Saturday, January 14, 2023

3 ธีม ขับเคลื่อน ESG ประเทศไทย ปี 2566 (จบ)

การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ยืนยันว่า ภัยพิบัติและภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ ทวีปยุโรปเผชิญกับอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่าสองเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก วิกฤตไฟป่าที่ออสเตรเลียที่สร้างความเสียหายมหาศาล น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปากีสถาน จีน เกาหลีใต้ สภาพอากาศสุดขั้วครั้งประวัติศาสตร์ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ภัยแล้งที่ทวีปแอฟริกา ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นผลจากภาวะโลกร้อนซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น โดยรายงานผลการศึกษาของ The Intergovernmental Panel on Climate Change (2021) เปิดเผยว่า อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นแล้ว 1.09 องศาเซลเซียส จากความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงสุดในรอบ 2 ล้านปี


สำหรับประเทศไทย ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีการเกิดอุทกภัยจำนวนมากกว่า 40,000 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 12.59 ล้านล้านบาท โดยเมื่อปี 2554 ประเทศไทยประสบกับอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยเกือบทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจได้รับความเสียหายอย่างมาก นับเป็นอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย จากนั้นในปี 2564 ประเทศไทยได้ประสบกับภาวะอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้ง แม้จะไม่รุนแรงเท่าช่วงปี 2554 แต่ก็ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท

GREEN ที่มากกว่าคำมั่นสัญญา
ในการสำรวจสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ประจำปี 2565 โดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า คะแนนด้านสิ่งแวดล้อมของกิจการที่ทำการสำรวจ 854 แห่ง อยู่ที่ 1.26 คะแนน จาก 10 คะแนน โดยประเด็นที่มีการเปิดเผยข้อมูลน้อยสุด ได้แก่ สัดส่วนการใช้พลังงาน (Energy Mix) ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน (Energy Intensity) และความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Intensity) ตามลำดับ

เป็นที่น่าสังเกตว่า สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนของประเทศ ในช่วงหลังปี 2562 ยังมีสัดส่วนที่ต่ำ และลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พบว่า สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 16.5 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 15.5 ในปี 2563 และเหลืออยู่ร้อยละ 14.6 ในปี 2564 ตามลำดับ ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (แผน AEDP) ไทยมีเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในปี 2580

และจากผลการสำรวจของบริษัท Meta ร่วมกับ Yale University ในรายงาน International Public Opinion on Climate Change 2022 ระบุว่า คนไทยส่วนใหญ่เห็นว่าการแก้ไขปัญหาเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐและภาคธุรกิจ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 และมีเพียงร้อยละ 28 ที่คิดว่าเป็นความรับผิดชอบของทุกคน โดยความคิดเห็นของคนไทยเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อการลดสาเหตุการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า มีคนไทยเพียงร้อยละ 35 ที่เห็นว่าควรลดการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งผลการสำรวจ สะท้อนถึงความตระหนักและความใส่ใจของคนไทยต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

การที่ประเทศไทย ในฐานะรัฐภาคีสมาชิกสหประชาชาติ ที่เข้าร่วมในความตกลงปารีส ได้ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ.2030 (แบ่งเป็นการดำเนินการได้เองในประเทศ ร้อยละ 30 และการดำเนินงานที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ร้อยละ 10) และวางเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 รวมทั้งการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065 ให้ได้จริงนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงจัง มากกว่าการให้คำมั่นสัญญาที่เป็นเพียงแค่เจตนารมณ์

จากการรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรัฐภาคีต่างๆ ต่อโอกาสในการบรรลุเป้าหมายที่ประชาคมโลกต้องร่วมกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยการติดตามของ Climate Action Tracker ในส่วนของประเทศไทยนั้น พบว่า ด้วยเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 (Conditional Targets) ภายในปี ค.ศ.2030 ไทยจะยังไม่สามารถดำเนินการเพื่อจำกัดมิให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้

เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ของไทย ต้องลดให้ได้ร้อยละ 65 ของกรอบการดำเนินงานตามปกติ (BAU) เดิม ภายในปี ค.ศ.2030 จึงจะสอดคล้องกับขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ หากทุกประเทศในโลกอ้างอิงการดำเนินงานตามเป้าหมายการดำเนินการได้เองในประเทศ (Unconditional Targets) ของไทย (ที่ตั้งไว้ร้อยละ 30) การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก จะเกิน 4 องศาเซลเซียส

เป้าหมายการดำเนินการได้เองในประเทศที่สอดคล้องกับขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียส ไทยต้องลดให้ได้ร้อยละ 57 ของกรอบการดำเนินงานตามปกติเดิม

ในส่วนของภาคธุรกิจในประเทศไทย จากผลสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ต่อการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2565 พบว่า มีเพียงหนึ่งในสี่ของกิจการที่ทำการสำรวจ 854 ราย ที่มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว โดยยอดรวมของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2) ในองค์กรที่เปิดเผยข้อมูล (มีสัดส่วนร้อยละ 20.73) มีปริมาณ 384.41 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า

ขณะที่ ปริมาณคาร์บอนเครดิตสะสม ภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 27 กันยายน 2565) มีจำนวน 13.514 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า

หากพิจารณาปริมาณคาร์บอนเครดิตสะสมจากการดำเนินงานตามปกติข้างต้น พบว่า มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.52 ของยอดรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากผลสำรวจองค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งหากรวมยอดการปล่อยของกิจการอีกสามในสี่ที่ยังมิได้เปิดเผยข้อมูล ตัวเลขสัดส่วนการลดต่อการปล่อย จะต่ำกว่านี้อีกมาก

แนวโน้มที่ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสให้ได้นั้น องค์กรธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการและเป็นผู้ก่อก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ จำต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในกระบวนการธุรกิจเพื่อให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: