Monday, November 26, 2018

ธุรกิจเพื่อสังคมสู่เป้าหมายโลก

เมื่อวันที่ 8-9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีงาน Global Social Business Summit 2018 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 ที่เมืองว็อลฟส์บวร์ค ประเทศเยอรมนี โดยปีนี้ใช้ธีมว่า “สร้างอารยธรรมใหม่” หรือ “Building A New Civili-zation” โดยมี “ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี ค.ศ. 2006 ผู้ที่เป็นต้นตำรับแนวคิด “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ “Social Business” มากล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน


“ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” ระบุว่า การจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ตามที่องค์การสหประชาชาติประกาศเป็นเป้าหมายโลกนั้น สามารถนำแนวทางธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภทมาตอบโจทย์ 3 ศูนย์ โดยศูนย์แรก คือ สิ้นความยากจน (zero poverty) ศูนย์ที่ 2 คือ ไร้การว่างงาน (zero unemployment) และศูนย์ที่ 3 คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (zero net carbon emissions)

ธุรกิจเพื่อสังคม ตามนิยามของ “ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” ประเภทแรก เป็นธุรกิจที่ไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (nonloss, nondividend) โดยมุ่งที่จะแก้ปัญหาสังคมเป็นสำคัญ และจะนำกำไรทั้งหมดที่ได้กลับมาพัฒนาและขยายธุรกิจต่อโดยไม่มีการปันผลกำไร ซึ่งเขาเรียกว่า ธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 1 หรือ social business type I

ธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 2 หรือ social business type II เป็นธุรกิจที่แสวงหากำไร และสามารถปันผลได้ แต่อยู่บนเงื่อนไขว่าเจ้าของธุรกิจหรือผู้ถือหุ้นของกิจการจะต้องเป็นผู้ยากไร้ หรือผู้ด้อยโอกาส เพราะการปันผลกำไรถือเป็นการขจัดความยากจน เป็นการแก้ไขปัญหาสังคมสมตามจุดมุ่งหมายของธุรกิจเพื่อสังคมในตัวเอง

หากอิงตามนิยามนี้ กิจการที่เป็นมูลนิธิหรือองค์กรสาธารณกุศล เชื่อแน่ว่าเป็นการประกอบการที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคม แต่หากหมดเงินบริจาคหรือขาดผู้อุปถัมภ์เมื่อใด แล้วมูลนิธิอยู่ไม่ได้ แสดงว่าไม่ใช่ social business

ส่วนกิจการที่เป็นบริษัท หรือธุรกิจปกติ เชื่อแน่ว่าเป็นการประกอบการด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่เป็นไปเพื่อความมุ่งหมายที่จะแสวงหากำไรและนำมาแบ่งปันกันระหว่างผู้ถือหุ้น จึงไม่ใช่ social business

ขณะที่วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ social enterprise ที่ตั้งขึ้นเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาสังคมเป็นหลักแบบมูลนิธิ แต่มีหนทางที่เลี้ยงตัวเองได้แบบบริษัท โดยยังคงสามารถแบ่งปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้ด้วย เข้าข่ายเป็นลูกผสมระหว่างมูลนิธิกับบริษัท ในกรณีนี้จึงไม่ใช่ social business (วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่มีนโยบายปันผลกำไร ถึงจะจัดเป็น social business)

ด้วยความที่ “ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” ต้องการสร้างโมเดลทางธุรกิจที่โฟกัสในจุดที่เน้นการแก้ไขปัญหาสังคมจริง ๆโดยไม่ให้ผู้ประกอบการวอกแวก หรือไม่เปิดช่องให้มีการชั่งใจเลือกระหว่าง “ประโยชน์ส่วนรวม” กับ “ปันผลส่วนตัว” เพราะมีฐานคิดว่าถ้าปล่อยให้เกิดขึ้น ความโน้มเอียงจะไปในทางที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก่อน แล้วประโยชน์ส่วนรวมค่อยมาทีหลัง

รูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคม ยังถูกนำไปเทียบกับรูปแบบของสหกรณ์ที่มีสมาชิกเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น ซึ่งมีการปันผลกำไรที่ได้ให้แก่สมาชิกตามส่วน ในกรณีนี้ “ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” ขยายความว่า สหกรณ์จัดอยู่ในข่ายที่เรียกว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมได้ ก็ต่อเมื่อสมาชิกที่เป็นเจ้าของสหกรณ์เป็นคนยากจนเท่านั้น เนื่องจากการปันผลกำไรจะต้องเป็นไปเพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ให้หลุดพ้นจากความยากจน ตามนิยามของ type II social business

แต่เมื่อใดก็ตามที่สหกรณ์ถูกจัดตั้งขึ้นโดยคณะบุคคลทั่วไป หรือองค์กรที่รวมตัวกันเพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องหรือรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มสมาชิก แม้เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นจะจัดอยู่ในข่ายธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 1 แต่สหกรณ์มีการดำเนินงานเพื่อแสวงหากำไรและปันผลกำไรกันระหว่างสมาชิกที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น ซึ่งมิใช่เป็นผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสที่แท้จริง สหกรณ์ประเภทดังกล่าวนี้ไม่จัดว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม

สำหรับธุรกิจปกติทั่วไปที่มีการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ประเภท CSR-after-process อยู่แล้ว แนวทางธุรกิจเพื่อสังคมจะเป็นทางเลือกใหม่ของการใช้งบฯ CSR ในแบบยั่งยืน ด้วยเงินตั้งต้นก้อนเดิมก้อนเดียว แทนการใช้งบฯบริจาคเพื่อการกุศล หรือ philanthropy ในรูปแบบเดิมที่ให้แล้วหมดไป และต้องตั้งงบฯใหม่เพื่อทำงานทุกปี เมื่อแนวทางธุรกิจเพื่อสังคมสามารถใช้เพื่อเป็นทางเลือกในการทำ CSR ขององค์กรธุรกิจ ก็น่าสนใจไม่น้อยที่ภาคเอกชนจะนำแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม มาใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนสำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่ไปพร้อมกันในตัว


จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: