การที่ผู้คนในสังคมจะสามารถอยู่รวมกันได้อย่างเป็นปกติสุขนั้น จำต้องมีหลักการดำเนินชีวิตในสังคมที่สอดคล้องกับความเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อไรก็ตาม ที่การดำเนินกิจกรรมในสังคมเริ่มเบี่ยงเบนหรือผิดแผกไปจากธรรมชาติ ไม่เป็นไปอย่างปกติ สังคมนั้นก็จะเดือดร้อนวุ่นวาย เกิดปัญหาของการเบียดเบียนซึ่งกันและกันไม่รู้จบสิ้น
ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ ธัมมิกสังคมนิยม ว่า คำว่า "ธมฺมิก" แปลว่า ประกอบอยู่ด้วยธรรม "สังคม" คือ คนหมู่มาก "นิยม" คือ เพ่งเล็งในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
"ธัมมิกสังคมนิยม" จึงเป็นการเพ่งเล็งเรื่องที่เกี่ยวกับคนหมู่มาก ที่ประกอบอยู่ด้วยธรรม เป็นธรรมชาติที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่มีการกอบโกยอย่างเสรี เสรีภาพในการกอบโกยส่วนเกินถูกควบคุมไว้โดยธรรมชาติอย่างเฉียบขาด เป็นสังคมนิยมโดยอัตโนมัติของธรรมชาติ เป็นความถูกต้องที่จุนเจือให้มนุษย์อยู่รอดมาได้ทุกวันนี้
ปัญหาเกิดเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จัก "เอาส่วนเกิน" เริ่มเก็บสะสม กักตุนเอาไว้มากขึ้นๆ จนเกิดการไม่พอ มีการแย่งกันสะสมส่วนเกินจนต้องมีหัวหน้าที่จะแสวงหากอบโกยส่วนเกิน ต้องทะเลาะเบาะแว้ง รบพุ่งกัน
ธรรมชาติได้มีกฎวางไว้ให้ทุกคนเอาแต่เท่าที่จำเป็น แต่เมื่อมนุษย์ไม่เชื่อฟังธรรมชาติ แข่งกันกอบโกยส่วนเกิน จิตใจขยายไปในทางที่ต้องการส่วนเกินนั้น จนเป็นการริบเอาประโยชน์ของสังคมมาเป็นของตน แทนที่ส่วนเกินนั้นจะตกทอดไปถึงคนอื่นๆ เกิดเป็นความขาดแคลนขึ้นในสังคม จนทำให้พวกที่เหลือส่วนใหญ่กลายเป็นคนยากจน
สังคมปัจจุบันจึงต้องการผู้ปกครองที่รื้อฟื้นธรรมสัจจะของธรรมชาติในข้อนี้มาใช้ให้บังเกิดผล คือ ต้องทำให้เป็นระบบสังคมนิยมที่มีความหมายว่า "เห็นแก่สังคม" ทั้งโดยการพูดและการกระทำ มิใช่เพียงปากว่าเพื่อสังคม เพื่อประเทศ เพื่อส่วนรวม แต่ใจและการกระทำนั้น ยังเป็นไปเพื่อตนเองหรือพวกพ้อง
ส่วนเครื่องมือสำหรับระบบสังคมนิยมที่มีผู้ปกครองดี คือ วิธีปฏิบัติงานที่เป็นเผด็จการ เมื่อไรก็ตาม ที่เห็นว่าเป็นเรื่องถูกต้อง จะดำเนินการและลงมือทำโดยทันที ไม่ยอมให้โอ้เอ้หรือผิดเพี้ยนแก่เวลา ในทางตรงข้าม สังคมที่ได้ผู้นำดี แต่กลับไม่ลงมือทำในเรื่องที่ถูกต้องให้ควรแก่เวลา ก็จะนำพาประเทศชาติให้เสื่อมถอยอย่างอันตราย
แต่ถ้าสังคมได้ผู้ปกครองที่ไม่ดีหรือไม่ประกอบอยู่ด้วยธรรมแล้ว ไม่ว่าวิธีการปกครองจะเป็นแบบเผด็จการหรือประชาธิปไตย สังคมหรือประเทศชาติก็จะล่มจมไปในทางเดียว โดยเหตุที่ประชาธิปไตยเสรีทำให้ประเทศล่มจมได้นั้น ก็เพราะผู้นำจะฉวยโอกาสใช้เสรีภาพไปตามอำนาจของกิเลส พอมีอำนาจอยู่ในมือแล้ว จิตใจจะขยายไปในทางที่ต้องการเอาส่วนเกิน เกิดการกอบโกยประโยชน์ของสังคมมาเป็นของตนในระหว่างที่อยู่ในอำนาจ ประชาธิปไตยเสรีนี้ ก็เป็นอันตรายร้ายแรงต่อประเทศได้
คำว่าสังคมนิยมตามทัศนะของท่านพุทธทาส จึงเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับเสรีนิยมที่เล็งถึงบุคคล ปัจเจกชน ต่างคนต่างมีเสรี สังคมนิยมจะเล็งถึงประโยชน์ของสังคม คำนึงถึงปัญหาของสังคม แล้วก็ทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นการแก้ปัญหาของสังคม ในขณะที่เสรีนิยมทำไม่ได้ เนื่องด้วยความเห็นแก่ตัว มีช่องโหว่ตรงที่เปิดโอกาสให้ตามใจกิเลส ชักจูงไปสู่การกอบโกย การเบียดเบียนผู้อื่น ศีลธรรมหายไป ปัญหาเกิดขึ้นแก่สังคม แล้วในที่สุด ก็ย้อนกลับมาเบียดเบียนตนเอง จนกลายเป็นปัญหาของตัวเองด้วย
หากคนในสังคมเอาแต่เพียงพอดี ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิด การเบียดเบียนก็จะไม่เกิด การเอาเปรียบกันก็จะไม่มี แต่จะมีคำถามต่อมา คือ แค่ไหนจึงเรียกว่าพอดี แค่ไหนจึงไม่เรียกว่าส่วนเกิน คำว่าส่วนเกินนี้ยืดหยุ่นได้มาก ที่เข้าใจว่าไม่เป็นส่วนเกินนั้น ก็ยังเป็นส่วนเกินได้ เช่น เราจะเจียดประโยชน์ของเราที่กินที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ออกไปสัก 4% ก็ยังอยู่ได้และไม่ตาย ดังนั้น การรู้จักเจียดออกให้เป็นส่วนเกินจากสิ่งที่เราไม่เห็นว่าเป็นส่วนเกิน นั่นคือ ศีลธรรมที่ช่วยธำรงสังคม
สี-ละ ตามความหมายเดิมแปลว่า ปกติ ถ้าสิ่งใดเป็นไปเพื่อความปกติ ไม่วุ่นวาย ก็เรียกว่า สี-ละ และธรรมที่ทำให้มีความเป็นอย่างนั้น จึงเรียกว่า ศีลธรรม คำว่าปกติตามความหมายของศีลธรรม หมายความว่า ไม่กระทบกระทั่งใครหรือไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และไม่กระทบกระทั่งตัวเองหรือไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน
คนในสังคมจึงควรยึดหลักปฏิบัติตามธรรมชาติ คือ พยายามอย่ากอบโกยส่วนเกิน พยายามเจียดส่วนเกินออกไปเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นให้ได้ และอย่าเข้าใจผิดว่าธรรมชาติห้ามผลิตส่วนเกิน ทุกคนมีสิทธิและสมควรอย่างยิ่งที่จะผลิตส่วนเกินขึ้นมา แต่ว่าส่วนเกินนั้น ควรจะเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สังคม และควรระมัดระวังอย่างยิ่งว่า ที่เราเข้าใจว่า ไม่เกินๆ นี้ ก็ยังเกิน ยังเจียดได้
สังคมไทยปัจจุบัน เป็นสังคมนิยมที่ผิดไปจากธรรมสัจจะของธรรมชาติ มีบุคคลบางพวกบางหมู่ที่ได้ประพฤติตัวเป็นขบถต่อธรรมชาติ เกิดแตกแยกขึ้นเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจทางการเงิน ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจทางเรี่ยวแรงกำลัง เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน เห็นแก่พวกตัวเกินไป ไม่เห็นพวกอื่นว่าเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน บางพวกชอบพูดว่าเอาธรรมนำหน้า แต่เวลาทำกลับทิ้งธรรมไว้ข้างหลัง
การแบ่งแยกมนุษย์ออกเป็นพวกๆ แล้วทำตนเป็นศัตรูกันนั้น ไม่ใช่ความต้องการของธรรมชาติ สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะความเสื่อมทรามทางศีลธรรมในจิตใจของมนุษย์ ไม่ว่าฝ่ายไหนต่างก็แสวงหาพื้นที่ทางการเมือง พร้อมที่จะกอบโกยส่วนเกินกันทั้งนั้น
ความมุ่งหมายของการเมืองของท่านพุทธทาส ต้องเป็นไปเพื่อสันติสุขของคนในสังคม ถ้าผิดไปจากนี้แล้วเป็นการเมืองคดโกงของภูตผีปีศาจ ไม่ว่าจะเขียนไว้โดยนักการเมืองที่มีชื่อเสียงสูงสุดคนไหนก็ตาม หรือจากตำราเล่มไหนก็ตาม ถ้ามันเป็นไปเพื่อผลแก่ตนแก่พวกของตนแล้ว มันไม่ใช่การเมือง (เรียบเรียงจาก หนังสือธัมมิกสังคมนิยม ของท่านพุทธทาสภิกขุ บรรยายไว้ในช่วงปี 2516-2518)... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์)
Tuesday, October 09, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment