Saturday, May 21, 2022

11 ตัววัดด้านสิ่งแวดล้อมที่กิจการมีข้อมูลและตอบโจทย์ SDG

นับตั้งแต่ที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เมื่อปี ค.ศ.2015 สำหรับใช้เป็นทิศทางการพัฒนาโลกในกรอบระยะเวลา 15 ปี ภาคเอกชน ได้มีความตื่นตัวในฐานะที่เป็นภาคส่วนหนึ่งของสังคมโลก เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเพื่อการบรรลุเป้าหมายโลก 17 ข้อ

ผมได้รับข้อคำถามจากองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่มีความประสงค์จะร่วมตอบสนองต่อ SDGs อย่างจริงจัง ว่าจะเริ่มต้นและดำเนินการอย่างไร จึงจะถูกทิศถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการลองผิดลองถูก และที่สำคัญ มีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจที่พูดถึง SDGs เพียงเพื่อการสร้างภาพลักษณ์หรือประชาสัมพันธ์

คำตอบที่ผมมีให้กับองค์กรธุรกิจที่ต้องการทำจริง และตอบโจทย์จริง มีอยู่สองคำตอบ คือ ข้อแรก ทำจริงผ่านกระบวนการทางธุรกิจ ในรูปแบบ SDG-in-process ที่ให้ผลต่อเนื่อง คือ ออกมาจากตัวธุรกิจ (ที่ดีมากกว่านั้น คือ มาจากธุรกิจแกนหลัก หรือ Core Business) ไม่ใช่ด้วยการสร้างโครงการหรือกิจกรรมรายครั้ง ซึ่งให้ผลเพียงครั้งเดียวต่อโครงการหรือกิจกรรมนั้น

ข้อที่สอง ตอบโจทย์ให้ทะลุไปที่ระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 231 ตัวที่ไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่เพียงแค่โยงในระดับเป้าประสงค์ (Goal-level) เพราะมากกว่าครึ่งของการเปิดเผยข้อมูลของกิจการ พบว่า ไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่องค์กรดำเนินการ กับเป้าหมาย SDGs ที่เชื่อมโยงไปถึง เป็นเพียงความพยายามในการจัดให้เข้าพวก ด้วยชื่อหรือหัวข้อที่อนุมานเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อมโยง มิได้ตอบโจทย์เป้าหมายตามจริง

ในบทความนี้ จะพูดถึง 11 ตัววัดด้านสิ่งแวดล้อม ที่กิจการสามารถรวบรวมข้อมูลได้จากกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่แล้ว และสามารถใช้ตอบโจทย์ SDG ในระดับตัวชี้วัด

ตัววัดด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง 11 ตัว นำมาจากเอกสาร Guidance on core indicators for entity reporting on contribution towards implementation of the Sustainable Development Goals ที่จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) ตามแนวทางที่องค์การภายใต้สหประชาชาติให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย

-ปริมาณน้ำที่นำกลับมาใช้ซ้ำและที่ปรับสภาพเพื่อใช้ใหม่ (Water recycling and reuse)
-ประสิทธิภาพการใช้น้ (Water use efficiency)
-ความตึงตัวทางทรัพยากรน้ำ (Water stress)
-ปริมาณการเกิดของเสียที่ลดได้ (Reduction of waste generation)
-ปริมาณของเสียที่แปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ ที่นำมาใช้ผลิตใหม่ และที่นำกลับมาใช้ซ้ำ (Waste reused, re-manufactured and recycled)
-ปริมาณของเสียอันตราย (Hazardous waste)
-ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Greenhouse gas emissions: scope 1)
-ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Greenhouse gas emissions: scope 2)
-ปริมาณสารเคมีและสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Ozone-depleting substances and chemicals)
-อัตราส่วนการใช้พลังงานทดแทน (Renewable energy)
-ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy efficiency)

ทั้ง 11 ตัววัดสิ่งแวดล้อมข้างต้น กิจการสามารถใช้แสดงถึงการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 6.3.1, 6.4.1, 6.4.2) เป้าที่ 7 พลังงานสะอาดและราคาไม่แพง (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 7.2.1, 7.3.1) เป้าที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 9.4.1) และเป้าที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่รับผิดชอบ (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 12.4.2 และเป้าหมาย SDG ที่ 12.5 ตัวชี้วัด SDG ที่ 12.5.1)

นอกจากที่กิจการจะใช้ตัววัดเหล่านี้ในการตอบโจทย์ SDG ขององค์กรแล้ว ยังสามารถส่งต่อให้รัฐบาลรวบรวมเป็นข้อมูลการบรรลุ SDG ของประเทศ ในระดับตัวชี้วัด ได้อย่างเป็นระบบและคล้องจองกันอีกด้วย

สำหรับรายละเอียดของ 11 ตัววัดด้านสิ่งแวดล้อม สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำการแปลจากเอกสารแนวทางฉบับที่ ISAR จัดทำขึ้น และเผยแพร่ไว้ในหนังสือ Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance ซึ่งผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เว็บไซต์ https://thaipat.org


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, May 07, 2022

8 ตัววัดด้านเศรษฐกิจที่กิจการมีข้อมูลและตอบโจทย์ SDG

นับตั้งแต่ที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เมื่อปี ค.ศ.2015 สำหรับใช้เป็นทิศทางการพัฒนาโลกในกรอบระยะเวลา 15 ปี ภาคเอกชน ได้มีความตื่นตัวในฐานะที่เป็นภาคส่วนหนึ่งของสังคมโลก เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเพื่อการบรรลุเป้าหมายโลก 17 ข้อ

ผมได้รับข้อคำถามจากองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่มีความประสงค์จะร่วมตอบสนองต่อ SDGs อย่างจริงจัง ว่าจะเริ่มต้นและดำเนินการอย่างไร จึงจะถูกทิศถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการลองผิดลองถูก และที่สำคัญ มีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจที่พูดถึง SDGs เพียงเพื่อการสร้างภาพลักษณ์หรือประชาสัมพันธ์

คำตอบที่ผมมีให้กับองค์กรธุรกิจที่ต้องการทำจริง และตอบโจทย์จริง มีอยู่สองคำตอบ คือ ข้อแรก ทำจริงผ่านกระบวนการทางธุรกิจ ในรูปแบบ SDG-in-process ที่ให้ผลต่อเนื่อง คือ ออกมาจากตัวธุรกิจ (ที่ดีมากกว่านั้น คือ มาจากธุรกิจแกนหลัก หรือ Core Business) ไม่ใช่ด้วยการสร้างโครงการหรือกิจกรรมรายครั้ง ซึ่งให้ผลเพียงครั้งเดียวต่อโครงการหรือกิจกรรมนั้น

ข้อที่สอง ตอบโจทย์ให้ทะลุไปที่ระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 231 ตัวที่ไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่เพียงแค่โยงในระดับเป้าประสงค์ (Goal-level) เพราะมากกว่าครึ่งของการเปิดเผยข้อมูลของกิจการ พบว่า ไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่องค์กรดำเนินการ กับเป้าหมาย SDGs ที่เชื่อมโยงไปถึง เป็นเพียงความพยายามในการจัดให้เข้าพวก ด้วยชื่อหรือหัวข้อที่อนุมานเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อมโยง มิได้ตอบโจทย์เป้าหมายตามจริง

ในบทความนี้ จะพูดถึง 8 ตัววัดด้านเศรษฐกิจ ที่กิจการมีข้อมูล เพราะได้ดำเนินการอยู่แล้วในกระบวนการทางธุรกิจ และสามารถใช้ตอบโจทย์ SDG ในระดับตัวชี้วัดอีกด้วย

ตัววัดด้านเศรษฐกิจทั้ง 8 ตัว นำมาจากเอกสาร Guidance on core indicators for entity reporting on contribution towards implementation of the Sustainable Development Goals ที่จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) ตามแนวทางที่องค์การภายใต้สหประชาชาติให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย

ยอดรายได้ (Revenue) คือ การเพิ่มขึ้นของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในรอบระยะเวลาบัญชีในรูปของกระแสรับเข้าของสินทรัพย์ หรือการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ หรือการลดลงของหนี้สิน ซึ่งส่งผลให้ส่วนของเจ้าของเพิ่มขึ้น โดยไม่รวมถึงส่วนทุนที่ได้รับจากผู้มีส่วนร่วมในส่วนของเจ้าของ

มูลค่าเพิ่ม (Value added) คือ ส่วนต่างระหว่างรายได้และต้นทุนค่าวัสดุ สินค้าและบริการ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ความมั่งคั่งที่กิจการสามารถสร้างและกระจายในหมู่ผู้มีส่วนได้เสีย (พนักงาน เจ้าหนี้ องค์การของรัฐ ผู้ถือหุ้น) โดยคำนวณจาก มูลค่าเศรษฐกิจทางตรง (ยอดรายได้ + รายได้อื่น) หักด้วยมูลค่าเศรษฐกิจที่จำหน่ายออก (ต้นทุนการดำเนินงาน + ค่าจ้างและสวัสดิการพนักงาน เงินที่ชำระแก่เจ้าของเงินทุน + เงินที่ชำระแก่รัฐ + การลงทุนในชุมชน)

มูลค่าเพิ่มสุทธิ (Net value added) คือ ตัวเลขที่นำค่าเสื่อมราคา (Depreciation) มาหักออกจากมูลค่าเพิ่ม โดยจะหักเฉพาะค่าเสื่อมราคา ซึ่งคำนวณจากสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ มิได้นำค่าตัดจำหน่าย (Amortization) ซึ่งคำนวณจากสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น สิทธิการเช่า ลิขสิทธิ์ มาหักออกด้วย

ภาษีและเงินอื่นที่จ่ายให้แก่รัฐ (Taxes and other payments to the Government) คือ ยอดภาษี ที่รวมถึงภาษีเงินได้ ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ ค่าปรับ ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าสิทธิ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จ่ายแก่รัฐ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเข้าครอบครองทรัพย์สินของรัฐ (เช่น การเข้าซื้อกิจการรัฐวิสาหกิจ) เบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่เกิดจากมาตรการลงโทษที่มิได้เกี่ยวกับการชำระภาษีอากร (เช่น การปล่อยมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม)

การลงทุนสีเขียว (Green investment) คือ ยอดการลงทุนทางตรงและทางอ้อมด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของการป้องกัน การลด และการขจัดมลภาวะและการเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อมในรูปแบบอื่น ซึ่งหมายรวมถึง การผลิตพลังงานไฟฟ้าและยานพาหนะที่ใช้คาร์บอนต่ำ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การควบคุมมลพิษ การแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ การจัดการของเสียและการนำกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปของทรัพยากรใหม่หรือแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน (Waste of Energy) รวมถึงเทคโนโลยีอื่นใดที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการลงทุนที่เป็นความจำเป็นด้านเทคนิคและเป็นไปตามข้อกำหนดภายในที่เกี่ยวกับสุขอนามัย ความปลอดภัย และความมั่นคงของกิจการ

การลงทุนชุมชน (Community investment) คือ ยอดการบริจาคและการลงทุนในชุมชนแก่ผู้ได้รับประโยชน์กลุ่มเป้าหมายที่อยู่ภายนอกกิจการ หมายรวมถึง การลงทุนในสิ่งปลูกสร้างที่อยู่นอกเหนือธุรกิจหลักของกิจการ (เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล สำหรับแรงงานและครอบครัว) ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการลงทุนหรือธุรกรรมในเชิงพาณิชย์และที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีเจตจำนงที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของกิจการในทางธุรกิจ (เช่น การสร้างถนนหนทางเข้าสู่โรงงาน)

ยอดรายจ่ายรวมในการวิจัยและพัฒนา (Total expenditures on research and development) คือ รายจ่ายด้านการวิจัยทั้งที่เป็นงานแรกเริ่มและงานตามแผนเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้และความเข้าใจใหม่ในเชิงเทคนิคและเชิงวิทยาศาสตร์ (เรียกว่า รายจ่ายการวิจัย อาทิ รายจ่ายการทดลองเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ในการพัฒนาวัคซีนของกิจการในเภสัชอุตสาหกรรม) รวมถึงการประยุกต์ข้อค้นพบในการวิจัยหรือความรู้อื่นใดในการวางแผนและออกแบบซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาวัสดุ อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ ระบบ หรือบริการ ก่อนเริ่มต้นผลิตหรือใช้ในเชิงพาณิชย์ (เรียกว่า รายจ่ายการพัฒนา อาทิ การออกแบบ การสร้าง และการทดลองตัวแบบรถยนต์ในขั้นตอนเตรียมการก่อนการผลิตของกิจการในอุตสาหกรรมยานยนต์)

ร้อยละของการจัดหาท้องถิ่น (Percentage of local procurement) คือ สัดส่วนการใช้จ่ายที่มีต่อผู้ส่งมอบท้องถิ่นของกิจการ ที่แสดงถึงขอบเขตความเกี่ยวโยงของกิจการกับเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาควรระมัดระวังมิให้เกิดข้อกังขาในแง่ของการกีดกันทางการค้ากับผู้ส่งมอบต่างถิ่น และในทางกลับกัน ผู้ส่งมอบซึ่งมีแหล่งที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่น อาจเป็นผู้จัดหาสินค้าจากแหล่งภายนอกที่มิได้มาจากท้องถิ่น

ทั้ง 8 ตัววัดเศรษฐกิจข้างต้น กิจการสามารถใช้แสดงถึงการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 7 พลังงานสะอาดและราคาไม่แพง (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 7.b.1) เป้าที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 8.2.1) เป้าที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 9.3.1, 9.4.1, 9.5.1 และเป้าหมาย SDG ที่ 9.b) และเป้าที่ 17 การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 17.1.2 และ 17.17.1)

นอกจากที่กิจการจะใช้ตัววัดเหล่านี้ในการตอบโจทย์ SDG ขององค์กรแล้ว ยังสามารถส่งต่อให้รัฐบาลรวบรวมเป็นข้อมูลการบรรลุ SDG ของประเทศ ในระดับตัวชี้วัด ได้อย่างเป็นระบบและคล้องจองกันอีกด้วย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]