Tuesday, July 24, 2007

จากแผนฯ 1 สู่แผนฯ 10 : สังคมได้อะไรบ้าง

แนวคิดเศรษฐศาสตร์ตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลในการพัฒนาประเทศ นับตั้งแต่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (2504-2509) และ 2 (2510-2514) โดยแนวคิดที่เป็นตัวแบบสำคัญซึ่งอยู่เบื้องหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจในขณะนั้น คือ ตัวแบบของฮาร์รอด-โดมาร์ ที่เน้นการลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโดยการกู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ที่เสนอให้แก่ประเทศไทยโดยธนาคารโลกและที่ปรึกษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา

ครั้นถึง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 (2515-2519) ซึ่งเป็นยุคที่ในสหรัฐอเมริกาได้นำเอา ตัวแบบของโซโลว์ มาศึกษา และเริ่มมี แนวคิดทุนมนุษย์ โดยชุลทซ์ ประเทศไทยก็ได้รับการถ่ายทอดความคิดนี้ผ่านผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ โดยรวมเอาการศึกษาที่ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการสะสมทุนมนุษย์เข้าไปด้วย แต่ก็มิได้มีการเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างสำคัญ ยังเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า รัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจากเงินกู้ต่างประเทศ และหาทางชำระหนี้ด้วยการเร่งการส่งออกสินค้าเกษตร ขยายพื้นที่เพาะปลูก ลดพื้นที่ป่า และส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก

ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว มีอัตราการขยายตัวอยู่ระหว่างร้อยละ 7-8 ต่อปี ขณะเดียวกัน ก็เกิดปัญหาช่องว่างของการกระจายรายได้เพิ่มขึ้น โดยที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศมาก แต่การจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมก็มิได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีปัญหาการกระจายรายได้ที่แตกต่างกันมากตามมา

ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 (2520-2524) ปรากฏว่า เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. 2522 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย เพราะต้องพึ่งพิงแหล่งพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 11.6 ต่อปี นอกจากนี้ ยังเกิดวิกฤตการณ์ของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน เช่น กรณีการล้มของบริษัทราชาเงินทุน

ปัญหาสำคัญๆ หลายประการยังปรากฏอยู่ในช่วง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (2525-2529) เช่น เรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การใช้จ่ายเกินตัวทั้งของภาครัฐบาลและเอกชน โครงสร้างเศรษฐกิจอ่อนแอไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาความยากจน และการกระจายรายได้ ปัญหาสังคม และปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (2530-2534) ปรากฏว่าประเทศไทยยังคงมีปัญหาด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ เพราะกลุ่มคนยากจน 20 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย มีสัดส่วนรายได้ลดลง การพัฒนาและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่ๆ ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและวัฒนธรรม ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาอาชญากรรม และยาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การดำเนินการในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 (2535-2539) ที่เริ่มให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรากฏว่ามีบางเรื่องประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เช่น เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.2 ต่อปี การส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 14.2 สัดส่วนคนยากจนในปี พ.ศ. 2535 ลดลงเหลือร้อยละ 13.7 ของประชากรทั้งประเทศ บริการพื้นฐานทั้งถนน ไฟฟ้า และประปา ขยายครอบคลุมทั่วประเทศ คนไทยมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น และได้รับบริการทางสาธารณสุขครอบคลุมกว้างขวางขึ้น

ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 (2540-2544) ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาจากเดิมที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นจุดมุ่งหมายหลักแต่เพียงอย่างเดียว เป็นการเน้นให้คนเป็นศูนย์กลาง โดยใช้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง ที่จะช่วยทำให้คนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เนื่องจากในปี พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 และปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ประเทศไทยประสบปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า ฟองสบู่แตก ค่าเงินบาทผันผวน ปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาการว่างงาน ซึ่งสืบเนื่องมาจากสาเหตุทั้งภายในประเทศและจากภายนอกประเทศ จึงได้มีการปรับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 เป็นการด่วนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมุ่งเน้นการระดมและใช้ทรัพยากรจากทุกส่วนในสังคมมาใช้ เพื่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศ

ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) ได้มีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศ กระนั้นก็ตาม ก็มิได้มีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง แต่ยังคงยึดการพัฒนาตามตัวแบบของระบบทุนนิยม และการใช้นโยบายประชานิยมอย่างกว้างขวาง ทำให้ชุมชนขาดความเข้มแข็ง รอคอยแต่การรับความช่วยเหลือจากรัฐ มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ ปัญหาสังคม ปัญหาทุจริต โดยเฉพาะความเสื่อมโทรมทางจริยธรรมอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายบริบท ทั้งที่เป็นโอกาสและข้อจำกัดต่อการพัฒนาประเทศ จึงยังต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้สามารถปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทุกภาคส่วนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้วิสัยทัศน์แห่งการพัฒนาสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (Green and Happiness Society) ที่นอกจากจะมีเป้าหมายการพัฒนาคน ชุมชน เศรษฐกิจ ฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมุ่งให้เกิดธรรมาภิบาลขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะในการบริหารจัดการประเทศด้วย... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

(เพิ่มเติม: 8 มกราคม 2555) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555–2559) ได้จัดทำขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกว่าช่วงที่ผ่านมา การพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในมิติต่างๆ ให้แก่ ปัจเจก ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ โดยใช้แนวคิดและทิศทางการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 พร้อมทั้งขยายการนำทุนของประเทศที่มีศักยภาพจาก 3 ทุน ทั้งทุนสังคม ทุนเศรษฐกิจ และทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็น 6 ทุน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนสังคม ทุนกายภาพ ทุนทางการเงิน ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทุนทางวัฒนธรรมมาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน

3 comments:

NidNid NoneNone said...

เลิศเลยค่ะ..
ขอบคุณนะคะ...พรุ่งนี้กำลังสอบพอดี...

NidNid NoneNone said...

ขอบคุณนะคะ...
พรุ่งนี้พี่มีสอบเรื่องนี้อยู่พอดีเลยจ๊ะ

ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของ D said...

กราบขอบพระคุณมากครับ พอดีจะได้นำเสนอหน้าชั้นพรุ่งนี้แล้วด้วยไอ่เรื่องนี้อ่ะ ดีครับ ขอบคุณมากๆ