สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง มูลนิธิเบอร์เทลสแมนน์ (Bertelsmann Stiftung) ร่วมกับเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network : SDSN) ได้เผยแพร่รายงานที่มีชื่อว่า SDG Index and Dashboards Report 2018 เพื่อประมวลการดำเนินงานในรอบปีของประเทศต่าง ๆ ที่มีต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 ข้อ
รายงานฉบับนี้เป็นฉบับที่ 3 นับจากรายงานฉบับแรกที่เผยแพร่ในปี ค.ศ. 2016 โดยในปีนี้ รายงานฉบับปัจจุบันได้เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงาน SDGs ที่ครอบคลุมชาติสมาชิกขององค์การสหประชาชาติทั้งหมด 193 ประเทศ เป็นครั้งแรก
ข้อค้นพบหนึ่งในรายงานชี้ให้เห็นว่า ยังไม่มีประเทศใดที่มีการดำเนินการอยู่ในสถานะที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทั้ง 17 ข้อ โดยการขจัดความยากจนในหลายประเทศยังเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายหลายด้าน ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ในอัตราที่สูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 13 ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ ข้อที่ 14 เรื่องทรัพยากรทางทะเล และข้อที่ 15 เรื่องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ จำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายในปี ค.ศ. 2030
รายงานฉบับที่ 3 นี้ได้มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมจากฉบับก่อนหน้าในหลายเรื่อง อาทิ การเพิ่มข้อมูลเชิงแนวโน้ม (trend) ที่แสดงให้เห็นถึงทิศทางการดำเนินงานของแต่ละประเทศ ในแต่ละเป้าหมาย ใน 5 ระดับ ได้แก่ ระดับก้าวหน้า (⇒), ระดับพัฒนา (⇑), ระดับพอใช้ (⇗), ระดับต่ำเกณฑ์ (⇒) และระดับถดถอย (⇓)
นอกจากนี้ยังได้มีการเพิ่มตัวบ่งชี้การดำเนินงานใหม่ที่ครอบคลุมเป้าหมาย (targets) ที่เกี่ยวข้องในแต่ละเป้าประสงค์ของ SDGs ให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุที่มีการเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ผลสำรวจการดำเนินงาน SDGs ในรอบปี 2018 ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับผลสำรวจในรอบปี 2017 ได้ การเปลี่ยนแปลงในอันดับ หรือคะแนนของแต่ละประเทศ จึงมิได้สะท้อนถึงความก้าวหน้าหรือความถดถอยของการดำเนินงานจากปีก่อนหน้า
ในรายงานฉบับปี 2018 ประเทศไทยมีการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในอันดับที่ 59 ของโลก จากการสำรวจทั้งหมด 156 ประเทศ ด้วยระดับคะแนนที่ 69.2 เมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 64.1
โดยแนวโน้มการดำเนินงาน SDGs ของประเทศไทยที่อยู่ในระดับก้าวหน้า ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 เรื่องการขจัดความยากจน ส่วนที่อยู่ในระดับพัฒนา ได้แก่ เป้าหมายที่ 6 เรื่องน้ำและการสุขาภิบาล และเป้าหมายที่ 8 เรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน
ขณะที่การดำเนินงาน SDGs ที่อยู่ในระดับพอใช้ มีจำนวน 7 เป้าหมาย ได้แก่ เรื่องการขจัดความหิวโหย เรื่องสุขภาวะ เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เรื่องพลังงาน เรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม เรื่องเมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ และเรื่องทรัพยากรทางทะเล
ส่วนการดำเนินงาน SDGs ที่อยู่ในระดับต่ำเกณฑ์ มีจำนวน 4 เป้าหมาย ได้แก่ เรื่องการศึกษา เรื่องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องสังคมและความยุติธรรม และเรื่องหุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล
สำหรับ SDGs ที่ประเทศไทยมีการดำเนินงานอยู่ในระดับถดถอย ได้แก่ เป้าหมายที่ 13 คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ ที่ในรายงานใช้ตัวเลขอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงาน (ที่มาจากปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน รวมทั้งก๊าซธรรมชาติที่ถูกเผาทิ้ง) ต่อหัว หรือ Energy-related CO2 emissions per capita (tCO2/capita) เป็นตัวชี้วัดการดำเนินงาน
ผู้ที่สนใจรายงานฉบับดังกล่าวสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.sdgindex.org
จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
Monday, July 16, 2018
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment