Saturday, October 22, 2022

"ไทย" ติดกลุ่มประเทศที่มีการเปิดเผยรายงานความยั่งยืนสูงสุด

เมื่อวันอังคาร (18 ต.ค.) ที่ผ่านมา เคพีเอ็มจี ได้เผยแพร่ผลสำรวจการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนฉบับล่าสุด ภายใต้เอกสารที่ชื่อว่า Survey of Sustainability Reporting 2022: Big shifts, small steps โดยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วโลก ได้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) ในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเมื่อสิบปีที่แล้ว บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 100 แห่งจากแต่ละประเทศที่ทำการสำรวจ มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน คิดเป็นร้อยละ 64 มาในปีปัจจุบัน (ค.ศ.2022) บริษัทในกลุ่มดังกล่าว ที่เคพีเอ็มจีเรียกว่า บริษัทในกลุ่ม N100 ซึ่งประกอบด้วย 5,800 บริษัท จาก 58 ประเทศทั่วโลก มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 79

ขณะที่ ผลการสำรวจในกลุ่มบริษัทที่มีรายได้สูงสุด 250 แห่งในโลก จากการจัดอันดับของ Fortune 500 หรือที่เรียกว่า บริษัทในกลุ่ม G250 มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนเปิดเผยต่อสาธารณะ อยู่ในอัตราสูงถึงร้อยละ 96 ในปีปัจจุบัน
การสำรวจดังกล่าว ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1993 และทำการสำรวจอย่างต่อเนื่องเป็นประจำในทุกๆ 2 ปี โดยในปัจจุบัน ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นผู้นำในการเปิดเผยรายงานความยั่งยืน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89 ตามมาด้วยยุโรป ร้อยละ 82 อเมริกา ร้อยละ 74 ตะวันออกกลางและแอฟริกา ร้อยละ 56 ตามลำดับ

โดยประเทศไทย เป็นหนึ่งใน 20 ประเทศ ที่มีอัตราการเปิดเผยรายงานความยั่งยืน สูงกว่าร้อยละ 90 โดยเพิ่มจากร้อยละ 84 ในปี ค.ศ.2020 มาอยู่ที่ร้อยละ 97 ในปี ค.ศ.2022 และเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนในรายงานประจำปี อยู่ในอัตราร้อยละ 86 ในปี ค.ศ.2022

ในการสำรวจมาตรฐานและแนวทางที่บริษัทใช้ในการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน พบว่า มาตรฐาน GRI ยังคงเป็นมาตรฐานที่นิยมใช้อ้างอิงมากสุดทั้งในกลุ่มบริษัท N100 และในกลุ่มบริษัท G250

โดยรายงานการสำรวจ ระบุว่า ร้อยละ 68 หรือราวสองในสามของบริษัทในกลุ่ม N100 และร้อยละ 78 หรือราวสามในสี่ของบริษัทในกลุ่ม G250 มีการอ้างอิงมาตรฐาน GRI ในการจัดทำรายงานความยั่งยืนของกิจการ

GRI เป็นองค์กรอิสระ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2540 เป็นหน่วยงานที่ให้กำเนิดกรอบการรายงานด้านความยั่งยืนของกิจการฉบับแรก ที่เรียกว่า G1 ในปี พ.ศ.2543 ถัดจากนั้น GRI ได้ประกาศแนวทางการรายงานในฉบับ G2 ที่เวทีการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นครโจฮันเนสเบอร์ก ในปี พ.ศ.2545 และตามมาด้วยฉบับ G3 ในปี พ.ศ.2549 อันเป็นผลจากการยกร่างของบรรดาผู้เชี่ยวชาญกว่า 3,000 คน ทั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมและผู้แทนภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม

กรอบการรายงานฉบับดังกล่าวได้กลายมาเป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) สำหรับการรายงานแห่งความยั่งยืน และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยได้มีการปรับปรุงเป็นฉบับ G3.1 ในปี พ.ศ.2554 และพัฒนามาเป็นฉบับ G4 เมื่อปี พ.ศ.2556 จนนำมาสู่การยกระดับเป็นมาตรฐานการรายงาน GRI ในปี พ.ศ.2559

จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า บริษัทจดทะเบียนไทยที่มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน ต่างมีการใช้ GRI เป็นมาตรฐานอ้างอิงในการจัดทำรายงานเป็นหลัก เพื่อที่คุณภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน จะเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

อนึ่ง รายงานความยั่งยืน เป็นเอกสารที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่องค์กรจัดทำขึ้นเพื่อสนองความต้องการใช้ข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ที่ลำพังรายงานทางการเงินเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสะท้อนข้อมูลการดำเนินงานในภาพรวมของกิจการได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน

องค์กรที่เป็นผู้นำในการเผยแพร่รายงานความยั่งยืน ได้แก่ เหล่าบริษัทมหาชน โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่ออกหลักทรัพย์จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ต้องแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสผ่านการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงาน และผลกระทบจากการดำเนินงานที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในอันที่จะสะท้อนถึงความยั่งยืนในการดำเนินงานของกิจการ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, October 08, 2022

การวางตำแหน่ง "ESG" กับ โอกาสทางธุรกิจ

ปัจจุบัน ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจอย่างเข้มข้น และกระทบกับกิจการในทุกขนาด ทุกสาขา

ที่น่าสนใจ คือ ผลกระทบที่ว่านี้ มิได้เข้ามาทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยง หรือถูกมองว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายเพียงทางเดียว แต่กลับเป็นผลกระทบที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ และถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ช่วยเพิ่มยอดขายและลดต้นทุนของกิจการ ซึ่งหากธุรกิจสามารถจับกระแสในเรื่องนี้ แล้วแปลงมาเป็นโจทย์ทางธุรกิจได้ ก็จะทำให้ได้ประโยชน์จากเรื่อง ESG ดังกล่าวไม่มากก็น้อย

จากการสำรวจของ เคพีเอ็มจี กับบุคลากรในฝ่ายบริหารที่ดูแลรับผิดชอบรายงานทางการเงินจำนวน 246 คน ซึ่ง 31% อยู่ในองค์กรซึ่งมียอดรายรับต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญต่อปี และอีก 23% เป็นองค์กรซึ่งมีรายรับต่อปีระหว่าง 1 – 4.9 พันล้านเหรียญ ที่เหลือเป็นองค์กรซึ่งมีรายรับต่อปีมากกว่า 5 พันล้านเหรียญ พบว่า 83% เชื่อว่า องค์กรที่มุ่งเน้นเรื่อง ESG จะช่วยให้ธุรกิจดีขึ้น ขณะที่ 11% ยังมีความไม่แน่ใจ และอีก 6% ไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น

เมื่อสอบถามถึงระดับของการผนวก ESG เข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจ 41% ตอบว่า องค์กรได้มีการผูกโยง ESG ไว้ในกลยุทธ์ธุรกิจอย่างชัดเจน ขณะที่ 27% ยังมีความไม่แน่ใจ ส่วนอีก 25% บอกว่าการดำเนินงาน ESG มิได้เกี่ยวโยงกับกลยุทธ์ธุรกิจ และอีก 7% ระบุว่า กลยุทธ์ขององค์กรพัฒนาขึ้นจากการคำนึงถึง ESG

ผลสำรวจนี้ สอดคล้องกับการวิจัยของศูนย์สเติร์นว่าด้วยธุรกิจที่ยั่งยืน แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่ไปวิเคราะห์ข้อมูลเชิงอภิพันธุ์ กับงานวิจัยมากกว่า 1,000 ชิ้น ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.2015-2020 ต่อผลกระทบของการลงทุน ESG ที่มีต่อผลประกอบการทางการเงิน แล้วพบว่า มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัย ESG ช่วยปรับปรุงผลการดำเนินงานทางการเงินของกิจการในหลายสาขา และยังช่วยสร้างเกราะป้องกันให้แก่กิจการในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตขึ้นด้วย

เมื่อสอบถามถึงสถานะปัจจุบันของการรายงาน ESG พบว่า ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระหว่างดำเนินงาน โดย 30% บอกว่า องค์กรได้มีการพัฒนากลยุทธ์การรายงานและได้จัดทำรายงานอย่างน้อยหนึ่งฉบับที่เกี่ยวข้องกับ ESG ขณะที่ 28% ระบุว่า ยังอยู่ในกระบวนการพัฒนากลยุทธ์การรายงาน ESG และอีก 15% ตอบว่าได้เคยมีการรายงานและกำลังอยู่ระหว่างการประเมินกลยุทธ์การรายงานใหม่ ส่วนอีก 13% บอกว่ายังมิได้เริ่มพัฒนากลยุทธ์การรายงาน ESG อีก 8% ตอบว่ายังไม่แน่ใจ และที่เหลืออีก 6% แจ้งว่าได้มีการพัฒนากลยุทธ์การรายงานแต่ยังมิได้มีการจัดทำรายงานออกมาแต่อย่างใด

ต่อข้อคำถามที่ถามว่า หน่วยงานหรือฝ่ายใดในองค์กรที่มีความมุ่งเน้นและเป็นผู้ให้ข้อมูลมากสุดต่อการจัดทำกลยุทธ์การรายงาน ESG โดย 23% ระบุว่าเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน ขณะที่ 21% บอกว่าเป็นคณะกรรมการบริษัท/ตรวจสอบ อีก 21% ตอบว่ายังไม่แน่ใจ ส่วนอีก 13% เป็นฝ่ายสื่อสาร/นักลงทุนสัมพันธ์ 10% เป็นฝ่ายการเงิน 6% เป็นฝ่ายความเสี่ยง และอีกอย่างละ 3% เป็นฝ่ายปฏิบัติการและฝ่ายตรวจสอบภายใน

ต่อข้อคำถามถึงความท้าทายที่องค์กรต้องเผชิญเมื่อต้องมุ่งเน้นเรื่อง ESG อย่างจริงจัง (ตอบได้มากกว่าหนึ่งข้อ) ผลสำรวจพบว่า 57% เป็นเรื่องของขีดความสามารถและความเชี่ยวชาญของทรัพยากรที่องค์กรมี ขณะที่ 48% เป็นเรื่องส่วนขยายของการรายงานและกรอบที่องค์กรต้องปฏิบัติตาม 46% เป็นเรื่องความอุตสาหะในการสร้างกระบวนการรายงานที่มีประสิทธิผล 41% เป็นเรื่องของความไม่ชัดเจนในกฎระเบียบ 31% เป็นเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงมือดำเนินงานอย่างมีประสิทธิผล 18% เป็นเรื่องของการขาดกลยุทธ์การดำเนินงาน 11% ตอบว่ายังไม่แน่ใจ อีก 8.1% บอกว่าเป็นเรื่องที่ฝ่ายจัดการมิได้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ และอีก 3.7% มองว่าไม่ใช่ความท้าทาย ณ ปัจจุบัน

และเมื่อถามว่า องค์กรมีมุมมองอย่างไรต่อการให้ความเชื่อมั่นจากภายนอก (External Assurance) ว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อความโปร่งใส ความแม่นยำ และความสามารถในการเปรียบเทียบกันได้ ที่มีต่อการรายงานของกิจการ

42% ตอบว่า มีความสำคัญ แต่องค์กรยังมิได้มีการให้ความเชื่อมั่นจากภายนอก ขณะที่ 24% ระบุว่า มีความสำคัญ และได้มีการให้ความเชื่อมั่นจากภายนอก ส่วนอีก 21% ตอบว่ายังไม่แน่ใจ และที่เหลืออีก 13% ระบุว่า ยังไม่มีความสำคัญ

อนึ่ง ผลสำรวจที่ เคพีเอ็มจี จัดทำขึ้นในครั้งนี้ มาจากการสอบถามองค์กรที่เป็นสถาบันการเงินมากสุดในสัดส่วน 26% รองลงมาเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและค้าปลีก 17% กลุ่มการผลิตอุตสาหกรรม 12% กลุ่มพลังงานและเทคโนโลยี อย่างละ 9% กลุ่มสุขภาพและชีววิทยาศาสตร์ 8% กลุ่มสื่อและบันเทิง 3% องค์กรภาครัฐ 1% และอื่นๆ อีก 15%


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]