Monday, October 30, 2017

“ชุมชน” กับการ “ถูกพัฒนา”

ชุมชนเข้มแข็งไม่ได้ด้วยการ “ถูกพัฒนา”

คำว่า “ชุมชนเข้มแข็ง” ได้ถูกใช้เป็นเป้าหมายการพัฒนามาเป็นเวลานับทศวรรษ และปรากฏอย่างเด่นชัดครั้งแรก ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549)

แผนพัฒนาฯ ฉบับดังกล่าว ได้มีการระบุถึงการพัฒนากระบวนการชุมชนเข้มแข็ง ใน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การส่งเสริมการรวมตัวของชุมชนและประชาสังคม โดยอาศัยกลุ่มแกนวิทยากรกระบวนการจากทุกภาคส่วน การค้นหาศักยภาพของชุมชน โดยให้สถาบันการศึกษาในท้องถิ่นเป็นแกนประสานรวบรวมองค์ความรู้ในพื้นที่ การสนับสนุนให้ชุมชนจัดทำแผนชุมชนอย่างมีส่วนร่วม และการติดตามประเมินผลการพัฒนาโดยชุมชนร่วมกับภาคีการพัฒนา

แต่จากภาพรวมของผลการพัฒนา แสดงให้เห็นว่า ชุมชนไม่สามารถเข้มแข็งได้ด้วยการ “ถูกพัฒนา” หากแต่ด้วยการ “พัฒนา” ที่เกิดจากชุมชนเป็นหลัก

ทั้งนี้ หลายหน่วยงานทั้งในภาครัฐและภาคประชาสังคม ที่ได้รับงบประมาณ จะมีโจทย์ในการพัฒนาตามพันธกิจหรือตามประเด็นที่หน่วยงานสนใจ โดยไม่สอดคล้องกับโจทย์ที่เป็นความต้องการของชุมชนหรือเป็นปัญหาที่ชุมชนต้องการแก้ไขอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน หลายชุมชนที่ถูกระบุเป็นเป้าหมาย ยินยอมให้ถูกพัฒนาตามกรอบพันธกิจของหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ แลกกับสิ่งที่จะได้รับจากโครงการที่ลงไปดำเนินการ

เหตุนี้ การพัฒนาจึงไม่ได้กระทำอย่างตรงจุด ไม่ก่อเกิดเป็นผลลัพธ์ (Outcome) ตามที่ควรจะเป็น แม้จะได้ผลผลิต (Output) ครบถ้วนตามข้อกำหนดของโครงการทุกประการ

บทเรียนสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่สะท้อนจากการพัฒนาในหลายพื้นที่ ชี้ให้เห็นว่า การใช้ “พื้นที่” เป็นตัวตั้ง ไม่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาโดยลำพัง หากแต่ต้องคำนึงถึง “กาลเทศะ” คือ นอกจากการพิจารณาบริบทเชิงพื้นที่ (เทศะ) ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านภูมิสังคม ยังต้องพิจารณาถึงจังหวะเวลา หรือบริบทความพร้อม (กาล) ของชุมชน ที่มีความแตกต่างกัน

ตัวอย่างรูปแบบการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน ที่มีการคำนึงถึงทั้งบริบทความพร้อมและพื้นที่ อาทิ การจำแนกชุมชนที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ (ขั้น) โดยในระยะแรก เป็นการพัฒนาบุคคลหรือครัวเรือน ให้เป็นสัมมาชีพ ด้วยการลดการพึ่งพา ละความฟุ่มเฟือย เลิกอบายมุข ระยะที่สอง เป็นการพัฒนากลุ่มอาชีพ ให้เป็นผู้ประกอบการชุมชน (Community Entrepreneur: CE) ด้วยการรวมกลุ่ม รวมซื้อ รวมขาย และระยะที่สาม เป็นการพัฒนากิจการในระดับชุมชน ให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมีชุมชนเป็นเจ้าของ ด้วยการสร้างความร่วมมือ ร่วมทุน ร่วมค้า เป็นต้น

นอกจากนี้ มุมมองของการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ แต่เดิม ที่อาศัยการเคลื่อนไหวในแบบที่เป็น “ขบวนการพัฒนา” นั้น ใช้ได้ดี เมื่อเห็นทิศทาง หรือมีหัวขบวนนำที่ชัดเจน

แต่ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่ทิศทางการพัฒนามีหลายทางเลือก และมิได้มีหัวขบวนเดียว จึงควรพิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง โดยอาศัยแนวคิดในแบบที่เป็น “ห่วงโซ่การพัฒนา” เปิดโอกาสให้มีผู้นำการเคลื่อนไหวจากหน่วยงานหรือภาคีที่มีความชำนาญการ ดำเนินบทบาทในแต่ละข้อต่อของการพัฒนา ส่งมอบผลสัมฤทธิ์เป็นทอดๆ ในสายโซ่ของการพัฒนานั้นๆ

ตัวอย่างของห่วงโซ่การพัฒนาตามแนวทางดังกล่าว ได้แก่ การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจใน “ต้นทาง” โดยมีการสร้างข้อต่อ “กลางทาง” ที่เป็นธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อม เชื่อมโยงไปยังตลาด “ปลายทาง” ที่เป็นกิจการบริษัทขนาดใหญ่ เกิดเป็นห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ ที่ทุกคนในห่วงโซ่ต้องเข้มแข็งไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นต้น

การยัดเยียดการพัฒนาให้ชุมชน ภายใต้กรอบภารกิจของหน่วยงานที่ลงพื้นที่ ทำให้ชุมชนกลายเป็น กรรม (Object) ของการพัฒนา

จึงถึงเวลาที่หน่วยงานเจ้าของเรื่อง จะต้องมีความแยบคายในการพัฒนา ที่สามารถทำให้ชุมชน ทำหน้าที่เป็น ประธาน (Subject) ของการพัฒนา ให้ได้


จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, October 22, 2017

เศรษฐกิจพอเพียง : จากปรัชญา สู่ทฤษฎี (ใหม่) ทางธุรกิจ

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่คนไทยโดยมากรับรู้นั้น เป็นเนื้อหาในส่วนที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ และ 2 เงื่อนไข อันได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี โดยอาศัยความรู้ และคุณธรรมเป็นเงื่อนไขในการดำเนินงาน

การจะนำปรัชญามาปฏิบัติให้เกิดผล จำเป็นต้องมีแบบแผนหรือระเบียบวิธีดำเนินงาน เพื่อแปลงหลักการใน “ปรัชญา” ซึ่งมีความเป็นนามธรรมสูง ให้เป็น “ทฤษฎี” ที่สามารถอธิบายขั้นตอนการดำเนินงานหรือการนำไปปฏิบัติที่มีความเป็นรูปธรรม และให้ผลลัพธ์เดียวกันเมื่อดำเนินการตามทฤษฎีนั้น

การดำเนินงานใด ที่ขาดทฤษฎีรองรับ เสมือนกับการขาดเหตุผลและรากฐานให้แก่ปรากฏการณ์หรือข้อมูลในภาคปฏิบัติ เปิดช่องให้มีการอธิบายหรือกล่าวอ้างแบบเลื่อนลอย ทั้งในกรณีที่สำเร็จและล้มเหลว

เช่น ธุรกิจ บอกว่า ตนเองประสบความสำเร็จ ด้วยการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้นพอถามถึงวิธีการดำเนินงาน ก็ดูเหมือนไม่ได้มีวัตรปฏิบัติใดที่สะท้อนถึงคุณลักษณะ 3 ประการอย่างเด่นชัด หรือแตกต่างจากการดำเนินงานของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั่วไป

หรือ รัฐบาล บอกว่า จะบริหารราชการแผ่นดินตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างให้เกิดความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน และพัฒนาสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทำน้อย ได้มาก” (ขณะที่ แนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง คือ “ทำตามลำดับขั้น”)

ในภาคเกษตร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงคิดค้นรูปแบบของ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ขึ้นด้วยพระองค์เอง จากแนวคิดในการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งและการขาดน้ำเพื่อการเกษตรกรรม โดยใช้วิธีเลียนแบบหลักธรรมชาติในการสร้างความสมดุลระหว่างสภาพตามธรรมชาติและวิถีชีวิตของมนุษย์ และได้ใช้พื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา ทดลองจนแน่พระทัยว่าประสบผลสำเร็จ ทำให้มีสถานภาพเป็นทฤษฎีที่ได้รับการพิสูจน์และทดสอบแล้ว

ปัญหาของภาคธุรกิจที่น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ คือ การขาดทฤษฎีที่ได้รับการพิสูจน์และทดสอบยืนยันผลของการประยุกต์อย่างเป็นระบบ และสามารถนำไปปฏิบัติซ้ำได้สำเร็จ

การแปลง "ปรัชญา" เศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็น "ทฤษฎี" ธุรกิจในแต่ละสาขา จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นในภาคการผลิต ภาคการค้า หรือภาคการบริการต่างๆ

ในบทความที่ผมนำเสนอเรื่อง หลักธุรกิจในเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2551 ได้พยายามเทียบเคียงให้เห็นมิติของเศรษฐกิจพอพียง ที่มีความสอดคล้องกับมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ในเรื่องกำไรสูงสุด ที่มีการพิจารณาค่าเสียโอกาส และผลกระทบสู่ภายนอก (Externalities) ร่วมด้วย

นอกจากคุณลักษณะ 3 ประการ และ 2 เงื่อนไข ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง พระองค์ยังได้จำแนกเศรษฐกิจพอเพียงออกเป็น 2 ระดับ (3 ขั้น) คือ เศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่เลี้ยงตัวเองได้บนพื้นฐานของความประหยัดและการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เรียกว่า “เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน” ส่วนเศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่มีการรวมตัวกัน เพื่อร่วมกันดำเนินงานในเรื่องต่างๆ มีการสร้างเครือข่ายและการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ โดยประสานความร่วมมือกับภายนอก เรียกว่า “เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า

ขั้นแรก เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ที่เน้นความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว มีความเป็นอยู่ในลักษณะที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และสามารถสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน (ปัจจัย 4) ได้

ขั้นที่สอง เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ที่เน้นความพอเพียงในระดับกลุ่ม มีการรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ เพื่อร่วมกันดำเนินงานในด้านต่างๆ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ขั้นที่สาม เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ที่เน้นความพอเพียงในระดับเครือข่าย มีการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อการสร้างเครือข่าย เพื่อการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย ให้สมประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย

หากจะเทียบเคียงระดับขั้นของเศรษฐกิจพอเพียง กับมุมมองทางธุรกิจ ในเรื่องการสร้างคุณค่าร่วม (Shared Value) จะพบความสอดคล้องในทั้งสามระดับ กล่าวคือ

ระดับแรก เป็นความพอเพียง (การสร้างคุณค่าร่วม) ในระดับองค์กร (Organization) ที่เน้นถึงการดำรงอยู่ของกิจการหรือความอยู่รอดในธุรกิจ

ระดับที่สอง เป็นความพอเพียง (การสร้างคุณค่าร่วม) ในระดับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่มีการทำงานกับคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจเพื่อการพัฒนาและยกระดับผลิตภาพ

ระดับที่สาม เป็นความพอเพียง (การสร้างคุณค่าร่วม) ในระดับเครือข่ายความร่วมมือ (Cluster) ที่มีการทำงานแบบข้ามภาคส่วนเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว

จะเห็นว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระองค์ทรงคิดค้นและพระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยนั้น มีความเป็นสากล กระทั่งสามารถนำมาอธิบายเทียบเคียงกับทฤษฎีทางธุรกิจสมัยใหม่ได้อย่างสอดคล้องต้องกัน

ต่างกันก็เพียงแต่การใช้ศัพท์บัญญัติ ซึ่งมีรากฐานที่มาจากแหล่งกำเนิดที่ต่างกันเท่านั้น


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, October 08, 2017

ทำ SE ไม่ต้องรอกฎหมาย

แม้ในบ้านเรา จะมีความเคลื่อนไหวของการประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) มานานระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังไม่ On ในระดับ Mass ที่สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสังคม

เหตุผลที่ถูกยกมาอ้างถึงความไม่คืบหน้าของการพัฒนา SE มาโดยตลอด คือ การที่ไม่มีกฎหมายรองรับสถานะของกิจการประเภท SE จึงทำให้ ไม่เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบการในลักษณะดังกล่าว การผลักดันเรื่องการพัฒนา SE ของไทย จึงไปฝากความหวัง (ทุกสิ่งอย่าง) ไว้กับการคลอด พรบ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

ผมเป็นคนหนึ่ง ที่ไม่เชื่อว่า อุปสรรคดังกล่าว มาจากเรื่องกฎหมาย และแม้การมีกฎหมายรองรับสถานะของ SE จะเป็นเงื่อนไขหนึ่ง แต่มิใช่ปัจจัยหลักของการพัฒนา SE ไปสู่ฝั่งฝันได้

เพราะอะไรหรือครับ โดยส่วนตัว ผมมองว่าพื้นฐานของ SE ไม่ได้แตกต่างจาก SME ที่ใช้รูปแบบทางธุรกิจในการประกอบการ คือ ต้องมีการผลิตสินค้า สร้างบริการ หาตลาด หาลูกค้า ขายหรือให้บริการ และมีกำไร เลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดได้
วันนี้ ใครที่ต้องการประกอบกิจการหรือดำเนินการเพื่อสังคม ก็สามารถตั้งบริษัท เพื่อทำธุรกิจ โดยมีความมุ่งประสงค์ทางสังคม หรือ Social Purpose ที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม ภายใต้สถานะกิจการแบบ SME ได้

วิธีคิดของผู้ประกอบการสังคม คือ แทนที่จะผลิตสินค้าหรือสร้างบริการที่ตอบสนองต่อกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในแบบธุรกิจหากำไรทั่วไป ก็ปรับให้เป็นการออกแบบสินค้าหรือบริการของตน ให้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนหรือสังคมกลุ่มเป้าหมาย หรือตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเด็นที่ตนเองต้องการเข้าไปแก้ไขและพัฒนา

และแทนที่จะกำหนดส่วนตลาด (Market Segment) ที่เป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไปในแบบธุรกิจปกติ ก็พิจารณาให้น้ำหนักในส่วนตลาดที่ยังมิได้รับการตอบสนอง (Unserved Market) หรือที่ยังตอบสนองได้ไม่เต็มที่ (Underserved Market) เช่น การออกแบบและพัฒนาสินค้าและบริการตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือความจำเป็นขั้นพื้นฐาน

ทั้งหมดที่ว่านี้ จริงๆ ไม่มีข้อห้ามในกฎหมายข้อใด ที่การจดทะเบียนแบบ SME จะทำธุรกิจช่วยเหลือชุมชน สังคม ในแบบเดียวกับที่ SE ทำ ไม่ได้

อ้าว แล้วเรายังต้องการกฎหมาย SE ไปเพื่ออะไรครับ

มี 2 ข้อหลัก ครับ ข้อแรก คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษี พูดง่ายๆ คือ ต้องการเว้นภาษี เพราะการทำ SE เป็นการประกอบกิจการหรือการดำเนินการเพื่อสังคมส่วนรวม ข้อสอง คือ การอุดหนุนจากภาคส่วนต่างๆ หลักๆ คือ จากภาครัฐ เพราะการทำ SE ให้สำเร็จนั้น ยากกว่าทำธุรกิจทั่วไป ตรงที่การเข้าถึงตลาดมีความหินกว่า ลูกค้ามีกำลังซื้อต่ำกว่า จึงต้องมีการให้แต้มต่อ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้เข้ามาประกอบการในแบบ SE มากขึ้น

เรื่องการเว้นภาษีของ SE ผมขออนุญาตใช้ตรรกะว่า ในเมื่อคิดจะมาเป็นผู้ประกอบการสังคม การเสียภาษี คือ หน้าที่ของผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่จะจัดสรรกำไรส่วนหนึ่งให้แก่รัฐ เพื่อทำหน้าที่ดูแลพัฒนาสังคมส่วนรวมแทนเรา การเสียภาษี จึงเป็นบทบาทที่พึงกระทำของผู้ประกอบการสังคมอยู่แล้ว (ส่วนรัฐ จะเอาเงินภาษี ไปบริหารจัดการ ดูแลพัฒนาสังคม อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ต้องปรับแก้ที่ตรงนั้น ไม่เกี่ยวกับว่า หากรัฐบริหารจัดการไม่ดี เราเลยจะเลี่ยงจ่ายภาษี)

ส่วนเรื่องการอุดหนุนให้แก่ SE ผมขออนุญาตใช้ตรรกะว่า ถ้าจะทำ SE ให้สำเร็จ ก็ต่อเมื่อต้องมีแต้มต่อหรือพึ่งพาการสนับสนุนจากภายนอกเป็นหลัก แสดงว่า SE ที่ได้รับการสนับสนุนนั้น อาจจะไม่สามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง หรือเป็นไปอย่างยั่งยืน (ความสำเร็จหรือความอยู่รอดของ SE ต้องเกิดจาก คน-ของ-โมเดลทางธุรกิจ จากภายในกิจการเป็นหลัก)

เมื่อใดที่การสนับสนุนที่ SE ได้รับนั้น ต้องมีอันยุติลง กิจการก็อาจไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ หรือหากต้องการให้ดำเนินต่อไป ก็ต้องคงการสนับสนุนนั้นไปตลอด ซึ่งไม่ตอบโจทย์การพัฒนากิจการให้ไปสู่ความเข้มแข็งในระยะยาวได้

มาถึงตรงนี้ ท่านที่กำลังผลักดันเรื่องการส่งเสริม SE อาจแย้งว่า เราจำเป็นต้องส่งเสริมในช่วงเริ่มต้น เมื่อ SE ที่ตั้งขึ้นอยู่รอดแล้ว จะปล่อยให้เขาเติบโตได้ด้วยตัวเอง การส่งเสริมและสนับสนุนที่ว่านี้ ก็จะหันไปให้กับ SE ที่ยังไม่เข้มแข็งรายใหม่ๆ ต่อไป เป็นวงรอบ เพื่อขยายจำนวนกิจการ SE ให้เพิ่มมากขึ้น

ถ้างั้น เรามาส่งเสริม SME ที่มีกว่า 3 ล้านราย จากการทำธุรกิจหากำไรในแบบปกติ ปรับเปลี่ยนให้มีความมุ่งประสงค์ทางสังคม หรือ Social Purpose ที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม ในแบบ SE (ที่ไม่ต้องยกเว้นภาษีเพิ่ม และไม่จำเป็นต้องได้รับการอุดหนุน เพราะอยู่รอดและแข็งแรงในระดับหนึ่งแล้ว) ทำได้ซัก 1% ก็ได้ 3 หมื่นรายแล้ว จะดีกว่ามั้ยครับ

การส่งเสริม SE ให้สำเร็จนั้น ต้องเริ่มจาก Mindset ของการเปิดวงให้มีผู้เล่นในแบบ Inclusive ไม่ใช่การขีดวงให้เกิดผู้เล่นในแบบ Exclusive หรือป่ะ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]