ความสำคัญของประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ที่มีต่อองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน ถูกยกระดับเพิ่มมากขึ้น จากความต้องการของผู้ลงทุนในกลุ่มที่คาดหวังจะใช้การลงทุนเป็นเครื่องมือผลักดันให้บริษัทมีการดำเนินงานในทางที่ส่งผลดีต่อโลกและสังคมรอบข้าง ไปพร้อมกับการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ไม่ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป
จากข้อมูลสำรวจของแมคคินซี่และกลุ่มพันธมิตรการลงทุนที่ยั่งยืนระดับสากล (Global Sustainable Investment Alliance: GSIA) ระบุว่า ตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์โดยใช้ปัจจัย ESG ทั่วโลก มีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 22.8 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2016 ขยับขึ้นมาเป็น 30.6 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2018 และมาอยู่ที่ 37.8 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2020 โดยคาดการณ์ว่า จะมีมูลค่าสูงถึง 53 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2025 คิดเป็นร้อยละ 37.72 หรือมากกว่าหนึ่งในสามของสินทรัพย์การลงทุนทั้งหมดที่ 140.5 ล้านล้านเหรียญ
ในประเทศไทย จากการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์ บ่งชี้ว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนมีการเติบโตอย่างชัดเจนในปีนี้ โดยมูลค่าสินทรัพย์รวมเฉพาะในไตรมาสแรกของปี อยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 81 จากสิ้นปี 2563 โดยเมื่อ 31 ธันวาคม 2563 มูลค่าสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตมากกว่า 4 เท่าจากปี 2562 ที่มีมูลค่ารวมราว 5 พันกว่าล้านบาท
ด้วยความสนใจของผู้ลงทุนที่ต้องการใช้ปัจจัย ESG ในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ซึ่งเป็นผู้พัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย และเป็นผู้จัดทำข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นับตั้งแต่ปี 2558 ได้จัดทำรายชื่อหลักทรัพย์ที่น่าลงทุนกลุ่ม ESG Emerging ขึ้นเป็นปีที่สอง ในปีนี้ ด้วยการคัดเลือกจาก 824 บริษัท/กองทุน/ทรัสต์เพื่อการลงทุน ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง จำนวนกว่า 15,260 จุดข้อมูล
โดยผลการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เข้าอยู่ในกลุ่ม ESG Emerging ปี 2564 ประกอบด้วย AF AIMIRT AP ASIAN COTTO ETC LEO NRF PAP PCSGH SA SCGP SELIC SENA SFLEX SKR SONIC SSP STARK STI TM WICE WINMED ZIGA รวมทั้งสิ้นจำนวน 24 หลักทรัพย์*
การพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ที่น่าลงทุนกลุ่ม ESG Emerging ใช้ข้อมูล ESG ที่ปรากฏในการเปิดเผยข้อมูล การดำเนินงานที่สะท้อนปัจจัยด้าน ESG และความริเริ่มหรือลักษณะธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับประเด็นด้าน ESG ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของรายได้ หรือการประหยัดต้นทุนของกิจการ ในรอบปีการประเมิน
สำหรับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG Emerging ที่คัดเลือกนี้ จะใช้เป็นข้อมูลนำเข้าในการคำนวณดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index สำหรับใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Benchmark Index) และใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุนแก่บริษัทจัดการลงทุนที่มีการให้บริการผลิตภัณฑ์การลงทุนในธีม ESG โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ S&P Dow Jones' Custom Indices
ทั้งนี้ การลงทุนในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด หรือในสภาวะที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูง หลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากผลตอบแทนการลงทุนที่ลดลง จะอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าการลดลงของผลตอบแทนของตลาดโดยรวม
โดยเมื่อพิจารณาดัชนีผลตอบแทนรวม SET TRI ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนภาพรวมของตลาดทุนไทย ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 อัตราผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงปัจจุบัน (17 พ.ค. 64) อยู่ที่ร้อยละ 2.97 ขณะที่ดัชนีผลตอบแทนรวม Thaipat ESG Index TR ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบขึ้นจากหลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นด้าน ESG ให้อัตราผลตอบแทนในช่วงเดียวกัน อยู่ที่ร้อยละ 10.5 หรือต่างกันอยู่ร้อยละ 7.53
ผู้ลงทุนที่สนใจข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนในกลุ่ม ESG Emerging และกลุ่ม ESG100 สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.esgrating.com
* หมายเหตุ: การนำเสนอข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์จดทะเบียน ESG Emerging รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่สถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้ประเมิน เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้เป็นข้อมูลเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นคำแนะนำในการลงทุน หรือการเสนอซื้อเสนอขายใดๆ
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Saturday, May 22, 2021
Saturday, May 08, 2021
สร้างภาวะพร้อมผันให้องค์กร
ปี 2564 ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ในด้านเศรษฐกิจ ผลพวงจากการระบาดของโควิดระลอกสามในประเทศ ทำให้ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ จะขยายตัวในกรอบร้อยละ 1.0-2.0 จากที่หดตัวร้อยละ -6.1 ในปีที่ผ่านมา (กนง., พ.ค. 64)
ในด้านสังคม หน่วยงาน Social Progress Imperative ผู้จัดทำดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมใน 163 ประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 2557 ได้ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีคะแนนต่ำสุดด้านความทั่วถึง (Inclusiveness) ที่แสดงถึงความทัดเทียมในด้านเพศสภาพ การไม่เลือกปฎิบัติ อำนาจทางการเมือง และที่ได้คะแนนต่ำรองลงมาเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล (socialprogress.org, 2021)
ในด้านสิ่งแวดล้อม การปล่อย CO2 ของประเทศไทย ลดลงร้อยละ 9.2 จากการปล่อย CO2 ที่ลดลงในเกือบทุกสาขา ยกเว้นภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อย CO2 เพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (สนพ., ม.ค. 64)
ปรากฏการณ์โควิด (COVID Effect) ได้ส่งผลกระทบไปยังทุกวงการ รวมทั้งภาคธุรกิจที่จำเป็นต้องมีการปรับการดำเนินธุรกิจให้รองรับกับวิถีปกติใหม่ ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อยู่ในปลายทางของห่วงโซ่ธุรกิจ และปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ส่งมอบวัตถุดิบหรือคู่ค้าที่เป็นต้นทางของห่วงโซ่ธุรกิจ
นอกจากเรื่องสุขภาพของบุคลากรที่จะต้องได้รับการดูแลป้องกันจากโรคโควิด-19 เรื่องสุขภาพองค์กร (Corporate Health) ได้กลายเป็นประเด็นสาระสำคัญที่ทุกองค์กรจะต้องคำนึงถึงนับจากนี้ และจะถูกใช้เป็นปัจจัยนำเข้าสำหรับการจัดวางกลยุทธ์องค์กรให้สอดรับกับการดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ ซึ่งจะหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การปรับตัวสู่ภาวะปกติสืบเนื่องไปในระยะยาว (Resilience) ของกิจการ
จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ ต่อประเด็นกลยุทธ์หลังโควิด: จาก ‘ฟื้นฟู’ สู่ ‘พร้อมผัน’ (Post-COVID Strategies: From ‘Recovery’ to ‘Resilience’) กับองค์กรจำนวน 43 แห่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า สามในสี่ขององค์กรที่สำรวจ (74.4%) มีแผนเรื่อง Resilience แล้ว และกำลังดำเนินการในปีนี้ ที่เหลือราวหนึ่งในสี่ (25.6%) ยังไม่มีแผนในเรื่องดังกล่าว
ในบรรดาองค์กรที่มีแผน Resilience และกำลังดำเนินการ ได้มุ่งเน้นความสำคัญไปยังด้านพนักงานมากสุด (90.7%) รองลงมาคือ ด้านลูกค้า (58.1%) และด้านสิ่งแวดล้อม (53.5%) ตามลำดับ
ทั้งนี้ องค์กรที่ตอบแบบสำรวจกว่าสองในสาม (69.8%) ระบุว่า การมีแผน Resilience จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กรในการปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ ขณะที่ ไม่ถึงหนึ่งในสามขององค์กรที่สำรวจ (30.2%) ระบุว่าเป็นประโยชน์ และไม่มีองค์กรใดจากการสำรวจที่ไม่เห็นประโยชน์จากการมีแผนในเรื่องดังกล่าว
องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล หรือ Global Reporting Initiative (GRI) ในฐานะผู้จัดทำมาตรฐานระดับโลกด้านความยั่งยืนสำหรับการเปิดเผยข้อมูล ได้เผยแพร่เอกสาร ข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (Culture of Health Business Practices: COHBP) สำหรับให้กิจการผนวกประเด็นด้านสุขภาพ เข้ากับกลยุทธ์องค์กร เพื่อใช้ดำเนินงานหลังสถานการณ์โควิด
ข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (COHBP) ฉบับดังกล่าว จำแนกออกเป็น 16 ข้อปฏิบัติ ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่
ด้านกลยุทธ์ ประกอบด้วย วัฒนธรรมสุขภาพ กิจกรรมทางการเมืองขององค์กรที่ต้องรับผิดชอบ ข้อปฏิบัติทางการตลาดที่ต้องรับผิดชอบ
ด้านนโยบายและสวัสดิการ ประกอบด้วย การส่งเสริมสุขภาพและความเปี่ยมสุข (Wellness) สิทธิลาป่วยและเพื่อดูแลครอบครัวโดยได้รับค่าจ้าง การประกันสุขภาพ ความเสมอภาค ความหลากหลายและความเป็นกลาง พื้นความรู้ทางการเงิน
ด้านแรงงานและสถานประกอบการ ประกอบด้วย เวลาทำงาน ความมั่นคงในตำแหน่งงาน การจ่ายค่าจ้าง อาชีวอนามัยและความปลอดภัย สภาพแวดล้อมทางกายภาพ
ด้านชุมชน ประกอบด้วย ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมชุมชน ทุนทางสังคมและความสมานฉันท์ การมีส่วนร่วมในชุมชน
ข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพดังกล่าว สามารถใช้เป็นปัจจัยนำเข้าในการวิเคราะห์สารัตถภาพ (Materiality Analysis) เพื่อใช้กำหนดประเด็นสาระสำคัญด้านวัฒนธรรมสุขภาพที่องค์กรควรดำเนินการ ผนวกไว้ในกลยุทธ์องค์กร สำหรับรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจวิถีปกติใหม่ และการเป็นองค์กรพร้อมผันในทุกสถานการณ์
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
ในด้านสังคม หน่วยงาน Social Progress Imperative ผู้จัดทำดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมใน 163 ประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 2557 ได้ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีคะแนนต่ำสุดด้านความทั่วถึง (Inclusiveness) ที่แสดงถึงความทัดเทียมในด้านเพศสภาพ การไม่เลือกปฎิบัติ อำนาจทางการเมือง และที่ได้คะแนนต่ำรองลงมาเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล (socialprogress.org, 2021)
ในด้านสิ่งแวดล้อม การปล่อย CO2 ของประเทศไทย ลดลงร้อยละ 9.2 จากการปล่อย CO2 ที่ลดลงในเกือบทุกสาขา ยกเว้นภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อย CO2 เพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (สนพ., ม.ค. 64)
ปรากฏการณ์โควิด (COVID Effect) ได้ส่งผลกระทบไปยังทุกวงการ รวมทั้งภาคธุรกิจที่จำเป็นต้องมีการปรับการดำเนินธุรกิจให้รองรับกับวิถีปกติใหม่ ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อยู่ในปลายทางของห่วงโซ่ธุรกิจ และปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ส่งมอบวัตถุดิบหรือคู่ค้าที่เป็นต้นทางของห่วงโซ่ธุรกิจ
นอกจากเรื่องสุขภาพของบุคลากรที่จะต้องได้รับการดูแลป้องกันจากโรคโควิด-19 เรื่องสุขภาพองค์กร (Corporate Health) ได้กลายเป็นประเด็นสาระสำคัญที่ทุกองค์กรจะต้องคำนึงถึงนับจากนี้ และจะถูกใช้เป็นปัจจัยนำเข้าสำหรับการจัดวางกลยุทธ์องค์กรให้สอดรับกับการดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ ซึ่งจะหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การปรับตัวสู่ภาวะปกติสืบเนื่องไปในระยะยาว (Resilience) ของกิจการ
จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ ต่อประเด็นกลยุทธ์หลังโควิด: จาก ‘ฟื้นฟู’ สู่ ‘พร้อมผัน’ (Post-COVID Strategies: From ‘Recovery’ to ‘Resilience’) กับองค์กรจำนวน 43 แห่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า สามในสี่ขององค์กรที่สำรวจ (74.4%) มีแผนเรื่อง Resilience แล้ว และกำลังดำเนินการในปีนี้ ที่เหลือราวหนึ่งในสี่ (25.6%) ยังไม่มีแผนในเรื่องดังกล่าว
ในบรรดาองค์กรที่มีแผน Resilience และกำลังดำเนินการ ได้มุ่งเน้นความสำคัญไปยังด้านพนักงานมากสุด (90.7%) รองลงมาคือ ด้านลูกค้า (58.1%) และด้านสิ่งแวดล้อม (53.5%) ตามลำดับ
ทั้งนี้ องค์กรที่ตอบแบบสำรวจกว่าสองในสาม (69.8%) ระบุว่า การมีแผน Resilience จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กรในการปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ ขณะที่ ไม่ถึงหนึ่งในสามขององค์กรที่สำรวจ (30.2%) ระบุว่าเป็นประโยชน์ และไม่มีองค์กรใดจากการสำรวจที่ไม่เห็นประโยชน์จากการมีแผนในเรื่องดังกล่าว
องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล หรือ Global Reporting Initiative (GRI) ในฐานะผู้จัดทำมาตรฐานระดับโลกด้านความยั่งยืนสำหรับการเปิดเผยข้อมูล ได้เผยแพร่เอกสาร ข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (Culture of Health Business Practices: COHBP) สำหรับให้กิจการผนวกประเด็นด้านสุขภาพ เข้ากับกลยุทธ์องค์กร เพื่อใช้ดำเนินงานหลังสถานการณ์โควิด
ข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (COHBP) ฉบับดังกล่าว จำแนกออกเป็น 16 ข้อปฏิบัติ ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่
ด้านกลยุทธ์ ประกอบด้วย วัฒนธรรมสุขภาพ กิจกรรมทางการเมืองขององค์กรที่ต้องรับผิดชอบ ข้อปฏิบัติทางการตลาดที่ต้องรับผิดชอบ
ด้านนโยบายและสวัสดิการ ประกอบด้วย การส่งเสริมสุขภาพและความเปี่ยมสุข (Wellness) สิทธิลาป่วยและเพื่อดูแลครอบครัวโดยได้รับค่าจ้าง การประกันสุขภาพ ความเสมอภาค ความหลากหลายและความเป็นกลาง พื้นความรู้ทางการเงิน
ด้านแรงงานและสถานประกอบการ ประกอบด้วย เวลาทำงาน ความมั่นคงในตำแหน่งงาน การจ่ายค่าจ้าง อาชีวอนามัยและความปลอดภัย สภาพแวดล้อมทางกายภาพ
ด้านชุมชน ประกอบด้วย ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมชุมชน ทุนทางสังคมและความสมานฉันท์ การมีส่วนร่วมในชุมชน
ข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพดังกล่าว สามารถใช้เป็นปัจจัยนำเข้าในการวิเคราะห์สารัตถภาพ (Materiality Analysis) เพื่อใช้กำหนดประเด็นสาระสำคัญด้านวัฒนธรรมสุขภาพที่องค์กรควรดำเนินการ ผนวกไว้ในกลยุทธ์องค์กร สำหรับรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจวิถีปกติใหม่ และการเป็นองค์กรพร้อมผันในทุกสถานการณ์
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Subscribe to:
Posts (Atom)