ปัญหาสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาไปได้ไกลเท่าที่ควร เกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใสของภาครัฐและปัญหาการกระจายรายได้ ซึ่งทั้งสองปัญหานี้ส่งผลในเชิงที่เป็นปฏิกิริยาเสริมกัน กล่าวคือ ความไม่โปร่งใสทางการเมืองเป็นผลให้มีปัญหาในการกระจายรายได้ ขณะที่การมีปัญหาการกระจายรายได้ ทำให้ผู้มีรายได้น้อยในชนบทตกเป็นเครื่องมือของธุรกิจการเมือง อันเป็นสาเหตุของความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการของภาครัฐ เนื่องจากทั้งสองปัญหานี้มีลักษณะเสริมกัน การแก้ไขปัญหาจึงควรดำเนินการไปพร้อมกัน โดยมีจุดเน้นที่การแก้ปัญหาความไม่โปร่งใสทางการเมือง ซึ่งจะทำให้ปัญหาการกระจายรายได้จะค่อยๆ ได้รับการแก้ไขไปพร้อมกันด้วย
ในระยะยาว การแก้ปัญหาความไม่โปร่งใสของภาคการเมือง จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ภาคประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ตลอดจนพรรคการเมืองและนักการเมือง รวมทั้งการเปิดกว้างทางการเมืองให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น การยกระดับข้อมูลความรู้ โดยเฉพาะสื่อซึ่งทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลและความรู้แก่ประชาชนจะต้องมีความเป็นกลางและเที่ยงธรรม มีพื้นที่ให้ภาคประชาชนจัดทำสื่อของตนเองได้เพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า ภาคประชาชนในพื้นที่ชนบท ประสบปัญหาในการไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของราชการส่วนท้องถิ่นได้ เนื่องจากรูปแบบการเมืองแบบตัวแทนในระดับประเทศได้ถูกนำมาใช้ในท้องถิ่น ประกอบกับการถูกครอบงำของการเมืองในท้องถิ่นจากการเมืองระดับประเทศ ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับการคัดเลือกจากประชาชน กลายเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นเสียเอง อีกทั้งความสัมพันธ์ที่เคยมีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นจากระบบอุปถัมภ์ที่มีคุณธรรมได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นระบบอุปถัมภ์แบบสามานย์ ที่ใช้อำนาจการเมือง ซึ่งเชื่อมโยงกับส่วนกลางผสมผสานกับอำนาจเงิน
การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ จึงต้องพยายามส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง ภายใต้การเมืองท้องถิ่นแบบสมานฉันท์ เพื่อให้ระบบอุปถัมภ์แบบมีคุณธรรมคืนกลับมา ซึ่งนอกจากจะช่วยให้การเมืองท้องถิ่นมีความโปร่งใสแล้ว ยังเป็นพลังสำคัญที่ทำให้การเมืองระดับประเทศมีความโปร่งใสเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้การดำเนินนโยบายในด้านต่างๆ ก็จะพิจารณาถึงผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก ช่องว่างของการกระจายรายได้ก็จะลดลง ซึ่งจะผลเป็นทอดๆ ไปสู่การลดช่องว่างทางการเมือง สังคม การศึกษา เทคโนโลยี เกิดเป็นความสัมพันธ์ในเชิงลูกโซ่แบบย้อนกลับ เพื่อพลิกฟื้นวงจรแห่งความดีจากวงจรอุบาทว์ในปัจจุบัน
หากพิจารณาถึงรากของปัญหาด้านหนึ่งคือ การพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่นที่ไม่สอดคล้องกับความจริง โดยเฉพาะการพัฒนาระบบประชาธิปไตยที่มีรูปแบบเดียว คือ ประชาธิปไตยตัวแทนทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งเท่านั้น การเลือกตั้งจึงเป็นเสมือนมาตรวัดของประชาธิปไตยไทย ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมาก
วิถีแห่งการสร้างประชาธิปไตยในท้องถิ่น จึงกลายเป็นการเลียนแบบประชาธิปไตยในระดับชาติ มีนายก อบต. มีคณะผู้บริหารท้องถิ่น มีสภาท้องถิ่น มีข้าราชการท้องถิ่น ผลพวงจากการพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่นในรูปแบบดังกล่าว ได้ทำให้ชุมชนหลายพื้นที่อ่อนแอ และนำไปสู่ปัญหาของท้องถิ่นอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ ปัญหาวัฒนธรรมขององค์กรปกครองท้องถิ่นในสภาพของระบบราชการที่แข็งกระด้าง ปัญหาของการเข้าสู่อำนาจของระบบประชาธิปไตยตัวแทนและบทบาทของนักธุรกิจการเมือง และปัญหาความแตกแยกในชุมชน
ทิศทางในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ จำต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยการให้ความสำคัญ 2 ระดับที่แตกต่างกัน คือ แม้การพัฒนาประชาธิปไตยในระดับชาติ ยังคงยึดโยงอยู่กับระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่ขณะนี้ ได้นำไปสู่ปัญหาความแตกแยกในสังคม การทำลายทุนทางสังคมอย่างน่าเศร้า
แต่การพัฒนาประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น ต้องให้ความสำคัญกับการปกครองตนเอง ในลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยแบบสมานฉันท์ในชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคี เป็นการสร้างการเมืองแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) โดยมีพื้นที่สาธารณะหรือเวทีการเรียนรู้ที่ชุมชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จะต้องมีบทบาทร่วมในการขับเคลื่อน กระตุ้นให้เกิดการปลุกจิตสำนึก การสร้างคุณค่า การสร้างศรัทธา และอุดมการณ์ในการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งชุมชน
นอกจากข้อเท็จจริงของท้องถิ่นที่มีความแตกแยกเป็นกลุ่มต่างๆ แล้ว กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยแบบเดิม ยังได้ส่งผลกระทบต่อความรู้ท้องถิ่น โดยแตกออกเป็นองค์ความรู้ราชการ องค์ความรู้วิชาการ และองค์ความรู้ชุมชน ฐานขององค์ความรู้ทั้งสามนี้ ต่างฝ่ายต่างมีพื้นที่ของตนเอง การแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว จึงต้องมีกระบวนการบูรณาการความรู้ในชุมชน โดยเริ่มจากฐานขององค์ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดการผสมผสาน และดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน
ท้ายที่สุด กระบวนการเรียนรู้ในชุมชนของชาวบ้าน จะเป็นการเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนได้ตระหนักต่อข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ของชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านและภาคีนำข้อสรุปของกระบวนการเรียนรู้เข้าสู่การถกเถียงในเวทีการเรียนรู้ชุมชน มีฉันทามติ (Consensus) ในชุมชนภายหลังจากที่ภาคีในท้องถิ่นได้ถกเถียงกันอย่างสันติ เป็นการสร้างสังคมท้องถิ่นแบบสมานฉันท์ บนฐานของทุนทางสังคมความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเป็นเครือญาติที่แน่นแฟ้น ซึ่งยังคงเหลืออยู่ตามชุมชนชนบทในสังคมไทย... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์)
(เรียบเรียงจากผลการศึกษาวิจัยโครงการจัดทำดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโครงการจัดทำแผนที่เดินทางและการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)
Tuesday, November 20, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment