ผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศ (อย่างไม่เป็นทางการ) ปรากฏว่า มีผู้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบ 57.81% และไม่เห็นชอบ 42.19% จากผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนทั้งสิ้น 57.61%
หากคิดแบบชาวบ้านที่เคยติดตามคำพิพากษาคดียุบพรรคการเมือง ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ สมมติว่าประชามตินี้กระทำผ่านคณะกรรมการที่เป็นเสมือนตัวแทนของปวงชนทั้งสิ้น 15 คน ปรากฏว่า มีผู้งดออกเสียง 6 คน และในบรรดาคณะกรรมการที่เหลือ 9 คน มีผู้ลงมติเห็นชอบ 5 คน และไม่เห็นชอบ 4 คน ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์
ทั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาล และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คงต้องพิจารณาร่วมกันแล้วว่า 4 เสียงที่ไม่เห็นชอบนั้น ประกอบด้วย คำวินิจฉัยในการตัดสินออกเสียงประชามติอย่างไร เพื่อที่จะได้เป็นบทเรียนสำหรับการกำหนดทิศทาง และจังหวะก้าวต่อไปในการวางรากฐานการเมืองการปกครองประเทศ ให้มีความมั่นคงเข้มแข็งและความปรองดองของคนในชาติ
ในจำนวนผู้ที่ไม่เห็นชอบ 4 คน ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนแรก ถ้าดูตามคะแนนเสียงประชามติ เป็นคนอีสาน ที่ต้องการเห็นประเทศมีเศรษฐกิจที่พัฒนาและเจริญเติบโตก้าวหน้า ประชาชนจะได้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสวัสดิการของรัฐที่กระจายไปสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง การเมืองจะต้องตอบสนองความอยู่ดีมีสุขของคนในสังคม คำนึงถึงความผูกพันฉันญาติมิตรมากกว่าความสัมพันธ์ทางโครงสร้าง แม้จะเป็นหนึ่งในเสียงที่ไม่เห็นชอบการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ก็มิได้คัดค้านในส่วนเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม
ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนที่สอง เป็นนักวิชาการ ที่ไม่สนับสนุนการยึดอำนาจและการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจ แม้ว่าเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญจะมีข้อดีและเห็นชอบในหลายประเด็น แต่ก็ถูกลบล้างด้วยประเด็นที่มาของรัฐธรรมนูญและการลิดรอนสิทธิ์ในการตรวจสอบคณะปฏิรูปการปกครองที่เป็นผู้ฉีกรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ทิ้ง อย่างไรก็ดี ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนดังกล่าวนี้ ก็เคยตำหนิการบริหารบ้านเมืองในยุคของรัฐบาลทักษิณ ที่เข้าไปก้าวก่ายและแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ และองค์กรอิสระ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมมาแล้ว
ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนที่สาม เป็นนักกฎหมาย ที่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยรวมมีข้อด้อยมากกว่าข้อดี และมิได้สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบการเมืองในวันข้างหน้า จนอาจต้องมีการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่อยู่ดี ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนดังกล่าวนี้ เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความพยายามที่จะใช้กลไกและระบบการตรวจสอบมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลผู้ใช้อำนาจรัฐ ซึ่งแม้จะก่อให้เกิดผลตามความมุ่งหมายจริง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ก่อให้เกิดผลอื่นติดตามมา (Consequence) ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการบิดเบือนการใช้อำนาจรัฐในรูปแบบอื่นๆ ด้วย กระทั่งส่งผลมาถึงความเข้มแข็งของระบบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนที่สี่ เป็นบุคคลธรรมดา ที่ต้องการเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า แต่ไม่ต้องการให้ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แม้จะเห็นด้วยกับการปฏิรูปการปกครอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในการเข้ามาแก้ไขวิกฤติของบ้านเมือง แต่ก็ไม่สนับสนุนให้มีการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามตินี้
กล่าวได้ว่า การออกเสียงประชามติในครั้งนี้ เพียงพอที่จะชี้ให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ต้องการเห็นประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แต่ไม่เพียงพอที่จะสรุปว่า คนส่วนใหญ่ต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้าด้วยวิธีการใดหรือมีรูปแบบใดอย่างชัดเจน
ฉะนั้น ผู้ที่จะลงสนามการเมืองในเวทีเลือกตั้งครั้งหน้า จะต้องทำการวิจัยและประมวลผลการออกเสียงประชามติครั้งนี้ โดยเฉพาะในฝั่งของผู้ที่ไม่เห็นชอบอย่างรอบคอบระมัดระวัง เพื่อการกำหนดยุทธศาสตร์ (Strategies) การรณรงค์ทางการเมืองให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย การค้นหาตัวเชื่อม (Connections) ที่เป็นพันธมิตรตามภูมิสังคม และกลวิธี (Tactics) ในการช่วงชิงคะแนนเสียง อย่างน้อยที่สุด ผลการออกเสียงประชามติครั้งนี้ ก็ชี้ให้เห็นว่า เงินมิใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด หรือเป็นไปได้ว่า เงินไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่หรือแสดงบทบาทเหนือเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ
ทั้งนี้ โปรดอย่าลืมว่า ยังมีอีก 6 เสียงเงียบ ที่พร้อมจะสนับสนุนหรือคัดค้านการดำเนินงานทางการเมืองในจังหวะก้าวต่อไปของรัฐบาลหน้าที่จะมาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ คงต้องวิเคราะห์เจตนารมณ์ของผู้ที่งดออกเสียงทั้ง 6 เสียงนี้อย่างพินิจพิเคราะห์ ซึ่งจะมีความยากลำบากมากกว่าการวิเคราะห์เจตนารมณ์ของผู้ที่ไม่เห็นชอบ 4 เสียง แต่ต้องถือว่าเป็นพลังเงียบที่เป็นตัวแปรในการกำหนดหนทางแพ้ชนะในสนามเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างมีนัยสำคัญ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์)
Wednesday, August 22, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment