Sunday, April 26, 2020

15 Checklists แนวปฏิบัติผู้ลงทุนในสถานการณ์โควิด

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่การดำรงชีวิตและสุขภาพของผู้คนทั่วโลก วิกฤตด้านสาธารณสุข การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และยังรวมไปถึงการทำให้เกิดความผันผวนของตลาดทุนและการลงทุนทั่วโลก

หน่วยงาน PRI ซึ่งเป็นผู้จัดทำและเผยแพร่หลักการลงทุนที่รับผิดชอบในการสนับสนุนของสหประชาชาติ (United Nations-supported Principles for Responsible Investment: PRI) ได้จัดตั้งกลุ่มการร่วมทำงานระดับภาคี (Signatory Participation Group) เพื่อประสานงานและพัฒนาแนวทางการรับมือของผู้ลงทุนสถาบันต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มการรับมือสถานการณ์ต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ในระยะสั้น และกลุ่มการปรับวางระบบด้วยการให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน


ในกลุ่มแรก เป็นการจัดทำแนวทางที่ผู้ลงทุนควรลงมือดำเนินการโดยทันที เพื่อช่วยลดผลกระทบที่เป็นภยันตราย ด้านวิกฤตสาธารณสุข การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ความไม่เสมอภาคที่เพิ่มสูงขึ้น และประเด็นด้านสุขภาพจิต

ในกลุ่มที่สอง เป็นการจัดทำแนวทางที่ผู้ลงทุนควรลงมือดำเนินการโดยทันที เพื่อช่วยเสริมสร้างระบบการเงินอนาคตที่พร้อมรับภัยคุกคามทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ESG และให้ลำดับความสำคัญกับการสร้างผลลัพธ์ทางสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงบวก

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะภาคีที่เข้าร่วมลงนามรับรองหลักการของ PRI ได้ประมวลแนวทางรับมือของผู้ลงทุนสถาบันต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยอ้างอิงจากเอกสารของ PRI ที่มีชื่อว่า How Responsible Investors Should Respond To The COVID-19 Coronavirus Crisis สำหรับให้ผู้ลงทุนสถาบันในประเทศไทยได้นำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อดูแลจัดการประเด็น ESG ในระยะสั้น และปรับวางแนวการฟื้นตัวที่ให้ผลลัพธ์ทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืนในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รายการตรวจสอบ หรือ Checklist 15 รายการ ที่เป็นแนวปฏิบัติสำหรับผู้ลงทุนสถาบันในการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตามแนวทาง PRI ประกอบด้วย

แนวปฏิบัติที่ 1 สานสัมพันธ์กับบริษัทที่ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของแรงงาน และ/หรือดูแลความมั่นคงทางการเงินของกิจการ

แนวปฏิบัติที่ 2 ใช้ข้อมูล ESG จากแหล่งภายนอกที่น่าเชื่อถือ เพื่อยกเป็นข้อกังวลไปยังบริษัทซึ่งมีวิธีปฏิบัติที่ต่ำกว่าเกณฑ์

แนวปฏิบัติที่ 3 ผลักดันให้มีการจัดการด้านการเงินที่รับผิดชอบ ซึ่งเอื้อให้บริษัทดำเนินการจัดลำดับความสำคัญกับพนักงาน ผู้รับจ้าง ผู้ส่งมอบ และสุขภาวะของบริษัทในระยะยาว

แนวปฏิบัติที่ 4 สานสัมพันธ์กับบริษัทที่ใช้การปิดบังวิกฤตเพื่อเลี่ยงการถูกตรวจสอบ หรือฉวยโอกาสตัดสินใจหรือประกาศในเรื่องที่โดยปกติต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ

แนวปฏิบัติที่ 5 ประเมินความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบอุปสงค์-อุปทานที่ไปเพิ่มความเสี่ยงในประเด็นด้านอื่นให้รุนแรงขึ้น เพื่อยกเป็นข้อกังวลไปยังบริษัทที่ลงทุนซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

แนวปฏิบัติที่ 6 ปรับลำดับความสำคัญของการสานสัมพันธ์กับบริษัทในช่วงสถานการณ์ โดยเน้นที่ประเด็นโควิด 19 เหนือประเด็นอื่นในระหว่างการจัดการวิกฤต

แนวปฏิบัติที่ 7 ปรึกษาหารือกับบริษัทและสาขาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ต่อแนวทางการรับมือกับสถานการณ์ และเปิดโอกาสให้บริษัทได้ใช้ความสามารถที่จะจัดการตามแนวทางของกิจการ

แนวปฏิบัติที่ 8 แสดงการสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อความช่วยเหลือของรัฐที่ทำให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและเหมาะสม

แนวปฏิบัติที่ 9 ใช้สิทธิออกเสียงในฐานะผู้ถือหุ้น ผลักดันบริษัทให้ลงมือดำเนินการเพื่อส่วนรวมอย่างเหมาะสม โดยที่ไม่กระทบต่อการใช้ทรัพยากรของบริษัทสำหรับการจัดการวิกฤต

แนวปฏิบัติที่ 10 ใช้เทคโนโลยีหรือช่องทางออนไลน์ในการเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี เพื่อควบคุมดูแล (Oversight) บริษัทที่ลงทุนได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

แนวปฏิบัติที่ 11 เน้นย้ำประเด็นความสำคัญที่บริษัทมิอาจเพิกเฉย นอกเหนือจากเรื่องโควิด 19 ทั้งประเด็นความไม่เสมอภาคที่เพิ่มสูงขึ้น และภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ

แนวปฏิบัติที่ 12 ให้การสนับสนุนบริษัท และลูกหนี้ ด้วยการให้ความยืดหยุ่นในข้อตกลงทางการเงิน และการให้การสนับสนุนทางตรงเพิ่มเติม หากเป็นไปได้

แนวปฏิบัติที่ 13 เข้าร่วมสนับสนุนรัฐบาลในการให้ทุนสำหรับรับมือกับสถานการณ์ตามโอกาสที่เหมาะสม เพื่อช่วยสอดประสานให้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว

แนวปฏิบัติที่ 14 ปรับมุมมองระยะยาวในการดูแลการลงทุน (Stewardship) ให้อยู่ในแนวเดียวกับมุมมองระยะยาวในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน

แนวปฏิบัติที่ 15 ทบทวนสถานะและการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมทั้งที่กระทำผ่านผู้จัดการลงทุนภายนอก เพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนได้ถูกปรับให้ตอบโจทย์ความจำเป็นทางเศรษฐกิจโดยรวมและในระยะยาว

ผู้ลงทุนสถาบันและหน่วยงานที่สนใจ สามารถศึกษารายละเอียดแนวทางรับมือของผู้ลงทุนสถาบันต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ Investor Response Guidance on COVID-19 เพิ่มเติมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ www.thaipat.org


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, April 12, 2020

7 บทบาทผู้ลงทุนในยุคโควิดระบาด

สถานการณ์แพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ได้กลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ไม่เฉพาะในมิติสุขภาพโลก แต่ยังส่งผลทั้งในมิติชุมชน มิติเศรษฐกิจ และมิติการลงทุน

ภายใต้หลักการดูแลรักษาทุนในระยะยาว ผู้ลงทุนสามารถและควรลงมือช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบที่เป็นภยันตราย ทั้งผลทางตรงด้านสาธารณสุข ความรุนแรงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากการระบาดใหญ่ (Pandemic) และความไม่เสมอภาคทางสังคมที่ยิ่งถลำลึก รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิตที่มีสาเหตุจากผลกระทบดังกล่าว

วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนและผู้รับประโยชน์อย่างถ้วนหน้า โดยไม่จำกัดรูปแบบของการถือครอง กลยุทธ์ที่ใช้ หรือบทบาทที่ดำรงอยู่ในห่วงโซ่การลงทุน การรับมือกับวิกฤตจึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของบูรณภาพทั้งระบบ และผลตอบแทนทั้งมวลในระยะยาว มากกว่าการให้ความสำคัญกับผลประกอบการของบริษัทที่เข้าไปเกี่ยวข้อง

การไหลออกของเงินลงทุนในช่วงสถานการณ์ อาจมีผลทำให้ผู้ลงทุนสถาบันที่จัดการแทนเจ้าของทรัพย์สิน (Asset Owners) และผู้ลงทุนสถาบันที่ให้บริการจัดการเงินลงทุน (Asset Managers) ต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านสภาพคล่อง รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงจากการไหลออกของเงินลงทุนและการตกต่ำของมูลค่าตลาดโดยรวม

กระนั้นก็ตาม ผู้ลงทุนสถาบันที่ยึดหลักของการลงทุนที่รับผิดชอบ (Responsible Investment) สามารถและพึงใช้บทบาทของตนที่มีต่อบริษัทและรัฐบาล ผ่านกระบวนการตัดสินใจลงทุน สนับสนุนบริษัทในวิถียั่งยืนให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ ภายใต้การคำนึงถึงประโยชน์ด้านสาธารณสุข และสมรรถนะด้านเศรษฐกิจในระยะยาว แม้จะต้องถูกจำกัดผลตอบแทนในระยะสั้นก็ตาม

หน่วยงาน PRI ซึ่งเป็นผู้จัดทำและเผยแพร่หลักการลงทุนที่รับผิดชอบในการสนับสนุนของสหประชาชาติ (United Nations-supported Principles for Responsible Investment: PRI) ได้ทำการประมวลแนวทางการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ผู้ลงทุนสถาบัน สามารถลงมือดำเนินการได้ทันที ไว้เป็น 7 แนวทาง ประกอบด้วย

แนวทางที่ 1: สานสัมพันธ์กับบริษัทที่ไม่สามารถจัดการกับวิกฤตที่เกิดขึ้น ผู้ลงทุนควรสานสัมพันธ์กับบริษัทที่ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของแรงงาน และ/หรือความมั่นคงทางการเงินของกิจการ และบริษัทซึ่งยังคงให้ลำดับความสำคัญที่ค่าตอบแทนผู้บริหาร และ/หรือผลตอบแทนระยะสั้นแก่ผู้ถือหุ้น

แนวทางที่ 2: สานสัมพันธ์ในจุดที่ภัยอื่นถูกปกปิด ทิ้งไว้เบื้องหลัง หรือทำให้เลวร้ายลงด้วยวิกฤตที่เกิดขึ้น ผู้ลงทุนควรสานสัมพันธ์กับบริษัทและรัฐบาลที่ใช้การปิดบังวิกฤตเพื่อเลี่ยงการถูกตรวจสอบ หรือในจุดที่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของอุปทานและอุปสงค์ และห่วงโซ่อุปทาน ไปเพิ่มความเสี่ยงในประเด็นด้านอื่นให้รุนแรงขึ้น

แนวทางที่ 3: ปรับลำดับความสำคัญของการสานสัมพันธ์ในประเด็นอื่น ผู้ลงทุนควรปรับลำดับความสำคัญของการสานสัมพันธ์กับบริษัท ที่อยู่ในระหว่างการจัดการวิกฤตโดยเน้นที่ประเด็นโควิด 19 มากกว่าประเด็นอื่นในช่วงสถานการณ์

แนวทางที่ 4: สนันสนุนอย่างเปิดเผยต่อการรับมือทางเศรษฐกิจโดยรวม ผู้ลงทุนควรใช้เสียงในฐานะมหาชน ผลักดันรัฐบาลและบริษัทให้ลงมือดำเนินการเพื่อส่วนรวมอย่างเหมาะสม

แนวทางที่ 5: มีส่วนร่วมในการประชุมสามัญประจำปีเสมือนจริง (Virtual AGMs) ผู้ลงทุนควรใช้ช่องทางเสมือนจริงในการเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี เพื่อควบคุมดูแล (Oversight) บริษัทที่ลงทุนได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

แนวทางที่ 6: พร้อมรับคำขอความช่วยเหลือต่อการสนับสนุนทางการเงิน ผู้ลงทุนควรเปิดช่องให้การสนับสนุนบริษัท ลูกหนี้ และรัฐบาล ด้วยการให้ความยืดหยุ่นในข้อตกลงทางการเงิน และด้วยการให้การสนับสนุนทางตรงเพิ่มเติม หากเป็นไปได้

แนวทางที่ 7: คงจุดเน้นที่มุมมองระยะยาวในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรปรับมุมมองระยะยาวในการดูแลการลงทุน (Stewardship) ให้อยู่ในแนวเดียวกับมุมมองระยะยาวในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน

สำหรับรายละเอียดการดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว สถาบันไทยพัฒน์อยู่ในระหว่างจัดทำเอกสาร แนวทางรับมือของผู้ลงทุนต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19: Investor Response Guidance เพื่อเผยแพร่ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันได้ใช้ประโยชน์ในช่วงสถานการณ์ ภายในเร็ววันนี้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]