Tuesday, December 25, 2007

รัฐบาลใหม่กับปัญหาสินบนและความโปร่งใส

กรณีตำรวจนครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา จับกุมตัวนายเจอรัลด์ กรีน นักธุรกิจชาวอเมริกันวัย 75 ปี และนางแพทริเซีย ภรรยาวัย 52 ปี เจ้าของบริษัท ฟิล์ม เฟสติวัล แมนเนจเมนท์ ในข้อหาจ่ายเงินสินบนมากกว่า 1.7 ล้านดอลลาร์ หรือ 56 ล้านบาท ให้กับอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อให้ได้สิทธิจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ หรือ Bangkok International Film Festival (BKK IFF) ในช่วงระหว่างปี 2545-2549 ได้กลายเป็นข่าวร้อน และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทย ในสายตาของนานาชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากข่าวชิ้นนี้ ทำให้นึกไปถึงผลสำรวจการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index-CPI) ประจำปี พ.ศ.2550 ที่เพิ่งประกาศโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International-TI) ซึ่งพบว่าประเทศไทยได้ 3.3 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อยู่อันดับที่ 84 จากทั้งหมด 179 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 11 จาก 22 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย

การจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันในปี พ.ศ.2550 นี้ ได้จัดอันดับจากประเทศต่างๆ จำนวน 179 ประเทศทั่วโลก ใช้ผลการสำรวจจากแหล่งข้อมูล 14 แห่ง ที่ได้ดำเนินการสำรวจในปี พ.ศ 2549 และ 2550 ผลการจัดอันดับประจำปี 2550 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 84 (3.3 คะแนน) จากทั้งหมด 179 ประเทศทั่วโลกตกจากอันดับที่ 63 (3.6 คะแนน) ในปี 2549 และอันดับที่ 59 (3.8 คะแนน) ในปี 2548


ตารางแสดงค่าดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทย ปี 38-50

ปีคะแนนอันดับจำนวนประเทศ
503.3084179
493.6063163
483.8059159
473.6064146
463.3070133
453.2064102
443.206191
433.206090
423.206898
413.006185
403.063952
393.333754
382.793441
ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจาก www.transparency-thailand.org


ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน เป็นตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ และมหาวิทยาลัย Gottingen ในประเทศเยอรมนี และได้ใช้สำรวจเพื่อจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นประจำทุกปีตั้งแต่ พ.ศ.2538 เป็นต้นมา ในการจัดอันดับตัวชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้ให้นิยามว่า คอร์รัปชัน หมายถึง "การกระทำใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการให้ได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตน"

ดังนั้น การจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศต่างๆ จึงไม่ได้รวมถึงปัญหาคอร์รัปชันในภาคธุรกิจ ลักษณะคำถามที่ใช้ในการสำรวจเป็นคำถามเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบเพื่อประโยชน์ส่วนตน การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ การเบียดบังทรัพย์สินของรัฐและการใช้งบประมาณผิดประเภท

ข้อมูลที่ใช้การวิเคราะห์ CPI ได้มาจากการวิเคราะห์ผลการสำรวจของหน่วยงานวิจัย ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เช่น Economist Intelligence Unit สำนักแกลลัปโพลล์ สถาบันเพื่อการพัฒนาการบริหารการจัดการ ที่ปรึกษาความเสี่ยงทางธุรกิจและทางการเมือง Political Risk Services World Development Report World Economic Forum และ Harvard Institute for International Development โดยใช้ข้อมูลย้อนหลังเป็นเวลา 3 ปี เพื่อที่จะลดค่าความเบี่ยงเบนของคะแนนให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้ ค่าคะแนนของ CPI เริ่มตั้งแต่ 0 คะแนน ถึง 10 คะแนน โดย 0 คะแนน เป็นคะแนนต่ำสุด หมายถึง ภาพลักษณ์คอร์รัปชันสูงสุด ส่วน 10 คะแนน เป็นคะแนนสูงสุดหมายถึง มีภาพลักษณ์คอร์รัปชันน้อยที่สุด หรือมีภาพความโปร่งใสสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ดัชนีชี้วัดดังกล่าวมิใช่การวัดระดับปริมาณของคอร์รัปชัน แต่เป็นการวัด "ภาพลักษณ์" ของคอร์รัปชัน ซึ่งได้จากการรับรู้หรือจากความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจเท่านั้น ดังนั้น ค่าคะแนนที่ได้จึงเป็นตัวชี้วัดภาพลักษณ์ของคอร์รัปชันโดยรวมของประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันตามหน่วยงานที่เป็นแหล่งข้อมูล

ยังมีอีกหนึ่งดัชนีที่จัดทำขึ้นโดยองค์กร เพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เรียกว่า ดัชนีบ่งชี้ผู้จ่ายสินบน (Bribe Payers Index หรือ BPI) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างในภาคเอกชนต่อพฤติกรรมการจ่ายสินบนขององค์กรธุรกิจในประเทศต่างๆ โดยผลการสำรวจในปีล่าสุด (2549) ระบุว่า บริษัทสัญชาติไต้หวัน ตุรกี รัสเซีย จีน และอินเดีย มีพฤติกรรมการจ่ายสินบนมากที่สุด

สำหรับกลุ่มประเทศที่ได้คะแนนในระดับสูง หรือมีภาพลักษณ์ว่ามีพฤติกรรมการจ่ายสินบนน้อยที่สุด ได้แก่ บริษัทจากสวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน ออสเตรเลีย ออสเตรีย แคนาดา อังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

ขณะที่ประเทศไทยเองยังไม่อยู่ใน 30 ประเทศ ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติทำการสำรวจ แต่เป็นหนึ่งใน 125 ประเทศผู้ให้ข้อมูล โดยมีผู้ตอบจำนวน 46 ตัวอย่างจากประเทศไทย จากผลสำรวจทั้งหมด 11,232 ตัวอย่าง

การสำรวจดัชนีบ่งชี้ผู้จ่ายสินบน จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2542 และครั้งที่สองในปี 2545 การให้คะแนนมีค่าระหว่าง 0 ถึง 10 คะแนน โดยคะแนนเต็ม หมายถึง มีภาพลักษณ์ว่าไม่มีพฤติกรรมการจ่ายสินบนเลย และประเทศที่ได้คะแนนน้อยหรือไม่มีคะแนนเลย หมายถึง มีภาพลักษณ์ว่ามีพฤติกรรมการจ่ายสินบนมากสุด

ในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง จึงอยากเสนอให้บรรจุภารกิจในการเพิ่มคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ด้วยการเลือกผู้บริหารในคณะรัฐบาลและออกนโยบายในการบริหารประเทศอย่างโปร่งใส มิฉะนั้นแล้ว ในปี 2551 ประเทศไทยอาจจะมีอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชัน เป็นเลขสามหลักทำลายสถิติในรอบ 14 ปีก็เป็นได้... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

Monday, December 24, 2007

6 ชนิดกิจกรรมเพื่อสังคม

สัปดาห์นี้ถือเป็นสัปดาห์แห่งการเฉลิมฉลองในเทศกาลตรุษฝรั่ง ชาวไทยเชื้อสายฝรั่ง หรือผู้ที่มีความผูกพันอยู่กับคุณค่าหรือวัฒนธรรมตะวันตก ก็จะได้มีโอกาสอยู่ร่วมกับครอบครัวในวันคริสต์มาส เป็นวันที่ได้มีโอกาสประกอบคุณงามความดีให้แก่ตนเองและแก่ครอบครัว โดยเฉพาะผู้ที่เป็นบุพการี รวมทั้งญาติสนิทมิตรสหาย กระทั่งคนที่เราอยากจะช่วยเหลือแบ่งปันความสุขในระหว่างเทศกาลนี้ร่วมกัน

เรื่องราวของการทำความดีตามประสาซีเอสอาร์ในสัปดาห์นี้ จึงขอคลุกเคล้าด้วยเนื้อหากลิ่นอายฝรั่ง ว่าด้วยชนิดของกิจกรรมเพื่อสังคมที่องค์กรธุรกิจสามารถศึกษาและนำไปใช้ในองค์กรได้ โดยที่ ศ. ฟิลิป คอตเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น และแนนซี่ ลี อาจารย์สมทบแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และมหาวิทยาลัยซีแอตเติล ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดที่หันมาศึกษาเรื่องซีเอสอาร์อย่างจริงจัง จนตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Corporate Social Responsibility ได้จำแนกรูปแบบของซีเอสอาร์ไว้เป็น 6 ชนิดกิจกรรม...(อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ 20CEOs 20IDEAs) External Link [Archived]

ในวารดิถีวันตรุษฝรั่งนี้ ขอให้ผู้อ่านคอลัมน์ 20CEOs 20IDEAs ทุกท่าน จงมีแต่สันติสุขและความสงบทางใจ สมกับคำว่า Merry ในภาษาอังกฤษโบราณ พร้อมกับแบ่งปันความสุขให้แก่ผู้ที่อยู่รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานที่อยู่ในองค์กร เพียงเท่านี้ ก็เรียกได้ว่ามีซีเอสอาร์ในหัวใจกันแล้วครับ...
Merry CSR 2008.

Wednesday, December 19, 2007

วันนี้เรามีระบบสุขภาพพอเพียงแล้วหรือยัง

ประเทศไทยได้จัดทำ “แผนพัฒนาสาธารณสุข” มาตั้งแต่มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยในช่วงสามแผนแรก ระหว่าง พ.ศ. 2504 - 2519 กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ โดยเฉพาะโรงพยาบาลให้ครอบคลุมทุกจังหวัด

ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 และ 5 (พ.ศ. 2520-2529) ได้ขยายบริการสาธารณสุขสู่พื้นที่ห่างไกลในชนบทควบคู่กับการพัฒนางานด้านสาธารณสุขมูลฐาน จึงทำให้มีโรงพยาบาลระดับอำเภอที่เรียกว่า “โรงพยาบาลชุมชน” ครบทุกอำเภอและมีสถานีอนามัยครบทุกตำบล

ต่อมา ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) พบว่าปัญหาสุขภาพเปลี่ยนแปลงไป เนื่องมาจากวิถีการดำรงชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งค่านิยมใหม่ในสังคมไทย ที่เน้นการดูแลสุขภาพด้วยการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ

ดังนั้น เมื่อมาถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 - 8 (พ.ศ. 2535 - 2544) กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่จากเดิมที่มุ่งสร้างสถานบริการสาธารณสุข มาเน้นการพัฒนาโดยมีคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและหันมาให้ความสำคัญกับ “การสร้างสุขภาพดี” มากกว่า “การซ่อมสุขภาพ” เน้นที่การออกกำลังกาย การควบคุมการบริโภค และการลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านต่างๆ รวมทั้งการรณรงค์ให้ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2544-2549) มีการนำโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค มาใช้เพื่อประกันสุขภาพให้แก่ประชาชนบางกลุ่ม โดยในระยะแรกได้ทดลองดำเนินการเฉพาะบางพื้นที่ ต่อมารัฐบาลในเวลานั้น ได้ขยายเป็นโครงการที่ดำเนินการเต็มพื้นที่ทั่วประเทศภายใต้นโยบาย “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”

สำหรับแผนพัฒนาสุขภาพ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554) ได้ระบุวิกฤติสุขภาพไว้อย่างชัดเจนว่า การพัฒนาสุขภาพภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการทำลายสุขภาวะของสังคม การบริหารประเทศที่มุ่งพัฒนาแต่ด้านวัตถุและสนับสนุนบริโภคนิยม ส่งผลให้ประชาชนดำเนินชีวิตแบบแก่งแย่งแข่งขัน มุ่งเอารัดเอาเปรียบกัน ขาดความเอื้ออาทรและความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน สถาบันทางสังคมอ่อนแอ ครอบครัวแตกแยก เกิดความขัดแย้งและมีความรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้อย่างสิ้นเปลือง ไม่คุ้มค่า และก่อให้เกิดปัญหามลภาวะที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสุขภาวะของสังคมและสุขอนามัยของประชาชน

ขณะที่กระแสการตื่นตัวและความเอาใจใส่ต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวมก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน มีการส่งเสริมการแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น การปฏิรูประบบสุขภาพ งานด้านประชาสังคม ตลอดจนมีการรวมตัวเป็นกลุ่มหรือชมรมผู้บริโภคที่รักสุขภาพเพิ่มมากขึ้น การทวงถามถึงสิทธิผู้บริโภคและสิทธิผู้ป่วยขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด

การพัฒนาสุขภาพในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาสุขภาพเชิงบูรณาการที่เป็นองค์รวม โดยได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางหลัก แนวทางที่ว่านี้หมายถึงการพัฒนาสุขภาพทุกด้านทุกมิติให้มุ่งสู่ทิศทางเดียวกันเพื่อสร้าง “ระบบสุขภาพพอเพียง” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

สังคมไทยขณะนี้ กำลังเผชิญกับวิกฤติสุขภาพที่สำคัญ 3 ประการ คือ

วิกฤติแรก อยู่ที่ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของระบบบริการสาธารณสุขที่สูงมาก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านยา รวมทั้งการพัฒนาระบบที่ผ่านมายังพึ่งพิงการนำเข้ายาและเทคโนโลยีทางการแพทย์จากต่างประเทศที่มีราคาแพงและไม่เป็นธรรม

วิกฤติที่สอง เกิดจากกระแสการพัฒนาสุขภาพในสังคมสมัยใหม่ที่ทำให้ระบบสุขภาพภาคประชาชนอ่อนแอ ชุมชนไม่สามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้ มีปัญหาการพัฒนาระบบยาของชุมชน การมียาชุด ยาอันตราย ยาเสื่อมคุณภาพ กระจายอยู่ในชุมชน รวมทั้งการใช้ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช การใช้ฮอร์โมนเพื่อเร่งรัดการเจริญเติบโตของสัตว์เศรษฐกิจที่ใช้เป็นอาหาร และการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์เศรษฐกิจที่ใช้เป็นอาหาร เป็นต้น

วิกฤติที่สาม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤติสองประการแรก คือ วาทกรรมทางด้านสุขภาพภายใต้ระบบทุนนิยมและบริโภคนิยม ที่เชื่อว่า “เงิน” สามารถซื้อได้ทุกอย่าง แม้แต่ ชีวิต สุขภาพ และความงาม มีการสื่อสารสร้างความเชื่อกับผู้บริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อม เห็นได้จากโฆษณาและการส่งเสริมการขายเพื่อให้ผู้บริโภคซื้อยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพและบริการสุขภาพเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา จนส่งผลให้เกิดการบริโภคยา อาหาร หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตลอดจนบริการทางการแพทย์ที่เกินจำเป็น

จากวิกฤติสามประการข้างต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบสุขภาพพอเพียงจะต้องถูกสร้างให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และปลูกฝังให้เกิดเป็นฐานคิดใหม่ทางสุขภาพของสังคมไทย ด้วยแนวทางหลัก 4 ประการ ได้แก่

ประการแรก ผู้ให้บริการสุขภาพ ต้องประกอบวิชาชีพด้วยคุณธรรมและธำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด มิใช่มุ่งประกอบการแต่ในเชิงพาณิชย์

ประการที่สอง องค์กรบริการสุขภาพ ต้องสร้างสมรรถนะในการพัฒนา ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินการใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านสุขภาพให้อยู่บนฐานคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง

ประการที่สาม องค์กรสาธารณสุขภาครัฐ ต้องส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญา โดยเฉพาะเรื่องยาสมุนไพร เพื่อการพึ่งตนเองให้เกิดเป็น “ภูมิคุ้มกัน” ในด้านยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ รวมทั้งสร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างกิจกรรมทางสุขภาพ (การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การคุ้มครองผู้บริโภค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ)

และประการที่สี่ สถาบันการศึกษา ต้องปลูกฝังบัณฑิตด้านสุขภาพให้มีความเมตตา กรุณา และคำนึงถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของผู้รับบริการ เพื่อเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาสุขภาพในระยะยาวของสังคมไทย... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

(เรียบเรียงจากเอกสารประกอบการประชุมระดมสมองครั้งที่สาม ชุดมิติสุขภาวะ โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้โครงการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงและการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

Tuesday, December 11, 2007

การศึกษาแบบพอเพียง ไม่ใช่ให้เพียงพอ

การศึกษาไทยเมื่อสมัย 100 ปี ที่ผ่านมานั้น มีความยึดโยงอยู่กับสถาบันทางสังคมเป็นหลัก โดยเฉพาะสถาบันทางศาสนา เช่น วัด ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งของศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ การเรียนรู้ในอดีตมิได้มีลักษณะแยกส่วนอย่างชัดเจน แต่เป็นการเรียนรู้แบบองค์รวม คนส่วนใหญ่ได้เรียนรู้จากการลงมือทำงานปฏิบัติจริง ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาในการทำมาหากิน จากครอบครัวโดยส่งต่อจากพ่อแม่ปู่ ย่า ตา ยาย สู่ลูกหลาน และได้เรียนรู้จากธรรมชาติแวดล้อมรอบตัว

ชุมชนเองก็ถือเป็นแหล่งสะสมภูมิปัญญาต่างๆ เช่น ด้านการแพทย์ ศิลปหัตถกรรม ที่มีการถ่ายทอดผ่านทางพ่อครู แม่ครู ปราชญ์ชาวบ้านในท้องถิ่น ด้วยการฝากตัวเป็นศิษย์ การถ่ายทอดศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ มักแฝงไว้ด้วยคติธรรม ความเชื่อ โดยมีหลักของจารีตและศีลธรรมกำกับให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขอีกด้วย

เมื่อการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาในประเทศไทย สถาบันการศึกษาที่เคยอยู่กับครอบครัวและชุมชน ได้ถูกโรงเรียนเข้าครอบงำ สถาบันการศึกษาของชุมชนที่ถูกมองว่าล้าสมัยและคร่ำครึ ทำให้คนรุ่นใหม่ถูกดึงออกจากสถาบันการศึกษาแบบเดิมเข้าสู่ระบบการศึกษาสมัยใหม่โดยผ่านการเรียนการสอนที่มีหลักสูตรมาจากส่วนกลางแยกตามศาสตร์สาขาต่างๆ ที่มักขาดความเชื่อมโยงระหว่างกัน ขาดความความเชื่อมโยงกับท้องถิ่น และขาดการคำนึงถึงความสัมพันธ์กับบริบทรอบข้าง ทั้งระหว่างคนด้วยกันเอง และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ความเป็นชุมชนเริ่มอ่อนแอลง ต่างคนต่างแก่งแย่งแข่งขันโดยมุ่งประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ ทรัพยากรธรรมชาติจึงถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลือง

เป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษา จะต้องเป็นการศึกษาที่รู้เท่าทันตนเอง ชุมชน สังคม และการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นการศึกษาที่นำไปสู่การพึ่งตนเอง การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และต้องเปิดโอกาสในการเข้าถึงความรู้อย่างเสมอภาค ทั้งนี้ ความเสมอภาคในการเข้าถึงความรู้ มิได้หมายถึงการจัดการศึกษาให้แก่ทุกๆ คนในแบบเดียวกัน หรือด้วยวิธีปฏิบัติอย่างเดียวกัน

แต่ความเสมอภาคในการเข้าถึงความรู้ หมายถึง การจัดการศึกษาให้พอเพียงกับความต้องการของกลุ่มต่างๆ ครอบคลุมถึงผู้ด้อยโอกาส เด็กและกลุ่มบุคคลพิเศษต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง โดยไม่จำกัดสิทธิ หรือมีความเหลื่อมล้ำระหว่างกัน มีมาตรการและกลไกที่สนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาในทุกรูปแบบ ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย ในอันที่จะเสริมสร้างให้บุคคลมีความรอบรู้รอบด้าน สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นความรู้ที่ประกอบด้วยเหตุและผล เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมชุมชนและท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองยังเป็นกระบวนการของการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นกระบวนการส่งเสริมให้คนในชุมชนสามารถเรียนรู้จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ช่วยส่งเสริมการการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจในเชิงลึก โดยชุมชนจะมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น โดยยึดการสังเคราะห์ความรู้ทั้งจากภายในและภายนอกชุมชนที่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง

การมุ่งเน้นให้เกิดการศึกษาตลอดชีวิต โดยการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตนั้น จะเอื้อต่อการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่ช่วยเพิ่มพูนความรอบรู้และทักษะในการดำรงชีวิตในสังคม ช่วยให้นำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้อย่างรู้เท่าทัน และเป็นอิสระจากภาวะบีบคั้นต่างๆ อันเกิดจากความไม่เป็นธรรม และการคอยแต่ที่จะพึ่งพาผู้อื่นอยู่เรื่อยไป

การศึกษาทางเลือกที่จะนำไปสู่ความเสมอภาคในการเข้าถึงความรู้ มีอยู่หลากหลายรูปแบบที่เป็นรูปธรรมในปัจจุบัน อาทิ การศึกษาโดยครอบครัว (Home School) การศึกษาในรูปแบบของโรงเรียนทางเลือก เช่น โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก โรงเรียนรุ่งอรุณ การศึกษาจากปราชญ์ชาวบ้าน การศึกษาผ่านสถาบันการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โรงเรียนชาวนา สถาบันโพธิยาลัย เป็นต้น การศึกษาโดยกลุ่มการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การพัฒนาอาชีพ การสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม การอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้ง การศึกษาโดยผ่านสื่อการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ เช่น การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม วิทยุ สิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ต รวมถึงห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งเรียนรู้สาธารณะต่างๆ

เป้าหมายในการศึกษาจะต้องไม่จำกัดอยู่เพียงการเรียนเพื่อให้มีงานทำ แต่ต้องมีเป้าหมายที่สร้างให้เกิด “ทักษะ” ในการดำรงชีวิตร่วมอยู่ด้วย เป็นการศึกษาที่ต้องสร้างให้เกิดการรู้จักใช้สอย เป็นการศึกษาเพื่อให้รู้จักตน และเป็นการศึกษาเพื่อให้รู้จักอยู่ร่วมกัน

การศึกษาที่มุ่งสร้างให้เกิดทักษะในการดำรงชีวิตดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับคุณลักษณะในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ให้เห็นอย่างครบถ้วน ถือเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาคนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง สมดังพระบรมราโชวาทฯ ที่ได้ทรงพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2522 ว่า

“นอกจากจะอาศัยความรู้ความสามารถทางวิชาการตามที่ได้ศึกษามาแล้ว ยังจำเป็นจะต้องมีความรอบรู้และความเข้าใจอันกระจ่างและเพียงพอในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ที่เกี่ยวพันกับงานที่จะทำทั้งหมด รวมทั้งระบบชีวิตของคนไทย อันได้แก่ ความเป็นอยู่ ความต้องการ วัฒนธรรม และความรู้สำนึกคิดโดยเบ็ดเสร็จด้วย จึงจะทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้”... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

(เรียบเรียงจากเอกสารประกอบการประชุมระดมสมองครั้งที่สาม โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้โครงการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงและการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

Thursday, December 06, 2007

อย่าถลุงเทคโนโลยีและพลังงานจนเพลิน

เมื่อพิจารณาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีและพลังงาน การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นหน่วยผลิตในทางเศรษฐกิจ มีขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีและพลังงานได้ในระดับหนึ่ง การดำเนินธุรกิจด้วยความมีเหตุผล ความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน โดยอาศัยเงื่อนไขความรู้และคุณธรรม ก็จะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจในแต่ละภาคส่วนสามารถเลือกระดับการพึ่งพาเทคโนโลยีและพลังงานจากต่างประเทศได้อย่างเหมาะสม

จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ได้ประเมินสถานภาพด้านเทคโนโลยีไว้ว่า มีกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทำงานด้านการออกแบบและการวิจัยและพัฒนาไม่ถึงร้อยละ 2.0 และบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศมีเพียง 6.7 คนต่อประชากรหมื่นคน ขณะที่ผลิตภาพของการผลิตรวมคิดเป็นร้อยละ 1.89 ในปี 2548 ซึ่งถือว่ายังต่ำ

ส่วนสถานภาพด้านพลังงาน ระบุว่าอัตราการเติบโตของการใช้พลังงานต่ออัตราการเติบโตของ GDP (ความยืดหยุ่นของการใช้พลังงาน) มีค่าเท่ากับ 1.4 และมีการตั้งเป้าการลดค่าความยืดหยุ่นให้อยู่ในระดับ 1.0 ประเด็นวิกฤติที่รวบรวมได้จากการระดมสมองเพื่อจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ประการแรก ประเทศไทยขาดแคลนกำลังคนระดับกลางโดยเฉพาะสายอาชีวะและระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์ทั้งปริมาณและคุณภาพ ฉุดรั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ประการที่สอง การลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศอยู่ในระดับต่ำ องค์ความรู้ใหม่ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาแล้วนำไปใช้ประโยชน์ ในเชิงพาณิชย์ยังอยู่ในระดับต่ำ ความสามารถในการซึมซับเทคโนโลยี (Technology Absorption) อยู่ในระดับต่ำและตกเป็นรองประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางการค้า

และประการที่สาม เศรษฐกิจไทยยังมีจุดอ่อนในเชิงโครงสร้างที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วน พลังงาน เงินทุน และเทคโนโลยี ในสัดส่วนที่สูง โดยที่ผลิตภาพการผลิตยังต่ำ ทำให้มีความเสี่ยงจากการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด นอกจากนี้ ลักษณะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มที่มีการเพิ่มมูลค่าเพียงในระดับต้น เป็นการรับจ้างผลิตโดยที่ไม่มีแบรนด์เป็นของตนเอง การสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการและการเพิ่มผลิตภาพการผลิตจากองค์ความรู้ยังอยู่ในระดับต่ำ

ด้วยประเด็นวิกฤติข้างต้น กลยุทธ์การสร้างภูมิคุ้มกันด้านเทคโนโลยี จึงควรเน้นไปที่การทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในภาคการผลิตที่ประเทศไทย มีศักยภาพและสอดคล้องกับฐานทรัพยากรของประเทศ เช่น หมวดเกษตร-เกษตรอินทรีย์ หมวดอาหาร-อาหารแปรรูป หมวดยา-สมุนไพร ซึ่งรวมไปถึงพลังงานทางเลือก เนื่องจากสินค้าเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต อีกทั้ง ควรเน้นการพัฒนาคนเพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น และมีการเชื่อมงานวิจัยในสถาบันอุดมศึกษากับภาคเศรษฐกิจจริงให้เกิดขึ้นให้ได้

การบริหารจัดการความรู้นับเป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่งเช่นกัน เทคโนโลยีสารสนเทศจึงมีบทบาทในการพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้ ความสะดวกในการบริหารจัดการ และการจัดทำฐานข้อมูลต่างๆ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้หรือเครือข่ายต่างๆ จะสามารถช่วยให้เทคโนโลยีการผลิตในท้องถิ่นหนึ่งถ่ายทอดไปยังท้องถิ่นอื่นๆ ได้

กลยุทธ์การสร้างภูมิคุ้มกันด้านพลังงาน ในมิติของการลดการใช้พลังงาน (ทำให้ตัวตั้งในค่าความยืดหยุ่นของการใช้พลังงานต่ำลง) ควรเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหรือหาพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือกอื่นๆ ส่งเสริมให้มีการจัดทำ Energy Index เพื่อเปรียบเทียบการใช้พลังงานในการผลิตกับประเทศอื่นๆ ในแต่ละอุตสาหกรรม ในมิติของการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการ (ทำให้ตัวหารในค่าความยืดหยุ่นของการใช้พลังงานสูงขึ้น) ควรส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการในประเทศที่ใช้พลังงานน้อย แต่มีมูลค่าเพิ่มสูง และหลีกเลี่ยงการสนับสนุนการลงทุนจากภายนอกในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานสูง

อย่างไรก็ดี การสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากพืช มีประเด็นที่ต้องระวัง เนื่องจากการเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชพลังงานอาจไปแย่งการปลูกพืชอาหารอื่นๆ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานควบคู่กันไป

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ควรลดการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในการผลิตที่จำเป็นต้องใช้พลังงานสูง เพราะไทยเองก็ต้องพึ่งการนำเข้าพลังงานจากภายนอก ทำให้รัฐต้องอุดหนุนการใช้พลังงานให้กับบริษัทข้ามชาติเหล่านั้นไปโดยปริยาย นอกจากนี้ หน่วยงานดังกล่าวยังสามารถดำรงบทบาทเป็นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเป็นผู้ลงทุนระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมที่มีความพร้อม เพื่อขยายฐานการผลิตของไทย ให้เกิดความสมดุลระหว่างการลงทุนจากต่างประเทศและการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ ซึ่งการรับบทบาทนี้ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบร่วมด้วย

เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั้งอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรเข้มข้น (เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า) อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (เช่น สิ่งทอ และภาคบริการ) และอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรในประเทศเข้มข้น (เช่น สินค้าเกษตร อาหารและเกษตรแปรรูป สมุนไพร) ล้วนแต่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก อัตราการเปิดประเทศของไทยอยู่ในระดับสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงขึ้น โดยในปี 2548 อัตราการเปิดประเทศสูงถึงร้อยละ 131.7

แนวทางในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจไทย จึงมิใช่การพยายามปิดประเทศ แต่เป็นการจัดการทรัพยากรในภาคธุรกิจ การบริหารการบริโภคในภาคครัวเรือน รวมไปถึงการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคให้สามารถปรับตัวและรับมือกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและกระแสโลกาภิวัตน์ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดการเทคโนโลยีและพลังงานในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

Tuesday, November 27, 2007

เปิดประตูประเทศ แต่ปิดโอกาสประชา

หากย้อนไปดูพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2542 ที่ได้พระราชทานไว้ โดยมีความตอนหนึ่งว่า

"...เศรษฐกิจพอเพียงนั้น เขาตีความว่าเป็นเศรษฐกิจชุมชน คือหมายความว่า ให้พอเพียงในหมู่บ้าน หรือในท้องที่ ให้สามารถที่จะมีพอกิน มันเริ่มด้วยพอกิน พอมีพอกิน ... มันเป็นเริ่มต้นของเศรษฐกิจ ... เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน มันไม่ใช่ว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน สมัยหินนั้น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน แต่ว่าค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน มีการช่วยระหว่างหมู่บ้าน หรือระหว่างอำเภอ จังหวัด ประเทศ ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยน ... เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ก็มีเป็นขั้นๆ ... ที่จะมาบอกว่า ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน"

เศรษฐกิจพอเพียง จึงมิได้หมายถึงเศรษฐกิจระบบปิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ไม่ค้าขาย ไม่ส่งออก ไม่ผลิตเพื่อคนอื่น ไม่ได้สนับสนุนการปิดประเทศ หรือหันหลังให้กับกระแสโลกาภิวัตน์ แต่เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยความไม่ประมาทและไม่โลภมากจนเกินไป มีการแลกเปลี่ยนค้าขายกัน แข่งขันกันในแบบสร้างสรรค์ คือ เป็นไปเพื่อพัฒนาขีดสมรรถนะ และความเข้มแข็งของตนเอง มิใช่เพื่อการทำลายล้างคู่แข่งขัน หรือกีดกันไม่ให้เกิดการแข่งขัน แต่ยังอาจช่วยเหลือกัน หรือร่วมมือกันได้ในบางเรื่อง

ปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมา ด้านหนึ่งคือ การขาดแคลนเงินออมภายในประเทศ ทำให้จำเป็นต้องพึ่งเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันลดลง ในอีกด้านหนึ่ง ตลาดภายในประเทศมีขนาดเล็ก ไม่สอดคล้องกับขนาดการผลิตที่มีผลิตภาพสูงและไม่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นการผลิตสินค้าประเภททุน ดังนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงไม่สามารถพึ่งตลาดภายในประเทศเป็นหลักได้ จำเป็นต้องพึ่งตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ จึงทำให้ต้องมีอัตราการเปิดประเทศสูง

การมีอัตราการเปิดประเทศในระดับที่สูง ไทยต้องพึ่งสินค้าส่งออกเป็นสำคัญ เมื่อเกิดปัญหาความไม่แน่นอนจากตลาดต่างประเทศ จึงทำให้เกิดวิกฤตการณ์แล้วสองครั้ง โดยใน พ.ศ.2523-2528 ประเทศไทยเผชิญกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้รัฐบาลต้องแก้ปัญหาด้วยการลดค่าเงินเป็นครั้งแรก

วิกฤตการณ์ครั้งต่อมา เกิดจากการนำเข้าทุนจากต่างประเทศมาก อย่างไม่มีความพอประมาณ ขาดเหตุผลรองรับทางนโยบายการเงิน มีการผูกค่าเงินบาทไว้กับค่าดอลลาร์ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศถูกตรึงไว้ให้สูง ทำให้ต้นทุนการผลิตภายในประเทศสูงจนไม่สามารถส่งออกได้ เกิดวิกฤติส่งออกใน พ.ศ.2539 จนรัฐบาลต้องประกาศลอยตัวค่าเงินในที่สุด

ปัจจุบันการผันผวนของค่าเงินบาท อันเนื่องมาจากการผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งมีปริมาณมากและมีอิทธิพลต่อระบบการเงินทั้งโลก ยังคงส่งผลต่อการส่งออกและมีผลกระทบกับการจ้างงานในประเทศ ดังนั้น การที่ไทยมีอัตราการเปิดประเทศสูง จึงเป็นความไม่พอประมาณ และทำให้ประเทศขาดภูมิคุ้มกัน เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ช่องว่างทางเศรษฐกิจได้ขยายวงไปเป็นช่องว่างทางสังคม ส่งผลกระทบทางลบต่อมิติทางจริยธรรมและวัฒนธรรม การเสื่อมถอยทางจริยธรรมปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนใน พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารโดยใช้เงินเป็นตัวตั้ง ใช้ตัวบ่งชี้ความสำเร็จด้วยหน่วยวัดเป็นเงิน เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายประชานิยมและบริโภคนิยม ส่งผลให้คนส่วนใหญ่เกิดความคาดหวังว่า จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขาดความยับยั้งในการใช้จ่าย จนเกิดภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดผลเป็นความเสื่อมทางศีลธรรมและมีการประทุษร้ายต่อทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น สังคมมีความตึงเครียดมากขึ้น ความตึงเครียดในสังคมก่อให้เกิดการหย่าร้างเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีความยากจน ความกดดัน ความตึงเครียด ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อรายต่อไป เป็นผู้ที่อ่อนแอที่สุดในสังคม นั่นก็คือ เด็กถูกทอดทิ้งเพิ่มมากขึ้น

เมื่อความยากจนและปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งมากขึ้น ผลที่กระทบต่อมาถึงการศึกษาก็คือ ทั้งอัตราการศึกษาต่อของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา และจำนวนเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาต่อประชากรวัยเรียนไม่ได้ดีขึ้น แม้ว่ารัฐจะพยายามจัดการศึกษาให้เพียงพอในแง่ของปริมาณเทียบกับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อการพัฒนาพื้นฐานและคุณภาพทางการศึกษาเสื่อมถอยลง คนส่วนใหญ่จึงหวังรวยทางลัด หวังพึ่งเจ้าที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หวังความช่วยเหลือจากผู้อื่นมากกว่าการใช้ความสามารถของตนเอง ทำให้ผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมตกเป็นเครื่องมือของธุรกิจการเมือง หรือนักการเมืองที่ใช้นโยบายแนวประชานิยมแบบประเคนสิ่งต่างๆ ให้พร้อมสรรพ โดยไม่สนใจที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคคล นโยบายทำนองนี้จะนำไปสู่การฉ้อราษฎร์บังหลวง เพื่อการถอนทุนคืนอันเป็นสาเหตุของความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการของภาครัฐติดตามมาเป็นลูกโซ่

ความพยายามในการแก้ปัญหาเพื่อให้สังคมไทยมีความพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน จะต้องมาจากพื้นฐานการเมืองที่มีความโปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาอย่างแท้จริง มีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ส่งเสริมการกระจายรายได้ สร้างวัฒนธรรมการออมและสร้างวินัยในการใช้จ่าย ไม่มุ่งเน้นการเปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนและพัฒนาจนทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ต้องดำรงขีดความสามารถในการพึ่งตนเองด้านทุนและเทคโนโลยีให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ด้วยเหตุนี้ แนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อสร้างสังคมที่พึงปรารถนา จึงต้องเริ่มจากการสร้างการเมืองที่ดี ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และลดช่องว่างทางเศรษฐกิจสังคม ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

(เรียบเรียงจากรายงานการประชุมระดมสมองครั้งที่สาม โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้โครงการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงและการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

Tuesday, November 20, 2007

การเมืองแบบสมานฉันท์ ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง

ปัญหาสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาไปได้ไกลเท่าที่ควร เกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใสของภาครัฐและปัญหาการกระจายรายได้ ซึ่งทั้งสองปัญหานี้ส่งผลในเชิงที่เป็นปฏิกิริยาเสริมกัน กล่าวคือ ความไม่โปร่งใสทางการเมืองเป็นผลให้มีปัญหาในการกระจายรายได้ ขณะที่การมีปัญหาการกระจายรายได้ ทำให้ผู้มีรายได้น้อยในชนบทตกเป็นเครื่องมือของธุรกิจการเมือง อันเป็นสาเหตุของความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการของภาครัฐ เนื่องจากทั้งสองปัญหานี้มีลักษณะเสริมกัน การแก้ไขปัญหาจึงควรดำเนินการไปพร้อมกัน โดยมีจุดเน้นที่การแก้ปัญหาความไม่โปร่งใสทางการเมือง ซึ่งจะทำให้ปัญหาการกระจายรายได้จะค่อยๆ ได้รับการแก้ไขไปพร้อมกันด้วย

ในระยะยาว การแก้ปัญหาความไม่โปร่งใสของภาคการเมือง จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ภาคประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ตลอดจนพรรคการเมืองและนักการเมือง รวมทั้งการเปิดกว้างทางการเมืองให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น การยกระดับข้อมูลความรู้ โดยเฉพาะสื่อซึ่งทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลและความรู้แก่ประชาชนจะต้องมีความเป็นกลางและเที่ยงธรรม มีพื้นที่ให้ภาคประชาชนจัดทำสื่อของตนเองได้เพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า ภาคประชาชนในพื้นที่ชนบท ประสบปัญหาในการไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของราชการส่วนท้องถิ่นได้ เนื่องจากรูปแบบการเมืองแบบตัวแทนในระดับประเทศได้ถูกนำมาใช้ในท้องถิ่น ประกอบกับการถูกครอบงำของการเมืองในท้องถิ่นจากการเมืองระดับประเทศ ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับการคัดเลือกจากประชาชน กลายเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นเสียเอง อีกทั้งความสัมพันธ์ที่เคยมีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นจากระบบอุปถัมภ์ที่มีคุณธรรมได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นระบบอุปถัมภ์แบบสามานย์ ที่ใช้อำนาจการเมือง ซึ่งเชื่อมโยงกับส่วนกลางผสมผสานกับอำนาจเงิน

การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ จึงต้องพยายามส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง ภายใต้การเมืองท้องถิ่นแบบสมานฉันท์ เพื่อให้ระบบอุปถัมภ์แบบมีคุณธรรมคืนกลับมา ซึ่งนอกจากจะช่วยให้การเมืองท้องถิ่นมีความโปร่งใสแล้ว ยังเป็นพลังสำคัญที่ทำให้การเมืองระดับประเทศมีความโปร่งใสเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้การดำเนินนโยบายในด้านต่างๆ ก็จะพิจารณาถึงผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก ช่องว่างของการกระจายรายได้ก็จะลดลง ซึ่งจะผลเป็นทอดๆ ไปสู่การลดช่องว่างทางการเมือง สังคม การศึกษา เทคโนโลยี เกิดเป็นความสัมพันธ์ในเชิงลูกโซ่แบบย้อนกลับ เพื่อพลิกฟื้นวงจรแห่งความดีจากวงจรอุบาทว์ในปัจจุบัน

หากพิจารณาถึงรากของปัญหาด้านหนึ่งคือ การพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่นที่ไม่สอดคล้องกับความจริง โดยเฉพาะการพัฒนาระบบประชาธิปไตยที่มีรูปแบบเดียว คือ ประชาธิปไตยตัวแทนทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งเท่านั้น การเลือกตั้งจึงเป็นเสมือนมาตรวัดของประชาธิปไตยไทย ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมาก

วิถีแห่งการสร้างประชาธิปไตยในท้องถิ่น จึงกลายเป็นการเลียนแบบประชาธิปไตยในระดับชาติ มีนายก อบต. มีคณะผู้บริหารท้องถิ่น มีสภาท้องถิ่น มีข้าราชการท้องถิ่น ผลพวงจากการพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่นในรูปแบบดังกล่าว ได้ทำให้ชุมชนหลายพื้นที่อ่อนแอ และนำไปสู่ปัญหาของท้องถิ่นอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ ปัญหาวัฒนธรรมขององค์กรปกครองท้องถิ่นในสภาพของระบบราชการที่แข็งกระด้าง ปัญหาของการเข้าสู่อำนาจของระบบประชาธิปไตยตัวแทนและบทบาทของนักธุรกิจการเมือง และปัญหาความแตกแยกในชุมชน

ทิศทางในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ จำต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยการให้ความสำคัญ 2 ระดับที่แตกต่างกัน คือ แม้การพัฒนาประชาธิปไตยในระดับชาติ ยังคงยึดโยงอยู่กับระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่ขณะนี้ ได้นำไปสู่ปัญหาความแตกแยกในสังคม การทำลายทุนทางสังคมอย่างน่าเศร้า

แต่การพัฒนาประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น ต้องให้ความสำคัญกับการปกครองตนเอง ในลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยแบบสมานฉันท์ในชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคี เป็นการสร้างการเมืองแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) โดยมีพื้นที่สาธารณะหรือเวทีการเรียนรู้ที่ชุมชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จะต้องมีบทบาทร่วมในการขับเคลื่อน กระตุ้นให้เกิดการปลุกจิตสำนึก การสร้างคุณค่า การสร้างศรัทธา และอุดมการณ์ในการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งชุมชน

นอกจากข้อเท็จจริงของท้องถิ่นที่มีความแตกแยกเป็นกลุ่มต่างๆ แล้ว กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยแบบเดิม ยังได้ส่งผลกระทบต่อความรู้ท้องถิ่น โดยแตกออกเป็นองค์ความรู้ราชการ องค์ความรู้วิชาการ และองค์ความรู้ชุมชน ฐานขององค์ความรู้ทั้งสามนี้ ต่างฝ่ายต่างมีพื้นที่ของตนเอง การแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว จึงต้องมีกระบวนการบูรณาการความรู้ในชุมชน โดยเริ่มจากฐานขององค์ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดการผสมผสาน และดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

ท้ายที่สุด กระบวนการเรียนรู้ในชุมชนของชาวบ้าน จะเป็นการเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนได้ตระหนักต่อข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ของชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านและภาคีนำข้อสรุปของกระบวนการเรียนรู้เข้าสู่การถกเถียงในเวทีการเรียนรู้ชุมชน มีฉันทามติ (Consensus) ในชุมชนภายหลังจากที่ภาคีในท้องถิ่นได้ถกเถียงกันอย่างสันติ เป็นการสร้างสังคมท้องถิ่นแบบสมานฉันท์ บนฐานของทุนทางสังคมความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเป็นเครือญาติที่แน่นแฟ้น ซึ่งยังคงเหลืออยู่ตามชุมชนชนบทในสังคมไทย... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

(เรียบเรียงจากผลการศึกษาวิจัยโครงการจัดทำดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโครงการจัดทำแผนที่เดินทางและการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

CEO ในแบบ NGO

เรื่อง Corporate Social Responsibility (CSR) หรือที่ทางสถาบันไทยพัฒน์เรียกว่า "บรรษัทบริบาล" นั้น มีความสำคัญกับองค์กรไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่อง Corporate Governance (CG) หรือบรรษัทภิบาล โดยปรากฏเป็นรูปธรรมผ่านทางกิจกรรมต่างๆ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบการหรือผู้นำองค์กร ยึดถือเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมเป็นเงื่อนไขสำคัญในการดำเนินกิจการ อีกทั้งไม่จำกัดอยู่เพียงบรรษัทขนาดใหญ่ รูปธรรมของบรรษัทบริบาลนั้น ปรากฏได้ทั้งในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เจ้าของกิจการหรือผู้บริหาร ใช้แนวทางการประกอบธุรกิจอย่างมีคุณธรรม

ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ก็มิได้จำกัดว่ากิจการที่กล่าวถึงจะต้องเป็นองค์กรหรือหน่วยงานที่อยู่ในภาคธุรกิจเท่านั้น ในอดีตที่ผ่านมา ภาครัฐเองก็ได้เคยตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งทำให้ส่วนราชการต่างๆ ต้องพัฒนาการปฏิบัติราชการโดยใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ดังนั้น ต้องถือว่าส่วนราชการต่างๆ ก็ดี มีพันธกิจหลักในการบริหารกิจการบ้านเมืองด้วยความรับผิดชอบเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนโดยไม่แสวงหาผลกำไร

ซีเอสอาร์ในภาครัฐจึงมิใช่เรื่องใหม่ หรือหลักการบริหารบ้านเมืองแนวใหม่แต่ประการใด แต่เป็นเรื่องที่ข้าราชการทุกคนต้องตระหนักและสำนึกได้เองว่า ตนเองมีบทบาทและความรับผิดชอบต่อสังคมในการปฏิบัติหน้าที่อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น หากหน่วยราชการใดออกมาประกาศว่าจะนำหลักการซีเอสอาร์มาใช้ในการปฏิบัติงาน นั่นก็แสดงว่า หน่วยงานนั้นไม่เพียงแต่ไม่เข้าใจเรื่องของซีเอสอาร์ แต่ยังไม่ตระหนักถึงบทบาทขั้นพื้นฐานของตนเองในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมที่พึงมี นับตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้งหน่วยงานอีกด้วย... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ 20CEOs 20IDEAs) External Link [Archived]

Monday, November 19, 2007

ฟรีอีเมลภายใต้โดเมนใหม่ live.com จากไมโครซอฟต์

เมื่อวันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน ไมโครซอฟต์ได้เปิดให้บริการฟรีอีเมลภายใต้โดเมนใหม่ล่าสุด live.com ผมเผอิญเข้าไปอ่านข่าวที่ CNET (Live.com e-mail addresses up for grabs) เลยตามเข้าไปลงทะเบียนอีเมลชื่อ pipat@live.com ได้มาเรียบร้อย

สำหรับคนไทย ถ้าเข้าไปที่ http://get.live.com ปกติ จะขึ้นเป็นเมนูภาษาไทย และอนุญาตให้ลงทะเบียนเฉพาะภายใต้โดเมน windowslive.com เท่านั้น แต่หากใครอยากลงทะเบียนภายใต้โดเมน live.com ต้องเข้ามาที่ URL นี้ครับ (https://signup.live.com/signup.aspx?mkt=en-us) หรือคลิกที่รูปข้างล่างนี้ก็ได้ครับ

Windows Live ID

ใครจดได้หรือไม่ได้อย่างไร ก็เขียนเข้ามาคุยกันได้นะครับ

Tuesday, October 30, 2007

9 ปี ของสังคมไทยกับความเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้รับรายงานการวิจัยเรื่องการสังเคราะห์งานวิจัย ข้อเขียน และบทความเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เอกสารฉบับนี้เป็นความพยายามที่จะเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจากงานวิจัย ข้อเขียน และบทความจำนวน 204 ชิ้นในช่วงเวลา 9 ปี (2542-2550) ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การบริหารจัดการ การศึกษา ตลอดจนมิติที่เกี่ยวกับกฎหมาย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

งานวิจัยส่วนใหญ่ได้ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่มีอยู่ดั้งเดิมในสังคมไทย มีพื้นฐานมาจากศาสนธรรมและวิถีความเป็นอยู่ของชาวไทย ในข้อเขียนและบทความต่างๆ ได้มีความพยายามที่จะเปรียบเทียบเศรษฐกิจพอเพียงกับเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือที่บางครั้งเรียกกันว่าระบบทุนนิยม มีความพยายามที่จะอธิบายปัญหาเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่จากมุมมองของเศรษฐกิจพอเพียง ในแง่ที่เป็นทั้งเศรษฐกิจเชิงมหภาค การเกษตรและชนบท อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ตลอดจนการเผยแพร่กรณีศึกษาของกลุ่มที่มีการปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ครัวเรือน องค์กรธุรกิจ ชุมชน ไปจนถึงระดับประเทศ รวมทั้งมีความพยายามในการสร้างตัวบ่งชี้เพื่อใช้วัดความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในระดับต่างๆ

ในด้านการเมืองและการปกครองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ได้มีความพยายามที่จะเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การเมืองและการปกครองเข้ากับการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ขณะที่ในด้านการศึกษายังปรากฏถึงความไม่เข้าใจในการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับการศึกษาอยู่มากพอสมควร

ส่วนในด้านกฎหมายได้มีความพยายามในการผลักดันกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อสนับสนุนการปรับทิศทางของประเทศไปสู่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ในด้านสุขภาพมักเป็นเรื่องของการให้บริการด้านสุขภาวะองค์รวมโดยเน้นที่คุณธรรมและจริยธรรมเพื่อความสุขของทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ และในด้านสิ่งแวดล้อมจะอยู่ภายใต้เรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นส่วนใหญ่

ในการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้ ยังไม่พบงานวิจัยที่ศึกษาบทบาทของครอบครัว สถาบันศาสนาในการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม แม้จะมีการศึกษาบทบาทของสถาบันการศึกษาในการดำเนินกิจกรรมที่มีรูปแบบสอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจพอเพียง แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ากิจกรรมดังกล่าว มีผลในการพัฒนาทางความคิดและความรู้คู่คุณธรรม ได้อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

ส่วนการศึกษาในระดับครัวเรือนจะเป็นการศึกษาลักษณะการเป็นเศรษฐกิจพอเพียง และผลลัพธ์ที่เน้นความพอเพียงมากกว่าศึกษาผลกระทบในแง่การถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าว สู่สมาชิกรุ่นใหม่ในครัวเรือนหรือการสร้างผลกระทบในแง่การเป็นตัวอย่างต่อเพื่อนบ้าน

ขณะที่สถาบันดั้งเดิมคือ ครอบครัวและวัดอ่อนแอลง ส่วนสถาบันการศึกษาก็เป็นสถาบันที่มีรูปแบบที่ไม่กลมกลืนกับวิถีชุมชนนัก การศึกษาวิจัยในระดับชุมชนกลับพบว่ากิจกรรมและกระบวนการในระดับกลุ่มชุมชน สามารถมีผลต่อการสร้างการเรียนรู้และการปรับพฤติกรรมของสมาชิกในกลุ่มหรือชุมชนได้ แต่ในอนาคตหากสถานศึกษาจะพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอน ไปในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มมากขึ้น เหมือนเช่นที่มีการริเริ่มดำเนินการในการศึกษาทุกระดับอยู่แล้ว

ในขณะนี้ข้อเชื่อมต่อที่ยังไม่ปรากฏความเข้มแข็งอย่างชัดเจน คือ วัด ถ้ายังไม่สามารถสร้างสถาบันวัดให้เข้มแข็งด้วยระบบการศึกษาของพระสงฆ์ได้ในระยะปานกลาง อาจจะต้องอาศัยชุมชนเป็นหลัก และถ้าทิศทางของการพัฒนาสถาบันศึกษาในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงยังไม่เปลี่ยนแปลง อาจจะพึ่งสถาบันการศึกษาได้บ้างในระยะปานกลาง

การทบทวนวรรณกรรมในส่วนเกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่สามารถประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ พบว่า การพัฒนาองค์ความรู้ในด้านนี้ยังจำกัดอยู่มาก ส่วนมากจะเป็นการศึกษาภาคเกษตรและชนบทกับเกษตรทฤษฎีใหม่ แม้ว่าจะมีการยกตัวอย่างบริษัทธุรกิจเอกชนที่มีแนวคิดและปฏิบัติสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียง แต่ก็เป็นการศึกษาเชิงบรรยายที่ไม่ได้สร้างผลกระทบในเชิงวิชาการมากนัก

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการศึกษาในมิติการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่มากพอสมควร ทั้งโดยนักเศรษฐศาสตร์ (ที่คำนวณดัชนีชี้วัด ISEW และคำนวณ GREEN GDP ที่สะท้อนต้นทุนสิ่งแวดล้อมในการคำนวณสวัสดิการสังคมและในการคำนวณผลผลิตมวลรวมประชาชาติ ตามลำดับ) และนักมานุษยวิทยา (ที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ) ส่วนการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศก็กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

อย่างไรก็ดี มีคำถามว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนมีแนวคิดที่ต่างจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือไม่อย่างไร คำตอบในเรื่องนี้อยู่ที่ข้อเท็จจริงที่ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนที่พัฒนามาจากตะวันตก ยังมิได้เน้นมิติของจริยธรรม ซึ่งเป็นศาสตร์หนึ่งของจริยธรรมที่ว่าด้วยสิ่งแวดล้อม (ENVIRONMENTAL ETHICS) และงานศึกษาวิจัยของไทยในมิติที่ผสมผสานแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐาน พุทธเศรษฐศาสตร์และจริยธรรมสิ่งแวดล้อมก็ยังมีจำกัด

หลังการทบทวนงานวิจัย ข้อเขียน และบทความเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงเกือบทศวรรษหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ พบว่า เรายังไม่สามารถสร้างองค์ความรู้เพิ่มเติมขึ้นเพียงพอที่จะตอบโจทย์เหล่านี้ได้อย่างชัดเจน รวมทั้งยังมีองค์ความรู้จำกัดที่จะช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อตอบวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 จึงยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนาความรู้ด้านนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรมีการจัดทำดัชนีชี้วัดความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศในระดับต่างๆ โดยในระหว่างการจัดทำนี้ หากพบว่ายังมีความรู้ในเรื่องใดที่ยังมีความไม่กระจ่างชัด และสามารถหาคำตอบได้ด้วยงานวิจัย ก็ควรส่งเสริมให้มีการจัดทำวิจัยในเรื่องนั้นๆ เพิ่มเติม พร้อมกับการลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยงานวิจัยในส่วนที่เป็นการพัฒนาทฤษฎีที่เป็นผลจากการปฏิบัติจริงจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งต่อการนำไปใช้พัฒนาสังคมและประเทศในวงกว้าง... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

Wednesday, October 24, 2007

เรื่อง CSR ที่ CEO ควรรู้

องค์กรหลายแห่ง ได้นำเรื่อง Corporate Social Responsibility หรือ "ซีเอสอาร์" มาเป็นประเด็นสื่อสารทางการตลาด ขณะที่บางองค์กรขยายผลเพื่อใช้ซีเอสอาร์เป็นรูปแบบในการกีดกันการแข่งขันการค้า จนทำให้ ซีเอสอาร์ กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้สนองประโยชน์ทางธุรกิจ แทนที่จะใช้เพื่อเจตนารมณ์ของการมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง การดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ ของกิจการในทุกวันนี้ จึงมีทั้งที่เกิดขึ้นโดยความเต็มใจและเกิดขึ้นจากความจำเป็นทางธุรกิจ

การดำเนินกิจกรรม ซีเอสอาร์ ขององค์กรธุรกิจที่ประกอบด้วยความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ก็ยังมีข้อถกเถียงเพิ่มเติมอีกว่า ควรเป็นการดำเนินตามหน้าที่ ตามกฎหมาย ที่ไม่สร้างให้เกิดความเดือดร้อนแก่สังคมก็เพียงพอแล้ว หรือว่าต้องเกิดขึ้นจากการอาสาหรือสมัครใจยินดีในการดำเนินกิจกรรมดูแลรับผิดชอบสังคม ซึ่งอยู่เหนือการปฏิบัติตามหน้าที่หรือตามกฎหมายเท่านั้น... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ 20CEOs 20IDEAs) External Link [Archived]

Tuesday, October 23, 2007

อรรถประโยชน์กับข่าวการเมือง

คำว่า อรรถ หมายถึง ความมุ่งหมาย เมื่อมาสมาสเป็น อรรถประโยชน์ (Utility) จึงหมายถึง ประโยชน์ที่มุ่งหมาย หรือประโยชน์ที่ต้องการ เรื่องอรรถประโยชน์มีความหมายอยู่ 2 นัยด้วยกัน คือ อรรถประโยชน์เชิงวัตถุวิสัย (Objective Utility) กับอรรถประโยชน์เชิงจิตวิสัย (Subjective Utility)

ในส่วนที่เป็นอรรถประโยชน์เชิงวัตถุวิสัยนั้น จะเกี่ยวข้องกับความเป็นประโยชน์ (Usefulness) หรือคุณค่าของสิ่งต่างๆ ในลักษณะที่เป็นอยู่ตามจริงโดยธรรมชาติ เป็น "คุณค่าแท้" ที่มีอยู่แต่เดิม โดยมิได้ถูกเพิ่มเติมเสริมแต่งหรือดัดแปลงตามความคิดเห็นของมนุษย์ เช่น

น้ำมีคุณค่ามากกว่าเพชร เพราะน้ำมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ตามธรรมชาติมากกว่าเพชร คุณค่าของน้ำ ในที่นี้เรียกว่า คุณค่าในการใช้สอย (Value in Use) ในขณะที่ คุณค่าของเพชร เป็นคุณค่าที่ถูกให้โดยมนุษย์ ถูกเพิ่มเติมเสริมแต่งให้มีคุณค่าสูง ด้วยเงื่อนไขของความหายาก (Scarcity) ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการใช้กำหนดคุณค่าของเพชร ในที่นี้ที่เรียกว่า คุณค่าในการแลกเปลี่ยน (Value in Exchange) เนื่องจากเพชรเพียงส่วนน้อยสามารถแลกเป็นน้ำได้จำนวนมหาศาล

ในส่วนที่เป็นอรรถประโยชน์เชิงจิตวิสัยนั้น จะเกี่ยวข้องกับความเป็นประโยชน์หรือคุณค่าของสิ่งต่างๆ ในลักษณะที่เป็นการให้คุณค่าโดยมนุษย์ คือ การที่แต่ละบุคคลจะให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านั้นตามความคิดเห็นของตนเอง คุณค่า (ในการแลกเปลี่ยน) ตามความหมายนี้ จึงขึ้นอยู่กับปริมาณของสิ่งนั้นๆ ด้วย ถ้าของบางอย่างมีมากเกินไป การให้คุณค่าแก่สิ่งนั้นๆ ก็จะลดลง เพราะหาได้ง่าย ถึงแม้จะมีคุณค่าในการใช้สอยก็ตาม

หรือการที่มนุษย์สามารถสร้างความมั่งคั่งได้โดยการลดความต้องการของตัวเองลงให้เป็นสัดส่วนลงตัวกับสิ่งที่มีอยู่ แทนการขวนขวายหาสิ่งต่างๆ เพิ่มตามความต้องการที่ไม่จำกัด ซึ่งก็คือ การให้คุณค่าอย่างสูงแก่สิ่งของที่ตนมีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องขวนขวายหาสิ่งอื่นมาเพิ่มเติม

เมื่อเงินเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และสิ่งของทุกสิ่งทุกอย่างสามารถกำหนดคุณค่าเทียบกับเงินได้ ความหมายของคุณค่าจึงค่อยๆ ถูกเปลี่ยนไปเป็น "มูลค่า" หรือ "ราคา" ของสิ่งของ อันเป็นจุดเบี่ยงเบนสำคัญจากความเป็นจริงตามธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งของนั้นๆ เพราะมูลค่าหรือราคาเป็น "คุณค่าเทียม" ที่มนุษย์ตกลงหรือสมยอมกันเอง (Human Convention) ไม่ใช่ คุณค่าแท้ หรือ คุณค่าในการใช้สอย ซึ่งเป็นคุณค่าตามธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ

คำที่มีความเกี่ยวเนื่องกับอรรถประโยชน์อีกคำหนึ่ง คือ Utilization หรือการใช้ประโยชน์ ซึ่งแปลว่า การทำให้เกิดประโยชน์ตามที่ต้องการ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งในทางปฏิบัติ ประโยชน์ที่ได้รับตามความเป็นจริง (Actual) อาจจะไม่เท่ากับประโยชน์ที่มุ่งหมายหรือที่คาดว่าจะได้รับ (Expected) ก็ได้

ขอให้สังเกตว่า มูลค่าที่บุคคลได้รับจากการใช้ประโยชน์ จะต่างจากคุณค่าในการใช้สอยในอรรถประโยชน์ คือ มูลค่าในการใช้ประโยชน์จะแปรเปลี่ยนตามบุคคลผู้ใช้ประโยชน์ โดยขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพหรือความสามารถในการใช้ประโยชน์ของบุคคลนั้นๆ ขณะที่คุณค่าในการใช้สอยในอรรถประโยชน์หรือประโยชน์ที่มุ่งหมาย ยังคงมีคุณค่าในสภาพเดิมตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะมีการใช้สอยเกิดขึ้นแล้วหรือยังไม่มีการใช้สอยเกิดขึ้นโดยบุคคลใดๆ ก็ตาม ถือเป็นคุณค่าในตัวของสิ่งต่างๆ ที่ยังมิได้ถูกใช้ประโยชน์

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏนี้ เราสามารถนำไปสู่การพิจารณาคุณค่าเปรียบเทียบ (Comparative Value) ระหว่างคุณค่าที่มนุษย์กำหนดขึ้นในอรรถประโยชน์เชิงจิตวิสัยกับคุณค่าเดิมแท้ของสิ่งต่างๆ ในอรรถประโยชน์เชิงวัตถุวิสัย เพื่อนำไปประยุกต์กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้

การพิจารณาเรื่องอรรถประโยชน์ของข่าวการเมืองที่ออกมาในช่วงนี้ ดูจะหาคุณค่าที่แท้จริงได้น้อย เพราะยังเป็นช่วงที่ "พรรคการเมือง" และ "นักการเมือง" ส่วนใหญ่กำลังสร้างมูลค่าหรือราคาให้แก่ตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนกับเม็ดเงินจากผู้สนับสนุนเป็นหลัก

วิธีการสร้างมูลค่าทางการเมือง หากใช้อรรถประโยชน์เชิงวัตถุวิสัยจะได้ราคาน้อย เนื่องจากพรรคการเมืองและนักการเมืองในปัจจุบัน ขาดการพัฒนาเพื่อสร้างคุณค่าแท้ให้แก่สังคมมาเป็นเวลานาน ทำให้การสร้างมูลค่าจึงต้องอ้างอิงอรรถประโยชน์เชิงจิตวิสัย คือการให้คุณค่าโดยใช้ภาพลักษณ์ที่โหมกระพือทางสื่อต่างๆ เป็นระลอก ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองต่างก็พยายามที่จะเพิ่มคุณค่าในการแลกเปลี่ยนด้วยการเพ่งเล็งไปที่การใช้ประโยชน์หรือประโยชน์ที่ผู้ใช้ได้รับ

โดยในเบื้องหน้าจะแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และในเบื้องหลังจะชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ผู้สนับสนุนจะได้รับ หากตนเองหรือพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดอยู่ได้รับเลือกตั้งให้เข้ามารับใช้บ้านเมือง

การเปรียบเทียบคุณค่าของกิจกรรมทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองเพื่อประโยชน์ที่มุ่งหมายเชิงจิตวิสัยหรือคุณค่าเทียม กับพรรคการเมืองเพื่อประโยชน์ที่มุ่งหมายเชิงวัตถุวิสัยหรือคุณค่าแท้ พบว่า ในกรณีแรก ประโยชน์ที่มุ่งหมายจากกิจกรรมทางการเมืองนั้น เน้นผลลัพธ์ที่ต้องให้มูลค่าสูงหรือสามารถแลกเป็นเงินสนับสนุนซึ่งเป็นผลตอบแทนจากกิจกรรมทางการเมืองดังกล่าวได้ ขณะที่ ประโยชน์ที่มุ่งหมายจากกิจกรรมทางการเมืองในกรณีหลัง ไม่จำเป็นต้องให้มูลค่าที่สูงหรือแลกเปลี่ยนเป็นเงินสนับสนุน แต่สามารถสร้างคุณค่าให้แก่ประชาชนเป็นหลัก อีกทั้งไม่จำเป็นต้องยึดผลตอบแทนทางการเมืองเป็นที่ตั้งในทุกกรณี เป็นการเน้นที่ความคุ้มค่ามากกว่าความคุ้มทุน

การติดตามข่าวการเมืองในเวลานี้ จึงควรพิจารณาที่คุณค่าแท้หรืออรรถประโยชน์เชิงวัตถุวิสัย มิใช่การพิจารณาว่าพรรคการเมืองใดต้อนนักการเมืองโดยใช้มูลค่าหรือราคาเป็นเครื่องตัดสิน ซึ่งท้ายที่สุด จะทำให้ประชาชนต้องจ่ายในราคาที่แพง เพื่อแลกกับประชาธิปไตยในแบบเทียมๆ ที่หาคุณค่าแท้ให้แก่สังคมมิได้... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

Tuesday, October 16, 2007

โรดแมพประเทศไทยฉบับพอเพียง

วานนี้ (15 ต.ค.) ได้มีการจัดประชุมระดมสมองเพื่อพิจารณารายละเอียด ร่างแผนที่เดินทาง (road map) เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ผู้แทนจากพรรคการเมือง องค์กรอิสระ และภาคประชาสังคมเข้าร่วมให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ สำหรับการประชุมระดมสมองครั้งนี้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่สาม โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้โครงการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียง และการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

แม้ว่าประเทศไทยจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (2550-2554) ซึ่งเป็นแผนที่นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากำหนดเป็นวิสัยทัศน์ของการพัฒนาประเทศ ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 9 ซึ่งจัดทำขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์เดียวกัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ยังไม่มีแผนที่นำทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าวอย่างชัดเจน และมีการดำเนินการเป็นขั้นตอนตามคุณลักษณะและเงื่อนไขที่สำคัญในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง

แผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงฉบับนี้ จึงถูกยกร่างขึ้นเพื่อสร้างให้เกิดความตระหนัก และความเข้าใจของคนในชาติต่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในขั้นตอนต่างๆ และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศในลักษณะที่บรรสานไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับเงื่อนไขคุณธรรมและความรอบรู้ ตลอดจนคุณลักษณะของความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี

เนื้อหาของร่างโรดแมพประเทศไทยฉบับพอเพียงนี้ เริ่มจากวิสัยทัศน์ที่ว่า "ประเทศไทยมีวิถีชีวิตและสังคมตามแนวทางพอเพียง มีภูมิคุ้มกันที่ทำให้อยู่ได้อย่างมีความสุขและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ โดยมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม มีความมั่นคงทางสังคม มีความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีความสมดุลของการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม" ภายใต้ยุทธศาสตร์สามประการ ได้แก่ การสร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม การสร้างความมั่นคงทางสังคม และการสร้างความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แนวทางหลักในการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย การยกระดับคุณธรรมในสังคมและธรรมาภิบาลในการบริหารภาครัฐ การพัฒนาองค์กรชุมชนและเครือข่ายให้เข้มแข็ง การส่งเสริมการเมืองแบบมีส่วนร่วมและการเมืองท้องถิ่นแบบสมานฉันท์ การฟื้นฟูดินน้ำป่าและการจัดการขยะ และการลดช่องว่างและสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ โดยมีตัวชี้วัดการดำเนินงานที่สำคัญ 15 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย ตัวชี้วัดด้านคุณธรรม 5 ตัวชี้วัด ตัวชี้วัดด้านความรอบรู้ 4 ตัวชี้วัด และตัวชี้วัดด้านความพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน 6 ตัวชี้วัด

ในด้านคุณธรรม ได้แก่ สังคมที่มีความโปร่งใส มีปัญหาสังคมต่ำ ภาครัฐมีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น มีระดับการคอร์รัปชันลดลง การเมืองท้องถิ่นมีความสมานฉันท์ เพราะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม คดีความและความขัดแย้งในท้องถิ่นลดลง การมีส่วนร่วมของประชาชนมีมากขึ้น ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคม ประชาชนมีความซื่อสัตย์ มีความเพียร มีสัมมาอาชีวะ และมีจิตสำนึกสาธารณะ

ในด้านความรอบรู้ ได้แก่ สังคมที่มีความรอบรู้ มีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี และเป็นการเรียนรู้ที่นำไปสู่การสร้างความพอเพียงความสมดุลในการดำเนินชีวิต การรู้จักตนเอง รู้จักชุมชนของตนเอง และรู้จักโลก ชุมชนมีศักยภาพในการจัดการการเรียนรู้จากบริบทชุมชนและบริบทสังคมที่เป็นจริง การมีวิทยาลัยชุมชนที่ผสมผสานการเรียนรู้ในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย มีการเรียนรู้ผ่านกระบวนการแผนแม่บทชุมชน มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายการศึกษาในระบบให้สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ประชาชนมีการทำบัญชีครัวเรือน ประชาชนมีโอกาสในการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่จัดการหลักสูตรอย่างเหมาะสม เป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาคนให้รู้เท่าทันโลกาภิวัตน์ และเพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองในด้านเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมได้

ในด้านความพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน ได้แก่ สังคมที่พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน ไม่มุ่งเน้นการพัฒนาจนทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีทั้งปริมาณและคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น สัดส่วนการใช้จ่าย/รายได้ลดลง และมีอัตราการออมเพิ่มขึ้น สถาบันครอบครัวเข้มแข็ง มีอัตราการหย่าร้างเด็กถูกทอดทิ้งลดลง ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ลดลง และมีอัตราการเปิดประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถพึ่งตนเองในด้านทุน และเทคโนโลยีได้ในบางระดับ

โรดแมพประเทศไทยใน 5 ปีแรก จะเป็นการสร้างรากฐานของเศรษฐกิจพอเพียงในสองส่วน ส่วนแรก เป็นการสร้างเงื่อนไขที่ก่อให้เกิด "การเปลี่ยนแปลงหรือการระเบิดจากภายใน" คือ การสร้างคุณธรรมและความรู้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขหรือปัจจัยนำเข้าที่สำคัญของความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนที่สอง เป็น "การปรับเปลี่ยนกลไกหรือโครงสร้างแวดล้อมภายนอก" ที่เอื้อให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานของรัฐ มีความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน ตามขั้นตอนที่เริ่มจากการปลูกฝังคุณธรรม การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้

การสร้างกลไกที่สนับสนุนความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน การปรับปรุง/ขจัดกลไกที่ขัดขวางความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน และการติดตามผล ทบทวนการดำเนินงาน และปรับปรุงกลยุทธ์ตามลำดับ ด้วยการใช้วัฒนธรรมชุมชน วัฒนธรรมองค์กร (ทุนทางสังคม) และทรัพยากรธรรมชาติ (ทุนทรัพยากรธรรมชาติ) เป็นเครื่องมือในการสร้างจริยธรรม การเรียนรู้ และพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างการเมืองสมานฉันท์ ส่วนกลไกภายนอกที่ควรสร้างเสริมหรือปรับเปลี่ยน จะมีทั้งกลไกที่เป็นกฎหมาย นโยบาย และงบประมาณ เป็นต้น

ข้อสรุปที่ได้จากการระดมสมองครั้งนี้ จะนำไปใช้เพื่อปรับปรุงเนื้อหาในแผนที่เดินทางฉบับสมบูรณ์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของร่างแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงฉบับนี้ได้ทางเวบไซต์ www.SEroadmap.org ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link


Audio File ฟังรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง MCOT dot Net External Link

Tuesday, October 09, 2007

อยากเห็นพรรคธัมมิกสังคมนิยม

การที่ผู้คนในสังคมจะสามารถอยู่รวมกันได้อย่างเป็นปกติสุขนั้น จำต้องมีหลักการดำเนินชีวิตในสังคมที่สอดคล้องกับความเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อไรก็ตาม ที่การดำเนินกิจกรรมในสังคมเริ่มเบี่ยงเบนหรือผิดแผกไปจากธรรมชาติ ไม่เป็นไปอย่างปกติ สังคมนั้นก็จะเดือดร้อนวุ่นวาย เกิดปัญหาของการเบียดเบียนซึ่งกันและกันไม่รู้จบสิ้น

ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ ธัมมิกสังคมนิยม ว่า คำว่า "ธมฺมิก" แปลว่า ประกอบอยู่ด้วยธรรม "สังคม" คือ คนหมู่มาก "นิยม" คือ เพ่งเล็งในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

"ธัมมิกสังคมนิยม" จึงเป็นการเพ่งเล็งเรื่องที่เกี่ยวกับคนหมู่มาก ที่ประกอบอยู่ด้วยธรรม เป็นธรรมชาติที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่มีการกอบโกยอย่างเสรี เสรีภาพในการกอบโกยส่วนเกินถูกควบคุมไว้โดยธรรมชาติอย่างเฉียบขาด เป็นสังคมนิยมโดยอัตโนมัติของธรรมชาติ เป็นความถูกต้องที่จุนเจือให้มนุษย์อยู่รอดมาได้ทุกวันนี้

ปัญหาเกิดเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จัก "เอาส่วนเกิน" เริ่มเก็บสะสม กักตุนเอาไว้มากขึ้นๆ จนเกิดการไม่พอ มีการแย่งกันสะสมส่วนเกินจนต้องมีหัวหน้าที่จะแสวงหากอบโกยส่วนเกิน ต้องทะเลาะเบาะแว้ง รบพุ่งกัน

ธรรมชาติได้มีกฎวางไว้ให้ทุกคนเอาแต่เท่าที่จำเป็น แต่เมื่อมนุษย์ไม่เชื่อฟังธรรมชาติ แข่งกันกอบโกยส่วนเกิน จิตใจขยายไปในทางที่ต้องการส่วนเกินนั้น จนเป็นการริบเอาประโยชน์ของสังคมมาเป็นของตน แทนที่ส่วนเกินนั้นจะตกทอดไปถึงคนอื่นๆ เกิดเป็นความขาดแคลนขึ้นในสังคม จนทำให้พวกที่เหลือส่วนใหญ่กลายเป็นคนยากจน

สังคมปัจจุบันจึงต้องการผู้ปกครองที่รื้อฟื้นธรรมสัจจะของธรรมชาติในข้อนี้มาใช้ให้บังเกิดผล คือ ต้องทำให้เป็นระบบสังคมนิยมที่มีความหมายว่า "เห็นแก่สังคม" ทั้งโดยการพูดและการกระทำ มิใช่เพียงปากว่าเพื่อสังคม เพื่อประเทศ เพื่อส่วนรวม แต่ใจและการกระทำนั้น ยังเป็นไปเพื่อตนเองหรือพวกพ้อง

ส่วนเครื่องมือสำหรับระบบสังคมนิยมที่มีผู้ปกครองดี คือ วิธีปฏิบัติงานที่เป็นเผด็จการ เมื่อไรก็ตาม ที่เห็นว่าเป็นเรื่องถูกต้อง จะดำเนินการและลงมือทำโดยทันที ไม่ยอมให้โอ้เอ้หรือผิดเพี้ยนแก่เวลา ในทางตรงข้าม สังคมที่ได้ผู้นำดี แต่กลับไม่ลงมือทำในเรื่องที่ถูกต้องให้ควรแก่เวลา ก็จะนำพาประเทศชาติให้เสื่อมถอยอย่างอันตราย

แต่ถ้าสังคมได้ผู้ปกครองที่ไม่ดีหรือไม่ประกอบอยู่ด้วยธรรมแล้ว ไม่ว่าวิธีการปกครองจะเป็นแบบเผด็จการหรือประชาธิปไตย สังคมหรือประเทศชาติก็จะล่มจมไปในทางเดียว โดยเหตุที่ประชาธิปไตยเสรีทำให้ประเทศล่มจมได้นั้น ก็เพราะผู้นำจะฉวยโอกาสใช้เสรีภาพไปตามอำนาจของกิเลส พอมีอำนาจอยู่ในมือแล้ว จิตใจจะขยายไปในทางที่ต้องการเอาส่วนเกิน เกิดการกอบโกยประโยชน์ของสังคมมาเป็นของตนในระหว่างที่อยู่ในอำนาจ ประชาธิปไตยเสรีนี้ ก็เป็นอันตรายร้ายแรงต่อประเทศได้

คำว่าสังคมนิยมตามทัศนะของท่านพุทธทาส จึงเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับเสรีนิยมที่เล็งถึงบุคคล ปัจเจกชน ต่างคนต่างมีเสรี สังคมนิยมจะเล็งถึงประโยชน์ของสังคม คำนึงถึงปัญหาของสังคม แล้วก็ทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นการแก้ปัญหาของสังคม ในขณะที่เสรีนิยมทำไม่ได้ เนื่องด้วยความเห็นแก่ตัว มีช่องโหว่ตรงที่เปิดโอกาสให้ตามใจกิเลส ชักจูงไปสู่การกอบโกย การเบียดเบียนผู้อื่น ศีลธรรมหายไป ปัญหาเกิดขึ้นแก่สังคม แล้วในที่สุด ก็ย้อนกลับมาเบียดเบียนตนเอง จนกลายเป็นปัญหาของตัวเองด้วย

หากคนในสังคมเอาแต่เพียงพอดี ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิด การเบียดเบียนก็จะไม่เกิด การเอาเปรียบกันก็จะไม่มี แต่จะมีคำถามต่อมา คือ แค่ไหนจึงเรียกว่าพอดี แค่ไหนจึงไม่เรียกว่าส่วนเกิน คำว่าส่วนเกินนี้ยืดหยุ่นได้มาก ที่เข้าใจว่าไม่เป็นส่วนเกินนั้น ก็ยังเป็นส่วนเกินได้ เช่น เราจะเจียดประโยชน์ของเราที่กินที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ออกไปสัก 4% ก็ยังอยู่ได้และไม่ตาย ดังนั้น การรู้จักเจียดออกให้เป็นส่วนเกินจากสิ่งที่เราไม่เห็นว่าเป็นส่วนเกิน นั่นคือ ศีลธรรมที่ช่วยธำรงสังคม

สี-ละ ตามความหมายเดิมแปลว่า ปกติ ถ้าสิ่งใดเป็นไปเพื่อความปกติ ไม่วุ่นวาย ก็เรียกว่า สี-ละ และธรรมที่ทำให้มีความเป็นอย่างนั้น จึงเรียกว่า ศีลธรรม คำว่าปกติตามความหมายของศีลธรรม หมายความว่า ไม่กระทบกระทั่งใครหรือไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และไม่กระทบกระทั่งตัวเองหรือไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน

คนในสังคมจึงควรยึดหลักปฏิบัติตามธรรมชาติ คือ พยายามอย่ากอบโกยส่วนเกิน พยายามเจียดส่วนเกินออกไปเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นให้ได้ และอย่าเข้าใจผิดว่าธรรมชาติห้ามผลิตส่วนเกิน ทุกคนมีสิทธิและสมควรอย่างยิ่งที่จะผลิตส่วนเกินขึ้นมา แต่ว่าส่วนเกินนั้น ควรจะเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สังคม และควรระมัดระวังอย่างยิ่งว่า ที่เราเข้าใจว่า ไม่เกินๆ นี้ ก็ยังเกิน ยังเจียดได้

สังคมไทยปัจจุบัน เป็นสังคมนิยมที่ผิดไปจากธรรมสัจจะของธรรมชาติ มีบุคคลบางพวกบางหมู่ที่ได้ประพฤติตัวเป็นขบถต่อธรรมชาติ เกิดแตกแยกขึ้นเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจทางการเงิน ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจทางเรี่ยวแรงกำลัง เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน เห็นแก่พวกตัวเกินไป ไม่เห็นพวกอื่นว่าเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน บางพวกชอบพูดว่าเอาธรรมนำหน้า แต่เวลาทำกลับทิ้งธรรมไว้ข้างหลัง

การแบ่งแยกมนุษย์ออกเป็นพวกๆ แล้วทำตนเป็นศัตรูกันนั้น ไม่ใช่ความต้องการของธรรมชาติ สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะความเสื่อมทรามทางศีลธรรมในจิตใจของมนุษย์ ไม่ว่าฝ่ายไหนต่างก็แสวงหาพื้นที่ทางการเมือง พร้อมที่จะกอบโกยส่วนเกินกันทั้งนั้น

ความมุ่งหมายของการเมืองของท่านพุทธทาส ต้องเป็นไปเพื่อสันติสุขของคนในสังคม ถ้าผิดไปจากนี้แล้วเป็นการเมืองคดโกงของภูตผีปีศาจ ไม่ว่าจะเขียนไว้โดยนักการเมืองที่มีชื่อเสียงสูงสุดคนไหนก็ตาม หรือจากตำราเล่มไหนก็ตาม ถ้ามันเป็นไปเพื่อผลแก่ตนแก่พวกของตนแล้ว มันไม่ใช่การเมือง (เรียบเรียงจาก หนังสือธัมมิกสังคมนิยม ของท่านพุทธทาสภิกขุ บรรยายไว้ในช่วงปี 2516-2518)... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

Tuesday, October 02, 2007

สังคหวัตถุ 4 กับการนำไปใช้ในเรื่อง CSR

แนวคิดดั้งเดิมในเรื่อง ซีเอสอาร์ มีรากฐานมาจากหลักทางศาสนา และดำรงอยู่ในสังคมตะวันออกมาช้านาน การพินิจพิจารณาถึงบริบทของเรื่องมีความสำคัญมากกว่าถ้อยคำที่เรียก ในการศึกษาหลายต่อหลายครั้งค้นพบว่า สังคมไทยในยุคสมัยที่ผ่านมามีการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ ที่มีความเข้มข้นมากกว่าสังคมในตะวันตกเสียอีก

อย่างกรณีของการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันในงานที่ทำ จนกลายเป็นประเพณีที่เรียกว่า "การลงแขก" ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่เมื่อเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งค่อนไปทางต่างคนต่างอยู่ ตัวใครตัวมัน ต้องแข่งขันกันเอาตัวรอด จึงด้อยในเรื่องความสนิทสนมเกื้อกูลกันทางสังคม ด้วยเหตุนี้ สังคมตะวันตกหรือกระทั่งสังคมในประเทศตะวันออกหลายประเทศที่ได้รับเอาวัฒนธรรมการแข่งขัน การชิงดีชิงเด่นอย่างเอาเป็นเอาตาย จนเกิดความเครียด เกิดปัญหาทางจิตใจ กำลังถวิลหาวิธีการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อผู้อื่นมากขึ้น คำนึงถึงสังคมส่วนรวมมากขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันกลุ่มคนชั้นปัญญาชนชาติตะวันตกได้เดินทางเข้ามาศึกษา และปฏิบัติธรรมในประเทศไทย เพื่อค้นหาวิธีแก้ปัญหาทางจิตใจเพิ่มมากขึ้น เหล่าบรรดานักคิดชาวตะวันตกที่มีชื่อเสียงในวงการธุรกิจ ก็ได้เขียนตำราการบริหารจัดการซึ่งมีองค์ประกอบของการบริหารเชิงพุทธอยู่อย่างชัดแจ้ง ฉะนั้น องค์กรธุรกิจในสังคมไทยแทนที่จะไปค้นหาความรู้จากตะวันตก ก็สามารถที่จะศึกษาความรู้ที่มีอยู่ในข้อธรรมทั้งหลาย เช่น สังคหวัตถุ 4 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความรับผิดชอบทางสังคม แล้วนำมาใช้กับการดำเนินธุรกิจได้โดยตรงทันที ไม่ต้องรอให้ฝรั่งเขามาศึกษาแล้วถึงนำกลับมาถ่ายทอดอีกต่อหนึ่ง

สังคหวัตถุ 4 คือ หลักอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวบุคคล ซึ่งในที่นี้รวมถึงพลเมืองบรรษัท (Corporate Citizen) ให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข สามารถใช้เป็นตัวแบบหรือวิธีการในการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ขององค์กร โดยมีความสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ที่มีอุปนิสัยของการสงเคราะห์เกื้อกูลเป็นพื้นฐาน ประกอบด้วย

1. Corporate Philanthropy คือ การให้ หรือการบริจาคในสิ่งที่ควรให้แก่ผู้ยากไร้ หรือแก่ผู้ที่ขาดแคลนกว่า ทั้งในรูปของวัตถุสิ่งของ เช่น การนำสิ่งของเครื่องใช้ไปแจกแก่ผู้ประสบภัย การทำบุญตามหลักศาสนา การให้โอกาสทางธุรกิจ การแบ่งปันตลาด หรือการให้อภัย ตลอดจนการให้ความรู้ คำแนะนำต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ เปรียบได้กับ ทาน

2. Corporate Communication คือ การสื่อสารในสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ สิ่งที่เป็นสาระข้อเท็จจริง ประกอบด้วย เหตุผล และความจริงใจ โดยไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น การให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องครบถ้วนแก่ผู้บริโภค การไม่โฆษณาประชาสัมพันธ์คุณลักษณะของสินค้าเกินจริง หรือการไม่หลอกลวงมอมเมาประชาชน เปรียบได้กับ ปิยวาจา

3. Community Volunteering คือ การเสียสละแรงงาน แรงใจ และเวลา เพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เช่น การเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมในโอกาสต่างๆ การระแวดระวังในการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปโดยสมัครใจ เป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบหนึ่ง เปรียบได้กับ อัตถจริยา

4. Equitable Treatment คือ การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) ไม่ถือว่าองค์กรตนเป็นใหญ่ เอาใจใส่ในสุขทุกข์ของผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ และร่วมแก้ไขโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งหมายถึง การมีส่วนร่วม (Participation) ขององค์กรในการดูแลสังคมอย่างสม่ำเสมอ เช่น การดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายย่อยอย่างเสมอภาค การบริการลูกค้าอย่างเสมอต้นเสมอปลาย โดยไม่เลือกว่าเป็นรายใหญ่หรือรายย่อย การทำหน้าที่ในการเสียภาษีอากรให้รัฐอย่างตรงไปตรงมา เปรียบได้กับ สมานัตตตา

ตัวแบบสังคหวัตถุ 4 นี้ พิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถนำมาอธิบายและพัฒนาเป็นวิธีการในการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ขององค์กร โดยไม่ได้มีความล้าสมัยเลยแม้แต่น้อย... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

Tuesday, September 25, 2007

เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม

เมื่อเร็วๆ นี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เปิดสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม และมีการประกาศเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นำโดยคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยผู้นำเครือข่ายองค์กรภาคธุรกิจอีกนับสิบแห่ง

เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ในปัจจุบัน ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้นๆ ที่หลายองค์กรธุรกิจกำลังศึกษา เพื่อนำมาปฏิบัติใช้ในองค์กรกันอย่างขะมักเขม้น ประกอบกับแนวคิดของความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการได้ขยายวงจากภาคธุรกิจไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม จนองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) กำลังยกร่างมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) หมายเลข ISO-26000 และมีแผนจะประกาศใช้ในอีกสองปีข้างหน้า

Bjorn Stigson ประธานสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development หรือ WBCSD) ได้กล่าวไว้ว่า "ธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในสังคมที่ล้มเหลว" (Business cannot succeed in a society that fails.)

การดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยหลักคือการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ควบคู่ไปกับการใส่ใจและดูแลรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งคำว่าธุรกิจนี้ ครอบคลุมถึงการประกอบการทุกประเภทที่มุ่งแสวงหาผลกำไร ไม่จำกัดเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ แต่ยังรวมถึงกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยคำนึงถึงการติดต่อสัมพันธ์กับกิจการอื่นๆ ที่ยึดหลักความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นเดียวกัน

คณะทำงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้จัดทำร่างคู่มือช่วยบอกพิกัดการดำเนินงานที่มีเป้าหมายด้านธุรกิจควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม ที่เรียกว่า "เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม" (CSR Guidelines) โดยมีแนวปฏิบัติสำหรับการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม 8 หมวด ดังนี้

หมวดที่ 1 การกำกับดูแลกิจการที่ดี - การกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นการจัดให้มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งนำไปสู่ความเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของธุรกิจ

หมวดที่ 2 การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม - การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรมย่อมก่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับผู้เกี่ยวข้อง อันจะส่งผลดีต่อกิจการในระยะยาว ทั้งนี้ ธุรกิจควรถือปฏิบัติตามแนวทางเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ โดยไม่เห็นแก่ผลประโยชน์อื่นที่อาจได้มาจากการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

หมวดที่ 3 การเคารพสิทธิและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม - ทรัพยากรบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจในการสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มผลผลิต ดังนั้น ธุรกิจควรปรับปรุงสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขในการทำงาน ให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี และได้มีโอกาสแสดงศักยภาพ ตลอดจนได้รับโอกาสในการฝึกฝนและเพิ่มพูนทักษะในการทำงาน

หมวดที่ 4 ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค - สินค้า และ/หรือบริการของธุรกิจไม่ควรก่อให้เกิดความเสี่ยงหรืออันตรายต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ ธุรกิจควรปรับปรุงมาตรฐานของสินค้า และ/หรือบริการให้มีความเป็นสากลและให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ รวมทั้งควรพัฒนาสินค้า และ/หรือบริการเพื่อเป็นประโยชน์ในการช่วยแก้ไขปัญหาของสังคมด้วย

หมวดที่ 5 การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม - ชุมชนและสังคมที่เข้มแข็งและมีการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น มีความสำคัญยิ่งในฐานะเป็นปัจจัยเอื้อต่อการดำเนินงานของธุรกิจ ดังนั้น ธุรกิจควรจัดกิจกรรมทางสังคม และ/หรือ มีส่วนร่วมในการส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการผลิตสินค้า และ/หรือบริการของธุรกิจโดยการแสดงตัวเป็นพลเมืองที่ดีของชุมชนนั้น พร้อมกับคิดค้นวิธีการที่จะลดและหยุดผลกระทบในทางลบต่อชุมชนและสังคมที่เกิดจากกระบวนการดำเนินงานของธุรกิจในที่สุด

หมวดที่ 6 การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม - การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก บวกกับปัจจัยความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากเป็นสาเหตุของการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาลจนเกินกว่าความจำเป็น ยังก่อให้เกิดมลภาวะทั้งทางน้ำ อากาศ ขยะ สารพิษ ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนตามมา โดยภาวะโลกร้อนดังกล่าวจะกระทบต่อมนุษย์และระบบนิเวศต่อไป ดังนั้น ธุรกิจจึงมีหน้าที่ในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตมนุษย์ด้วยการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยถือว่าการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกคน

หมวดที่ 7 การเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม - ในการดำเนินธุรกิจสามารถผนวกความคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมกับการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจได้อย่างกลมกลืน โดยการพัฒนาความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมและนำมาปรับใช้ คิดค้นให้เกิดนวัตกรรมในธุรกิจที่สามารถสร้างประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อธุรกิจและสังคมไปพร้อมๆ กัน (innovative business)

หมวดที่ 8 การจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม - ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นการปฏิบัติในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมที่กล่าวมาอย่างครบถ้วน โดยข้อมูลที่เปิดเผยนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ทุกฝ่ายแล้ว ยังช่วยในการสอบทานให้ธุรกิจทราบได้ว่า ได้ดำเนินการในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมตรงกับเป้าหมายที่วางไว้

ท่านสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างคู่มือฉบับนี้ได้ทางโทรสารหมายเลข 0-2263-6099 เพื่อที่คณะทำงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน จะได้นำไปปรับปรุงก่อนจัดพิมพ์เผยแพร่ต่อกลุ่มเป้าหมายและผู้สนใจต่อไป... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

Tuesday, September 18, 2007

ศีล 4 กับเศรษฐกิจพอเพียง

ความต้องการ เป็นมูลฐานสำคัญที่ทำให้เกิดวิชาเศรษฐศาสตร์ เมื่อความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัด ไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะที่สิ่งของและบริการที่มนุษย์ต้องการมีจำนวนจำกัด เศรษฐศาสตร์จึงเข้ามามีส่วนในการจัดการ จัดแบ่งให้มีการบริโภคที่จะสนองความต้องการของมนุษย์ให้มากที่สุด ความต้องการนี้เองเป็นตัวบังคับให้มนุษย์ทำงาน ให้มนุษย์ผลิตคิดค้นจนเกิดมีความมั่งคั่งและมีสวัสดิการ

ในเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่พัฒนามาจากอารยธรรมตะวันตก ถือว่าความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นสัญชาตญาณตามปกติของมนุษย์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจตามสายการพัฒนานี้ จึงมุ่งตอบสนองความต้องการเพื่อให้มนุษย์ได้รับความพึงพอใจมากที่สุด โดยเชื่อว่ายิ่งได้บริโภคมากยิ่งมีความพึงพอใจมาก

ค่านิยมการดำเนินชีวิตในกระแสนี้ ได้ให้ความสำคัญกับความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของสินค้าและบริการว่าเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของความกินดีอยู่ดีของคนในสังคม ยิ่งมีสินค้าและบริการที่สามารถรองรับการบริโภคมากก็ยิ่งแสดงถึงความกินอยู่ที่บริบูรณ์มาก จึงไม่น่าแปลกใจว่าเครื่องชี้สภาวะทางเศรษฐกิจหลักในทุกวันนี้ ได้แก่ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่เป็นการวัดมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ผลิตได้ภายในอาณาเขตประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, September 11, 2007

ธรรมะในเศรษฐกิจพอเพียง

ความใคร่รู้ประการหนึ่งสำหรับบุคคลที่สนใจศึกษาเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ คำถามที่ว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีความสัมพันธ์กับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามากน้อยเพียงใด ซึ่งหากจะตอบอย่างผู้ที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาค้นคว้าหรือใช้วิธีคาดเดาเบื้องต้น ก็จะได้คำตอบว่า ต้องมีความเกี่ยวข้องกันไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

บทความนี้ จะขอหยิบยกหลักพุทธธรรมที่สำคัญ ได้แก่ มัชฌิมาปฏิปทา โยนิโสมนสิการ และอัปปมาทธรรม มาสำรวจเปรียบเทียบกับคุณลักษณะที่สำคัญในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน เพื่อค้นหาว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างกันมากน้อยเพียงใด ... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, August 28, 2007

ด้านมืดของโลกาภิวัตน์

เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง ได้รายงานการฆ่าตัวตายของนายจางชูฮง เจ้าของโรงงานในจีน ผู้ผลิตของเล่นป้อนให้แก่บริษัทแมตเทล ในสหรัฐอเมริกา ที่ได้เรียกคืนของเล่นนับล้านชิ้น อันเนื่องมาจากการพบสีที่ปนเปื้อนสารตะกั่วบนของเล่น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก

ผลจากการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นำไปสู่การถอนใบอนุญาตและสั่งปิดโรงงานที่เป็นคู่ค้ากับแมตเทลยาวนานถึง 15 ปี คนงานกว่า 5,000 คนถูกเลิกจ้าง ผู้บริหารเพิ่งประกาศขายเครื่องจักรและทรัพย์สินของโรงงาน แต่ก็ต้องมาจบชีวิตลงด้วยน้ำมือตนเองในที่สุด

การสืบสวนของแมตเทลได้เผยให้เห็นปัญหาในสายการผลิตและที่มาของสีที่ใช้ในกระบวนการผลิตจากผู้ค้าส่งหลายทอด จนนายจางอาจไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าสีที่ตนเองใช้มีปัญหา เนื่องจากผู้ป้อนวัตถุดิบให้แก่โรงงานของนายจาง ได้ใช้เอกสารรับรองการตรวจสอบคุณภาพปลอมในการอ้างอิงต่อกันมาเป็นทอดๆ

เหตุการณ์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่อง "คุณภาพ" ของการบริหารการผลิต และ "คุณธรรม" ของผู้ประกอบการ ที่ส่งผลให้เจ้าของโรงงานรายนี้ กลายเป็นเหยื่อที่ไร้ทางออกในโลกยุคโลกาภิวัตน์

การบีบคั้นเรื่องต้นทุนสินค้า เพื่อที่จะรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา จากฝั่งของลูกค้าห้างอย่างวอลมาร์ท หรือทาร์เก็ต และแมตเทล ทำให้การบีบคั้นถูกส่งต่อไปเป็นทอดๆ จากโรงงานสู่ผู้ป้อนวัตถุดิบ บริษัทค้าวัตถุดิบ ไปจนถึงผู้ผลิตวัตถุดิบ จนเกิดการลดคุณภาพของวัตถุดิบ เพื่อให้ได้มาซึ่งราคาที่ถูกป้อนเข้าสู่สายการผลิตทั้งระบบ

ขณะที่การบีบคั้นซึ่งมีผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจของตนเอง ยังได้มีอิทธิพลมาถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรมในการประกอบการ ซึ่งเป็นเสมือนภูมิคุ้มกันด่านท้ายสุด เมื่อใดที่พังทลายลง ไม่เพียงแต่ธุรกิจที่อยู่ไม่ได้ในระยะยาว ชีวิตก็อาจจะต้องจบสิ้นไปด้วย การจบสิ้นนี้ ไม่ได้หมายถึงการจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายเหมือนกรณีของนายจาง แต่เป็นการมีชีวิตอยู่แบบไร้จิตวิญญาณ เป็นซากที่ไร้ซึ่งสิ่งยึดเหนี่ยวทางคุณงามความดี รอวันที่จะกลายเป็นเหยื่อแห่งด้านมืดของโลกาภิวัตน์ในลำดับต่อไป

อุทาหรณ์สำหรับคนไทยต่อเหตุการณ์นี้ มีอยู่หลายประการ ใน ประการแรก การแข่งขันที่ต่างคนต่างเอาตัวรอดในระบบเศรษฐกิจลักษณะนี้ หากมองเฉพาะตนเอง ทางออกก็คือ ต้องพัฒนาตนเองให้เหนือผู้อื่น ใฝ่หาความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มาเสริมสร้างขีดสมรรถนะทางการแข่งขันของตนเองอย่างต่อเนื่อง แต่หากมองทั้งระบบ การแข่งขันเช่นนี้ จะนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ผู้แพ้ถูกคัดออก หรือกลายเป็นเหยื่อของระบบดังตัวอย่างข้างต้น ผู้เล่นที่เหลือก็จะแข่งขันกันต่อ จนมีผู้ที่ถูกคัดออกมากกว่าผู้เล่นที่เหลืออยู่ ในที่สุด ระบบก็คงอยู่ไม่ได้ เมื่อระบบเศรษฐกิจพังทลายลง ประเทศก็ได้รับผลกระทบเสียหายไปด้วย

การที่ระบบยังคงทำงานได้ แม้จะอยู่ท่ามกลางการแข่งขันอย่างที่เป็นอยู่ ก็เพราะส่วนหนึ่งของระบบ ยังมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการประสานประโยชน์ซึ่งกันและกัน รู้จักที่จะเสียสละแบ่งปันให้แก่ผู้อื่น นอกจากการพิจารณาแต่ประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง การสร้างภูมิคุ้มกันในระบบที่ดี จึงมาจากเงื่อนไขด้านคุณธรรมของผู้เล่นในระบบ ฉะนั้น ไม่ว่าจะต้องแข่งขันกันขนาดไหน อย่าแลกชัยชนะด้วย "คุณธรรมในจิตใจ" เป็นเด็ดขาด

ประการต่อมา การแข่งขันที่นำไปสู่การลดคุณภาพ ไม่ใช่การพัฒนาที่นำไปสู่ความก้าวหน้า แต่เป็นการถอยหลังเข้าสู่มุมอับหรือด้านมืดของของโลกาภิวัตน์ ที่เสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อในระบบ แม้จะยืดลมหายใจของกิจการด้วยวิธีการแข่งขันลักษณะนี้ ท้ายสุด กิจการก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในระยะยาว ฉะนั้น ไม่ว่าจะต้องแข่งขันกันขนาดไหน อย่าแลกเอาความอยู่รอดด้วย "คุณภาพของสินค้า" เป็นเด็ดขาด

อุทาหรณ์อีกประการหนึ่ง การพึ่งพาระบบมากเกินไป ก่อให้เกิดข้อจำกัดหรือภาวะจำยอมที่ต้องปฏิบัติตามกฎกติกาที่แฝงไว้ด้วยคำถามมากมายถึงความยุติธรรมและความเสมอภาคของระบบ ทางออกในปัจจุบัน ไม่สามารถถามหาได้จากผู้วางระบบ หรือรัฐในฐานะผู้ดูแลกฎกติกาต่างๆ เพราะรัฐเองได้กลายมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นของระบบ หรือได้รับการสนับสนุนจากผู้เล่นรายใหญ่ในระบบ แน่นอนว่า กิจการไม่สามารถหลุดพ้นจากระบบได้อย่างเด็ดขาด แต่การทำตัวให้อยู่เหนือระบบบางส่วนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

การอยู่เหนือการแข่งขันดิ้นรนทางธุรกิจ ก็คือ การค้นหาความพอประมาณในกิจการ ที่ตนเองอาจเป็นได้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค (Prosumer) ในตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาภายนอก เช่น การสร้างชุมชนหรือประเทศให้เข้มแข็ง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตลาดภายนอกทั้งหมด

ประการสุดท้าย การให้คุณค่าของระบบเศรษฐกิจมากเกินไป จนกลายเป็นสิ่งสำคัญของเรื่องทั้งหมดในชีวิต จะทำให้มองไม่เห็นโอกาสในการพัฒนาทางอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาภายในตนเอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตใจมากกว่าเรื่องของวัตถุในระบบเศรษฐกิจ การสูญเสียกิจการ มิได้หมายถึง การที่เจ้าของกิจการต้องสูญเสียจิตวิญญาณไปด้วยการจบชีวิต การพัฒนาทางจิตใจ ยังคงดำเนินต่อไปได้ด้วยการให้ความสำคัญของระบบแต่พอประมาณและอย่างมีเหตุมีผล ไม่ตัดสินด้วยอารมณ์ที่บีบคั้นหรืออารมณ์ชั่ววูบ

การให้คุณค่าของระบบเศรษฐกิจแต่พอประมาณ คือ หลักการของเศรษฐกิจพอเพียง ที่แฝงไว้ด้วยการพัฒนาในระดับที่สูงขึ้นไปอีกด้วยเงื่อนไขของคุณธรรมและความรู้ มิใช่มุ่งหมายแต่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจดังเช่นที่โลกข้างมากกำลังดำเนินอยู่ จนต้องอยู่แบบซากไร้จิตวิญญาณในระบบ

ประโยชน์หรือคุณค่าของบทความชิ้นนี้ ไม่ว่าจะมีมากหรือน้อย ขออุทิศให้แก่นายจางชูฮง เจ้าของโรงงานลีเดอร์ อินดัสเตรียล อายุ 52 ปี ผู้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

Wednesday, August 22, 2007

ประชามติ พอเพียงหรือไม่

ผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศ (อย่างไม่เป็นทางการ) ปรากฏว่า มีผู้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบ 57.81% และไม่เห็นชอบ 42.19% จากผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนทั้งสิ้น 57.61%

หากคิดแบบชาวบ้านที่เคยติดตามคำพิพากษาคดียุบพรรคการเมือง ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ สมมติว่าประชามตินี้กระทำผ่านคณะกรรมการที่เป็นเสมือนตัวแทนของปวงชนทั้งสิ้น 15 คน ปรากฏว่า มีผู้งดออกเสียง 6 คน และในบรรดาคณะกรรมการที่เหลือ 9 คน มีผู้ลงมติเห็นชอบ 5 คน และไม่เห็นชอบ 4 คน ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์

ทั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาล และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คงต้องพิจารณาร่วมกันแล้วว่า 4 เสียงที่ไม่เห็นชอบนั้น ประกอบด้วย คำวินิจฉัยในการตัดสินออกเสียงประชามติอย่างไร เพื่อที่จะได้เป็นบทเรียนสำหรับการกำหนดทิศทาง และจังหวะก้าวต่อไปในการวางรากฐานการเมืองการปกครองประเทศ ให้มีความมั่นคงเข้มแข็งและความปรองดองของคนในชาติ

ในจำนวนผู้ที่ไม่เห็นชอบ 4 คน ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนแรก ถ้าดูตามคะแนนเสียงประชามติ เป็นคนอีสาน ที่ต้องการเห็นประเทศมีเศรษฐกิจที่พัฒนาและเจริญเติบโตก้าวหน้า ประชาชนจะได้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสวัสดิการของรัฐที่กระจายไปสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง การเมืองจะต้องตอบสนองความอยู่ดีมีสุขของคนในสังคม คำนึงถึงความผูกพันฉันญาติมิตรมากกว่าความสัมพันธ์ทางโครงสร้าง แม้จะเป็นหนึ่งในเสียงที่ไม่เห็นชอบการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ก็มิได้คัดค้านในส่วนเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม

ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนที่สอง เป็นนักวิชาการ ที่ไม่สนับสนุนการยึดอำนาจและการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจ แม้ว่าเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญจะมีข้อดีและเห็นชอบในหลายประเด็น แต่ก็ถูกลบล้างด้วยประเด็นที่มาของรัฐธรรมนูญและการลิดรอนสิทธิ์ในการตรวจสอบคณะปฏิรูปการปกครองที่เป็นผู้ฉีกรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ทิ้ง อย่างไรก็ดี ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนดังกล่าวนี้ ก็เคยตำหนิการบริหารบ้านเมืองในยุคของรัฐบาลทักษิณ ที่เข้าไปก้าวก่ายและแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ และองค์กรอิสระ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมมาแล้ว

ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนที่สาม เป็นนักกฎหมาย ที่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยรวมมีข้อด้อยมากกว่าข้อดี และมิได้สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบการเมืองในวันข้างหน้า จนอาจต้องมีการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่อยู่ดี ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนดังกล่าวนี้ เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความพยายามที่จะใช้กลไกและระบบการตรวจสอบมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลผู้ใช้อำนาจรัฐ ซึ่งแม้จะก่อให้เกิดผลตามความมุ่งหมายจริง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ก่อให้เกิดผลอื่นติดตามมา (Consequence) ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการบิดเบือนการใช้อำนาจรัฐในรูปแบบอื่นๆ ด้วย กระทั่งส่งผลมาถึงความเข้มแข็งของระบบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนที่สี่ เป็นบุคคลธรรมดา ที่ต้องการเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า แต่ไม่ต้องการให้ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แม้จะเห็นด้วยกับการปฏิรูปการปกครอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในการเข้ามาแก้ไขวิกฤติของบ้านเมือง แต่ก็ไม่สนับสนุนให้มีการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามตินี้

กล่าวได้ว่า การออกเสียงประชามติในครั้งนี้ เพียงพอที่จะชี้ให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ต้องการเห็นประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แต่ไม่เพียงพอที่จะสรุปว่า คนส่วนใหญ่ต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้าด้วยวิธีการใดหรือมีรูปแบบใดอย่างชัดเจน

ฉะนั้น ผู้ที่จะลงสนามการเมืองในเวทีเลือกตั้งครั้งหน้า จะต้องทำการวิจัยและประมวลผลการออกเสียงประชามติครั้งนี้ โดยเฉพาะในฝั่งของผู้ที่ไม่เห็นชอบอย่างรอบคอบระมัดระวัง เพื่อการกำหนดยุทธศาสตร์ (Strategies) การรณรงค์ทางการเมืองให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย การค้นหาตัวเชื่อม (Connections) ที่เป็นพันธมิตรตามภูมิสังคม และกลวิธี (Tactics) ในการช่วงชิงคะแนนเสียง อย่างน้อยที่สุด ผลการออกเสียงประชามติครั้งนี้ ก็ชี้ให้เห็นว่า เงินมิใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด หรือเป็นไปได้ว่า เงินไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่หรือแสดงบทบาทเหนือเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ

ทั้งนี้ โปรดอย่าลืมว่า ยังมีอีก 6 เสียงเงียบ ที่พร้อมจะสนับสนุนหรือคัดค้านการดำเนินงานทางการเมืองในจังหวะก้าวต่อไปของรัฐบาลหน้าที่จะมาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ คงต้องวิเคราะห์เจตนารมณ์ของผู้ที่งดออกเสียงทั้ง 6 เสียงนี้อย่างพินิจพิเคราะห์ ซึ่งจะมีความยากลำบากมากกว่าการวิเคราะห์เจตนารมณ์ของผู้ที่ไม่เห็นชอบ 4 เสียง แต่ต้องถือว่าเป็นพลังเงียบที่เป็นตัวแปรในการกำหนดหนทางแพ้ชนะในสนามเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างมีนัยสำคัญ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

Wednesday, August 08, 2007

การกระจาย ผลผลิต-รายได้-ความสุข

การกระจายผลผลิต ถือว่าเป็นเป้าหมายขั้นกลางของวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะจุดมุ่งหมายของการผลิตก็เพื่อการบริโภค การกระจายผลผลิตเพื่อการบริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ ปริมาณผลผลิตที่แต่ละบุคคลได้รับถือว่าเป็นสวัสดิการของแต่ละบุคคล และหากพิจารณาจากสวัสดิการของทุกๆ คนรวมกัน อาจเรียกว่าเป็นสวัสดิการสังคม

ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป สังคมอยู่ดีมีสุข เป็นผลมาจากการที่สังคมมีการผลิตที่ให้ผลผลิตรวมเพียงพอสำหรับทุกคน โดยยึดหลักว่าแต่ละคนไม่ควรที่จะได้รับผลผลิตน้อยลงกว่าเดิม

แต่ในมุมมองของเศรษฐกิจพอเพียง การพิจารณาว่าสังคมจะอยู่ดีมีสุขหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการกระจายผลผลิตในสังคม นอกเหนือจากการให้ความสำคัญที่ปริมาณผลผลิต โดยยึดหลักว่าผู้ที่ยังมีความทุกข์จากการขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต ควรต้องได้รับสิ่งเหล่านั้นโดยถ้วนหน้า

ในประเด็นของการกระจายรายได้ จะเกี่ยวข้องกับการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ การพัฒนาทักษะและขีดความสามารถที่จำเป็นต่อการประกอบการ โดยรายได้ที่เกิดขึ้นเป็นได้ทั้งรายได้จากการเป็นแรงงานในกระบวนการผลิตหรือลูกจ้าง และรายได้จากการเป็นเจ้าของกระบวนการผลิตหรือนายจ้าง โดยรัฐสามารถกำหนดนโยบายการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงเป็นธรรม มิให้เกิดการกระจุกตัวของรายได้อยู่กับคนเพียงไม่กี่กลุ่ม

ในมุมมองของการประกอบการโดยทั่วไป มักจะมุ่งส่งเสริมที่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) เพื่อให้กิจการสามารถพัฒนาจากการอยู่รอดสู่การเจริญเติบโต สามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้

แต่ในมุมมองของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากการพัฒนาตนเองเพื่อให้ยืนอยู่บนขาของตัวเองได้แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถในการร่วมมือกัน (Collaborativeness) มีการแบ่งปัน ประสานงาน และประสานประโยชน์กัน เพื่อให้กิจการมี "ภูมิคุ้มกันที่ดี" และมีสภาพพร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ จากพันธมิตรรอบด้านที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, July 31, 2007

บรรษัทภิบาล vs. บรรษัทบริบาล

เมื่อกล่าวถึงคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ หลักการที่มักถูกอ้างถึงคือ ธรรมาภิบาลในธุรกิจ ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งถือเป็นหลักการเบื้องต้นที่มุ่งสร้างให้องค์กรมีความ "ดี" อันเป็นรากฐานแห่งความยั่งยืนของกิจการ นอกเหนือจากการบริหารกิจการ เพื่อให้องค์กรมีความ "เก่ง" และนำไปสู่การเจริญเติบโตของกิจการ

หากพิจารณาตามศัพท์ที่ประกอบ บรรษัทภิบาล มาจากคำว่า บรรษัท + อภิ (แปลว่า เฉพาะ ข้างหน้า ยิ่ง) + บาล (แปลว่า การปกครอง การรักษา) หมายถึง การกำกับดูแลกิจการให้เจริญรุดหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเงื่อนไขของความถูกต้องโปร่งใส การมีจริยธรรมที่ดี โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในกิจการเป็นหลัก เรื่องของบรรษัทภิบาล ถือเป็นโครงสร้างและกระบวนการภายในกิจการ ที่ต้องจัดให้มีขึ้นสำหรับการกำหนดทิศทางและสอดส่องดูแลผลการปฏิบัติงานของกิจการ ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อกิจการ พร้อมกันกับความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง

หลักการสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บรรษัทบริบาล ซึ่งถือเป็นหลักการที่มุ่งสร้างให้องค์กรมี "ภูมิคุ้มกันที่ดี" ในการดำเนินธุรกิจด้วยความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะพลเมืองบรรษัท (Corporate Citizen)

หากพิจารณาตามศัพท์ที่ประกอบ บรรษัทบริบาล มาจากคำว่า บรรษัท + บริ (แปลว่า ทั้งหมด ออกไป โดยรอบ) + บาล หมายถึง การดูแลรักษาไม่เฉพาะในส่วนที่เป็นกิจการ แต่ยังแผ่ขยายกว้างออกไปครอบคลุมในส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดที่อยู่โดยรอบกิจการ ด้วยเงื่อนไขของคุณธรรม และการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกกิจการอย่างเท่าเทียมกัน ในอันที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข เรื่องของบรรษัทบริบาล จึงเป็นกลไกการดำเนินงานในกิจการที่เชื่อมโยงสู่กระบวนการภายนอก ที่จัดให้มีขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างประโยชน์แก่กิจการและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การสงเคราะห์ช่วยเหลือส่วนรวมตามกำลัง และความสามารถของกิจการ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, July 24, 2007

จากแผนฯ 1 สู่แผนฯ 10 : สังคมได้อะไรบ้าง

แนวคิดเศรษฐศาสตร์ตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลในการพัฒนาประเทศ นับตั้งแต่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (2504-2509) และ 2 (2510-2514) โดยแนวคิดที่เป็นตัวแบบสำคัญซึ่งอยู่เบื้องหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจในขณะนั้น คือ ตัวแบบของฮาร์รอด-โดมาร์ ที่เน้นการลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโดยการกู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ที่เสนอให้แก่ประเทศไทยโดยธนาคารโลกและที่ปรึกษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา

ครั้นถึง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 (2515-2519) ซึ่งเป็นยุคที่ในสหรัฐอเมริกาได้นำเอา ตัวแบบของโซโลว์ มาศึกษา และเริ่มมี แนวคิดทุนมนุษย์ โดยชุลทซ์ ประเทศไทยก็ได้รับการถ่ายทอดความคิดนี้ผ่านผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ โดยรวมเอาการศึกษาที่ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการสะสมทุนมนุษย์เข้าไปด้วย แต่ก็มิได้มีการเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างสำคัญ ยังเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า รัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจากเงินกู้ต่างประเทศ และหาทางชำระหนี้ด้วยการเร่งการส่งออกสินค้าเกษตร ขยายพื้นที่เพาะปลูก ลดพื้นที่ป่า และส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก

ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว มีอัตราการขยายตัวอยู่ระหว่างร้อยละ 7-8 ต่อปี ขณะเดียวกัน ก็เกิดปัญหาช่องว่างของการกระจายรายได้เพิ่มขึ้น โดยที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศมาก แต่การจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมก็มิได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีปัญหาการกระจายรายได้ที่แตกต่างกันมากตามมา

ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 (2520-2524) ปรากฏว่า เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. 2522 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย เพราะต้องพึ่งพิงแหล่งพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 11.6 ต่อปี นอกจากนี้ ยังเกิดวิกฤตการณ์ของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน เช่น กรณีการล้มของบริษัทราชาเงินทุน

ปัญหาสำคัญๆ หลายประการยังปรากฏอยู่ในช่วง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (2525-2529) เช่น เรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การใช้จ่ายเกินตัวทั้งของภาครัฐบาลและเอกชน โครงสร้างเศรษฐกิจอ่อนแอไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาความยากจน และการกระจายรายได้ ปัญหาสังคม และปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (2530-2534) ปรากฏว่าประเทศไทยยังคงมีปัญหาด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ เพราะกลุ่มคนยากจน 20 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย มีสัดส่วนรายได้ลดลง การพัฒนาและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่ๆ ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและวัฒนธรรม ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาอาชญากรรม และยาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การดำเนินการในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 (2535-2539) ที่เริ่มให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรากฏว่ามีบางเรื่องประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เช่น เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.2 ต่อปี การส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 14.2 สัดส่วนคนยากจนในปี พ.ศ. 2535 ลดลงเหลือร้อยละ 13.7 ของประชากรทั้งประเทศ บริการพื้นฐานทั้งถนน ไฟฟ้า และประปา ขยายครอบคลุมทั่วประเทศ คนไทยมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น และได้รับบริการทางสาธารณสุขครอบคลุมกว้างขวางขึ้น

ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 (2540-2544) ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาจากเดิมที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นจุดมุ่งหมายหลักแต่เพียงอย่างเดียว เป็นการเน้นให้คนเป็นศูนย์กลาง โดยใช้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง ที่จะช่วยทำให้คนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เนื่องจากในปี พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 และปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ประเทศไทยประสบปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า ฟองสบู่แตก ค่าเงินบาทผันผวน ปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาการว่างงาน ซึ่งสืบเนื่องมาจากสาเหตุทั้งภายในประเทศและจากภายนอกประเทศ จึงได้มีการปรับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 เป็นการด่วนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมุ่งเน้นการระดมและใช้ทรัพยากรจากทุกส่วนในสังคมมาใช้ เพื่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศ

ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) ได้มีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศ กระนั้นก็ตาม ก็มิได้มีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง แต่ยังคงยึดการพัฒนาตามตัวแบบของระบบทุนนิยม และการใช้นโยบายประชานิยมอย่างกว้างขวาง ทำให้ชุมชนขาดความเข้มแข็ง รอคอยแต่การรับความช่วยเหลือจากรัฐ มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ ปัญหาสังคม ปัญหาทุจริต โดยเฉพาะความเสื่อมโทรมทางจริยธรรมอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายบริบท ทั้งที่เป็นโอกาสและข้อจำกัดต่อการพัฒนาประเทศ จึงยังต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้สามารถปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทุกภาคส่วนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้วิสัยทัศน์แห่งการพัฒนาสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (Green and Happiness Society) ที่นอกจากจะมีเป้าหมายการพัฒนาคน ชุมชน เศรษฐกิจ ฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมุ่งให้เกิดธรรมาภิบาลขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะในการบริหารจัดการประเทศด้วย... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

(เพิ่มเติม: 8 มกราคม 2555) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555–2559) ได้จัดทำขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกว่าช่วงที่ผ่านมา การพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในมิติต่างๆ ให้แก่ ปัจเจก ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ โดยใช้แนวคิดและทิศทางการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 พร้อมทั้งขยายการนำทุนของประเทศที่มีศักยภาพจาก 3 ทุน ทั้งทุนสังคม ทุนเศรษฐกิจ และทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็น 6 ทุน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนสังคม ทุนกายภาพ ทุนทางการเงิน ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทุนทางวัฒนธรรมมาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน

Tuesday, July 17, 2007

ค่าเงินบาท กับ หน้าที่ของเงิน

สถานการณ์ของค่าเงินบาทในปัจจุบัน ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการบริหารจัดการเพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ที่หากดำเนินการอย่างไม่รอบคอบ จะสามารถส่งผลต่อสภาวการณ์ทางสังคมและการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ค่าเงินบาทที่แข็ง เป็นทั้ง “เหตุ” ที่ก่อให้เกิดผลต่างๆ ติดตามมา เช่น ส่งออกได้ยากขึ้น กำไรจากการค้าขายกับเมืองนอกลดลง ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็ง ก็เป็น “ผล” มาจากเหตุการณ์อื่นๆ เช่น เงินนอกไหลเข้ามามากด้วยเช่นกัน

เมื่อให้ความสำคัญกับสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมมีค่าขึ้นมาทันที คือ สัจธรรมของเรื่องทั้งหมด การมองย้อนกลับไปพิจารณาว่าหน้าที่ของเงินแต่ดั้งเดิมนั้น เป็นเพียงสื่อในการแลกเปลี่ยน เพื่อให้การค้าขายมีความสะดวกคล่องตัว แทนการนำสินค้าต่อสินค้า หรือบริการต่อบริการมาแลกเปลี่ยนกันโดยตรง และเพื่อขจัดปัญหาของความต้องการในตัวสินค้าหรือบริการที่ไม่ตรงกัน

แต่ด้วยความสะดวกคล่องตัวในการถือเงินไว้เพื่อเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนนี้เอง ทำให้เงินกลายเป็นเครื่องมือในการสะสมมูลค่าขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใครที่ต้องการเงินเพื่อไปลงทุนหรือใช้จ่าย ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนมือในรูปของดอกเบี้ยกู้ยืม ทำให้เงินกลายสภาพมาเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่สามารถใช้เงินอีกสกุลหนึ่งในการซื้อขาย โดยมีการกำหนดราคาในรูปของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงิน

เมื่อเงินบาทเป็นที่ต้องการมาก ราคาย่อมสูงขึ้น ในทางการเงินเรียกว่า ค่าเงินบาทแข็งขึ้น เช่น เดิมทีเงิน 1 ดอลลาร์ สามารถซื้อสินค้าเงินบาทได้ 38 บาท แต่เมื่อเงินบาทแข็ง เงินดอลลาร์เดียวกันสามารถซื้อเงินบาทได้เพียง 33 บาท หากคิดในแบบชั้นเดียวว่า ถ้าอยากให้เงินบาทอ่อนลง ก็ผลิตเงินบาทออกมาให้มากขึ้น เหมือนสินค้าที่หากผลิตออกมาสู่ตลาดมากๆ ราคาก็ย่อมลดลง วิธีการนี้ส่งผลให้เงินบาทอ่อนตัวลงจริง แต่ก็มีผลอย่างอื่นเกิดขึ้นด้วย นั่นคือ ทำให้ค่าของเงินบาทลดลง เมื่อต้องนำเงินบาทไปซื้อสินค้าจริงๆ จะต้องใช้เงินบาทเพิ่มขึ้น ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า เงินเฟ้อ ตัวอย่างนี้ ชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะของเหตุและผล (Cause and Effect) ที่ไม่ใช่แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ซึ่งทำให้การแก้ปัญหามีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เนื่องจากต้องระมัดระวังผลอื่นที่จะติดตามมาด้วย

วิธีการที่ควรจะเป็นคือ การสร้างความสมดุลระหว่างปริมาณเงินนอกที่ไหลเข้าและเงินบาทที่อยู่ในตลาด โดยทำได้สองทางๆ แรก มี 2 กรณีคือ การลดเงินนอกที่ไหลเข้า ซึ่งแน่นอนว่า ในระบบตลาดเสรี จะไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดได้โดยตรง แต่สามารถที่จะสร้างเหตุปัจจัยในการลดแรงจูงใจต่อการนำเข้าของเงินนอก โดยหากเป็นการไหลเข้าชั่วครั้งชั่วคราวหรือเข้ามาแสวงหาผลกำไรระยะสั้น การสร้างเหตุปัจจัยที่เหมาะสมก็ต้องเป็นมาตรการในระยะสั้น เช่น การใช้วิธีส่งสัญญาณด้วยข้อมูลข่าวสาร แต่หากเป็นการไหลเข้าเพื่อการลงทุนระยะยาว ก็สมควรที่จะพิจารณามาตรการในระยะยาว เช่น การปรับโครงสร้างภาษีหรือโครงสร้างอุตสาหกรรมในประเทศ

กรณีที่สองคือ การนำเงินนอกที่ไหลเข้าไปลงทุนนอกประเทศ ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณของเงินนอกที่อยู่ในลิ้นชักให้มีปริมาณที่พอเหมาะ โดยรัฐอาจไปลงทุนเอง หรือการอนุญาตให้เอกชนนำเงินไปลงทุนนอกประเทศได้เสรีมากขึ้น แต่วิธีนี้ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมและบ่มเพาะความเชี่ยวชาญเพิ่มเติม เนื่องจาก การลงทุนมีความสุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุนเสมอ

ในอีกทางหนึ่ง คือ การเพิ่มปริมาณเงินบาทที่อยู่ในตลาด ด้วยวิธีกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ทำให้มีเงินบาทหมุนเวียนอยู่ในตลาดเพิ่มขึ้น แทนที่ต่างคนต่างเก็บเงินบาทไว้อยู่กับบ้านหรือในธนาคารโดยที่ไม่เกิดการเปลี่ยนมือ การกระตุ้นให้ใช้จ่ายมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ การใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ซึ่งต้องมีความระมัดระวัง เพราะจะสัมพันธ์กับภาวะการมีภูมิคุ้มกันของประชาชนในทางเศรษฐกิจยามที่ประสบปัญหา กับการใช้จ่ายเพื่อการสร้างและพัฒนาอาชีพของตัว หรือเพื่อการลงทุน ซึ่งประเภทหลังนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อศักยภาพในการสร้างรายได้ในอนาคตที่พึงส่งเสริมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

นอกเหนือจากสองแนวทางข้างต้น สำหรับปัจเจกชนคนธรรมดาที่เป็นทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ ก็สามารถนำสัจธรรมที่ว่า เมื่อให้ความสำคัญกับสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมมีค่าขึ้นมาทันที มาพิจารณาเพื่อค้นหาว่า จะมีหนทางใดหรือไม่ที่สามารถนำไปสู่การลดความสำคัญของเงินในฐานะที่เป็นสินค้าชนิดหนึ่ง แต่ยังคงบทบาทของการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและการรักษาคุณค่า โดยไม่เลยไปถึงขั้นที่สะสมมูลค่าจนทำให้เกิดความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อันเป็นจุดกำเนิดของลัทธิการถือเงินเป็นใหญ่ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ระบบทุนนิยม

คำตอบของหนทางนี้ มีปรากฎอยู่แล้วอย่างชัดเจนในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง ซึ่งมิได้ปฏิเสธความสำคัญหรือคุณค่าของเงิน แต่ต้องประกอบด้วยความพอประมาณในการให้ความสำคัญหรือคุณค่าของเงิน เช่น การไม่เห็นเงินเป็นนายเหนือชีวิต ความมีเหตุผลในการแสวงหาและการใช้จ่ายเงินไปในทางที่ถูกต้องและดีงาม เช่น การหารายได้ด้วยการประกอบสัมมาชีพอย่างซื่อสัตย์สุจริต การหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเงินไปกับอบายมุข รวมถึงการใช้คุณค่าของเงินเพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีในรูปแบบต่างๆ เช่น การออม การประกันชีวิต การประกันสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับชีวิตในด้านจิตใจ นอกเหนือจากด้านวัตถุ ด้วยหนทางนี้ เงินจึงจะมีบทบาทสมกับหน้าที่ของการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, July 10, 2007

ดัชนี GNH (สุขแต่เฉื่อย) - GDP (เหนื่อยแต่ทุกข์)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เป็นการวัดมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ผลิตได้ภายในอาณาเขตประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มีข้อจำกัดอยู่หลายประการสำหรับใช้วัดระดับของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จึงทำให้มีผู้พยายามพัฒนาดัชนีทางเลือกเพื่อใช้เป็นเครื่องชี้สภาวะทางเศรษฐกิจแทนตัวเลข GDP และหนึ่งในดัชนีทางเลือกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ได้แก่ ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) ที่ให้ความสำคัญกับความสุขของประชาชนในประเทศมากกว่าความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

ในเชิงเศรษฐศาสตร์ GDP ก็คือ ปัจจัยส่งออกจากกระบวนการผลิต และ GNH ก็คือ ปัจจัยส่งออกจากกระบวนการบริโภค ความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ GDP แล้วหันมาใช้ GNH เป็นเครื่องชี้สภาวะทางเศรษฐกิจแทนนั้น เปรียบเหมือนกับการถ่ายโอนน้ำหนักความสำคัญจากกิจกรรมการผลิตมาสู่กิจกรรมการบริโภค ทั้งที่ในทางปฏิบัติไม่สามารถละเลยความสำคัญของกิจกรรมการผลิตหรือการบริโภคอันใดอันหนึ่งลงไปได้... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]