โดยทั่วไป เมื่อธุรกิจหนึ่งๆ ถูกจัดตั้งขึ้น ก็มีความปรารถนาว่าจะมีการดำเนินงาน (ที่แสวงหากำไร) สืบเนื่องต่อไปไม่สิ้นสุด คุณลักษณะดังว่านี้ ตรงกับเรื่องความยั่งยืนที่วันนี้ มีการพูดถึงกันมาก ซึ่งก็ต้องเรียนว่า ธุรกิจสนใจเรื่องความยั่งยืนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว (ตั้งแต่วันที่คิดตั้งบริษัทด้วยซ้ำ) เพียงแต่เรื่องความยั่งยืนในบริบทของยุคนี้ จะต้องถามเพิ่มว่า “ใครยั่งยืน” เข้าไปด้วย
ความแตกต่างของเรื่องความยั่งยืนระหว่างธุรกิจในยุคก่อนหน้ากับในยุคปัจจุบัน คือ ขอบเขตของความยั่งยืน สำหรับกิจการแบบเดิมๆ จะมุ่งเน้นที่ ความยั่งยืนขององค์กร คือ ทำอย่างไรให้องค์กรดำเนินงานทำกำไรไปได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด หรือมีอุปสรรคขัดขวาง นอกเหนือจากนั้น ถือเป็นเรื่องรอง
ขณะที่ ขอบเขตของความยั่งยืน สำหรับกิจการที่เห็นและปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง จะตระหนักในเรื่องความยั่งยืนที่หมายรวมถึง ความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม คือ ในระหว่างการดำเนินงานที่แสวงหากำไรของกิจการนั้น จะต้องตอบโจทย์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่พร้อมกันไปด้วย
คำกล่าวที่สะท้อนรูปธรรมของเรื่องนี้ ในทางสังคม เป็นของ Bjorn Stigson ประธานสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development: WBCSD) ที่ว่า “ธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในสังคมที่ล้มเหลว” (Business cannot succeed in a society that fails) ได้ถูกนำมาเน้นย้ำโดย นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (ค.ศ.1997-2006) คือ ไม่ว่าธุรกิจจะเก่งหรือจะเลิศอย่างไร ก็ไม่สามารถอยู่รอดหรือยั่งยืนได้ลำพัง หากสังคมที่ธุรกิจประกอบการอยู่นั้น ตั้งอยู่ไม่ได้
ส่วนคำกล่าวที่สะท้อนรูปธรรมของเรื่องนี้ ในทางสิ่งแวดล้อม เป็นของนายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (ค.ศ.2007-2016) ที่ว่า “ไม่มีแผนสำรอง เพราะเราไม่มีโลกสำรอง” (There is no Plan B, because we do not have a Planet B) คือ ถ้าธุรกิจมัวแต่สร้างความมั่งคั่งรุ่งเรือง โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมและถูกทำลาย ไม่เพียงแต่ธุรกิจจะไม่มีความยั่งยืน เมื่อถึงเวลานั้น มนุษยชาติจะไม่มีที่ยืนที่อาศัยบนโลกใบนี้ด้วย
เหตุผลของการทำ CSR ในวันนี้ จึงไม่ใช่เพียงเพื่อการทำให้กิจการมีความยั่งยืน เฉพาะองค์กร แต่เป็นการทำให้ทั้งกิจการและสังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่า แนวการดำเนินงานในแบบหลังนี้ จะมีความแตกต่างกับแบบแรกอย่างไม่ต้องสงสัย
ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้า ที่มุ่งความยั่งยืนเฉพาะตน อาจเลือกใช้ถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิง เพราะเหตุผลเรื่องเสถียรภาพและราคา แต่สำหรับโรงไฟฟ้า ที่พิจารณาความยั่งยืนองค์รวม จะเลือกใช้พลังงานทดแทน หรือที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ สามารถใช้หลักการตอบแทนคุณค่าคืนระบบนิเวศ หรือ Payment for Ecosystem Services (PES) อาทิ การปลูกป่าทดแทน การรักษาและการจัดการป่าที่ปลูกขึ้นทดแทน การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การอนุรักษ์ดิน การอนุรักษ์แหล่งน้ำ แหล่งประมง ฯลฯ ในการสร้างความยั่งยืนให้แก่สิ่งแวดล้อมโดยรวม
กล่าวโดยสรุป คือ ธุรกิจที่มองเรื่องความยั่งยืนของกิจการเป็นที่ตั้ง จะใช้ CSR เป็นเครื่องมือสร้างการยอมรับจากสังคมให้กับตัวกิจการเป็นหลัก ขณะที่ ธุรกิจซึ่งมุ่งไปที่ความยั่งยืนของสังคมโดยรวม จะใช้ CSR เป็นเครื่องมือสร้างคุณค่าร่วมระหว่างกิจการกับสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Sunday, September 30, 2018
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment