ใกล้จะสิ้นปี 2563 ถือเป็นธรรมเนียมที่จะมีการประมวลเรื่องราวด้านความยั่งยืนที่ผ่านมาในรอบปี เพื่อเป็นการทบทวนสถานะของการดำเนินงาน อันจะนำไปสู่การวางทิศทางและตั้งเป้าหมายสำหรับการพัฒนาในปีหน้าต่อไป
ในรอบปีที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ได้ใช้เวทีประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community: SDC) จัด Webinar เรื่องกระบวนการรายงานความยั่งยืนตามข้อแนะนำของ GRI (Global Reporting Initiative) จำนวน 6 ครั้ง ให้แก่องค์กรที่เป็นสมาชิก SDC จำนวน 115 ราย เพื่อช่วยองค์กรยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล
และจากการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนขององค์กรสมาชิก SDC สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประมวลและจัดทำรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2563 หรือ 'The State of Corporate Sustainability in 2020' จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้องค์กรสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ศึกษา เปรียบเทียบสถานะ และกำหนดทิศทางการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนตามบรรทัดฐานในอุตสาหกรรม
ในรายงาน แบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลความยั่งยืนออกเป็น 3 หมวดหลัก โดยหมวดแรกเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานการรายงานสากล GRI หมวดที่สองเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานตามประเด็นด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ที่แนะนำโดยสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges: WFE) และหมวดที่สามเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานที่มีการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตามแนวทาง GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (International Standards of Accounting and Reporting: ISAR)
ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง GRI พบว่า กิจการราวกว่าสองในสาม (73.91%) ได้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนโดยอ้างอิงมาตรฐานการรายงานสากล GRI โดยเป็นการเปิดเผยข้อมูลไว้ในรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) ในแบบแยกเล่ม มากสุด (73.04%) รองลงมาเป็นการเปิดเผยรวมอยู่ในรายงานประจำปี (23.48%) โดยประเด็นความยั่งยืนที่องค์กรเปิดเผยมากสุดในด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจ และการต่อต้านทุจริต ในด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พลังงาน การใช้น้ำ มลอากาศ น้ำทิ้งและของเสีย และในด้านสังคม ได้แก่ ประเด็นอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และชุมชนท้องถิ่น
ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง WFE พบว่า กิจการส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีการเปิดเผยข้อมูลครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยการเปิดเผยข้อมูลในประเด็นจริยธรรมและการต้านทุจริต มีสัดส่วนสูงสุด (95.65%) รองลงมาเป็นความเป็นอิสระในคณะกรรมการบริษัท (89.57%) ความหลากหลายในโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท (88.70%) และการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม (87.83%) ตามลำดับ
ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง GCI พบว่า กิจการส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีการตอบสนองต่อ SDGs ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และด้านสถาบัน โดยมีการตอบสนองต่อ SDGs เป้าหมายที่ 4 (การศึกษาที่ได้คุณภาพ) เป้าหมายที่ 5 (ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย) เป้าหมายที่ 6 (น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล) เป้าหมายที่ 7 (พลังงานสะอาดและราคาไม่แพง) เป้าหมายที่ 8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) เป้าหมายที่ 9 (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน) เป้าหมายที่ 10 (ลดความเหลื่อมล้ำ) เป้าหมายที่ 12 (การผลิตและการบริโภคที่รับผิดชอบ) เป้าหมายที่ 16 (ความสงบสุข ความยุติธรรม และการมีสถาบันที่เข้มแข็ง) และเป้าหมายที่ 17 (การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน)
นอกจากนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าว ยังได้ทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินงานของกิจการในประเด็นความยั่งยืนตามรายการเปิดเผยข้อมูล GRI เชื่อมโยงกับข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (Culture of Health Business Practice: COHBP) ที่เผยแพร่โดย GRI เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2563 สำหรับให้กิจการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านสุขภาพ ที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกลยุทธ์ ด้านนโยบายและสวัสดิการ ด้านแรงงานและสถานปฏิบัติงาน และด้านชุมชน โดยมีข้อปฏิบัติทางธุรกิจที่ประกอบด้วย วัฒนธรรมสุขภาพ ข้อปฏิบัติทางการตลาดที่รับผิดชอบ การประกันสุขภาพ ความมั่นคงในตำแหน่งงาน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน เป็นต้น
ในผลการรวบรวมข้อมูลในมุมมอง COHBP พบว่า การเปิดเผยประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ มากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ประเด็นผลเชิงเศรษฐกิจ (88.70%) อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (76.52%) การฝึกอบรมและการให้ความรู้ (72.17%) ตามลำดับ
องค์กรที่สนใจศึกษาข้อมูลในรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2563 เพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับดังกล่าว ที่เว็บไซต์ของสถาบันไทยพัฒน์ (https://thaipat.org) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Saturday, December 19, 2020
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment