Tuesday, November 27, 2007

เปิดประตูประเทศ แต่ปิดโอกาสประชา

หากย้อนไปดูพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2542 ที่ได้พระราชทานไว้ โดยมีความตอนหนึ่งว่า

"...เศรษฐกิจพอเพียงนั้น เขาตีความว่าเป็นเศรษฐกิจชุมชน คือหมายความว่า ให้พอเพียงในหมู่บ้าน หรือในท้องที่ ให้สามารถที่จะมีพอกิน มันเริ่มด้วยพอกิน พอมีพอกิน ... มันเป็นเริ่มต้นของเศรษฐกิจ ... เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน มันไม่ใช่ว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน สมัยหินนั้น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน แต่ว่าค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน มีการช่วยระหว่างหมู่บ้าน หรือระหว่างอำเภอ จังหวัด ประเทศ ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยน ... เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ก็มีเป็นขั้นๆ ... ที่จะมาบอกว่า ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน"

เศรษฐกิจพอเพียง จึงมิได้หมายถึงเศรษฐกิจระบบปิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ไม่ค้าขาย ไม่ส่งออก ไม่ผลิตเพื่อคนอื่น ไม่ได้สนับสนุนการปิดประเทศ หรือหันหลังให้กับกระแสโลกาภิวัตน์ แต่เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยความไม่ประมาทและไม่โลภมากจนเกินไป มีการแลกเปลี่ยนค้าขายกัน แข่งขันกันในแบบสร้างสรรค์ คือ เป็นไปเพื่อพัฒนาขีดสมรรถนะ และความเข้มแข็งของตนเอง มิใช่เพื่อการทำลายล้างคู่แข่งขัน หรือกีดกันไม่ให้เกิดการแข่งขัน แต่ยังอาจช่วยเหลือกัน หรือร่วมมือกันได้ในบางเรื่อง

ปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมา ด้านหนึ่งคือ การขาดแคลนเงินออมภายในประเทศ ทำให้จำเป็นต้องพึ่งเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันลดลง ในอีกด้านหนึ่ง ตลาดภายในประเทศมีขนาดเล็ก ไม่สอดคล้องกับขนาดการผลิตที่มีผลิตภาพสูงและไม่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นการผลิตสินค้าประเภททุน ดังนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงไม่สามารถพึ่งตลาดภายในประเทศเป็นหลักได้ จำเป็นต้องพึ่งตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ จึงทำให้ต้องมีอัตราการเปิดประเทศสูง

การมีอัตราการเปิดประเทศในระดับที่สูง ไทยต้องพึ่งสินค้าส่งออกเป็นสำคัญ เมื่อเกิดปัญหาความไม่แน่นอนจากตลาดต่างประเทศ จึงทำให้เกิดวิกฤตการณ์แล้วสองครั้ง โดยใน พ.ศ.2523-2528 ประเทศไทยเผชิญกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้รัฐบาลต้องแก้ปัญหาด้วยการลดค่าเงินเป็นครั้งแรก

วิกฤตการณ์ครั้งต่อมา เกิดจากการนำเข้าทุนจากต่างประเทศมาก อย่างไม่มีความพอประมาณ ขาดเหตุผลรองรับทางนโยบายการเงิน มีการผูกค่าเงินบาทไว้กับค่าดอลลาร์ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศถูกตรึงไว้ให้สูง ทำให้ต้นทุนการผลิตภายในประเทศสูงจนไม่สามารถส่งออกได้ เกิดวิกฤติส่งออกใน พ.ศ.2539 จนรัฐบาลต้องประกาศลอยตัวค่าเงินในที่สุด

ปัจจุบันการผันผวนของค่าเงินบาท อันเนื่องมาจากการผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งมีปริมาณมากและมีอิทธิพลต่อระบบการเงินทั้งโลก ยังคงส่งผลต่อการส่งออกและมีผลกระทบกับการจ้างงานในประเทศ ดังนั้น การที่ไทยมีอัตราการเปิดประเทศสูง จึงเป็นความไม่พอประมาณ และทำให้ประเทศขาดภูมิคุ้มกัน เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ช่องว่างทางเศรษฐกิจได้ขยายวงไปเป็นช่องว่างทางสังคม ส่งผลกระทบทางลบต่อมิติทางจริยธรรมและวัฒนธรรม การเสื่อมถอยทางจริยธรรมปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนใน พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารโดยใช้เงินเป็นตัวตั้ง ใช้ตัวบ่งชี้ความสำเร็จด้วยหน่วยวัดเป็นเงิน เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายประชานิยมและบริโภคนิยม ส่งผลให้คนส่วนใหญ่เกิดความคาดหวังว่า จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขาดความยับยั้งในการใช้จ่าย จนเกิดภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดผลเป็นความเสื่อมทางศีลธรรมและมีการประทุษร้ายต่อทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น สังคมมีความตึงเครียดมากขึ้น ความตึงเครียดในสังคมก่อให้เกิดการหย่าร้างเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีความยากจน ความกดดัน ความตึงเครียด ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อรายต่อไป เป็นผู้ที่อ่อนแอที่สุดในสังคม นั่นก็คือ เด็กถูกทอดทิ้งเพิ่มมากขึ้น

เมื่อความยากจนและปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งมากขึ้น ผลที่กระทบต่อมาถึงการศึกษาก็คือ ทั้งอัตราการศึกษาต่อของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา และจำนวนเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาต่อประชากรวัยเรียนไม่ได้ดีขึ้น แม้ว่ารัฐจะพยายามจัดการศึกษาให้เพียงพอในแง่ของปริมาณเทียบกับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อการพัฒนาพื้นฐานและคุณภาพทางการศึกษาเสื่อมถอยลง คนส่วนใหญ่จึงหวังรวยทางลัด หวังพึ่งเจ้าที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หวังความช่วยเหลือจากผู้อื่นมากกว่าการใช้ความสามารถของตนเอง ทำให้ผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมตกเป็นเครื่องมือของธุรกิจการเมือง หรือนักการเมืองที่ใช้นโยบายแนวประชานิยมแบบประเคนสิ่งต่างๆ ให้พร้อมสรรพ โดยไม่สนใจที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคคล นโยบายทำนองนี้จะนำไปสู่การฉ้อราษฎร์บังหลวง เพื่อการถอนทุนคืนอันเป็นสาเหตุของความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการของภาครัฐติดตามมาเป็นลูกโซ่

ความพยายามในการแก้ปัญหาเพื่อให้สังคมไทยมีความพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน จะต้องมาจากพื้นฐานการเมืองที่มีความโปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาอย่างแท้จริง มีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ส่งเสริมการกระจายรายได้ สร้างวัฒนธรรมการออมและสร้างวินัยในการใช้จ่าย ไม่มุ่งเน้นการเปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนและพัฒนาจนทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ต้องดำรงขีดความสามารถในการพึ่งตนเองด้านทุนและเทคโนโลยีให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ด้วยเหตุนี้ แนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อสร้างสังคมที่พึงปรารถนา จึงต้องเริ่มจากการสร้างการเมืองที่ดี ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และลดช่องว่างทางเศรษฐกิจสังคม ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

(เรียบเรียงจากรายงานการประชุมระดมสมองครั้งที่สาม โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้โครงการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงและการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

1 comment:

Sarapan said...

บางทีมันก็พูดยากคุณ..ที่จริงถ้าทำได้ก็ดีนะเศรษฐกิจพอเพียงเนี่ย
แต่ผมเกรงว่าปัญหามันจะอยู่ที่การปฏิบัติ..คือมันเหมือนกับเวลาที่เรา
ว่า..เออตูเป็นคนดีก็ไม่น่าจะมีใครรักแกตู..ตูอยู่ของตูดีๆไม่ได้ไปเหยียบ
หางใครชีวิตมันก็น่าจะดีไม่น่าจะมีคนทำร้าย.

ที่แย่ที่สุดก็คือพอเอาเข้าจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น..บางทีการที่เราพยายาม
เป็นคนดี(พอเีพียง)ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก
หรอกนะ..(คือประชาชนก็ยังคงถูกบรรดาทุนข้ามชาติรังแกอยู่ดี..)

..ซวยทั้งขึ้นทั้งล่อง.