Saturday, December 19, 2020

ความยั่งยืนของกิจการในรอบปี 2563

ใกล้จะสิ้นปี 2563 ถือเป็นธรรมเนียมที่จะมีการประมวลเรื่องราวด้านความยั่งยืนที่ผ่านมาในรอบปี เพื่อเป็นการทบทวนสถานะของการดำเนินงาน อันจะนำไปสู่การวางทิศทางและตั้งเป้าหมายสำหรับการพัฒนาในปีหน้าต่อไป

ในรอบปีที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ได้ใช้เวทีประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community: SDC) จัด Webinar เรื่องกระบวนการรายงานความยั่งยืนตามข้อแนะนำของ GRI (Global Reporting Initiative) จำนวน 6 ครั้ง ให้แก่องค์กรที่เป็นสมาชิก SDC จำนวน 115 ราย เพื่อช่วยองค์กรยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล

และจากการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนขององค์กรสมาชิก SDC สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประมวลและจัดทำรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2563 หรือ 'The State of Corporate Sustainability in 2020' จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้องค์กรสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ศึกษา เปรียบเทียบสถานะ และกำหนดทิศทางการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนตามบรรทัดฐานในอุตสาหกรรม

ในรายงาน แบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลความยั่งยืนออกเป็น 3 หมวดหลัก โดยหมวดแรกเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานการรายงานสากล GRI หมวดที่สองเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานตามประเด็นด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ที่แนะนำโดยสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges: WFE) และหมวดที่สามเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานที่มีการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตามแนวทาง GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (International Standards of Accounting and Reporting: ISAR)

ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง GRI พบว่า กิจการราวกว่าสองในสาม (73.91%) ได้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนโดยอ้างอิงมาตรฐานการรายงานสากล GRI โดยเป็นการเปิดเผยข้อมูลไว้ในรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) ในแบบแยกเล่ม มากสุด (73.04%) รองลงมาเป็นการเปิดเผยรวมอยู่ในรายงานประจำปี (23.48%) โดยประเด็นความยั่งยืนที่องค์กรเปิดเผยมากสุดในด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจ และการต่อต้านทุจริต ในด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พลังงาน การใช้น้ำ มลอากาศ น้ำทิ้งและของเสีย และในด้านสังคม ได้แก่ ประเด็นอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และชุมชนท้องถิ่น

ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง WFE พบว่า กิจการส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีการเปิดเผยข้อมูลครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยการเปิดเผยข้อมูลในประเด็นจริยธรรมและการต้านทุจริต มีสัดส่วนสูงสุด (95.65%) รองลงมาเป็นความเป็นอิสระในคณะกรรมการบริษัท (89.57%) ความหลากหลายในโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท (88.70%) และการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม (87.83%) ตามลำดับ

ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง GCI พบว่า กิจการส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีการตอบสนองต่อ SDGs ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และด้านสถาบัน โดยมีการตอบสนองต่อ SDGs เป้าหมายที่ 4 (การศึกษาที่ได้คุณภาพ) เป้าหมายที่ 5 (ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย) เป้าหมายที่ 6 (น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล) เป้าหมายที่ 7 (พลังงานสะอาดและราคาไม่แพง) เป้าหมายที่ 8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) เป้าหมายที่ 9 (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน) เป้าหมายที่ 10 (ลดความเหลื่อมล้ำ) เป้าหมายที่ 12 (การผลิตและการบริโภคที่รับผิดชอบ) เป้าหมายที่ 16 (ความสงบสุข ความยุติธรรม และการมีสถาบันที่เข้มแข็ง) และเป้าหมายที่ 17 (การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน)

นอกจากนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าว ยังได้ทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินงานของกิจการในประเด็นความยั่งยืนตามรายการเปิดเผยข้อมูล GRI เชื่อมโยงกับข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (Culture of Health Business Practice: COHBP) ที่เผยแพร่โดย GRI เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2563 สำหรับให้กิจการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านสุขภาพ ที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกลยุทธ์ ด้านนโยบายและสวัสดิการ ด้านแรงงานและสถานปฏิบัติงาน และด้านชุมชน โดยมีข้อปฏิบัติทางธุรกิจที่ประกอบด้วย วัฒนธรรมสุขภาพ ข้อปฏิบัติทางการตลาดที่รับผิดชอบ การประกันสุขภาพ ความมั่นคงในตำแหน่งงาน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน เป็นต้น

ในผลการรวบรวมข้อมูลในมุมมอง COHBP พบว่า การเปิดเผยประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ มากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ประเด็นผลเชิงเศรษฐกิจ (88.70%) อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (76.52%) การฝึกอบรมและการให้ความรู้ (72.17%) ตามลำดับ

องค์กรที่สนใจศึกษาข้อมูลในรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2563 เพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับดังกล่าว ที่เว็บไซต์ของสถาบันไทยพัฒน์ (https://thaipat.org) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, December 05, 2020

6 ปี การเดินทางของหุ้น ESG100

นับตั้งแต่ที่สถาบันไทยพัฒน์บุกเบิกการพัฒนาฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจ และเป็นผู้ริเริ่มการประเมินข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของบริษัทจดทะเบียนในปี พ.ศ.2558 ได้ทำการประกาศรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG จำนวน 100 บริษัท หรือที่เรียกว่า กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ซึ่งถือเป็นการจัดอันดับหลักทรัพย์ด้านการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจครั้งแรกในประเทศไทย

ปัจจุบัน หน่วยงาน ESG Rating ของสถาบันไทยพัฒน์ ได้ดำเนินการประเมินข้อมูลด้านความยั่งยืนของหลักทรัพย์จดทะเบียนต่อเนื่องมาเป็นปีที่หกในปีนี้

การประเมินปีแรก เกณฑ์ที่พัฒนาขึ้น มุ่งไปที่การพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่มีความโดดเด่นเฉพาะด้าน ESG ทำให้เกิดข้อจำกัดที่ผู้ลงทุนอาจต้องแลก (Trade-off) ระหว่างการลงทุนในบริษัทที่มี ESG ดี แต่ผลประกอบการไม่เป็นที่น่าพอใจ

ทำให้ในปีที่สอง จึงได้มีการปรับเกณฑ์การวิเคราะห์ข้อมูล ESG ผนวกเข้ากับข้อมูลทางการเงิน ที่เรียกว่า Integrated ESG Assessment เพื่อประเมินตัวเลขผลประกอบการหรือผลการดำเนินงานที่สัมพันธ์กับประเด็นด้าน ESG ของบริษัท เป็นการปรับจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้าน ESG แบบเอกเทศ มาเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับผลประกอบการ เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย

ในปี พ.ศ.2561 หลังจากที่ได้รวบรวมข้อมูลการประเมินมาสามปี ได้ขยายผลมาสู่การจัดทำดัชนีอีเอสจี ไทยพัฒน์ โดยมี S&P Dow Jones เป็นผู้คำนวณและเผยแพร่ข้อมูลดัชนี ผ่านหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลก

Thaipat ESG Index เป็นดัชนีอีเอสจีแรกในประเทศไทย ที่ใช้การคำนวณดัชนีด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักหลักทรัพย์เท่ากัน (Equal Weighed Index) คือ ให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของดัชนีเท่ากันทุกหลักทรัพย์ โดยไม่ขึ้นกับขนาดของหลักทรัพย์ ทำให้ดัชนีสามารถสะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ได้อย่างเท่าเทียมกันในทุกหลักทรัพย์ และเปิดโอกาสให้หลักทรัพย์คุณภาพขนาดเล็กที่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG สามารถส่งผลต่อค่าของดัชนีได้ ในสัดส่วนที่เท่ากับหลักทรัพย์ขนาดใหญ่

ดัชนีอีเอสจี ไทยพัฒน์ ในรอบของการปรับหลักทรัพย์ล่าสุด (ก.ค. 63) มีจำนวน 43 หลักทรัพย์ โดย 10 อันดับหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี ประกอบด้วย DELTA HANA KBANK KCE KKP KTC SCB THANI TISCO VGI (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย. 63)

ในฝั่งของผู้ลงทุน (Investors) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และผู้ลงทุนสถาบัน สามารถใช้ทำเนียบหุ้น ESG100 และดัชนีอีเอสจี ไทยพัฒน์ เป็นดัชนีอ้างอิงและเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Investment Governance Code) ในบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยยังได้รับผลตอบแทนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป


ตัวเลขผลตอบแทนเฉลี่ยของดัชนีผลตอบแทนรวม Thaipat ESG Index TR ตั้งแต่จัดทำดัชนี (30 มิ.ย. 58) อยู่ที่ 4.12% ต่อปี โดยยังมีผลตอบแทนเป็นบวก แม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อตอนต้นปี 63 และชนะดัชนีผลตอบแทนรวม SET TRI ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.07% ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกัน

ในฝั่งของบริษัทที่ได้รับการลงทุน (Investees) ประโยชน์ที่บริษัทได้รับจากการประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ประการแรก ได้แก่ การที่บริษัทจะได้รับทราบสถานะการดำเนินงานด้าน ESG ในปัจจุบันของกิจการ ด้วยชุดตัวชี้วัดด้าน ESG ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเป็นการประเมินอย่างอิสระโดยหน่วยงานภายนอก โดยใช้เกณฑ์และหลักการที่อ้างอิงตามแนวทางการประเมินและมาตรฐานการรายงานสากล อาทิ WFE, GRI, SASB, UN PRI

ประการที่สอง เนื่องจากการประเมินหลักทรัพย์ ESG100 คำนึงถึงประเด็น ESG ที่มีนัยสำคัญตามบริบทของแต่ละอุตสาหกรรม และต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กับธุรกิจแกนหลัก (Core Business) ขององค์กร นอกเหนือจากประเด็น ESG พื้นฐาน ทำให้บริษัทสามารถนำผลการประเมินในรูปแบบของรายงานวิเคราะห์เชิงลึก ไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนพัฒนาปรับปรุงเพื่อยกระดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ ESG ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับบริบทเฉพาะองค์กร (Company-specific) และบริบทเฉพาะอุตสาหกรรม (Industry-specific) ควบคู่ไปพร้อมกัน

ประการที่สาม ด้วยเหตุที่การประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ใช้ข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะตามช่องทางที่บริษัทเผยแพร่เป็นปกติ ทำให้ไม่เป็นภาระแก่บริษัทในการจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการประเมินเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ก็เป็นการกระตุ้นให้บริษัทพัฒนาการเปิดเผยข้อมูล ESG ต่อสาธารณะ ในรูปแบบรายงานความยั่งยืน หรือในแบบ 56-1 เพื่อให้มีข้อมูลที่สมบูรณ์และเพียงพอต่อการประเมิน ESG100 อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียอื่นที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล ESG ดังกล่าวด้วย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]