Sunday, July 21, 2019

ESG กับการลงทุนในกองทุนรวม

ปัจจุบัน การประเมินปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน กำลังเดินเข้าสู่โหมดที่ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ถือเป็นเกณฑ์ปฏิบัติสามัญที่จะต้องคำนึงถึงกันอย่างถ้วนหน้า

นอกจากการพิจารณาปัจจัยด้าน ESG กับการลงทุนในตราสารทุน ประเภทหุ้น ที่มีความแพร่หลายระดับหนึ่งในบ้านเรา หน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) จัดเป็นหลักทรัพย์อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความสนใจลงทุน และเริ่มมีการใช้ปัจจัยด้าน ESG ในการประเมินเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนบ้างแล้ว

ทั้งการเติบโตในแง่ของ Supply คือ มีจำนวนกองทุนที่ออกเพิ่มขึ้นในตลาด และในแง่ของ Demand ที่ผู้ลงทุนต้องการทางเลือกของการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำ และยังคงสามารถให้ผลตอบแทนที่ไม่ด้อยกว่าการลงทุนในตราสารทุนประเภทหุ้น กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้กองทุนในกลุ่มนี้ เป็นตัวเลือกของการลงทุนที่เหมาะสมกับสภาวะตลาดในปัจจุบัน


จากข้อมูลกองทุนที่จดทะเบียนกับสำนักงาน ก.ล.ต. ในกลุ่มนี้ พบว่า มีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 7 กองทุน มีมูลค่าตลาดรวม 358,103.89 ล้านบาท มีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 60 กองทุน มีมูลค่าตลาดรวม 426,501.27 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2562)

ทั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ 67 กองรวมกัน มีมูลค่าตลาดคิดเป็นร้อยละ 4.64 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปรวมของตลาด (SET) ที่ 16.89 ล้านล้านบาท

จากข้อมูลการประเมิน ESG กับกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ของสถาบันไทยพัฒน์ ได้มีการคัดเลือกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ เข้าอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ประจำปี 2562 เป็นปีแรก จำนวนรวม 9 กองทุน

โดยเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF)

และเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 7 กองทุน ได้แก่ กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN คอมเมอร์เชียล โกรท (CPNCG) กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไพร์มออฟฟิศ (POPF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์บัวหลวง ออฟฟิศ (B-WORK) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FTREIT) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลเด้นเวนเจอร์ (GVREIT) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ แอล เอช ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ (LHSC) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART)

สำหรับเกณฑ์ในการประเมิน ESG กับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ นอกจากการใช้ Screening Criteria และ Rating Criteria เหมือนกับการประเมินบริษัทจดทะเบียนแล้ว ยังใช้เกณฑ์พิจารณาที่อ้างอิงจาก GRI, SASB ในส่วนที่เป็นประเด็น ESG รายสาขา ได้แก่ การบริหารการใช้น้ำและพลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การดูแลฟื้นฟูที่ดินและทรัพย์สินในความครอบครอง ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ผลกระทบต่อผู้ใช้และผู้เช่าทรัพย์สิน การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรับรองด้านความยั่งยืนในโครงการจากหน่วยงานภายนอก

นอกจากนี้ ยังมีตัววัดที่อ้างอิงจาก GRESB ในส่วนที่เป็นการประเมินกองทุน 3 หมวด ได้แก่ นโยบายและความเป็นผู้นำ การเฝ้าติดตามและประเมินความเสี่ยง การสื่อสารและการสานสัมพันธ์ และในส่วนที่เป็นการประเมินทรัพย์สิน 8 หมวด ได้แก่ การจัดการ นโยบายและการเปิดเผยข้อมูล โอกาสและความเสี่ยง การนำไปปฏิบัติ ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและการเฝ้าติดตาม การสานสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้เสีย ผลการดำเนินงาน ประกาศนียบัตรและรางวัลที่ได้รับ

ทั้ง 9 กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 มีมูลค่าตลาดรวมกัน 193,640.61 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.68 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปรวมของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ 784,605.16 ล้านบาท

น่าจะเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนโดยมีความผันผวนต่ำ ได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอในระดับที่น่าพอใจ นอกเหนือจากการลงทุนในหุ้น

แต่เหนือสิ่งอื่นใด การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน ผู้ลงทุนควรลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตน และผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, July 07, 2019

ไทยติดอันดับโลกด้านความยั่งยืน

จากความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียในข้อมูลกิจการที่ต้องการมากกว่าตัวเลขผลประกอบการ ครอบคลุมถึงการดำเนินงานที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้การเปิดเผยข้อมูลในรูปของรายงานด้านความยั่งยืนที่จัดทำตามความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.1999-2016) เพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

จากตัวเลขในฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database (SDD) ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการทั่วโลก มีองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนจำนวน 13,893 แห่ง ผ่านรายงานรวมทั้งสิ้น 54,776 ฉบับ ในจำนวนนี้ เป็นรายงานที่จัดทำตามแนวทาง GRI จำนวน 32,700 ฉบับ หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของรายงานที่เปิดเผยผ่านฐานข้อมูล SDD ทั้งหมด และมี 237 องค์กรในประเทศไทย ที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ผ่านรายงานรวมทั้งสิ้น 635 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2562)

โดยข้อมูลในหมวดที่เป็นการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Target 12.6 – Country Tracker จากเดิมประเทศไทยมีรายงานที่เปิดเผยเพียง 41 เล่ม ในรอบการรายงานปี 2558 เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 108 เล่ม ในรอบการรายงานปี 2559 (หรือเพิ่มขึ้น 1.6 เท่า) และมาเป็นจำนวน 120 เล่ม ในรอบการรายงานปี 2560 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11) ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทยมีตัวเลขการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่อ้างอิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มากเป็นอันดับ 5 ของโลก


ขณะเดียวกัน การเปิดเผยข้อมูลในรูปของรายงานด้านความยั่งยืนที่จัดทำตามแนวทาง GRI ในประเทศไทย มีตัวเลขอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก

เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยมีจำนวนองค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูลมากสุด อยู่ที่ 237 แห่ง ขณะที่มาเลเซียมี 156 แห่ง อินโดนีเซีย 155 แห่ง สิงคโปร์ 151 แห่ง ตามมาด้วย เวียดนาม 98 แห่ง ฟิลิปปินส์ 65 แห่ง กัมพูชา 16 แห่ง และเมียนมา 3 แห่ง ตามลำดับ

สิ่งที่ท้าทายจากนี้ไป คือ การรักษาระดับความเป็นผู้นำ โดยเฉพาะในประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ประเทศไทยมีจำนวนองค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูลมากสุดเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค การรวบรวมและเพิ่มจำนวนองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database จึงถือเป็นความเคลื่อนไหวทางกลยุทธ์ที่สำคัญ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในระดับส่วนรวมในนามของประเทศไทยที่มีชื่อติดอันดับในเวทีโลก และในระดับองค์กรที่สามารถยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ตามกรอบการรายงานที่สากลยอมรับควบคู่ไปพร้อมกัน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]