การกระจายผลผลิต ถือว่าเป็นเป้าหมายขั้นกลางของวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะจุดมุ่งหมายของการผลิตก็เพื่อการบริโภค การกระจายผลผลิตเพื่อการบริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ ปริมาณผลผลิตที่แต่ละบุคคลได้รับถือว่าเป็นสวัสดิการของแต่ละบุคคล และหากพิจารณาจากสวัสดิการของทุกๆ คนรวมกัน อาจเรียกว่าเป็นสวัสดิการสังคม
ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป สังคมอยู่ดีมีสุข เป็นผลมาจากการที่สังคมมีการผลิตที่ให้ผลผลิตรวมเพียงพอสำหรับทุกคน โดยยึดหลักว่าแต่ละคนไม่ควรที่จะได้รับผลผลิตน้อยลงกว่าเดิม
แต่ในมุมมองของเศรษฐกิจพอเพียง การพิจารณาว่าสังคมจะอยู่ดีมีสุขหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการกระจายผลผลิตในสังคม นอกเหนือจากการให้ความสำคัญที่ปริมาณผลผลิต โดยยึดหลักว่าผู้ที่ยังมีความทุกข์จากการขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต ควรต้องได้รับสิ่งเหล่านั้นโดยถ้วนหน้า
ในประเด็นของการกระจายรายได้ จะเกี่ยวข้องกับการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ การพัฒนาทักษะและขีดความสามารถที่จำเป็นต่อการประกอบการ โดยรายได้ที่เกิดขึ้นเป็นได้ทั้งรายได้จากการเป็นแรงงานในกระบวนการผลิตหรือลูกจ้าง และรายได้จากการเป็นเจ้าของกระบวนการผลิตหรือนายจ้าง โดยรัฐสามารถกำหนดนโยบายการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงเป็นธรรม มิให้เกิดการกระจุกตัวของรายได้อยู่กับคนเพียงไม่กี่กลุ่ม
ในมุมมองของการประกอบการโดยทั่วไป มักจะมุ่งส่งเสริมที่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) เพื่อให้กิจการสามารถพัฒนาจากการอยู่รอดสู่การเจริญเติบโต สามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้
แต่ในมุมมองของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากการพัฒนาตนเองเพื่อให้ยืนอยู่บนขาของตัวเองได้แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถในการร่วมมือกัน (Collaborativeness) มีการแบ่งปัน ประสานงาน และประสานประโยชน์กัน เพื่อให้กิจการมี "ภูมิคุ้มกันที่ดี" และมีสภาพพร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ จากพันธมิตรรอบด้านที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) [Archived]
Wednesday, August 08, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment