เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว (30 มิ.ย.-1 ก.ค.) ผมเดินทางไปกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 2 วัน เพื่อหารือถึงการขับเคลื่อนแนวทางการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Creating Shared Value (CSV) กับบริษัท E-SQUARE Inc. ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการรับรองให้เป็น Certified Shared Value Consultant ในภูมิภาคเอเชีย เช่นเดียวกับสถาบันไทยพัฒน์ จาก Shared Value Initiative ที่เป็นความริเริ่มของ Foundation Strategy Group (FSG) องค์กรที่ปรึกษาไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งก่อตั้งโดย “ไมเคิล อี พอร์เตอร์” และ “มาร์ค เครเมอร์” ผู้ที่เป็นต้นตำรับแนวคิด CSV
เหตุที่ไปญี่ปุ่น ก็เพราะ ประการแรก มีภาคเอกชนของญี่ปุ่นนับร้อยบริษัทในปัจจุบัน ที่มีการศึกษาและได้นำแนวคิด CSV ไปใช้ในองค์กร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง CSV ในภาคปฏิบัติโดยธุรกิจ มากกว่าเป็นเพียงแนวคิดที่อยู่ในบทความวิชาการ เท่าที่ผมทราบ บริษัท คิริน ซึ่งเป็นเจ้าตลาดในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มติดอันดับ 1 ใน 3 ของญี่ปุ่น มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการสร้างคุณค่าร่วมด้วยการใช้กลยุทธ์ CSV ในการผลักดันธุรกิจให้ดำเนินไปตามแนวทางนี้ (ดูคำมั่นจากผู้บริหารที่ kirinholdings)
ประการที่สอง ด้วยความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนาน ระหว่างตัวพอร์เตอร์กับมหาวิทยาลัยฮิโตะสึบะชิ ในกรุงโตเกียว นับตั้งแต่ต้นคริสตทศวรรษ 1980 จากการพัฒนางานวิจัยร่วมกัน ที่นำมาสู่การตีพิมพ์เป็นผลงานในหนังสือ “The Competitive Advantage of Nations” (1990) ตามมาด้วย “Can Japan Compete?” (2000) จนกระทั่งมีการสถาปนา Graduate School of International Corporate Strategy (ICS) และได้มีการก่อตั้งรางวัล “The Porter Prize” มอบให้กับบริษัทญี่ปุ่นซึ่งมีความโดดเด่นในการดำเนินงานและในด้านการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันเป็นประจำทุกปี ทำให้พอร์เตอร์มีกำหนดการประจำที่จะต้องบินไปญี่ปุ่นทุกปีในช่วงปลายปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา
การเดินทางในเที่ยวนี้ ผมได้พบกับ ทาคาชิ คิอูชิ Chairman วัย 79 ปี ของบริษัท E-SQUARE Inc. ผู้ซึ่งเป็นอดีตเบอร์หนึ่งของมิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอร์ปอเรชั่น และเป็นหนึ่งในนักบริหารนอกกรอบที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักธุรกิจญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก เขาได้แต่งหนังสือชื่อ “What We Learned in the Rainforest: Business Lessons from Nature” (2002) ร่วมกับบิล ไชร์แมน และยังได้ร่วมกันก่อตั้ง Future 500 ในอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน เพื่อผสานพลังของภาคธุรกิจและเจตจำนงของภาคประชาสังคมผ่านกระบวนการสานสัมพันธ์ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อมตามแนวทางที่ยั่งยืน
ผมได้สอบถาม ฮิโระ โมโตกิ President ของ E-SQUARE Inc. เพราะอยากทราบเรื่องราวของทาคาชิ เพิ่มเติม เขาบอกให้ผมหยิบธนบัตรฉบับหนึ่งหมื่นเยนขึ้นมาดู แล้วบอกว่า บุคคลที่อยู่ในหน้าธนบัตรที่มีมูลค่าสูงสุดของญี่ปุ่น คือ ทวดของทาคาชิ ชื่อ ยูคิจิ ฟุคุซาวา (1835-1901) ผู้ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวิทยาการสมัยใหม่ของญี่ปุ่น เป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนวิทยาการฮอลันดา ซึ่งปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยเคโอ มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น
ในบรรดาหัวข้อที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันนั้น หนึ่งในเรื่องที่สถาบันไทยพัฒน์ จะดำเนินการหลังจากการหารือในครั้งนี้ คือ การก่อตั้ง CSV Forum ขึ้นในประเทศไทย โดยเป็นความริเริ่มที่ต้องการการผลักดันให้เกิดการพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจคู่สังคมในบริบทของการสร้างคุณค่าร่วมสู่การปฏิบัติขององค์กรชั้นนำในภาคเอกชนไทย และใช้เป็นแหล่งรวมทรัพยากรในรูปขององค์ความรู้ เครื่องมือ ตัวอย่าง และกรณีศึกษา สำหรับการสร้างคุณค่าร่วมในระดับองค์กรและในสายคุณค่า (Value Chain) รวมทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ที่มีต่อการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรที่เข้าร่วม ตลอดจนการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
การพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจคู่สังคมในบริบทของการสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV เป็นหนทางหนึ่งที่ธุรกิจสามารถใช้แก้ปัญหาหรือดูแลประเด็นทางสังคมร่วมที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่ธุรกิจปัจจุบัน อาทิ เรื่องแรงงาน สิทธิมนุษยชน และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้สร้างผลกระทบส่งทอดเป็นลูกโซ่ไปยังองค์กรที่อยู่ในสายอุปทาน (Supply Chain) แม้ว่าองค์กรของตนเองจะมิได้เป็นผู้กระทำหรือเป็นผู้ละเมิดก็ตาม
ในญี่ปุ่นเองได้มีการใช้แนวทางดังกล่าวในระดับของห่วงโซ่ธุรกิจ มีการพัฒนามาตรการที่เป็นรูปธรรมโดยภาคเอกชน เช่น การพัฒนาศักยภาพและการสร้างกลไกสำหรับรับรองระบบการจัดการขององค์กรที่เกี่ยวข้องในสายอุปทานที่เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ
ผมไม่ปฏิเสธว่า ในเรื่อง CSV โตเกียวมีขายาวก้าวนำไปไกลกว่ากรุงเทพบ้านเรา แต่คิดว่าอีกไม่นาน ผมคงจะได้เห็นภาคเอกชนไทยพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจในบริบทของการสร้างคุณค่าร่วมไล่ทันญี่ปุ่นครับ!...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, July 10, 2014
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment