Tuesday, August 28, 2007

ด้านมืดของโลกาภิวัตน์

เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง ได้รายงานการฆ่าตัวตายของนายจางชูฮง เจ้าของโรงงานในจีน ผู้ผลิตของเล่นป้อนให้แก่บริษัทแมตเทล ในสหรัฐอเมริกา ที่ได้เรียกคืนของเล่นนับล้านชิ้น อันเนื่องมาจากการพบสีที่ปนเปื้อนสารตะกั่วบนของเล่น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก

ผลจากการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นำไปสู่การถอนใบอนุญาตและสั่งปิดโรงงานที่เป็นคู่ค้ากับแมตเทลยาวนานถึง 15 ปี คนงานกว่า 5,000 คนถูกเลิกจ้าง ผู้บริหารเพิ่งประกาศขายเครื่องจักรและทรัพย์สินของโรงงาน แต่ก็ต้องมาจบชีวิตลงด้วยน้ำมือตนเองในที่สุด

การสืบสวนของแมตเทลได้เผยให้เห็นปัญหาในสายการผลิตและที่มาของสีที่ใช้ในกระบวนการผลิตจากผู้ค้าส่งหลายทอด จนนายจางอาจไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าสีที่ตนเองใช้มีปัญหา เนื่องจากผู้ป้อนวัตถุดิบให้แก่โรงงานของนายจาง ได้ใช้เอกสารรับรองการตรวจสอบคุณภาพปลอมในการอ้างอิงต่อกันมาเป็นทอดๆ

เหตุการณ์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่อง "คุณภาพ" ของการบริหารการผลิต และ "คุณธรรม" ของผู้ประกอบการ ที่ส่งผลให้เจ้าของโรงงานรายนี้ กลายเป็นเหยื่อที่ไร้ทางออกในโลกยุคโลกาภิวัตน์

การบีบคั้นเรื่องต้นทุนสินค้า เพื่อที่จะรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา จากฝั่งของลูกค้าห้างอย่างวอลมาร์ท หรือทาร์เก็ต และแมตเทล ทำให้การบีบคั้นถูกส่งต่อไปเป็นทอดๆ จากโรงงานสู่ผู้ป้อนวัตถุดิบ บริษัทค้าวัตถุดิบ ไปจนถึงผู้ผลิตวัตถุดิบ จนเกิดการลดคุณภาพของวัตถุดิบ เพื่อให้ได้มาซึ่งราคาที่ถูกป้อนเข้าสู่สายการผลิตทั้งระบบ

ขณะที่การบีบคั้นซึ่งมีผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจของตนเอง ยังได้มีอิทธิพลมาถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรมในการประกอบการ ซึ่งเป็นเสมือนภูมิคุ้มกันด่านท้ายสุด เมื่อใดที่พังทลายลง ไม่เพียงแต่ธุรกิจที่อยู่ไม่ได้ในระยะยาว ชีวิตก็อาจจะต้องจบสิ้นไปด้วย การจบสิ้นนี้ ไม่ได้หมายถึงการจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายเหมือนกรณีของนายจาง แต่เป็นการมีชีวิตอยู่แบบไร้จิตวิญญาณ เป็นซากที่ไร้ซึ่งสิ่งยึดเหนี่ยวทางคุณงามความดี รอวันที่จะกลายเป็นเหยื่อแห่งด้านมืดของโลกาภิวัตน์ในลำดับต่อไป

อุทาหรณ์สำหรับคนไทยต่อเหตุการณ์นี้ มีอยู่หลายประการ ใน ประการแรก การแข่งขันที่ต่างคนต่างเอาตัวรอดในระบบเศรษฐกิจลักษณะนี้ หากมองเฉพาะตนเอง ทางออกก็คือ ต้องพัฒนาตนเองให้เหนือผู้อื่น ใฝ่หาความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มาเสริมสร้างขีดสมรรถนะทางการแข่งขันของตนเองอย่างต่อเนื่อง แต่หากมองทั้งระบบ การแข่งขันเช่นนี้ จะนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ผู้แพ้ถูกคัดออก หรือกลายเป็นเหยื่อของระบบดังตัวอย่างข้างต้น ผู้เล่นที่เหลือก็จะแข่งขันกันต่อ จนมีผู้ที่ถูกคัดออกมากกว่าผู้เล่นที่เหลืออยู่ ในที่สุด ระบบก็คงอยู่ไม่ได้ เมื่อระบบเศรษฐกิจพังทลายลง ประเทศก็ได้รับผลกระทบเสียหายไปด้วย

การที่ระบบยังคงทำงานได้ แม้จะอยู่ท่ามกลางการแข่งขันอย่างที่เป็นอยู่ ก็เพราะส่วนหนึ่งของระบบ ยังมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการประสานประโยชน์ซึ่งกันและกัน รู้จักที่จะเสียสละแบ่งปันให้แก่ผู้อื่น นอกจากการพิจารณาแต่ประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง การสร้างภูมิคุ้มกันในระบบที่ดี จึงมาจากเงื่อนไขด้านคุณธรรมของผู้เล่นในระบบ ฉะนั้น ไม่ว่าจะต้องแข่งขันกันขนาดไหน อย่าแลกชัยชนะด้วย "คุณธรรมในจิตใจ" เป็นเด็ดขาด

ประการต่อมา การแข่งขันที่นำไปสู่การลดคุณภาพ ไม่ใช่การพัฒนาที่นำไปสู่ความก้าวหน้า แต่เป็นการถอยหลังเข้าสู่มุมอับหรือด้านมืดของของโลกาภิวัตน์ ที่เสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อในระบบ แม้จะยืดลมหายใจของกิจการด้วยวิธีการแข่งขันลักษณะนี้ ท้ายสุด กิจการก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในระยะยาว ฉะนั้น ไม่ว่าจะต้องแข่งขันกันขนาดไหน อย่าแลกเอาความอยู่รอดด้วย "คุณภาพของสินค้า" เป็นเด็ดขาด

อุทาหรณ์อีกประการหนึ่ง การพึ่งพาระบบมากเกินไป ก่อให้เกิดข้อจำกัดหรือภาวะจำยอมที่ต้องปฏิบัติตามกฎกติกาที่แฝงไว้ด้วยคำถามมากมายถึงความยุติธรรมและความเสมอภาคของระบบ ทางออกในปัจจุบัน ไม่สามารถถามหาได้จากผู้วางระบบ หรือรัฐในฐานะผู้ดูแลกฎกติกาต่างๆ เพราะรัฐเองได้กลายมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นของระบบ หรือได้รับการสนับสนุนจากผู้เล่นรายใหญ่ในระบบ แน่นอนว่า กิจการไม่สามารถหลุดพ้นจากระบบได้อย่างเด็ดขาด แต่การทำตัวให้อยู่เหนือระบบบางส่วนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

การอยู่เหนือการแข่งขันดิ้นรนทางธุรกิจ ก็คือ การค้นหาความพอประมาณในกิจการ ที่ตนเองอาจเป็นได้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค (Prosumer) ในตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาภายนอก เช่น การสร้างชุมชนหรือประเทศให้เข้มแข็ง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตลาดภายนอกทั้งหมด

ประการสุดท้าย การให้คุณค่าของระบบเศรษฐกิจมากเกินไป จนกลายเป็นสิ่งสำคัญของเรื่องทั้งหมดในชีวิต จะทำให้มองไม่เห็นโอกาสในการพัฒนาทางอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาภายในตนเอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตใจมากกว่าเรื่องของวัตถุในระบบเศรษฐกิจ การสูญเสียกิจการ มิได้หมายถึง การที่เจ้าของกิจการต้องสูญเสียจิตวิญญาณไปด้วยการจบชีวิต การพัฒนาทางจิตใจ ยังคงดำเนินต่อไปได้ด้วยการให้ความสำคัญของระบบแต่พอประมาณและอย่างมีเหตุมีผล ไม่ตัดสินด้วยอารมณ์ที่บีบคั้นหรืออารมณ์ชั่ววูบ

การให้คุณค่าของระบบเศรษฐกิจแต่พอประมาณ คือ หลักการของเศรษฐกิจพอเพียง ที่แฝงไว้ด้วยการพัฒนาในระดับที่สูงขึ้นไปอีกด้วยเงื่อนไขของคุณธรรมและความรู้ มิใช่มุ่งหมายแต่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจดังเช่นที่โลกข้างมากกำลังดำเนินอยู่ จนต้องอยู่แบบซากไร้จิตวิญญาณในระบบ

ประโยชน์หรือคุณค่าของบทความชิ้นนี้ ไม่ว่าจะมีมากหรือน้อย ขออุทิศให้แก่นายจางชูฮง เจ้าของโรงงานลีเดอร์ อินดัสเตรียล อายุ 52 ปี ผู้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

1 comment:

Anonymous said...

อาจารย์ พิพัฒน์ ครับ...

ได้อ่าน บทความเรื่องด้านมืด ของโลก จาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ เลยขออนุญาติ อาจารย์ ขอนำบทความไปเผยแพร่ ต่อให้เพื่อนๆ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ ผ่านหน้าเว็บไซต์ www.abaca.au.edu

หวังว่า อาจารย์คงจะไม่ตำหนินะครับ และขอร่วมตั้งจิตอธิษฐานเผื่อ นาย จางชูฮง ให้ดวงจิตได้ไปสู่สุขคติ และได้มาพบกับ พระพุทธศาสนา เช่นเราเรานะครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ร.อ.วรพจน์ อัสสานุวงศ์
สมาชิก เรือนธรรม