สัปดาห์นี้ (15-17 ตุลาคม 2556) ผมได้มีโอกาสเดินทางมาร่วมอบรมเรื่อง Shared Value ซึ่ง Foundation Strategy Group องค์กรที่ปรึกษาไม่แสวงหาผลกำไร ที่ก่อตั้งโดย “ไมเคิล อี พอร์เตอร์” และ “มาร์ค เครเมอร์” เจ้าของต้นตำรับแนวคิด CSV เป็นผู้จัดขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
การอบรมครั้งนี้จัดขึ้นเฉพาะสำหรับองค์กรที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 17 แห่ง จาก 12 ประเทศ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้าน Shared Value ฉบับต้นตำรับ โดยมี มาร์ค เครเมอร์ มานำการอบรมด้วยตนเอง
ด้วยบุคลิกของนักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เครเมอร์ บอกว่า การตกผลึกความคิดกว่าจะลงตัวเป็น CSV ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเขาและพอร์เตอร์ (นับจากความพยายามในบทความชิ้นแรก ‘The Competitive Advantage of Corporate Philanthropy’ ที่เผยแพร่เมื่อปี 2545 มาสู่บทความชิ้นที่สอง ‘The Link Between Competitive Advantage and Corporate Social Responsibility’ ในปี 2549 จนถึงบทความล่าสุด ‘The Big Idea: Creating Shared Value’ ที่ตีพิมพ์ในปี 2554) ดูจะเทียบไม่ได้เลยกับความยากในการแปลงแนวคิด CSV ไปใช้ในองค์กรที่ได้เชื้อเชิญเขาและพอร์เตอร์เข้าให้คำปรึกษา เพื่อทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
พูดง่ายๆ คือ สร้างทฤษฎี นั้นไม่ยากเท่ากับ ปฏิบัติให้ได้ผลตามทฤษฎี
แต่ก็ต้องชื่นชมในความเป็นนักกลยุทธ์ทางธุรกิจ ที่ให้ความสนใจและมุ่งมั่นในการเสนอรูปแบบการแก้ไขปัญหาทางสังคมไปพร้อมกัน ซึ่งนับว่าดีกว่าแนวคิดประเภทรวยเร็ว-รวยด่วน พ่อรวยสอนลูก-สอนให้รวยกว่าพ่อ หรือเอาแต่รวยถ่ายเดียว จนเมื่อปีที่แล้ว ผู้เขียนหนังสือชุดดังกล่าว จำต้องยื่นขอล้มละลายบริษัทตัวเอง และถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงและยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินโดยไม่สุจริต
กลับมาที่เครเมอร์ เขาชี้ให้เห็นถึงมุมมองหรือท่าทีที่องค์กรธุรกิจมีต่อประเด็นปัญหาทางสังคม จากระดับต่ำสุดที่ไม่ได้ตระหนักว่าเป็นปัญหาแก่องค์กร จึงแสดงออกด้วยการเพิกเฉย หรือรับผิดชอบให้น้อยที่สุด และหากเลี่ยงไม่ได้ ก็จะใช้วิธีการบริจาคเป็นทางออก
ระดับต่อมา คือ ตระหนักว่าเป็นปัญหาแก่องค์กร จึงเพิ่มกิจกรรมการบริจาคให้มากขึ้น ใช้การประชาสัมพันธ์ และการสร้างสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย เป็นเครื่องมือดำเนินการ
ระดับที่ถัดขึ้นมาอีกขั้น คือ สำนึกที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ด้วยการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการแก้ไขปัญหา หรือใช้ความถนัดที่องค์กรมีอยู่จัดการ ติดตาม ตรวจสอบ และรายงานผลการดำเนินการกับปัญหานั้นๆ
ส่วนระดับที่ Shared Value จะเกิดขึ้น คือ การพิจารณาว่าเป็นโอกาส แทนที่จะมองว่าเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งจะเปิดทางให้องค์กรสามารถเห็นช่องทางในการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ขยายการเติบโตของรายได้ และสร้างความแตกต่างในคุณค่าที่นำเสนอเหนือองค์กรอื่น
เนื่องจากความสับสนระหว่างเรื่อง Philanthropy และ CSR กับเรื่อง CSV ยังคงมีอยู่ และหลายองค์กรยังจำแนกไม่ออก ตัวช่วยที่เครเมอร์ให้ระหว่างการอบรม คือ คุณลักษณะของ CSV จะต้องมี ‘ภาวะคู่กัน’ (Duality) ของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อองค์กรและสังคม มิใช่เกิดขึ้นเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
หมายความว่า ถ้าเป็น CSR หรือความรับผิดชอบขององค์กรที่สังคมได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว จะไม่จัดว่าเป็น CSV หรือถ้าเป็น Philanthropy หรือการบริจาคที่มีการส่งมอบคุณค่าที่ได้เกิดขึ้นแล้ว (มิใช่คุณค่าที่สร้างขึ้นใหม่) ก็ไม่ถือว่าเป็น CSV เช่นกัน
จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า CSV เป็นแนวคิดซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทำธุรกิจที่องค์กรใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน
หลังการอบรม หนึ่งในคำถามบนโต๊ะสนทนาที่ผมถามเครเมอร์ คือ เขาและพอร์เตอร์ จะออกหนังสือเรื่อง Creating Shared Value เมื่อไร เพราะเชื่อขนมกินได้ว่า หนังสือเล่มนี้จะกลายเป็น Best Seller ระดับโลกในแวดวงหนังสือธุรกิจอย่างแน่นอน คำตอบของเครเมอร์ คือ อย่างเร็วสุด ก็คงจะเป็นปลายปีหน้า (ผมคิดในใจ ถ้านานขนาดนั้น คงจะมีหนังสือ CSV ฉบับภาษาไทย ออกก่อนต้นตำรับภาษาอังกฤษแน่เลย ฮา)...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, October 17, 2013
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment