Sunday, December 23, 2018

เหลียวหลัง แลหน้า ความยั่งยืนของกิจการ

เหลืออีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปี 2561 และก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่จะได้มาทบทวนสิ่งที่ดำเนินการไปในรอบปีที่กำลังจะผ่านพ้นไป และเตรียมตัวทำสิ่งที่คิดว่า ยังทำได้ไม่ดีและสามารถปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นในรอบปีการดำเนินงานถัดไป

สถาบันไทยพัฒน์ ได้ประมวลประเด็นความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 84 กิจการ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 9 กิจการ บริษัททั่วไปที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และองค์กรอื่นๆ อีก 7 กิจการ รวมจำนวน 100 กิจการ

โดยการวิเคราะห์จากข้อมูลผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่ปรากฎในรายงานแห่งความยั่งยืน รายงานประจำปี และข้อมูลด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ขององค์กร ที่เปิดเผยแก่สาธารณะ

ผลการประมวลข้อมูล แบ่งออกเป็นส่วนที่เป็นประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด และประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม โดยจำแนกตามการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม


ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม

ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การต้านทุจริต และพลังงาน ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องความปลอดภัยทางอาหาร โภชนาการ และสุขภาพ เรื่องผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของห่วงโซ่อุปทานส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ และเรื่องการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์และการสื่อสารการตลาด

ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ การฝึกอบรมและการให้ความรู้ การต้านทุจริต และพลังงาน ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ เรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ และเรื่องผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของห่วงโซ่อุปทานส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์

ในกลุ่มธุรกิจการเงิน ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ การฝึกอบรมและการให้ความรู้ การต้านทุจริต ผลเชิงเศรษฐกิจ และผลกระทบทางอ้อมเชิงเศรษฐกิจ ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องการผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เรื่องการให้ขัอมูลอย่างโปร่งใสและคำแนะนำที่เป็นธรรมแก่ลูกค้า และเรื่องจริยธรรมทางธุรกิจ

ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจ พลังงาน การจ้างงาน การฝึกอบรมและการให้ความรู้ ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องการจัดการมลอากาศ น้ำทิ้ง และของเสียอันตราย เรื่องปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเรื่องการสรรหาวัสดุ

ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การฝึกอบรมและการให้ความรู้ พลังงาน น้ำทิ้งและของเสีย ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องผลกระทบชุมชนจากการพัฒนาโครงการ เรื่องปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเรื่องผลกระทบทางนิเวศ

ในกลุ่มทรัพยากร ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ พลังงาน อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การฝึกอบรมและการให้ความรู้ ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรื่องการจัดการผลกระทบทางนิเวศ และชุมชน และเรื่องการจัดการมลอากาศ น้ำทิ้ง และของเสียอันตราย

ในกลุ่มบริการ ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ การฝึกอบรมและการให้ความรู้ การต้านทุจริต และการจ้างงาน ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องการจัดการด้านความปลอดภัยและอุบัติภัย เรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงาน น้ำ และการจัดการของเสีย และเรื่องการบริหารคุณภาพในห่วงโซ่อุปทาน

ในกลุ่มเทคโนโลยี ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การฝึกอบรมและการให้ความรู้ พลังงาน น้ำทิ้งและของเสีย ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล เรื่องพฤติกรรมการแข่งขันและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และเรื่องการสรรหาวัสดุ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน และซากผลิตภัณฑ์


ประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม

หวังว่า ข้อมูลผลการประมวลชุดนี้ คงจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการที่มีการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน ให้ได้เห็นภาพสะท้อนของความเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าว และสิ่งที่สามารถปรับปรุงพัฒนา และยกระดับการทำงานให้ดียิ่งขึ้นในปี 2562 ที่กำลังจะมาถึงกันครับ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: