Thursday, October 28, 2010

การพัฒนา (จำเป็น) ต้องยั่งยืน

หลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งนิยามโดย Brundtland Commission เมื่อปี 2520 หมายถึง การพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป

กลไกสำคัญซึ่งนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่อยู่นอกกระบวนการธุรกิจ หรือเพียงเพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กร แต่ยังต้องผนวกความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปในทุกกระบวนการดำเนินงานขององค์กรให้ได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน

เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ กับการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด โดยการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น เป็นเรื่องของการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมภายใต้ข้อจำกัดทางสภาพแวดล้อมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป ซึ่งหมายรวมถึง วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน (sustainable consumption) และแหล่งทรัพยากรที่ยั่งยืน (sustainable resource)

แนวทางนี้จะคำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือ Profit-People-Planet ในมุมมองของ Triple Bottom Line ที่มีความเชื่อมโยงกัน เช่น การขจัดความยากจน จำเป็นต้องคำนึงถึงการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมทางสังคมประกอบกัน โดยมุ่งหมายที่จะบรรลุถึงสถานะแห่งความยั่งยืน (state of sustainability) ของสังคมโลกโดยรวม ไม่ใช่เพื่อความยั่งยืนหรือความสามารถในการอยู่รอดขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง


ขณะที่ ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ เป็นเรื่องระดับองค์กรที่คำนึงถึงการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนสนับสนุนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และสามารถใช้เป็นเครื่องมือขององค์กร ทั้งในการสร้างความยั่งยืนและสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กร โดยที่การสร้างความยั่งยืนหรือขีดความสามารถในการอยู่รอดขององค์กร อาจมีวิธีการที่แตกต่างหรือสวนทางกับการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยรวมก็ได้

ในวันนี้ การคำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มิได้จำกัดอยู่เพียงการดำเนินงานเชิงมหภาคเท่านั้น แต่มีอิทธิพลต่อการดำเนินงานในระดับองค์กรด้วย การวัดผลการดำเนินงานด้วยการพิจารณาที่งบกำไรขาดทุน (income statement) มีบรรทัดสุดท้ายคือ กำไรสุทธิ ไม่เพียงพออีกต่อไป กิจการต้องพิจารณาที่งบผลลัพธ์ (outcome statement) ซึ่งมีบรรทัดสุดท้าย คือ เรื่องเศรษฐกิจ (profit) สังคม (people) และสิ่งแวดล้อม (planet) ควบคู่กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การวัดผลที่เป็นรูปธรรมในทางธุรกิจสำหรับการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการบริหารจัดการทางธุรกิจมีหลักยึดว่า “You can’t manage what you can’t measure” และเมื่อต้องวัดผล ธุรกิจก็ใช้หลักว่า “You can’t measure what you can’t describe” ทุกวันนี้การอธิบายผลประกอบการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและหลากหลาย

ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามในการวัดผลการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการแปลงให้อยู่ในหน่วยวัดที่เป็นเงิน เช่น ต้นทุนค่าใช้จ่ายทางบัญชีต่อกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น ค่าเสียหายหรือค่าปรับต่อการละเมิดด้านแรงงานหรือการคุกคามทางเพศที่ลดลง อย่างไรก็ดี แนวทางนี้มีความยากลำบากต่อการคำนวณและการเทียบเคียง จึงทำให้การยอมรับอยู่ในวงจำกัด

ความเป็นจริง การวัดผลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติ การนำหน่วยวัดทางเศรษฐกิจที่แม้จะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ไปใช้กับการวัดผลประกอบการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อาจผิดแผกไปจากธรรมชาติ พัฒนาการที่เกิดขึ้นในวันนี้สำหรับการวัดผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มเผยหน่วยวัดที่แตกต่างกันชัดเจนขึ้น เช่น การวัดด้วยหน่วย Carbon ที่แสดงถึงประสิทธิภาพในกระบวนการจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการวัดผลการดำเนินงานด้านสังคม ด้วยหน่วยวัด Inclusion ที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมหรือการเข้าถึงคนชั้นฐานรากและผู้ด้อยโอกาสเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น


การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็น Megatrend ที่เกิดขึ้นหลังจาก Megatrend เรื่องคุณภาพ ในช่วงทศวรรษ 70 และเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ ในช่วงทศวรรษ 80 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ “The Sustainability Imperative” โดย David A. Lubin และ Daniel C. Esty ตีพิมพ์ใน Harvard Business Review เดือนพฤษภาคม 2553) และเลี่ยงไม่ได้สำหรับธุรกิจในวันนี้และวันข้างหน้า...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 21, 2010

จากองค์กรธุรกิจ สู่องค์กรพลเมือง

หากเปรียบเทียบระหว่างหลักของการจัดการในยุคสมัยต่างๆ พบว่าในช่วงทศวรรษ 70 เป็นยุคของการจัดการที่คำนึงถึงคุณภาพ ทศวรรษต่อมาเป็นเรื่องของการบริการลูกค้า และในยุค 90 เป็นยุคของการรีเอ็นจิเนียริ่ง

สำหรับในศตวรรษที่ 21 นี้ จะเป็นเรื่องของ Corporate Citizenship ที่องค์กรธุรกิจจะต้องคำนึงถึงการดำเนินงานทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในอันที่จะเพิ่มพูนผลกระทบที่ดี (maximize positive impact) และลดผลกระทบที่เป็นลบ (minimize negative impact) ต่อสังคมโดยรวมให้ได้มากที่สุด


คำศัพท์ที่จะพบบ่อยในการบริหารจัดการยุคนี้ อาทิ sustainability, corporate social responsibility, the triple bottom line หรือ corporate ethics จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงบริบทการแข่งขันในยุคสมัยปัจจุบัน

สำนักที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Corporate Citizenship คือ Boston College Center for Corporate Citizenship (BCCCC) ซึ่งมีรากที่มาจาก The Institute on Community Relations ที่ก่อตั้งโดย Edmund Burke เมื่อปี ค.ศ. 1983 เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่างองค์กรธุรกิจกับชุมชน ที่ก้าวข้ามการตอบสนองความคาดหวังของชุมชน ต่อการช่วยเหลือในรูปแบบของการบริจาคเพื่อการกุศล สู่หลักการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจที่พึงมีต่อชุมชน

กิจกรรมขณะนั้นเป็นหลักสูตรภาคฤดูร้อนใน Boston College Graduate School of Social Work จนกระทั่งในปี 1985 จึงได้ขยายบทบาทสู่การเรียนการสอนและการวิจัยอย่างเต็มรูปแบบ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น Center for Corporate Community Relations

หลังจากการเกษียณของผู้อำนวยการผู้ก่อตั้งสำนัก Bradley K. Googins ได้รับหน้าที่สืบต่อในปี ค.ศ. 1997 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น Center for Corporate Citizenship ในปี ค.ศ. 2001 ภายใต้พันธกิจที่จะพัฒนาความเป็นผู้นำขององค์กรธุรกิจ ในบทบาทขององค์กรพลเมือง ที่คำนึงถึงประโยชน์ทางสังคม ผสมผสานกับเป้าหมายหลักทางธุรกิจ

ในปี ค.ศ. 2007 BCCCC ได้เผยแพร่ Corporate Citizenship Management Framework (CCMF) ซึ่งเป็นผลจากการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจมากว่า 20 ปี ที่ประกอบด้วย เรื่อง Corporate Mission, Values and Governance ในแง่มุม Integration and Accountability เรื่อง Community Engagement ที่ให้ความสำคัญกับ Addressing Social Challenges เรื่อง Operations โดยเน้นการดำเนินงานในแบบ Responsible Business Practices และเรื่อง Products and Services ที่คำนึงถึงการใช้ Market Strategy เป็นสำคัญ


นอกจากนี้ BCCCC ยังได้พัฒนา Corporate Citizenship Assessment Tool สนับสนุนเพื่อใช้ในการประเมินสถานะของความเป็นองค์กรพลเมืองที่ถูกผนวกเข้ากับระบบจัดการและการปฏิบัติงานในองค์กรอีกด้วย

องค์กรธุรกิจที่สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Corporate Citizenship สามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ BCCCC ได้ที่ www.bcccc.net ครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]