Friday, March 13, 2009

เมื่อ CSR ขยับเป็นวาระนานาชาติ

เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) บัดนี้ได้กลายเป็นวาระในทุกๆ เวทีการประชุมระดับภูมิภาค นับตั้งแต่การประชุมเอเชีย-ยุโรป หรือ อาเซ็ม ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศจีน เมื่อเดือนตุลาคม 2551 การประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ที่สาธารณรัฐเปรู เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 และล่าสุดที่เพิ่งสิ้นสุดไปสดๆ ร้อนๆ ได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยในการประชุมทั้ง 3 เวที ถือได้ว่าเป็นการประชุมระดับนานาชาติ ซึ่งล้วนมีการหารือเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ CSR จนทำให้เรื่อง CSR มิได้เป็นเพียงวาระขององค์กร หรือวาระในอุตสาหกรรม หรือวาระแห่งชาติ แต่มันได้กลายเป็นวาระนานาชาติไปเรียบร้อยแล้ว

CSR กับ ASEAN
ใน การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2552 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ได้มีการหารือและรับรองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) โดยมีวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจผนวกเอาเรื่อง CSR ไว้ในวาระการดำเนินงานขององค์กร และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ-สังคมที่ยั่งยืนในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
-พัฒนานโยบายสาธารณะต้นแบบด้าน CSR หรือกลไกทางกฎหมายที่ใช้อ้างอิงในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียนภายในปี 2553 โดยตัวบทที่อ้างอิงอาจมีการอ้างถึงมาตรฐานและแนวปฏิบัติสากลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ISO 26000 เรื่อง "แนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคม"
-ผสานภาคเอกชนให้ร่วมสนับสนุนในกิจกรรมขององค์กรรายสาขาและมูลนิธิอาเซียนในส่วนที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ
-สนับสนุนให้เกิดการรับและนำมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นสากลมาใช้ และ
-เพิ่มการรับรู้ในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในอาเซียนไปจนถึงความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างกิจกรรมเชิงพาณิชย์กับชุมชนในถิ่นที่ตั้ง โดยเฉพาะการสนับสนุนการพัฒนาที่มีชุมชนเป็นฐาน

ทั้งนี้ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ อาเซียน จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 มีประเทศสมาชิก 10 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน ดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา และ ไทย โดยภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วยประชากรประมาณ 567 ล้านคน มีพื้นที่โดยรวม 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร และผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติราว 1.1 ล้านล้านดอลลาร์

CSR กับ APEC
ขณะที่การประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ที่สาธารณรัฐเปรู เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ได้มีการหารือถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ CSR เช่นกัน โดยระบุว่าเนื่องจากสมาชิกเอเปคต่างมีระดับการพัฒนาและการใช้ CSR ที่แตกต่างกัน แต่ CSR มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีในภูมิภาค ดังนั้น การมีนโยบาย CSR ที่ดีขององค์กรเอกชน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ความสำเร็จของการมี CSR ที่ดี จะต้องมาจากข้อริเริ่มของภาคเอกชนเอง แต่เนื่องจากเศรษฐกิจสมาชิกมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน อาจพิจารณานำเอาแนวปฏิบัติด้าน CSR ขององค์กรระดับโลกมาปรับใช้ โดยเอเปคควรมีบทบาทในการส่งเสริมให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตระหนักถึงความสำคัญของ CSR และมอบหมายให้องค์กรภายในเอเปคที่เกี่ยวข้องร่วมกับ ABAC (The APEC Business Advisory Council) พัฒนาเป้าหมายการดำเนินงานของเอเปคด้าน CSR เพื่อเสนอต่อที่ประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี พ.ศ. 2552 ต่อไป

ทั้งนี้ เอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation - APEC) เป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 ประกอบด้วย 21 เขตเศรษฐกิจ คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง จีนไทเป เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี ชิลี เปรู เวียดนาม และ รัสเซีย กลุ่มสมาชิกเอเปคมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) รวมกันกว่า 19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของโลก มีสัดส่วนการค้ากว่าร้อยละ 41 ของมูลค่าการค้าโลก และสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับสมาชิกเอเปคสูงถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด

CSR กับ ASEM
ส่วนในการประชุมเอเชีย-ยุโรป หรือ ASEM ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศจีน เมื่อเดือนตุลาคม 2551 ก็ได้มีการประกาศปฏิญญาปักกิ่ง ว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งได้แสดงถึงความตระหนักในเรื่อง CSR ที่มีความเกี่ยวโยงระหว่างกันกับการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม แรงงานและสิทธิมนุษยชน การประเมินความเสี่ยง การกำกับดูแลกิจการ และ การพัฒนาชุมชน ที่ประชุมฯ จึงผลักดันให้สมาชิกอาเซ็มส่งเสริมเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ตลอดจนผลักดันให้ภาคธุรกิจแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างสมัครใจ ปฏิบัติตามข้อบังคับท้องถิ่นรวมถึงบรรทัดฐานและกฎหมายสากลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีส่วนสนับสนุนในการจรรโลงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ประกอบทั้งความสำเร็จรุ่งเรือง ความบรรสานสอดคล้อง และความรับผิดชอบต่อสังคม

สำหรับเวทีการประชุมเอเชีย-ยุโรป ประกอบด้วยผู้นำประมุขและหัวหน้ารัฐบาลจากยุโรปและเอเชียรวม 43 ประเทศ รวมทั้งผู้แทนจากสํานักเลขาธิการอาเซียนและคณะกรรมาธิการยุโรป จัดขึ้นครั้งแรก ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ในปี 2539 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือถึงแนวทางการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม ระหว่างภูมิภาคเอเชีย-ยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์กลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างเอเชีย ยุโรป และ อเมริกาเหนือ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก...จากคอลัมน์ บริหารธุรกิจ-บริบาลสังคม External Link