นับตั้งแต่ที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เมื่อปี ค.ศ.2015 สำหรับใช้เป็นทิศทางการพัฒนาโลกในกรอบระยะเวลา 15 ปี ภาคเอกชน ได้มีความตื่นตัวในฐานะที่เป็นภาคส่วนหนึ่งของสังคมโลก เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเพื่อการบรรลุเป้าหมายโลก 17 ข้อ
ผมได้รับข้อคำถามจากองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่มีความประสงค์จะร่วมตอบสนองต่อ SDGs อย่างจริงจัง ว่าจะเริ่มต้นและดำเนินการอย่างไร จึงจะถูกทิศถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการลองผิดลองถูก และที่สำคัญ มีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจที่พูดถึง SDGs เพียงเพื่อการสร้างภาพลักษณ์หรือประชาสัมพันธ์
คำตอบที่ผมมีให้กับองค์กรธุรกิจที่ต้องการทำจริง และตอบโจทย์จริง มีอยู่สองคำตอบ คือ ข้อแรก ทำจริงผ่านกระบวนการทางธุรกิจ ในรูปแบบ SDG-in-process ที่ให้ผลต่อเนื่อง คือ ออกมาจากตัวธุรกิจ (ที่ดีมากกว่านั้น คือ มาจากธุรกิจแกนหลัก หรือ Core Business) ไม่ใช่ด้วยการสร้างโครงการหรือกิจกรรมรายครั้ง ซึ่งให้ผลเพียงครั้งเดียวต่อโครงการหรือกิจกรรมนั้น
ข้อที่สอง ตอบโจทย์ให้ทะลุไปที่ระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 231 ตัวที่ไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่เพียงแค่โยงในระดับเป้าประสงค์ (Goal-level) เพราะมากกว่าครึ่งของการเปิดเผยข้อมูลของกิจการ พบว่า ไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่องค์กรดำเนินการ กับเป้าหมาย SDGs ที่เชื่อมโยงไปถึง เป็นเพียงความพยายามในการจัดให้เข้าพวก ด้วยชื่อหรือหัวข้อที่อนุมานเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อมโยง มิได้ตอบโจทย์เป้าหมายตามจริง
ในบทความนี้ จะพูดถึง 7 ตัววัดด้านสังคม ที่กิจการสามารถรวบรวมข้อมูลได้จากกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่แล้ว และสามารถใช้ตอบโจทย์ SDG ในระดับตัวชี้วัด
ตัววัดด้านสังคมทั้ง 7 ตัว นำมาจากเอกสาร Guidance on core indicators for entity reporting on contribution towards implementation of the Sustainable Development Goals ที่จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) ตามแนวทางที่องค์การภายใต้สหประชาชาติให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย
สัดส่วนหญิงในตำแหน่งจัดการ (Proportion of women in managerial positions) เป็นจำนวนของหญิงในตำแหน่งจัดการ ต่อจำนวนพนักงานรวมทั้งหมด โดยพิจารณาจากตัวเลขพนักงาน ณ วันสิ้นรอบการรายงาน แสดงเป็นรายหัว (Head Count) หรือเป็นค่าเทียบเท่าพนักงานเต็มเวลา (Full Time Equivalent)
ชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมต่อปีต่อคน (Average hours of training per year per employee) เป็นมาตราส่วนการลงทุนของกิจการในการฝึกอบรมพนักงาน (ในทุนด้านมนุษย์) และระดับความเข้มข้นของการลงทุนที่มีต่อฐานพนักงานทั้งหมด ในรูปของชั่วโมงการฝึกอบรม
รายจ่ายการฝึกอบรมพนักงานต่อปีต่อคน (Expenditure on employee training per year per employee) เป็นมาตราส่วนการลงทุนของกิจการในการฝึกอบรมพนักงาน (ในทุนด้านมนุษย์) และระดับความเข้มข้นของการลงทุนที่มีต่อฐานพนักงานทั้งหมด ในรูปของรายจ่ายค่าฝึกอบรม
สัดส่วนค่าจ้างและสวัสดิการพนักงานต่อรายได้ จำแนกตามชนิดการจ้างและมิติหญิงชาย (Employee wages and benefits as a proportion of revenue, by employment type and gender) เป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าแรงพนักงานทั้งหมดของกิจการ จำแนกตามชนิดการจ้างและมิติหญิงชาย เทียบกับรายได้รวมของกิจการ
สัดส่วนรายจ่ายด้านสุขภาพและความปลอดภัยพนักงานต่อรายได้ (Expenditures on employee health and safety as a proportion of revenue) เป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายรวมในด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่กิจการมีต่อพนักงาน เทียบกับรายได้รวมของกิจการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน ที่เป็นประเด็นสำคัญในเรื่องความรับผิดชอบของกิจการ
ความถี่และอัตราการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน (Frequency/incident rates of occupational injuries) เป็นตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับวันทำงานที่สูญเสียอันเนื่องมาจากโรค การบาดเจ็บ และอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน ในรอบการรายงาน ที่แสดงถึงประสิทธิผลของนโยบายด้านสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน
ร้อยละของพนักงานที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (Percentage of employees covered by collective agreements) เป็นตัวเลขอัตราส่วนจำนวนพนักงานที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เทียบกับจำนวนพนักงานทั้งหมดในรอบการรายงาน
ทั้ง 7 ตัววัดสังคมข้างต้น กิจการสามารถใช้แสดงถึงการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 3 สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี (ตามเป้าหมาย SDG ที่ 3.8) เป้าที่ 4 การศึกษาที่ได้คุณภาพ (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 4.3.1) เป้าที่ 5 ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 5.5.2) เป้าที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 8.5.1 และเป้าหมาย SDG ที่ 8.8 ตัวชี้วัด SDG ที่ 8.8.1, 8.8.2) และเป้าที่ 10 ชุมชนและเมืองที่ยั่งยืน (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 10.4.1)
นอกจากที่กิจการจะใช้ตัววัดเหล่านี้ในการตอบโจทย์ SDG ขององค์กรแล้ว ยังสามารถส่งต่อให้รัฐบาลรวบรวมเป็นข้อมูลการบรรลุ SDG ของประเทศ ในระดับตัวชี้วัด ได้อย่างเป็นระบบและคล้องจองกันอีกด้วย
สำหรับรายละเอียดของ 7 ตัววัดด้านสังคม สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำการแปลจากเอกสารแนวทางฉบับที่ ISAR จัดทำขึ้น และเผยแพร่ไว้ในหนังสือ Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance ซึ่งผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เว็บไซต์ https://thaipat.org
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Saturday, June 18, 2022
Saturday, June 04, 2022
เปิดโผ... หุ้น "ESG Emerging" ปี 2565
แม้ว่าในภาพรวมของกองทุนยั่งยืนทั่วโลก ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จะมีเงินทุนไหลเข้าลงทุนสุทธิลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเด็นเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมถึงสงครามในยูเครน
แต่ในภูมิภาคเอเชีย จากการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์ เม็ดเงินลงทุนในกองทุนยั่งยืน ยังโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 21% โดยมีเงินไหลเข้ากองทุนยั่งยืนในภูมิภาค (ไม่นับรวมจีนและญี่ปุ่น) สุทธิอยู่ที่ 911 ล้านเหรียญในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่ตัวเลขสินทรัพย์รวมที่ลงในกองทุนยั่งยืนในภูมิภาค มีตัวเลขสะสมอยู่ที่ 71 พันล้านเหรียญ โดยแบ่งเป็นกองทุนหุ้น 58% กองทุนผสม 37% และในตราสารหนี้ 5% ตามลำดับ
และในจำนวนนี้ เป็นการลงทุนในกองทุนประเภท Passive ESG (Environmental, Social and Governance) อยู่ที่ 22% ซึ่งใช้นโยบายการลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
ด้วยความสนใจของผู้ลงทุนที่ต้องการใช้ปัจจัย ESG ในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ซึ่งเป็นผู้พัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย และเป็นผู้จัดทำข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ได้จัดทำรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่น่าลงทุนในกลุ่ม ESG Emerging ปี 2565 ด้วยการคัดเลือกจาก 851 บริษัท/กองทุน/ทรัสต์เพื่อการลงทุน ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง จำนวนกว่า 15,760 จุดข้อมูล
การพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ที่น่าลงทุนกลุ่ม ESG Emerging ในปีนี้ นับเป็นปีที่สามของการประเมิน โดยใช้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่ปรากฏในการเปิดเผยข้อมูล การดำเนินงานที่สะท้อนปัจจัยด้าน ESG และความริเริ่มหรือลักษณะธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับประเด็นด้าน ESG ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของรายได้ หรือการประหยัดต้นทุนของกิจการ ในรอบปีการประเมิน
ในปี 2565 นี้ สถาบันไทยพัฒน์ยังได้ริเริ่มรูปแบบการลงทุนที่เน้นปัจจัย ESG ผ่านกองทุนส่วนบุคคล Thaipat ESG Emerging Private Fund ที่คัดเลือกหลักทรัพย์จาก ESG Emerging Universe ตามเกณฑ์ประเมินด้าน ESG ของสถาบันไทยพัฒน์
โดยหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณราคาของหน่วยลงทุนในรอบปี 2565 คัดเลือกจากยูนิเวิร์สของกลุ่ม ESG Emerging (ปี 2563-2565) ประกอบด้วย 2S AIMRT AKP AP ASIAN AYUD BOL CKP ETC HL III IP LEO PAP PHOL PJW RBF RCL SA SCGP SEAOIL SELIC SFLEX SKR SMD SONIC SSP STARK STGT STI TNP TPIPL TVI UTP WICE YGG รวมทั้งสิ้นจำนวน 36 หลักทรัพย์*
Thaipat ESG Emerging Private Fund เป็นกองทุนส่วนบุคคลที่ให้น้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์คุณภาพที่มีมูลค่าตลาดขนาดกลางและขนาดเล็ก และผ่านเกณฑ์ด้าน ESG โดยเป็นการลงทุนในแบบ Passive Strategy ที่อาศัยความเคลื่อนไหวของช่วงราคาที่กว้างกว่าหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ และการปรับสัดส่วนการลงทุน (Rebalance) ทุก 3 เดือน ในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีอ้างอิงพื้นฐาน
กองทุนส่วนบุคคล Thaipat ESG Emerging Private Fund บริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด โดยจากการทำข้อมูลจำลองการลงทุน (Back-testing) ผลตอบแทนของหลักทรัพย์กลุ่ม ESG Emerging ตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2563 จนถึง 23 พฤษภาคม 2565 ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 43.3% เมื่อเทียบกับ SET TRI ที่ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 28.7%
สำหรับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG Emerging ที่คัดเลือกนี้ จะใช้เป็นข้อมูลนำเข้าในการคำนวณดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index สำหรับใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Benchmark Index) และใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุนแก่บริษัทจัดการลงทุนที่มีการให้บริการผลิตภัณฑ์การลงทุนในธีม ESG โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ S&P Dow Jones' Custom Indices
ผู้ลงทุนที่สนใจข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนในกลุ่ม ESG Emerging สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.esgemerging.com
* หมายเหตุ: การนำเสนอข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์จดทะเบียน ESG Emerging รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่สถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้ประเมิน เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้เป็นข้อมูลเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นคำแนะนำในการลงทุน หรือการเสนอซื้อเสนอขายใดๆ
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
แต่ในภูมิภาคเอเชีย จากการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์ เม็ดเงินลงทุนในกองทุนยั่งยืน ยังโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 21% โดยมีเงินไหลเข้ากองทุนยั่งยืนในภูมิภาค (ไม่นับรวมจีนและญี่ปุ่น) สุทธิอยู่ที่ 911 ล้านเหรียญในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่ตัวเลขสินทรัพย์รวมที่ลงในกองทุนยั่งยืนในภูมิภาค มีตัวเลขสะสมอยู่ที่ 71 พันล้านเหรียญ โดยแบ่งเป็นกองทุนหุ้น 58% กองทุนผสม 37% และในตราสารหนี้ 5% ตามลำดับ
และในจำนวนนี้ เป็นการลงทุนในกองทุนประเภท Passive ESG (Environmental, Social and Governance) อยู่ที่ 22% ซึ่งใช้นโยบายการลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
ด้วยความสนใจของผู้ลงทุนที่ต้องการใช้ปัจจัย ESG ในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ซึ่งเป็นผู้พัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย และเป็นผู้จัดทำข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ได้จัดทำรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่น่าลงทุนในกลุ่ม ESG Emerging ปี 2565 ด้วยการคัดเลือกจาก 851 บริษัท/กองทุน/ทรัสต์เพื่อการลงทุน ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง จำนวนกว่า 15,760 จุดข้อมูล
การพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ที่น่าลงทุนกลุ่ม ESG Emerging ในปีนี้ นับเป็นปีที่สามของการประเมิน โดยใช้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่ปรากฏในการเปิดเผยข้อมูล การดำเนินงานที่สะท้อนปัจจัยด้าน ESG และความริเริ่มหรือลักษณะธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับประเด็นด้าน ESG ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของรายได้ หรือการประหยัดต้นทุนของกิจการ ในรอบปีการประเมิน
ในปี 2565 นี้ สถาบันไทยพัฒน์ยังได้ริเริ่มรูปแบบการลงทุนที่เน้นปัจจัย ESG ผ่านกองทุนส่วนบุคคล Thaipat ESG Emerging Private Fund ที่คัดเลือกหลักทรัพย์จาก ESG Emerging Universe ตามเกณฑ์ประเมินด้าน ESG ของสถาบันไทยพัฒน์
โดยหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณราคาของหน่วยลงทุนในรอบปี 2565 คัดเลือกจากยูนิเวิร์สของกลุ่ม ESG Emerging (ปี 2563-2565) ประกอบด้วย 2S AIMRT AKP AP ASIAN AYUD BOL CKP ETC HL III IP LEO PAP PHOL PJW RBF RCL SA SCGP SEAOIL SELIC SFLEX SKR SMD SONIC SSP STARK STGT STI TNP TPIPL TVI UTP WICE YGG รวมทั้งสิ้นจำนวน 36 หลักทรัพย์*
Thaipat ESG Emerging Private Fund เป็นกองทุนส่วนบุคคลที่ให้น้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์คุณภาพที่มีมูลค่าตลาดขนาดกลางและขนาดเล็ก และผ่านเกณฑ์ด้าน ESG โดยเป็นการลงทุนในแบบ Passive Strategy ที่อาศัยความเคลื่อนไหวของช่วงราคาที่กว้างกว่าหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ และการปรับสัดส่วนการลงทุน (Rebalance) ทุก 3 เดือน ในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีอ้างอิงพื้นฐาน
กองทุนส่วนบุคคล Thaipat ESG Emerging Private Fund บริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด โดยจากการทำข้อมูลจำลองการลงทุน (Back-testing) ผลตอบแทนของหลักทรัพย์กลุ่ม ESG Emerging ตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2563 จนถึง 23 พฤษภาคม 2565 ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 43.3% เมื่อเทียบกับ SET TRI ที่ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 28.7%
สำหรับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG Emerging ที่คัดเลือกนี้ จะใช้เป็นข้อมูลนำเข้าในการคำนวณดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index สำหรับใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Benchmark Index) และใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุนแก่บริษัทจัดการลงทุนที่มีการให้บริการผลิตภัณฑ์การลงทุนในธีม ESG โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ S&P Dow Jones' Custom Indices
ผู้ลงทุนที่สนใจข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนในกลุ่ม ESG Emerging สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.esgemerging.com
* หมายเหตุ: การนำเสนอข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์จดทะเบียน ESG Emerging รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่สถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้ประเมิน เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้เป็นข้อมูลเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นคำแนะนำในการลงทุน หรือการเสนอซื้อเสนอขายใดๆ
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Subscribe to:
Posts (Atom)