเยี่ยม ได้แก่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย และระดับดีเยี่ยม ได้แก่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม ส่วนรางวัลดีเด่นจำนวน 16 แห่ง ประกอบด้วย บมจ.ธนาคารกสิกรไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย บมจ.การบินไทย บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา บมจ.ไทยออยล์ บมจ.บ้านปู บมจ.ปตท. บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม บมจ.ผลิตไฟฟ้า บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส และ บมจ.ไออาร์พีซี...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 24, 2014

เปิดมุมมองการลงทุนแบบ SRI

คำว่า Socially Responsible Investing หรือ SRI ไม่ใช่คำใหม่ในแวดวงของผู้ลงทุน เป็นคำที่ใช้อธิบายถึงรูปแบบของการลงทุน ที่นอกเหนือจากการหวังผลตอบแทนการลงทุนจากหน่วยลงทุนหรือกิจการที่เข้าลงทุนแล้ว ยังคำนึงถึงลักษณะการดำเนินงานของกิจการที่เข้าลงทุน ในส่วนของผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

การลงทุนในลักษณะดังกล่าวในยุคแรก จะคำนึงถึงการไม่เข้าลงทุนในกิจการที่ตัวสินค้าและบริการก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมหรือขัดกับหลักศีลธรรมจรรยา (Negative Screening) เช่น กิจการที่เป็นอบายมุขต่างๆ การค้าอาวุธ ยาพิษ การค้ามนุษย์ การค้าสัตว์เพื่อฆ่า ฯลฯ

ยุคต่อมา มีการใช้เกณฑ์คัดเลือกกิจการที่ตัวสินค้าและบริการสร้างให้เกิดผลดีต่อสังคมหรือส่งเสริมหลักศีลธรรมจรรยา (Positive Screening) เช่น กิจการที่มีธรรมาภิบาลที่ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กิจการพลังงานทดแทน เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ

การพัฒนาเกณฑ์การลงทุนในกรอบของ SRI ปัจจุบัน ใช้ปัจจัยการพิจารณาที่เรียกว่า ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental-Social-Governance หรือ สิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล โดยมีประเด็นที่เป็นรายละเอียดภายใต้ปัจจัยหลัก 3 เรื่องนี้แยกย่อยออกไปตามความสนใจของกลุ่มผู้ลงทุน ซึ่งมีความแตกต่างกันจากเงื่อนไขในการลงทุนทั้งในแง่ของระยะเวลาการลงทุน อุตสาหกรรมที่เข้าลงทุน ประเทศที่กิจการนั้นตั้งอยู่ เป็นต้น

US SIF หน่วยงานในสหรัฐอเมริกาซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมบทบาทการลงทุนโดยใช้เกณฑ์ ESG ในการสร้างผลตอบแทนทางการเงินที่น่าพอใจในระยะยาว พร้อมๆ กับการสร้างผลกระทบทางสังคมในเชิงบวก รายงานว่า ปัจจุบันเม็ดเงินลงทุน SRI ในสหรัฐอเมริกา มีจำนวนราว 3.74 ล้านล้านเหรียญ หรือคิดเป็นร้อยละ 11.3 ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดซึ่งมีอยู่ประมาณ 33.3 ล้านล้านเหรียญ หรือเทียบได้ว่า ในทุกๆ 9 เหรียญเงินลงทุน จะมี 1 เหรียญที่ลงทุนในแบบ SRI

จากการที่ได้คลุกคลีกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อน CSR ผมได้รับคำถามในทำนองว่า แล้วจากนี้ไป องค์กรธุรกิจจะต้องใช้ ESG แทนคำว่า CSR หรือไม่

คำว่า ESG เป็นภาษาที่กลุ่มผู้ลงทุนใช้ เวลาที่ต้องการเลือกกิจการที่จะเข้าไปลงทุนว่า มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถลงทุนได้หรือไม่ ESG จึงเป็นคำที่ใช้สื่อระหว่างผู้ลงทุนกับบริษัท ส่วนคำว่า CSR เป็นภาษาที่กิจการใช้แสดงถึงการที่บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี) ผ่านทางกระบวนการดำเนินงานต่างๆ ของบริษัท CSR จึงเป็นคำที่ใช้สื่อระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งครอบคลุมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะผู้ลงทุน

ในแง่ขององค์กรที่มีการขับเคลื่อน CSR-in-process หรือมีความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการหลักทางธุรกิจที่ดีอยู่แล้ว ท่านไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการอะไรใหม่ หรือทำเพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่ เพราะสิ่งที่ดำเนินการอยู่ เข้าเกณฑ์ ESG ที่ผู้ลงทุนใช้พิจารณาเข้าลงทุนในบริษัทอยู่แล้ว ส่วนจะลงทุนมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับที่ผู้ลงทุนจะ Benchmark การดำเนินงานตามเกณฑ์ ESG ขององค์กรท่าน เทียบกับองค์กรอื่นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้าลงทุน

ในแง่ขององค์กรที่มีการขับเคลื่อน CSR-after-process ในลักษณะกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งแยกต่างหากจากกระบวนการหลักทางธุรกิจที่ดี แต่การขับเคลื่อนเรื่อง CSR-in-process ยังมีไม่เด่นชัดนัก ท่านอาจจะต้องดำเนินการปรับปรุงพัฒนาในส่วนนี้เพิ่มเติม เพื่อให้เข้าเกณฑ์ ESG เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ลงทุนที่ใช้เกณฑ์ ESG มักจะให้ความสำคัญกับ CSR-in-process มากกว่า CSR-after-process ด้วยจากปัจจัยพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับองค์กร และกับผลประกอบการขององค์กร

กระแสของการลงทุน SRI โดยใช้เรื่อง ESG มาเป็นเครื่องมือพิจารณาตัดสินใจ จึงยิ่งไปขับเน้นความสำคัญของ CSR-in-process ที่กิจการควรต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและต้องทำให้ได้ผลครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 17, 2014

เริ่มจากเสียใจ..ตามด้วยแก้ไข

จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวโดยอ้างถึงเอกสารการทำงานของหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารรายใหญ่ บนสื่อออนไลน์ที่นำเสนอข่าวในเชิงสืบสวน ว่ามีการซื้อสื่อ มีการจ่ายเงินรายเดือนแก่สื่อมวลชนอาวุโส การฝากข่าว แก้ไขข่าว หรือการอ้างชื่อนักวิชาการเพื่อความน่าเชื่อถือ โดยในเนื้อข่าวยังปรากฏชื่อของสื่อมวลชน และข้อมูลส่วนตัวของผู้สื่อข่าวที่เกี่ยวข้อง

จากการชี้แจงของบริษัทต่อกรณีดังกล่าว นับจนถึงเวลาที่เขียนบทความนี้ สรุปประเด็นได้ว่า บริษัทมิได้ปฏิเสธว่า มิได้มีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น แต่เป็นการปฏิบัติต่อสื่อมวลชนและการดำเนินการเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามงบประมาณที่นำเสนอไว้กับบริษัทและสามารถตรวจสอบได้ โดยหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของบริษัทยังต้องจัดทำงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการสนับสนุนกิจกรรมของสื่อมวลชนในกรณีพิเศษ เช่น การจัดกอล์ฟการกุศลเพื่อระดมทุนไปใช้ในกิจกรรมพิเศษของสื่อนั้นๆ หรือ การจัดงานสัมมนาต่าง ๆ เป็นต้น

เหล่านี้ถือเป็นงบปกติที่องค์กรขนาดใหญ่มีการจัดสรรงบประมาณไว้รองรับ และจำเป็นต้องระบุชัดเจนเป็นงบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน

ขณะที่ฟากขององค์กรวิชาชีพสื่อ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือในองค์กรสื่อและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับงบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน ซึ่งหากเป็นการให้ในลักษณะต่างตอบแทน จะขัดต่อหลักการแห่งวิชาชีพ ที่สื่อมวลชนต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใดๆ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด อันจะขัดต่อการปฎิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน

ผลพวงจากกรณีนี้ ได้ทำให้สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ออกมาแถลงแสดงจุดยืนถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยยึดจรรยาบรรณสื่อมวลชน ระบุว่าการรับเงินสนับสนุนจากเอกชนเพื่อใช้พัฒนาสื่อ และยืนยันการดำเนินการว่าเป็นไปอย่างโปร่งใส พร้อมให้ตรวจสอบได้

นอกจากนี้ เครือโพสต์พับลิชชิง โดยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ ประกอบด้วย บางกอกโพสต์ โพสต์ทูเดย์ และหนังสือพิมพ์ M2F ได้ออกมาประกาศงดเสนอข่าว-ร่วมกิจกรรมกับบริษัทดังกล่าวชั่วคราว พร้อมสนับสนุนการตรวจสอบกรณีซื้อสื่อ หลังปรากฎรายชื่อผู้บริหารระดับสูงอยู่ในเอกสารด้วย

เรื่องนี้ได้กลายเป็น “เผือกร้อน” ในวงการสื่อมวลชน กระทบกระเทือนถึงบทบาทที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนกับสื่อมวลชน รวมไปถึงเรื่องความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจ หรือ CSR ที่มีต่อสังคม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่องห่างระหว่างหลักการแห่งวิชาชีพกับการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงนั้น มีอยู่จริง จะมากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ละวงการวิชาชีพ และจะกลายเป็นประเด็นก็ต่อเมื่อ กรณีดังกล่าวถูกเปิดเผยแก่สาธารณชน หรือก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อส่วนรวม จนไม่อาจเพิกเฉยได้

ทั้งนี้ การดำเนินการต่อกรณีที่เกิดขึ้น มี 2 แนวทางที่ต้องเลือกระหว่าง การยอมรับว่ามีช่องห่างนั้น กับการไม่ยอมรับว่ามีช่องห่างดังกล่าว ซึ่งจะทำให้วิธีการที่ใช้ในการจัดการมีความแตกต่างกัน

ในเบื้องต้น เนื่องจากเอกสารที่หลุดออกมานั้น (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือถูกตัดต่อก็ตาม) ได้ปรากฏข้อความที่แสดงถึงสถานะการทำงาน สภาพที่พักอาศัย ทัศนคติ วิธีการทำงาน และการใช้ชีวิต ของสื่อมวลชนที่ถูกเปิดเผยชื่อ ซึ่งเข้าข่ายการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ที่ดำเนินการเผยแพร่เอกสารดังกล่าว ควรต้องออกมา “ขอโทษ” สื่อมวลชนที่ได้รับความเสียหาย และบริษัทที่เป็นต้นทางของเอกสารชิ้นที่ถูกนำมาเผยแพร่ ควรต้องออกมาแสดงความ “เสียใจ” ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้เสียหายทักท้วงหรือดำเนินการฟ้องร้องเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตนเอง

สำหรับวิธีการที่บริษัทสามารถใช้ในการจัดการต่อกรณีดังกล่าวตามแนวทางแรกที่ยอมรับว่ามีช่องห่างอยู่จริง เริ่มจากการตรวจสอบสถานะของกิจการ (Due Diligence) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวภายในหน่วยงาน การจัดทำรายละเอียดวิธีดำเนินการในการรับมือกับกรณีที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต การสร้างการรับรู้และการให้ความรู้แก่บุคลากรเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันต่อการปฏิบัติงานตามหลักการแห่งวิชาชีพ การกำหนดมาตรการและบทลงโทษในกรณีที่มีการละเมิดหรือฝ่าฝืน การติดตามและปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยการทบทวนและการสอบทานความครบถ้วนเพียงพอของกระบวนการในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานเพื่อให้เป็นไปตามหลักการแห่งวิชาชีพ หรืออาจพิจารณาใช้หน่วยงานภายนอกเป็นผู้ให้ความเชื่อมั่นต่อความเพียงพอของกระบวนการ (External Assurance)

ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการต่อผู้มีส่วนได้เสียภายนอกตามแนวทางนี้ บริษัทต้องนำกลไก CSR มาใช้ในการจัดการและแก้ไขเยียวยา เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อผลกระทบและความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นแล้วจากกรณีดังกล่าว ไม่ใช่การใช้ PR มาเป็นเครื่องมือดำเนินการหลัก แม้เหตุการณ์นี้จะเกิดกับหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของบริษัทก็ตาม

แต่หากบริษัทเลือกที่จะดำเนินการตามแนวทางที่ไม่ยอมรับว่ามีช่องห่างดังกล่าว วิธีการที่ใช้ในการจัดการก็จะแตกต่างไป และอาจจะติดตามเป็นกรณีศึกษาได้จากนี้ไป

เดิมพันระหว่างเครดิตที่หน่วยงาน CSR ได้พยายามสร้างและสั่งสมไว้ กับผลกระทบที่กัดกร่อนภาพลักษณ์องค์กร กำลังถูกท้าทายด้วยกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าว รวมทั้งยังเป็นบทพิสูจน์เรื่อง CSR ขององค์กรและกับบุคลากรที่รับผิดชอบงาน CSR อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 10, 2014

โตเกียวขายาว

เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว (30 มิ.ย.-1 ก.ค.) ผมเดินทางไปกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 2 วัน เพื่อหารือถึงการขับเคลื่อนแนวทางการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Creating Shared Value (CSV) กับบริษัท E-SQUARE Inc. ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการรับรองให้เป็น Certified Shared Value Consultant ในภูมิภาคเอเชีย เช่นเดียวกับสถาบันไทยพัฒน์ จาก Shared Value Initiative ที่เป็นความริเริ่มของ Foundation Strategy Group (FSG) องค์กรที่ปรึกษาไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งก่อตั้งโดย “ไมเคิล อี พอร์เตอร์” และ “มาร์ค เครเมอร์” ผู้ที่เป็นต้นตำรับแนวคิด CSV

เหตุที่ไปญี่ปุ่น ก็เพราะ ประการแรก มีภาคเอกชนของญี่ปุ่นนับร้อยบริษัทในปัจจุบัน ที่มีการศึกษาและได้นำแนวคิด CSV ไปใช้ในองค์กร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง CSV ในภาคปฏิบัติโดยธุรกิจ มากกว่าเป็นเพียงแนวคิดที่อยู่ในบทความวิชาการ เท่าที่ผมทราบ บริษัท คิริน ซึ่งเป็นเจ้าตลาดในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มติดอันดับ 1 ใน 3 ของญี่ปุ่น มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการสร้างคุณค่าร่วมด้วยการใช้กลยุทธ์ CSV ในการผลักดันธุรกิจให้ดำเนินไปตามแนวทางนี้ (ดูคำมั่นจากผู้บริหารที่ kirinholdings)

ประการที่สอง ด้วยความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนาน ระหว่างตัวพอร์เตอร์กับมหาวิทยาลัยฮิโตะสึบะชิ ในกรุงโตเกียว นับตั้งแต่ต้นคริสตทศวรรษ 1980 จากการพัฒนางานวิจัยร่วมกัน ที่นำมาสู่การตีพิมพ์เป็นผลงานในหนังสือ “The Competitive Advantage of Nations” (1990) ตามมาด้วย “Can Japan Compete?” (2000) จนกระทั่งมีการสถาปนา Graduate School of International Corporate Strategy (ICS) และได้มีการก่อตั้งรางวัล “The Porter Prize” มอบให้กับบริษัทญี่ปุ่นซึ่งมีความโดดเด่นในการดำเนินงานและในด้านการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันเป็นประจำทุกปี ทำให้พอร์เตอร์มีกำหนดการประจำที่จะต้องบินไปญี่ปุ่นทุกปีในช่วงปลายปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา

การเดินทางในเที่ยวนี้ ผมได้พบกับ ทาคาชิ คิอูชิ Chairman วัย 79 ปี ของบริษัท E-SQUARE Inc. ผู้ซึ่งเป็นอดีตเบอร์หนึ่งของมิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอร์ปอเรชั่น และเป็นหนึ่งในนักบริหารนอกกรอบที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักธุรกิจญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก เขาได้แต่งหนังสือชื่อ “What We Learned in the Rainforest: Business Lessons from Nature” (2002) ร่วมกับบิล ไชร์แมน และยังได้ร่วมกันก่อตั้ง Future 500 ในอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน เพื่อผสานพลังของภาคธุรกิจและเจตจำนงของภาคประชาสังคมผ่านกระบวนการสานสัมพันธ์ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อมตามแนวทางที่ยั่งยืน

ผมได้สอบถาม ฮิโระ โมโตกิ President ของ E-SQUARE Inc. เพราะอยากทราบเรื่องราวของทาคาชิ เพิ่มเติม เขาบอกให้ผมหยิบธนบัตรฉบับหนึ่งหมื่นเยนขึ้นมาดู แล้วบอกว่า บุคคลที่อยู่ในหน้าธนบัตรที่มีมูลค่าสูงสุดของญี่ปุ่น คือ ทวดของทาคาชิ ชื่อ ยูคิจิ ฟุคุซาวา (1835-1901) ผู้ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวิทยาการสมัยใหม่ของญี่ปุ่น เป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนวิทยาการฮอลันดา ซึ่งปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยเคโอ มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น

ในบรรดาหัวข้อที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันนั้น หนึ่งในเรื่องที่สถาบันไทยพัฒน์ จะดำเนินการหลังจากการหารือในครั้งนี้ คือ การก่อตั้ง CSV Forum ขึ้นในประเทศไทย โดยเป็นความริเริ่มที่ต้องการการผลักดันให้เกิดการพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจคู่สังคมในบริบทของการสร้างคุณค่าร่วมสู่การปฏิบัติขององค์กรชั้นนำในภาคเอกชนไทย และใช้เป็นแหล่งรวมทรัพยากรในรูปขององค์ความรู้ เครื่องมือ ตัวอย่าง และกรณีศึกษา สำหรับการสร้างคุณค่าร่วมในระดับองค์กรและในสายคุณค่า (Value Chain) รวมทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ที่มีต่อการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรที่เข้าร่วม ตลอดจนการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

การพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจคู่สังคมในบริบทของการสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV เป็นหนทางหนึ่งที่ธุรกิจสามารถใช้แก้ปัญหาหรือดูแลประเด็นทางสังคมร่วมที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่ธุรกิจปัจจุบัน อาทิ เรื่องแรงงาน สิทธิมนุษยชน และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้สร้างผลกระทบส่งทอดเป็นลูกโซ่ไปยังองค์กรที่อยู่ในสายอุปทาน (Supply Chain) แม้ว่าองค์กรของตนเองจะมิได้เป็นผู้กระทำหรือเป็นผู้ละเมิดก็ตาม

ในญี่ปุ่นเองได้มีการใช้แนวทางดังกล่าวในระดับของห่วงโซ่ธุรกิจ มีการพัฒนามาตรการที่เป็นรูปธรรมโดยภาคเอกชน เช่น การพัฒนาศักยภาพและการสร้างกลไกสำหรับรับรองระบบการจัดการขององค์กรที่เกี่ยวข้องในสายอุปทานที่เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ

ผมไม่ปฏิเสธว่า ในเรื่อง CSV โตเกียวมีขายาวก้าวนำไปไกลกว่ากรุงเทพบ้านเรา แต่คิดว่าอีกไม่นาน ผมคงจะได้เห็นภาคเอกชนไทยพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจในบริบทของการสร้างคุณค่าร่วมไล่ทันญี่ปุ่นครับ!...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]