คำว่า อรรถ หมายถึง ความมุ่งหมาย เมื่อมาสมาสเป็น อรรถประโยชน์ (Utility) จึงหมายถึง ประโยชน์ที่มุ่งหมาย หรือประโยชน์ที่ต้องการ เรื่องอรรถประโยชน์มีความหมายอยู่ 2 นัยด้วยกัน คือ อรรถประโยชน์เชิงวัตถุวิสัย (Objective Utility) กับอรรถประโยชน์เชิงจิตวิสัย (Subjective Utility)
ในส่วนที่เป็นอรรถประโยชน์เชิงวัตถุวิสัยนั้น จะเกี่ยวข้องกับความเป็นประโยชน์ (Usefulness) หรือคุณค่าของสิ่งต่างๆ ในลักษณะที่เป็นอยู่ตามจริงโดยธรรมชาติ เป็น "คุณค่าแท้" ที่มีอยู่แต่เดิม โดยมิได้ถูกเพิ่มเติมเสริมแต่งหรือดัดแปลงตามความคิดเห็นของมนุษย์ เช่น
น้ำมีคุณค่ามากกว่าเพชร เพราะน้ำมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ตามธรรมชาติมากกว่าเพชร คุณค่าของน้ำ ในที่นี้เรียกว่า คุณค่าในการใช้สอย (Value in Use) ในขณะที่ คุณค่าของเพชร เป็นคุณค่าที่ถูกให้โดยมนุษย์ ถูกเพิ่มเติมเสริมแต่งให้มีคุณค่าสูง ด้วยเงื่อนไขของความหายาก (Scarcity) ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการใช้กำหนดคุณค่าของเพชร ในที่นี้ที่เรียกว่า คุณค่าในการแลกเปลี่ยน (Value in Exchange) เนื่องจากเพชรเพียงส่วนน้อยสามารถแลกเป็นน้ำได้จำนวนมหาศาล
ในส่วนที่เป็นอรรถประโยชน์เชิงจิตวิสัยนั้น จะเกี่ยวข้องกับความเป็นประโยชน์หรือคุณค่าของสิ่งต่างๆ ในลักษณะที่เป็นการให้คุณค่าโดยมนุษย์ คือ การที่แต่ละบุคคลจะให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านั้นตามความคิดเห็นของตนเอง คุณค่า (ในการแลกเปลี่ยน) ตามความหมายนี้ จึงขึ้นอยู่กับปริมาณของสิ่งนั้นๆ ด้วย ถ้าของบางอย่างมีมากเกินไป การให้คุณค่าแก่สิ่งนั้นๆ ก็จะลดลง เพราะหาได้ง่าย ถึงแม้จะมีคุณค่าในการใช้สอยก็ตาม
หรือการที่มนุษย์สามารถสร้างความมั่งคั่งได้โดยการลดความต้องการของตัวเองลงให้เป็นสัดส่วนลงตัวกับสิ่งที่มีอยู่ แทนการขวนขวายหาสิ่งต่างๆ เพิ่มตามความต้องการที่ไม่จำกัด ซึ่งก็คือ การให้คุณค่าอย่างสูงแก่สิ่งของที่ตนมีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องขวนขวายหาสิ่งอื่นมาเพิ่มเติม
เมื่อเงินเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และสิ่งของทุกสิ่งทุกอย่างสามารถกำหนดคุณค่าเทียบกับเงินได้ ความหมายของคุณค่าจึงค่อยๆ ถูกเปลี่ยนไปเป็น "มูลค่า" หรือ "ราคา" ของสิ่งของ อันเป็นจุดเบี่ยงเบนสำคัญจากความเป็นจริงตามธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งของนั้นๆ เพราะมูลค่าหรือราคาเป็น "คุณค่าเทียม" ที่มนุษย์ตกลงหรือสมยอมกันเอง (Human Convention) ไม่ใช่ คุณค่าแท้ หรือ คุณค่าในการใช้สอย ซึ่งเป็นคุณค่าตามธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ
คำที่มีความเกี่ยวเนื่องกับอรรถประโยชน์อีกคำหนึ่ง คือ Utilization หรือการใช้ประโยชน์ ซึ่งแปลว่า การทำให้เกิดประโยชน์ตามที่ต้องการ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งในทางปฏิบัติ ประโยชน์ที่ได้รับตามความเป็นจริง (Actual) อาจจะไม่เท่ากับประโยชน์ที่มุ่งหมายหรือที่คาดว่าจะได้รับ (Expected) ก็ได้
ขอให้สังเกตว่า มูลค่าที่บุคคลได้รับจากการใช้ประโยชน์ จะต่างจากคุณค่าในการใช้สอยในอรรถประโยชน์ คือ มูลค่าในการใช้ประโยชน์จะแปรเปลี่ยนตามบุคคลผู้ใช้ประโยชน์ โดยขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพหรือความสามารถในการใช้ประโยชน์ของบุคคลนั้นๆ ขณะที่คุณค่าในการใช้สอยในอรรถประโยชน์หรือประโยชน์ที่มุ่งหมาย ยังคงมีคุณค่าในสภาพเดิมตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะมีการใช้สอยเกิดขึ้นแล้วหรือยังไม่มีการใช้สอยเกิดขึ้นโดยบุคคลใดๆ ก็ตาม ถือเป็นคุณค่าในตัวของสิ่งต่างๆ ที่ยังมิได้ถูกใช้ประโยชน์
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏนี้ เราสามารถนำไปสู่การพิจารณาคุณค่าเปรียบเทียบ (Comparative Value) ระหว่างคุณค่าที่มนุษย์กำหนดขึ้นในอรรถประโยชน์เชิงจิตวิสัยกับคุณค่าเดิมแท้ของสิ่งต่างๆ ในอรรถประโยชน์เชิงวัตถุวิสัย เพื่อนำไปประยุกต์กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้
การพิจารณาเรื่องอรรถประโยชน์ของข่าวการเมืองที่ออกมาในช่วงนี้ ดูจะหาคุณค่าที่แท้จริงได้น้อย เพราะยังเป็นช่วงที่ "พรรคการเมือง" และ "นักการเมือง" ส่วนใหญ่กำลังสร้างมูลค่าหรือราคาให้แก่ตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนกับเม็ดเงินจากผู้สนับสนุนเป็นหลัก
วิธีการสร้างมูลค่าทางการเมือง หากใช้อรรถประโยชน์เชิงวัตถุวิสัยจะได้ราคาน้อย เนื่องจากพรรคการเมืองและนักการเมืองในปัจจุบัน ขาดการพัฒนาเพื่อสร้างคุณค่าแท้ให้แก่สังคมมาเป็นเวลานาน ทำให้การสร้างมูลค่าจึงต้องอ้างอิงอรรถประโยชน์เชิงจิตวิสัย คือการให้คุณค่าโดยใช้ภาพลักษณ์ที่โหมกระพือทางสื่อต่างๆ เป็นระลอก ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองต่างก็พยายามที่จะเพิ่มคุณค่าในการแลกเปลี่ยนด้วยการเพ่งเล็งไปที่การใช้ประโยชน์หรือประโยชน์ที่ผู้ใช้ได้รับ
โดยในเบื้องหน้าจะแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และในเบื้องหลังจะชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ผู้สนับสนุนจะได้รับ หากตนเองหรือพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดอยู่ได้รับเลือกตั้งให้เข้ามารับใช้บ้านเมือง
การเปรียบเทียบคุณค่าของกิจกรรมทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองเพื่อประโยชน์ที่มุ่งหมายเชิงจิตวิสัยหรือคุณค่าเทียม กับพรรคการเมืองเพื่อประโยชน์ที่มุ่งหมายเชิงวัตถุวิสัยหรือคุณค่าแท้ พบว่า ในกรณีแรก ประโยชน์ที่มุ่งหมายจากกิจกรรมทางการเมืองนั้น เน้นผลลัพธ์ที่ต้องให้มูลค่าสูงหรือสามารถแลกเป็นเงินสนับสนุนซึ่งเป็นผลตอบแทนจากกิจกรรมทางการเมืองดังกล่าวได้ ขณะที่ ประโยชน์ที่มุ่งหมายจากกิจกรรมทางการเมืองในกรณีหลัง ไม่จำเป็นต้องให้มูลค่าที่สูงหรือแลกเปลี่ยนเป็นเงินสนับสนุน แต่สามารถสร้างคุณค่าให้แก่ประชาชนเป็นหลัก อีกทั้งไม่จำเป็นต้องยึดผลตอบแทนทางการเมืองเป็นที่ตั้งในทุกกรณี เป็นการเน้นที่ความคุ้มค่ามากกว่าความคุ้มทุน
การติดตามข่าวการเมืองในเวลานี้ จึงควรพิจารณาที่คุณค่าแท้หรืออรรถประโยชน์เชิงวัตถุวิสัย มิใช่การพิจารณาว่าพรรคการเมืองใดต้อนนักการเมืองโดยใช้มูลค่าหรือราคาเป็นเครื่องตัดสิน ซึ่งท้ายที่สุด จะทำให้ประชาชนต้องจ่ายในราคาที่แพง เพื่อแลกกับประชาธิปไตยในแบบเทียมๆ ที่หาคุณค่าแท้ให้แก่สังคมมิได้... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์)
Tuesday, October 23, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment